xs
xsm
sm
md
lg

๐๖.๔๕ น. ๒๑ เมษายน ๒๕๖๐ กรุงเทพมหานครอายุครบ ๒๓๕ ปี! งูเล็ก ๔ ตัวไม่อาจขัดขวางความเจริญได้!!

เผยแพร่:   โดย: สุวิชชา เพียราษฎร์

พระบรมมหาราชวังของกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ เวลาย่ำรุ่งแล้ว ๔๕ นาที พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงทำพิธียกเสาหลักเมืองขึ้นที่ฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับเมืองหลวงเก่า กรุงธนบุรี โปรดฯพระราชทานนามของเมืองหลวงใหม่แห่งนี้ว่า

“กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยามหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อวตารสถิต สักกทัติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์”

ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงเปลี่ยนนามพระนครจาก “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์”

ความหมายของนามพระนครแห่งนี้ ก็คือ

กรุงเทพมหานครหมายถึงนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร
อมรรัตน์โกสินทร์ หมายถึง เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต
มหินทรายุธยา หมายถึง เป็นมหานครที่ไม่มีใครรบชนะได้
มหาดิลกภพหมายถึงมีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง
นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์หมายถึงเป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการน่ารื่นรมย์ยิ่ง
อุดมราชนิเวศมหาสถานหมายถึงมีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย
อมรพิมานอวตารสถิตหมายถึงเป็นวิมานที่ประทับของพระราชาที่อวตารลงมา
สักกทัติยะหมายถึงซึ่งท้าวสักกเทวราช
วิษณุกรรมประสิทธิ์หมายถึงพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้

พื้นที่สร้างนครหลวงแห่งใหม่นี้ เรียกกันว่า “บางกอก” เดิมเป็นที่อยู่ของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี และกลุ่มชาวจีน จึงทรงให้ย้ายไปอยู่ในสวนตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มถึงคลองวัดสามเพ็ง ซึ่งก็คือวัดปทุมคงคารามในปัจจุบัน ดำรัสสั่งให้พระยาธรรมาธิกรณ์ กับ พระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กอง คุมช่างและไพร่ไปวัดกะที่สร้างพระนครใหม่ สถาปนาพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถาน ล้อมด้วยปราการระเนียดไม้ไว้ชั่วคราวพอเป็นที่ประทับ

ในการทำพิธียกเสาหลักเมืองขึ้นนั้น ได้เกิดเหคุอัศจรรย์ขึ้น คือ ขณะที่ถึงเวลาพระฤกษ์โหราจารย์ย่ำฆ้องบอกเวลา พราหมณ์เป่ามหาสังข์แกว่งบันเฑาะว์ เจ้าพนักงานประโคมดุริยางค์ ปืนใหญ่ยิงเป็นมหาพิชัยฤกษ์ เริ่มพระราชพิธีอัญเชิญเสาหลักเมืองลงหลุม ขณะที่เสาหลักเมืองเคลื่อนลงหลุมตามเวลาพระฤกษ์นั้น ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ มีงูเล็ก ๔ ตัวปรากฏอยู่ในหลุม ปาฏิหาริย์ลงไปอยู่ตั้งแต่เมื่อใดก็ไม่มีใครเห็น เจ้าพนักงานจะชะงักเสาหลักเมืองไว้ก็มิได้ ต้องปล่อยให้ดำเนินไปตามหมายกำหนดการ แล้วกลบฝังงูทั้ง ๔ ตัวนั้นไว้ในหลุมหลักเมืองด้วย

เหตุการณ์นี้ยังพระปริวิตกแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก ทรงเรียกประชุมเหล่าเสวกามาตย์ ราชบัณฑิต ปุโรหิต โหราจารย์ และพระราชาคณะ ตลอดจนผู้รู้ทั้งหลาย มาวิเคราะห์วิจารณ์เหตุการณ์ ซึ่งทุกคนต่างลงความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นอวมงคลนิมิต คือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ดี แต่ก็ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า งูเล็กทั้ง ๔ ตัวนั้นจะนำความเสื่อมเสียมาสู่อย่างไร

