xs
xsm
sm
md
lg

ศาลแรงงานยกฟ้อง ฝรั่งอดีต ผจก.โรงแรมเดอะสยาม ฟ้อง “กมลสุโกศล” เลิกจ้างไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเจสัน ฟรีดแมน(Jason Friedman) - ภาพจาก http://www.thesiamhotel.com/Press-Releases/the-siam-appoints-general-manager-mr-jason-m-friedman
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง คดี “เจสัน ฟรีดแมน” อดีตผู้จัดการโรงแรมเดอะสยาม ฟ้องบริษัทฯ และ “กมลา - กมลสุโกศล” เรียกค่าเสียหาย 39 ล้านบาท อ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและหมิ่นประมาท หลังถูกเลิกจ้างด้วยเหตุทำผิดสัญญาจ้าง ใช้โรงแรมเป็นที่รักษาสเต็มเซลล์ และรับผลประโยชน์ ศาลชี้นายจ้างมีเหตุเลิกจ้างได้ทันที ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใดๆ

วันนี้ (21 เม.ย.) ศาลแรงงานกลางได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 800/2559 หมายเลขแดงที่ 921/2560 ที่ นายเจสัน ฟรีดแมน (Mr.Jason Friedman) เป็นโจทก์ ฟ้องบริษัท สยามรีสอร์ทโฮเตล จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 นางกมลา สุโกศล เป็นจำเลยที่ 2 นายกมลสุโกศล แคลปป์ เป็นจำเลยที่ 3 เรื่องสัญญาจ้างแรงงาน กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เลิกจ้างไม่เป็นธรรม กรณีถูกเลิกจ้างในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปโรงแรมเดอะสยาม เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 หลังจากนายจ้างพบว่า นายเจสันได้ร่วมกับบริษัท ไวต้าลองก้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นำบุคคลภายนอกเข้ามาทำการรักษาพยาบาลแขกที่เข้าพักโรงแรมหลายคน โดยวิธีการให้โภชนาการทางหลอดเลือดดำ และรักษาบำบัดด้วยสเต็มเซลล์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บริหารโรงแรมเดอะสยาม ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างและผิดสัญญาจ้าง

นายเจสัน ระบุในคำฟ้องสรุปได้ว่า ที่นายจ้างอ้างเหตุของการเลิกจ้างนั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากตนเองไม่เคยติดต่อบริษัท ไวต้าลองก้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ให้นำบุคคลภายนอกมารับการรักษาพยาบาลในโรงแรมแต่อย่างใด และไม่เคยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ จากบริษัทดังกล่าว การบอกเลิกจ้างของจำเลยทั้งสาม จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามสัญญาว่าจ้างแรงงานและระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 3 เดือน เป็นเงิน 1,275,645.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่ 26 มกราคม 2559 โจทก์ทำงานกับจำเลยมานานกว่า 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างสุดท้ายจำนวน 180 วัน เป็นเงิน 2,551,291.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่ 26 มกราคม 2559 และการที่โจทก์ถูกจำเลยทั้งสามเลิกจ้างโดยอ้างว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ และกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ทำให้บุคคลอื่นที่ทราบเรื่องโจทก์ถูกเลิกจ้างเข้าใจผิดคิดว่าโจทก์กระทำความผิดตามที่จำเลยกล่าวอ้าง เป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม ทำให้โจทก์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เสื่อมเสียชื่อเสียง ได้รับความเสียหาย เนื่องจากโจทก์เป็นผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงการธุรกิจเกี่ยวกับการก่อตั้งและบริหารโรงแรม การที่จำเลยทั้งสามเลิกจ้างโจทก์โดยทันที ทำให้บุคคลที่ทราบเรื่องเข้าใจผิดว่าโจทก์มีเจตนากระทำผิดจนถูกไล่ออก ทำให้โจทก์มีประวัติเสื่อมเสีย ไม่มีบุคคลใดในธุรกิจโรงแรมยอมรับ หรือว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานอีกต่อไป ส่งผลให้โจทก์ตกงานและขาดรายได้ โจทก์จึงขอเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 36,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่ 26 มกราคม 2559 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น รวมเงินที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยทั้งสามเป็นจำนวน 39,826,937.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่แจ้งดังกล่าว

ศาลพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงนำสืบได้ว่า แพทย์และพยาบาลของบริษัท ไวต้าลองก้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เข้ามาให้บริการทางการแพทย์โดยการฉีดสารอาหารเข้าหลอดเลือดแก่นายไมเคิล และ นายปีเตอร์ ซึ่งเป็นแขกที่มาพักในโรงแรม เมื่อมีการกระทำดังกล่าวภายในโรงแรมของจำเลยที่ 1 โดยมีโจทก์เป็นผู้ชักชวนแนะนำและติดต่อ จึงเข้าลักษณะการให้บริการทางเวชกรรม ซึึ่งต้องดำเนินการในสถานที่ที่กำหนดไว้ มิอาจดำเนินการในโรงแรมของจำเลยที่ 1 ได้ เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะเป็นอันตรายต่อคนไข้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างของโจทก์และเจ้าของสถานที่ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบต่อแขกที่เข้ามาใช้บริการได้ การดำเนินการดังกล่าว ย่อมทำให้จำเลยทั้งสามเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างร้ายแรง เมื่อมีการดำเนินการโดยที่โจทก์รู้เห็นและยินยอมให้มีการกระทำดังกล่าว จำเลยทั้งสามชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์โดยทันที นอกจากนี้ โดยทางนำสืบของจำเลยทั้งสามมีหลักฐานเชื่อมโยงให้เห็นว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากการติดต่อกับบริษัท ไวต้าลองก้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ให้เข้ามาดำเนินการจัดเตรียมการทำสเต็มเซลล์ที่โรงแรมของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงที่ได้ความว่าการกระทำของโจทก์เป็นเรื่องผิดข้อบังคับอย่างร้ายแรง จำเลยทั้งสามชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ทันที

โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) และในกรณีนี้หาใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49

สำหรับกรณีที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสามกระทำการหมิ่นประมาทนั้น จำเลยทั้งสามทำหนังสือเลิกจ้างโจทก์ โดยระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งยังเป็นการแจ้งให้โจทก์ทราบเป็นการเฉพาะตัว การที่จำเลยทั้งสามระบุในหนังสือเลิกจ้างจึงเป็นการกระทำที่เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเลิกจ้าง และเป็นการทำตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 วรรคสอง ที่ให้ระบุสาเหตุการเลิกจ้างไว้ด้วย มิฉะนั้น จะไม่สามารถนำสืบในชั้นศาลได้ ข้อความในหนังสือเลิกจ้างจึงเป็นการที่จำเลยทั้งสามดำเนินการของอำนาจหน้าที่ ไม่เป็นการหมิ่นประมาท หรือทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดแต่อย่างใด โจทก์จึงหามีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายแต่อย่างใดไม่ พิพากษายกฟ้อง
โรงแรมเดอะสยาม (ภาพจาก http://www.thesiamhotel.com/Gallery)
กำลังโหลดความคิดเห็น