xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ใช่ของโรงพยาบาล! ผอ.รพ.จุฬาภรณ์ ย้ำ “เครื่องเทอโมตรอน” รักษามะเร็งไม่ได้ทุกโรค-ทุกระยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เครื่องเทอโมตรอน-อาร์เอฟแปด (Thermotron-RF8)
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ระบุ กรณีการรักษามะเร็งด้วยเครื่องเทอโมตรอน ที่สื่อออนไลน์ส่งต่อกันมาหลายปีนั้น ไม่ใช่ของโรงพยาบาล แต่ถูกเช่าโดยผู้อำนวยการก่อนหน้านี้หลายปีมาแล้วเพื่องานวิจัย การใช้คำว่า “รักษามะเร็งได้ทุกชนิด ทุกระยะ”" ถือเป็นเรื่องโกหก ไร้จรรยาบรรณ วอนคนไข้และญาติอย่าหมดหวัง การรักษามีหลายแบบต้องเลือกให้เหมาะสมแต่ละรายได้

วันนี้ (22 เม.ย.) ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก Nithi Mahanonda กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวส่งต่อกันผ่านสื่อออนไลน์มาหลายปี เกี่ยวกับเครื่องเทอโมตรอน (Thermatron) กับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ออกมาเป็นระยะ ทุกครั้งจะตรงเวลาประมาณที่เครื่องนี้จะต้องต่อสัญญาเช่ากับโรงพยาบาล แต่คราวนี้ถึงกับมีการส่งฝากข่าวลงในหนังสือพิมพ์รายวัน ทำให้เกิดความเดือดร้อน กับคนไข้มะเร็งและญาติที่หลงเชื่อข้อมูลทั้งหมด

จึงขอชี้แจงว่า นายแพทย์ที่เป็นข่าวให้สัมภาษณ์ว่าเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์นั้น ได้พ้นจากหน้าที่ไปหลายปีแล้ว เครื่องมือดังกล่าว ไม่ใช่ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ถูกเช่าโดยผู้อำนวยการก่อนหน้านี้หลายปีมาแล้ว เพื่อมาใช้ในงานวิจัยเป็นหลัก การให้ข้อมูลว่าเครื่องมือใด หรือยาใด รักษามะเร็งได้ทุกชนิดทุกระยะนั้น ถือเป็นเรื่องโกหก ไม่มีจรรยาบรรณทั้งผู้ให้ข่าว ผู้กระจายข่าว ผู้เสนอข่าว ผิดศีลธรรม

“ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ให้การบริบาลเรื่องมะเร็งเป็นหลัก ขอเรียนคนไข้และญาติคนไข้มะเร็งว่าอย่าหมดหวังหมดกำลังใจ การดูแลรักษามีหลายแบบหลายอย่าง ที่ต้องเลือกให้เหมาะสมแต่ละรายได้ เดี๋ยวนี้การรักษามะเร็ง การแพทย์ปัจจุบันทำให้คนไข้ทุกข์น้อยลง มีความสุขได้มากขึ้นได้ด้วยวิธีต่างๆ นานา แต่ไม่ใช่พูดเหมารวมแบบในข่าวว่า รักษาได้ทุกมะเร็ง ทุกระยะ มีสถานพยาบาล หมอและบุคลากร ที่คอยให้การรักษาท่าน ที่มีเมตตาดูแลท่านอยู่อีกมากมาย ขออย่าเพียงหมดหวัง” ศ.นพ.นิธิ กล่าว

ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเครื่องเทอโมตรอนนั้น แพทย์คนใช้ให้ข้อมูลกันไว้ว่า เป็นการรักษามะเร็งด้วยวิธีให้ความร้อนเฉพาะที่ (Hyperthermia) จะทำหน้าที่เป็นแหล่งกำเนิดความร้อนเพื่อทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิเฉพาะที่สูงขึ้นกว่าอุณหภูมิร่างกายปกติ โดยได้มีการนำภาวะนี้มาใช้ร่วมในการรักษาโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยความร้อนเพียงอย่างเดียวพบว่าให้ผลการรักษาที่ไม่ดีนัก จึงไม่สามารถใช้เป็นการรักษาหลักเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องใช้ร่วมกับการรักษาอื่น เช่น การรักษาด้วยเคมีบำบัด ที่เรียกว่า การทำคีโม (Chemotherapy) หรือ รังสีรักษา ที่เรียกว่า การทำอาร์ที (Radiation Therapy) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ดังนั้น ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรักษาทั้งสองวิธีนี้ได้ จึงไม่สามารถให้การรักษาด้วยความร้อนได้