หลังจากนั้นก็มีเรื่องร่ำลือกันว่า มีผู้ทำนายทายทักว่า พระราชวงศ์จักรีจะยืนยงดำรงอยู่เพียง ๑๕๐ ปี แต่ก็ไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ เพียงกล่าวออกมาลอยๆ แต่กระนั้นคำทำนายนี้ก็สร้างความปริวิตกให้ผู้คนตลอดมา โดยเฉพาะคนที่เชื่อถือในเรื่องโหราศาสตร์

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงเชี่ยวชาญในเรื่องโหราศาสตร์ ทรงทำพิธีแก้เคล็ดให้ตั้งเสาหลักเมือขึ้นใหม่อีกเสาหนึ่งเมื่อวันพุธ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ.๒๓๙๕ นอกจากนี้ยังให้สร้างสะพานขึ้นเชื่อมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างเมืองหลวงเก่ากับเมืองหลวงใหม่เข้าด้วยกัน อันเป็นส่วนหนึ่งของการแก้เคล็ดในเรื่องนี้ด้วย แต่ก็ยังไม่มีเทคโนโลยีพอที่จะสร้างได้ในยุคนั้น

จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ สมัยรัชกาลที่ ๗ ซึ่งเริ่มเตรียมงานฉลองกรุงเทพฯ ๑๕๐ ปีที่วิตกกันมานาน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้จัดงานนี้เป็นงานใหญ่ และโปรดให้สร้างสะพานตามพระราชดำริในรัชกาลที่ ๔ ขึ้นด้วย โดยเสด็จวางศิลาฤกษ์ในวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๒ แล้วเสร็จเปิดใช้ได้ในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๓๔๗๕ พร้อมทั้งเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีผู้ให้กำเนิดกรุงเทพมหานคร ทันงานเฉลิมฉลองกรุงเทพฯ ๑๕๐ ปี พระราชทานนามสะพานแห่งนี้ว่า “สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์” แค่คนทั่วไปเรียกกันว่า “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” หรือ “สะพานพุทธฯ”

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งประสูติในปีมะเส็ง ราศีงูเล็ก ได้ร่วมกับเจ้านายที่ประสูติในปีมะเส็งอีก ๓ พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเพชรราชสิรินทร สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ร่วมกันทำบุญสร้างตึกหลังหนึ่งให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และพระราชทานนามตึกหลังนี้ว่า “ตึกสี่มะเส็ง” พร้อมกันนี้โปรดฯให้ทำเหรียญเงิน เรียกกันว่า “เหรียญปีมะเส็ง” แจกให้นักเรียนทั่วประเทศด้วย

บัดนี้เป็นเวลาครบ ๒๓๕ ปีแล้ว ราชวงศ์จักรีและกรุงเทพมหานครได้เจริญยั่งยืนขึ้นตลอด กษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ ทรงมุ่งมั่นในพระราชกรณียกิจเพื่อชาติและประชาชน ตามพระราชภาระของพระองค์อย่างแท้จริง จนได้รับความเคารพเทิดทูนจากประชาชนคนไทยไว้เหนือเกล้า ทั้งยังทรงได้รับความชื่นชมศรัทธาจากชาวโลก ส่วนกรุงเทพมหานครที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเริ่มสร้างพระราชมณเฑียรด้วยเครื่องไม้ และล้อมพระราชวังด้วยระเนียดไม้ในครั้งแรกนั้น บัดนี้ก็เจริญรุ่งเรืองเป็นมหานครหนึ่งของโลก และหลายครั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นมหานครที่มีความสุขที่สุด และน่าท่องเที่ยวที่สุดในโลกด้วย

เห็นได้ชัดว่า งูเล็ก ๔ ตัวในหลุมหลักเมืองที่วิตกกันมาเป็นเวลาถึง ๑๕๐ ปี ก็ไม่อาจเป็นอาถรรพณ์ในทางอวมงคลนิมิตแก่ราชธานีแห่งนี้ได้

