xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ ร.๕ ทรงกริ้วหนัก อังกฤษ-ลังกาวิ่งกันพล่าน! ทรง“..เห็นว่าไม่กริ้วไม่ได้..”และ“..ได้คิดก่อนแล้วจึงวิวาท”..!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

วัดมะลิกาวะในเมืองแคนดี  ในวิหารที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว
อ่านประวัติศาสตร์ พงศาวดาร และบันทึกจดหมายเหตุรายวันมา ยังไม่เคยพบเรื่องที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงโกรธกริ้วผู้ใด แต่เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปในปี พ.ศ.๒๔๔๐ ก็เจอเรื่องที่ขุ่นเคืองพระราชหฤทัยขณะทรงแวะลังกา ทรงมีพระราชหัตถเลขามาถึงสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถว่า

“...เห็นว่าไม่กริ้วไม่ได้ คนเป็นกองเสียพระเกียรติยศ” และทรงรายงานถวายสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหมื่นวชิรญานวโรรสว่า “...หม่อมฉันไปชวนวิวาทกันขึ้นกับผู้รักษา อันที่จริงไม่ได้เป็นไปโดยลุอำนาจแก่โทสะ ได้คิดก่อนแล้วจึงได้วิวาท...”

เรื่องอันน่าแปลกใจนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือ “ประชุมพระบรมราชประวัติ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง” รวบรวมเรียบเรียงโดยผู้ใช้นามว่า “พระยาอณุชิต” โรงพิมพ์ศิริอักษรพิมพ์จำหน่ายในปี พ.ศ.๒๔๗๔ หนา ๗๓๖ หน้าในราคาเล่มละ ๒ บาท ซึ่งในตอนหนึ่งได้เล่าเรื่องที่เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก โดยเรือพระที่นั่งจักรีออกจากท่าราชวรดิฐในวันที่ ๗ เมษายน ถึงสิงคโปร์ในวันที่ ๑๑ เมษายน เสด็จขึ้นประทับแรมที่สิงคโปร์ ๑ คืนบ่ายวันที่ ๒๑ เมษายนจึงถึงเมืองแคนดีของลังกา เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการไปที่วักมะลิกาวะ เพื่อทรงนมัสการพระทันตธาตุ หรือพระเขี้ยวแก้ว ซึ่งทางวัดได้ตกแต่งดอกไม้ใบไม้ประดับพร้อมขบวนแห่รับเสด็จ ตีตะโพน ตีกลองกันอึกทึกครึกโครมจนไม่รู้ว่าเป็นเพลงอะไร มีผ้าลาดตามทางเสด็จพระราชดำเนินไปสู่พระวิหารประดิษฐานพระทันตธาตุ

บนพระวิหาร นอกจากจะมี ออนเนอร์เรเบอล์เบลี เจ้าเมืองแคนดี พร้อมกรมการเมือง และ “นายตะบะ ปาลาโบกา” หัวหน้าเจ้าพนักงานรักษาพระวิหาร คอยต้อนรับอยู่แล้ว ยังมีพระสงฆ์อีก ๕๐๐ รูป คฤหัสถ์อีกราวๆกัน จึงเบียดเสียดกันแน่นขนัด ทรงมีพระราชหัตถ์เลขาเล่าให้สมเด็จพระบรมราชินีถึงตอนนี้ว่า “...ฉันนี้เป็นอย่างดีแล้ว มีที่ว่างรอบๆตัวน่าจะไม่ถึงศอก...”

เมื่อเสด็จมาถึง พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ถวายไชยมงคล จากนั้นพระอนุนายะกะอ่านหนังสือถวายพระพร ๑ ฉบับ พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบว่า “มีความขอบใจที่ได้จัดการรับรอง หวังว่าท่านบรรพชิตทั้งปวงจะหมั่นปฏิบัติตามพุทธศาสโนวาท” จากนั้นพระสงฆ์ถวายหนังสือและสิ่งของต่างๆ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงจุดธูปเทียนนมัสการพระทันตธาตุแล้ว มีพระประสงค์จะทรงจับพระทันตธาตุ และทรงยืมหนังสือจานในทองคำ ๒ ผูกมาตรวจ นายตะบะ ปาลาโบกา กราบทูลโดยไม่ค่อยเต็มใจ อ้างเหตุผลว่าไม่มีใครเคยได้จับต้องพระธาตุ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทางดำริเห็นว่า การที่พูดขัดขวางเช่นนั้นเป็นการพูดลบหลู่พระบรมเดชานุภาพ จึงรับสั่งให้คืนสิ่งของต่างๆที่ทางวัดนำมาถวาย อีกทั้งให้นำสิ่งของที่จะนำไปถวายเป็นเครื่องนมัสการพระทันตธาตุกลับทั้งหมด แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับทันที

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับมาถึงโรงแรมที่ประทับได้ครู่หนึ่ง เจ้าอธิการวัดมะลิกาวะและเจ้าเมืองแคนดีได้มายังโฮเตลควีนส์พาวิเลียนที่ประทับ จะเข้าเฝ้าขอรับพระราชทานโทษานุโทษ และขอเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปที่วัดมะลิกาวะอีกครั้ง เพื่อจับต้องพระทันตธาตุตามพระราชประสงค์ หรือจะให้นำมาที่โรงแรมที่ประทับก็ยินดี แต่ไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้า และพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จลงมาทอดพระเนตรขบวนแห่ถวายพระพรที่มาหน้าโรงแรมในตอนค่ำด้วย

ทรงมีพระราชหัตถ์เลขาถึงสมเด็จพระบรมราชินีนาถถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า

“...ฉันว่าจะยอมให้จับได้หรือไม่ บอกว่าไม่มีธรรมเนียม ไม่เคยยอมให้ใครจับเลย ฉันว่าประหลาดแล้วในโลกนี้ ออกมาอย่างไรเล่า ในพระเจดีย์เข้าไปอยู่ในครอบแก้ว ก็ตอบว่าจับได้แต่พระที่เป็นเกาวนาผู้ปกครอง ฉันว่าพระเป็นแต่เกาวนา ข้าเป็นเจ้าแผ่นดินถือพระพุทธศาสนา ในเมืองข้าเช่นพระแก้วมรกฎ ไม่มีใครจับข้าเป็นผู้จับได้ ข้าดีกว่าผู้รักษาอีก เขาว่าผู้รักษาจับก็ต้องจับด้วยผ้า ไม่ได้จับด้วยมือเปล่า ฉันว่าเจ้าจะพูดอะไรมากไป พี่น้องข้า บ่าวข้าที่มาเดี๋ยวนี้ ชี้หลวงสุนทรและมหามุทลิยเป็นคริสเตียนก็เคยจับ ข้าอยากลองดู เจ้าไม่ให้จับ ข้าก็ไม่จับกับของพันนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ซ่อนพระองค์ไม่ให้ใครเข้าถึง พระธรรมของท่านเปิดเผยแก่คนที่หวังจะประพฤติตาม ไม่มีสิ่งใดปิดบังซ่อนเร้น เรามาบัดนี้เพื่อจะบูชาสิ่งนี้ ก็เฉพาะต่อองค์พระพุทธเจ้า เราหาได้มุ่งจะบูชาสิ่งที่ต่างพระองค์ไม่ เมื่อเจ้าห้ามข้าด้วยความดูถูกดังนี้ ข้าก็ไม่บูชาพระพุทธเจ้าในที่นี้ ข้าจะบูชาที่อื่นได้ถมไป ฉันสั่งให้ขนของเครื่องบูชากลับ และให้คืนของที่พระให้ทั้งหมด และสั่งให้คนที่ไปด้วยให้เข้าไปดูเสียทุกคน ฉันออกมาหายใจที่เฉลียง พอคนดูทั่วกันแล้วก็ลงมาขึ้นรถกลับ อ้ายพวกนั้นตลึงกันไปหมด ไม่มีใครติดตามว่ากล่าวอันใด”

ต่อมาในวันที่ ๒๗ เมษายน ได้มีพระราชหัตถเลขากราบทูลกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ เกี่ยวกับเรื่องที่วัดมะลิกาวะอีกว่า

“การที่หม่อมฉันออกมาครั้งนี้ ที่แห่งใดๆก็นับว่าเป็นเรียบร้อย เว้นไว้แต่ที่วัดมะลิกาวะ วัดพระทันตธาตุ หม่อมฉันไปชวนวิวาทกันขึ้นกับผู้รักษา อันที่จริงไม่ได้เป็นไปโดยลุอำนาจแก่โทษะ ได้คิดก่อนแล้วจึงวิวาท เหตุการณ์ที่ขอแตะต้องพระทันตธาตุ ไม่เป็นการปลาดอันใด มีผู้เคยจับต้อง..... คนที่มาด้วยกับหม่อมฉัน....มน เสมอใจ.... (....ข้อความขาดจากความเก่าของหนังสือ) หลวงสุนทรโกษา และมหามุทลิย ซึ่งเป็นคนถือศาสนาพระเยซู หากแต่เพียงมาด้วยเจ้านายของเราก็จับได้ ความจริงไม่มีผู้ใดทั้งฝรั่งและลังกาที่ได้คิดสักคนหนึ่ง ว่าจะเกิดขัดขวางดังนั้น เจ้าเมืองเองได้บอกแก่หม่อมฉันว่า เพราะคิดเห็นเสียว่าหม่อมฉันเป็นคนถือพุทธศาสนา คงจะเข้าออกกันได้สนิทสนมกับพวกนั้น เพื่อจะเปิดช่องให้พวกข้าราชการได้เข้าไปมาก จึงมิได้เข้าไปในห้องนั้นด้วย หาไม่การอันนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น เลยพิเคราะห์ดูตามอาการกิริยาและคำที่ออกตัวภายหลัง ก็เป็นอันจะโก่งให้ราคาสูง คือจะบอกให้เห็นว่า อนุญาตให้จับโดยนับถืออย่างยิ่ง ไม่ได้อนุญาตแก่ผู้อื่นเลย แต่การอันนั้นไม่เป็นความจริง และประกอบด้วยกิริยาอันหยาบคายของหัวหน้าผู้รักษา ให้ปรากฏว่าคำตอบนั้นไม่สู้เป็นการเคารพ...”