ทั้งนี้ ลักษณะความร้อนของเครื่องเทอโมตรอน อาร์เอฟ-8 นั้น เป็นการให้ความร้อนแบบทั่วๆ ในบริเวณที่วางแผ่นสร้างความร้อน เช่น การให้ความร้อนบริเวณช่องอก ช่องท้อง หรือ อุ้งเชิงกราน แต่ยังไม่สามารถให้ความร้อนแบบเฉพาะจุดที่เฉพาะเจาะจงกับก้อนเนื้องอกได้ โดยผลข้างเคียงจากการรักษาจะเกิดขึ้นตามบริเวณที่ให้ความร้อน ผลข้างเคียงที่พบได้แก่ มีอาการปวดบริเวณที่ให้ความร้อน (Subcutaneous pain), มีอาการคล้ายแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก หรือมีตุ่มน้ำ (Burn or Bleb) และอาการเพลีย ขณะให้การรักษา ผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่งประมาณ 50 นาที ให้การรักษา 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งถ้าเป็น 2 ครั้งต่อสัปดาห์แต่ละครั้ง จะห่างกันอย่างน้อย 72 ชั่วโมง การรักษาด้วยความร้อนจะเริ่มภายหลังจากที่ฉายรังสี หรือให้ยาเคมีบำบัดเสร็จประมาณ 15-30 นาที

การรักษาด้วยเครื่องเทอโมตรอนนั้น มีข้อห้ามและข้อควรระวัง ได้แก่ ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ซึ่งอาจทำให้อุปกรณ์ทำงานผิดปกติ, ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีกายอุปกรณ์เทียมที่เป็นโลหะ หรือมีชิ้นส่วนที่เป็นโลหะฝังอยู่ในบริเวณที่ให้ความร้อน ซึ่งอาจจะทำให้บริเวณรอบๆ โลหะเกิดความร้อนมากเกินไปได้ หรือผิวหนังเกิดรอยไหม้, ผู้ป่วยที่มีการรับรู้ความเจ็บปวดในบริเวณที่ได้รับความร้อนไม่ปกติ เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับยาชาเฉพาะที่ และไม่ใช้ในเนื้องอกที่อยู่ใกล้ตา หรือเนื้องอกที่สมอง นอกจากนี้ ยังไม่สามารถใช้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถให้ความร่วมมือได้ และควรระวังในผู้ป่วยที่อ้วน หรือ มีชั้นไขมันหน้าท้องหนาในกรณีให้ความร้อนบริเวณดังกล่าว

“มีหลักฐานการศึกษาที่ชัดเจนในกรณีเนื้องอกที่อยู่ตื้น เช่น ก้อนต่อมน้ำเหลืองจากมะเร็งที่กระจายมา, มะเร็งเต้านมที่กลับมาใหม่ และมะเร็งผิวหนังบางชนิด รวมทั้งเนื้องอกที่อยู่ลึก เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม เริ่มมีการศึกษามากขึ้น แต่ผลยังไม่ชัดเจนในมะเร็งที่อยู่บริเวณช่องอกและช่องท้อง ย้ำอีกครั้งว่า ต้องใช้ร่วมกับวิธีอื่น และไม่สามารถรักษาได้ทุกมะเร็งทุกระยะ” ศ.นพ.นิธิ กล่าว

ศ.นพ.นิธิ กล่าวทิ้งท้ายว่า แนะนำให้เข้ามาพบแพทย์เพื่อนำรายละเอียดข้อมูลผู้ป่วยเข้ามาปรึกษาและเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่สุด โดยสามารถเข้ามาติดต่อทำประวัติที่เวชระเบียนชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ หลักสี่ ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 07.00-16.00 น. หรือ โทร. สอบถามที่หมายเลข 02-576-6000



รายงานข่าวแจ้งว่า โรงพยาบาลจุฬาภรณ์นำเข้าเครื่องเทอโมตรอนจากญี่ปุ่น ในสมัยที่ ศ.นพ.พิทยภูมิ ภัทรนุธาพร เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล เมื่อปี 2557 ซึ่งมีการใช้มานานกว่า 20 ปี ราคาประมาณ 50 ล้านบาท มีศักยภาพใช้งานได้เป็น 10 ปี หลักการทำงานของเครื่องคือ การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ให้พลังงานความร้อนที่อุณหภูมิ 43 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ โรงพยาบาลได้นำมาติดตั้งเป็นครั้งแรกของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้การรักษา รวมทั้งวิจัยศึกษา เป็นการพัฒนาการรักษาเพื่อก้าวสู่ศูนย์รักษามะเร็งครบวงจร โดยเปิดรักษาผู้ป่วยด้วยเครื่องดังกล่าวเมื่อเดือนเมษายน 2557 เป็นต้นมา
กำลังโหลดความคิดเห็น