เมื่อแรกสถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นนั้น พม่าซึ่งเป็นศัตรูนิรันดร์กาลของไทย ที่รบกันมาเป็นเวลาถึง ๓๐๐ ปี พยายามขัดขวางไม่ให้ไทยตั้งตัวได้ โหมกำลังเข้ามาตีถึง ๙ กองทัพ แม้จะพ่ายไปอย่างหมดท่า ก็ยังไม่ละความพยายามที่จะตีกรุงเทพฯให้ได้ กรีฑาทัพเข้ามาอีกหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีครั้งใดที่จะเหยียบเข้ามาถึงชานพระนครได้ แม้แต่เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ซึ่งอาศัยความใกล้ชิดกับราชวงศ์ไทย หลอกเมืองตามรายทางว่ากรุงเทพฯเรียกให้ยกทัพมาช่วยรบกับอังกฤษ แต่มาถึงแค่โคราชเจอคุณหญิงโมก็ต้องถอยทัพกลับไป กรุงเทพฯ “มหานครที่ไม่มีใครรบชนะได้” จะบอบช้ำก็ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถูกเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรบอมบ์หลายระลอก สะพานพุทธฯและสะพานพระราม ๖ ถูกถล่มขาด และอีกหลายแห่งที่ตรงเป้าบ้าง ถูกลูกหลงบ้าง แต่ทั้งหมดมีจุดประสงค์ที่จะสกัดญี่ปุ่นที่มาอาศัยไทยเป็นฐานทัพทั้งสิ้น

ส่วนด้านการปกครอง ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้มีการยกเลิกมณฑล มณฑลกรุงเทพฯจึงถูกเปลี่ยนฐานะเป็นเพียง “จังหวัดพระนคร”

ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๔ รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้รวมจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกัน เป็น “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” ต่อมาในวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ จึงได้เปลี่ยนเป็น “กรุงเทพมหานคร”

กรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการสมโภชครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๓๒๘ หลังจากสร้างพระบรมมหาราชวังแล้ว จึงได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมา พระแก้วมรกต ข้ามฟากจากกรุงธนบุรี มาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ในวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๒๕ สมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงให้จัดฉลองกรุงเทพมหานครที่ได้ประดิษฐานมาครบ ๑๐๐ ปี พร้อมกับสมโภชพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและวัดพระศรีศาสดารามในคราวเดียวกันด้วย

ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ สมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตั้งโรงพิธีที่ท้องสนามหลวง บวงสรวงอดีตพระมหากษัตราธิราช และเปิดสะพานพุทธยอดฟ้าฯในวันที่ ๖ เมษายน อันเป็นวันจักรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองกรุงเทพฯ ๑๕๐ ปี

และในสมัยรัชกาลที่ ๙ ปี พ.ศ.๒๕๒๕ กรุงเทพฯมีอายุครบ ๒๐๐ ปี กับในปี พ.ศ.๒๕๔๕ ซึ่งกรุงเทพฯมีอายุครบ ๒๒๐ ปี ก็มีการเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานครอีก

ขณะนี้กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ทั้งหมด ๑,๕๖๒.๒ ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น ๕๐ เขต และมีประชากรสัญชาติไทยและไม่ใช่สัญชาติไทย ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรในเดือนมกราคม ๒๕๖๐ ถึง ๘,๒๑๖,๐๐๐ คน ส่วนคนที่อพยพเข้ามาและแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ คาดว่ากรุงเทพมหานครมีประชากรที่อาศัยอยู่จริงกว่า ๑๐ ล้านคนแน่
หลักเมืองเก่า และหลักเมืองที่สร้างขึ้นในสมัย ร.๔
วันเปิดสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์
สะพานพุทธฯเมื่อครั้งที่ยังเปิดให้เรือใหญ่ผ่าน
วันเปิด “ตึกสี่มะเส็ง” ที่ ร.พ.จุฬาฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น