ต่อมาได้ทรงพระราชนิพนธ์ “เรื่องพระเขี้ยวแก้ว” ขึ้น และในบท “การเปิดพระธาตุให้คนดู” ทรงนิพนธ์ตอนหนึ่งไว้ว่า

“การที่จะเปิดพระทันตธาตุให้คนดูเป็นการเปิดเผยนั้น นาน ๆ มีครั้งหนึ่ง ในเวลาเมื่อพระเจ้าแผ่นดินลังกายังมีอยู่ เปิดครั้งหลังที่สุดแผ่นดินพระเจ้ากีรติศรี ในราวพุทธศักราช ๒๓๑๘ จุลศักราช ๑๑๓๗ เป็นปีที่พระอุบาลีเถระกับราชทูตกรุงสยามตามคำเชื้อเชิญของพระเจ้ากีรติศรีให้ไปสืบศาสนวงศ์ในเมืองลังกา เพราะเวลานั้น พระสงฆ์ในเมืองลังกาสาบสูญสิ้นไป พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงได้ทรงจัดพระสงฆ์สิบรูป กับทูตานุทูต ให้เชิญพระพุทธรูป พระธรรม แลพระราชสาส์นออกไป ซึ่งจดหมายระยะทางของราชทูต แลวิธีซึ่งเชิญพระทันตธาตุออกให้ราษฎรดูอย่างไร ยังมีอยู่ในห้องอาลักษณ์ แลได้ลงพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณ แต่จะเป็นฉบับใดข้าพเจ้าจำไม่ได้ ต่อมาอีก มีครั้งหนึ่งเมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๑ จุลศักราช ๑๑๙๐ แลเมื่อไม่กี่ปีนี้อีกครั้งหนึ่ง การที่เปิดให้คนดูเช่นนี้ เพื่อประสงค์จะได้เงินปฏิสังขรณ์ที่วิหารพระทันตธาตุ ชนชาวสิงหลทั้งปวงย่อมพากันแตกตื่นไปนมัสการแลเข้าเรี่ยไรทั่วทั้งสกลลังกาทวีป

ในระหว่างซึ่งมิได้มีการเปิดให้คนนมัสการมากเช่นนั้น ย่อมเปิดให้ผู้มีบรรดาศักดิ์ต่างประเทศสำคัญ ๆ ดูบ้างเป็นครั้งเป็นคราว แต่โดยปรกติที่เปิดให้ชาวลังกาบูชานั้น เป็นแต่ไปนมัสการภายนอก หาได้เห็นองค์พระทันตธาตุไม่

เมื่อจะกล่าวตามคนต่างประเทศเขากล่าว ที่เขาได้พิจารณาวาดเขียนจำลองถ้วนถี่ เขาว่า ทำด้วยงาช้างซึ่งเสียสี เป็นของพระเจ้าวิกรมพาหุคิดทำขึ้น ไม่เป็นสัณฐานพันธุ์มนุษย์ เพราะสิ่งที่จริงแท้นั้น โปรตุเกสได้ทำลายเสียที่เมืองคัวดังได้กล่าวมาแล้ว แต่ตามความเห็นของข้าพเจ้า เห็นว่า ถึงพระทันตธาตุซึ่งว่าโปรตุเกสทำลายเสียนั้นจะเชื่อว่าแท้ก็ไม่ได้ ด้วยพาไปซ่อนเร้นหมกฝังเสียเป็นหลายครั้งมาแล้ว”

ปัจจุบัน วัดมะลิกาวะ ในเมืองแคนดีของศรีลังกา เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนา มีคนไทยนิยมไปกันมาก

คนไทยไปนมัสการกันไม่ขาดสาย
กำลังโหลดความคิดเห็น