สมัยก่อน เมื่อถึงเดือนเมษายนจะเป็นช่วงที่เกิดอหิวาตกโรคระบาดรุนแรงทุกปี ภาษาทางการขณะนั้นเรียกว่า “ไข้ป่วงใหญ่” แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า “โรคห่า” ส่วนคนที่เป็นโรคนี้เรียกกันว่า “ห่ากิน” ประกอบกับคนในยุคนั้นยังกิน-ใช้น้ำในแม่น้ำคลอง และทิ้งสิ่งปฎิกูลทั้งหลายลงไปในน้ำเหมือนเป็นถังขยะ รวมทั้งศพคนที่เป็นอหิวาต์ ที่สำคัญคือขณะนั้นยังไม่รู้สาเหตุของการเกิดโรคและการรักษา อหิวาต์จึงระบาดอย่างรวดเร็ว และคร่าชีวิตผู้คนปีละมากๆ จนถึงวันนี้อหิวาต์ก็ยังเป็นโรคที่ยังพบได้ในฤดูร้อนทุกปี
มีหลักฐานอ้างอิงว่า อหิวาต์เกิดขึ้นในเมืองไทยตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาแล้ว และเกิดขึ้นทุกปีตลอดมา รุนแรงมากน้อยต่างกันไปแต่ละปี แต่มีบันทึกไว้ว่า ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปี พ.ศ.๒๓๖๓ และ พ.ศ.๒๓๙๒ ได้เกิดอหิวาต์ระบาดรุนแรงที่สุด มีคนตายถึงคราวละ ๓๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ คน ซึ่งก็นับว่ามหาศาลเมื่อเทียบกับจำนวนพลเมืองที่มีอยู่ไม่กี่ล้านคนในขณะนั้น
ในปี ๒๓๖๓ อหิวาต์เกิดขึ้นโดยระบาดมาจากอินเดีย ขณะนั้นเมื่อยังไม่มีวิธีรักษาและรู้จักการป้องกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ จึงทรงใช้วิธีให้กำลังใจ โปรดให้ตั้งพิธีขับไล่โรคนี้ขึ้น เรียกว่า “พิธีอาพาธพินาศ” โดยจัดขึ้นที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืน อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุออกแห่ มีพระราชาคณะโปรยน้ำพระพุทธมนต์ตลอดทาง ทรงทำบุญเลี้ยงพระ โปรดให้ปล่อยปลาปล่อยสัตว์ และประกาศไม่ให้ประชาชนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อยู่กันแต่ในบ้าน กระนั้นก็ยังมีคนตายเพราะอหิวาต์ประมาณ ๓ หมื่นคน ศพกองอยู่ตามวัดเป็นภูเขาเลากาเพราะฝังและเผาไม่ทัน บ้างก็แอบเอาศพทิ้งลงในแม่น้ำลำคลองในเวลากลางคืน จึงมีศพลอยเกลื่อนไปหมด ประชาชนต่างอพยพหนีออกไปจากเมืองด้วยความกลัว พระสงฆ์ทิ้งวัด งานราชการและธุรกิจทั้งหลายต้องหยุดชะงัก ผู้คนที่ไม่หนีไปก็เพราะมีภาระในการดูแลคนป่วยและจัดการศพของญาติมิตร
คนที่เป็นอหิวาต์ส่วนใหญ่จะเป็นพวกนักโทษ ทาส และสามัญชนทั่วไป ที่ไม่ค่อยจะมีความระมัดระวังในการกินอยู่ ส่วนคนที่มีฐานะดีก็จะมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้น้อยกว่า
สำหรับในพระบรมมหาราชวังและบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์นั้น ได้มีการจัดหาน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาดมาก่อนแล้ว โดยใช้น้ำจากต้นน้ำเพชรบุรีที่เป็นน้ำบริสุทธิ์จากป่าเขา ไหลผ่านกรวดทราย ตักใส่โอ่งลำเลียงมาทางเรือ
อหิวาต์เวียนมาทุกฤดูแล้งในเดือนเมษายน แต่พอถึงเดือนกรกฎาคมเมื่อมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ชำระล้างสิ่งสกปรกทั้งหลายในแม่น้ำลำคลองให้ไหลลงสู่ทะเล อหิวาต์ก็จะหายไปเองในทันทีที่เข้าฤดูฝน
