MGR Online - กรมศิลปากรตีความหมุดคณะราษฎรไม่เข้าข่ายเป็นโบราณวัตถุตาม พ.ร.บ. โบราณสถานฯ พ.ศ. 2504 ระบุ ไม่ใช่สังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่งที่เคยมีการประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งพลเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร นำมาติดตั้งในปี 2479
จากกรณีค่ำวานนี้ (18 เม.ย.) เฟซบุ๊กกลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร @prfinearts ได้ชี้แจงถึง ประเด็น “หมุดคณะราษฎร” ซึ่งหายไปจากบริเวณพระราชวังดุสิต และข้อสงสัยว่า หมุดคณะราษฎรดังกล่าวถือเป็น “โบราณวัตถุ” หรือไม่ โดยระบุว่า
ประเด็น “หมุดคณะราษฎร์” เป็นโบราณวัตถุ ตาม พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หรือไม่?
“กรมศิลปากรได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ตาม พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ได้บัญญัติให้ “โบราณวัตถุ” หมายความถึง สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซากมนุษย์หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ซึ่ง จากนิยามดังกล่าวกรมศิลปากรจึงเห็นว่า หมุดคณะราษฎรมิใช่โบราณวัตถุตามนัยของ พ.ร.บ. โบราณสถานฯ เนื่องจากหมุดคณะราษฎรเป็นวัตถุที่พลเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้นำมาติดตั้งไว้ในบริเวณลานพระราชวังดุสิต เมื่อปี พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นเวลา 4 ปี ภายหลังจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังนั้น หมุดคณะราษฎรจึงมิใช่สังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เพราะหมุดดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่งที่เคยมีการประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น” กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร ระบุ
ขณะเดียวกัน ความเห็นดังกล่าวถือว่าขัดแย้งกับความเห็นนักวิชาการเสื้อแดง และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ก่อนหน้านี้ออกมาระบุว่า หมุดคณะราษฎรเป็นของราชการ โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นคนสร้างเมื่อ พ.ศ. 2479 ผู้ลักขโมยจึงมีความผิดในข้อหาลักทรัพย์แผ่นดิน
“หมุดคณะราษฎรเป็นของราชการ โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นคนสร้างเมื่อ พ.ศ. 2479 ผู้ลักขโมยจึงมีความผิดในข้อหาลักทรัพย์แผ่นดิน นอกจากนี้ นับเวลาถือว่าเป็นวัตถุทางประวัติศาสตร์ ใครเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลงต้องขออนุญาตกรมศิลปากรก่อนครับ การกระทำของคนร้ายทั้งหมดจึงเป็นความผิด เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการครับ” นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการเสื้อแดงอ้าง พร้อมทั้งระบุด้วยว่า กรมศิลปากรตั้งใจตีความไม่ได้หมุดคณะราษฎรเป็นวัตถุทางประวัติศาสตร์ เพื่อทำให้ตนเองไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวกับเรื่องนี้ และการตีความผิดดังกล่าวเป็นการตีความที่ผิด