ต่อมาในปี ๒๓๙๒ อหิวาต์ได้ระบาดหนักอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เกิดขึ้นที่ปีนังก่อน แล้วแพร่ระบาดมาจนถึงกรุงเทพฯ เรียกกันว่า “ห่าลงปีระกา” ในระยะเวลาช่วง ๑ เดือนแรกที่เริ่มระบาด มีผู้เสียชีวิตถึง ๑๕,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ คน และตลอดฤดูตายถึง ๔๐,๐๐๐ คน เจ้าฟ้ามงกุฎฯ คือรัชกาลที่ ๔ ซึ่งขณะนั้นดำรงเพศพรรพชิตเป็นพระราชาคณะ ทรงบัญชาให้วัดสามวัด คือ วัดสระเกศ วัดบางลำภู (วัดสังเวชวิศยาราม) วัดตีนเลน (วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร หรือวัดเชิงเลน) เป็นสถานที่สำหรับเผาศพ มีศพที่นำมาเผาสูงสุดถึงวันละ ๖๙๖ ศพ แต่กระนั้นศพที่เผาไม่ทันก็ถูกกองสุมกันอยู่ตามวัด โดยเฉพาะวัดสระเกศมีศพส่งไปไว้มากที่สุด ทำให้ฝูงแร้งไปลงทึ้งกินซากศพ จนลานวัด บนต้นไม้ บนกำแพง และหลังคากุฏิเต็มไปด้วยแร้ง แม้เจ้าหน้าที่จะถือไม้คอยไล่ก็ไม่อาจกั้นฝูงแร้งที่จ้องเข้ารุมทึ้งซากศพอย่างหิวโหย และจิกกินซากศพจนเห็นกระดูกขาวโพลน พฤติกรรมของ “แร้งวัดสระเกศ” ที่น่าสยดสยอง จึงเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่ว
“โรคห่า” ยังคงมาเยือนเมืองไทยทุกปี ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ และปี พ.ศ.๒๔๑๖ มีคนตายในช่วงวันที่ ๒๒ มิถุนายน จนถึงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม เป็นจำนวน ๖ พันกว่าคน ซึ่งน้อยลงมาก แต่ในปี ๒๔๒๓ สมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งคนไทยพอจะมีความรู้ในการป้องกันกำจัดอหิวาต์ขึ้นบ้าง กลับมีคนตายเป็นจำนวนหมื่น
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้ กรมสุขาภิบาลได้มีการจัดพิมพ์ใบปลิวออกแจกจ่ายประชาชนให้ความรู้เกี่ยวกับอหิวาต์เป็นครั้งแรก แนะนำไม่ให้เอาของโสโครกหรือเสื้อผ้าของคนป่วยทิ้งในแม่น้ำลำคลอง อย่ากินอาหารที่บูดเสีย เสาะท้อง หรือรสจัด ให้กินแต่น้ำต้มหรืออาหารที่ไม่มีแมลงวันตอม
ส่วนการรักษานั้น ถ้าเริ่มรู้สึกไม่สบายท้อง มีอาการอืดเฟ้อ ให้กินยาแก้ท้องเฟ้อประเภทการบูนหรือน้ำไพล
ถ้าถึงขั้นอาเจียน ถ่ายท้องมาก ก็มียาสำหรับอหิวาต์ผลิตออกมาแล้ว ของห้างโอสถสภา สลากบอกว่า “ยาแก้อหิวาตกโรค” ส่วนห้างบีกริมของฝรั่งก็มีออกมาเช่นกันเรียกกันว่า “ยาขวดแตก”
จนกระทั่งในปี ๒๔๕๗ ได้มีการผลิตน้ำประปาขึ้นในกรุงเทพฯ อหิวาต์จึงบรรเทาเบาบางลงมาก แต่ก็ยังไม่ขาดหายไป แม้ในทุกวันนี้ก็ยังมีอหิวาต์เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนเมษายน แต่ความรู้และสุขาภิบาลในสมัยนี้ทำให้อหิวาต์ไม่สามารถระบาดคร่าชีวิตผู้คนได้มากมายอย่างในสมัยก่อน
ในตอนที่คำว่า “แร้งวัดสระเกศ” โด่งดังนั้น มีอีกคำที่ถูกกล่าวขาน แต่ในความหมายตรงกันข้าม กลับเป็นเรื่องสนุกสนาน ก็คือคำว่า “ไก่งวงวัดสระเกศ”
มีเรื่องเล่ากันว่า มีชายคนหนึ่งเกิดพิเรน จับแร้งตัวหนึ่งใส่กระสอบแล้วแบกไปที่บ้านฝรั่งตอนก่อนถึงคริสต์มาส ๔-๕ วัน แล้วบอกว่ามีไก่งวงมาขายในราคาถูก เป็นไก่งวงที่เลี้ยงไว้ในทุ่งจึงเปรียวมากต้องใส่กระสอบไว้ ฝรั่งชะโงกหน้าลงมาดู ชายคนนั้นก็เผยอปากถุงให้เห็นหัวแดง ตัวใหญ่เท่าไก่งวงดิ้นขลุกขลักอยู่ในกระสอบ จึงรับซื้อไว้ในราคา ๔ บาท
รุ่งขึ้นฝรั่งสั่งให้พ่อครัวเอาไก่งวงออกมายืดเส้นยืดสายก่อนที่จะตายในกระสอบ แต่พอเปิดกระสอบปล่อยออกมา แร้งก็วิ่งอ้าวแล้วบินหนีไป
เรื่องนี้เล่ากันอย่างสนุกสนานไปทั่ว ทำให้คำว่า “ไก่งวงวัดสระเกศ” เป็นคำฮิตของบางกอกในสมัยนั้นไปด้วย