“หม่อมหลวง อัศนี ปราโมช” อดีตองคมนตรี ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อเวลา 14.09 น. ของวันที่ 2 เม.ย. ในวัย 82 ปี พระราชทานน้ำหลวงอาบศพและเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ต่อเนื่องด้วยพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ณ ศาลาบัณณรศภาค วัดเบญจมบพิตรฯ ในวันที่ 3 เม.ย. เวลา 17.00 น.
วันนี้ (2 เม.ย.) มีรายงานว่า พลเรือเอกหม่อมหลวง อัศนี ปราโมช อดีตองคมนตรี ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อดีตผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม., ภ.ป.ร.2 ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อเวลา 14.09 น. ที่ผ่านมา ในวัย 82 ปี
โดยในวันที่ 3 เม.ย. เวลา 17.00 น. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และเครื่องเกียรติยศประกอบศพ (สวดพระอภิธรรม 1 จบ) ต่อเนื่องด้วยพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ณ ศาลาบัณณรศภาค วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แขวงจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์รวม 7 วัน ซึ่งจะมีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม เวลา 19.00 น. ระหว่างวันที่ 4 - 9 เม.ย. 2560 งดวันจักรี ที่ 6 เม.ย. 2560
วันที่ 10 - 12 เม.ย. 2560 พิธีธรรมสวดพระอภิธรรม เวลา 19.00 น. (งดพวงหรีด)
ทั้งนี้ พลเรือเอกหม่อมหลวง อัศนี มีชื่อเล่นว่า “ตุ้ย” เป็นบุตรของหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี และท่านผู้หญิง อุศนา ปราโมช ณ อยุธยา สมรสกับท่านผู้หญิง วราพร ปราโมช ณ อยุธยา (สกุลเดิม ชลวิจารณ์) มีบุตรทั้งหมด 5 คน ม.ล.อัศนี ปราโมช มีผลงานทางดนตรีมากมาย เป็นนักไวโอลิน นักวิโอลา ผู้ประพันธ์เพลง และผู้อำนวยเพลง เป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ทำให้ได้รับการยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) เมื่อปี พ.ศ. 2537
ในวัยเด็ก ท่านได้รับการศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อทางด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จนสำเร็จปริญญาตรี จากนั้นก็ได้เข้าศึกษาในหลักสูตรเนติบัณฑิตที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายเกรส์ อินน์ จนสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ หม่อมหลวง อัศนี เข้ารับราชการทหารที่กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม จนได้รับยศเป็นเรือเอก จากนั้นก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เข้าทำงานที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ และได้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 มาจนถึงปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หม่อมหลวง อัศนี ดำรงตำแหน่งองคมนตรี
ด้านการทหาร ท่านได้รับพระราชทานยศเป็นพลเรือตรีในตำแหน่งนายทหารพิเศษ ประจำกรมนักเรียนนายเรือรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรือ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2535 พลเรือเอกในตำแหน่งนายทหารพิเศษ ประจำกองบังคับการ กรมทหารราบที่ 3 รักษาพระองค์ กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน 16 ธันวาคม พ.ศ. 2550
หม่อมหลวง อัศนี ได้รับอิทธิพลในด้านดนตรีและศิลปะมาจากหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ตั้งแต่วัยเด็ก ท่านเริ่มเล่นดนตรีด้วยการฝึกไวโอลิน และได้รวมตัวกันเล่นดนตรีวงควอเตทภายในครอบครัวบ่อยครั้ง เมื่อเดินทางไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ท่านได้ใช้เวลาว่างศึกษาเรียนรู้ดนตรีด้วยตนเอง ทั้งยังได้เข้าร่วมกิจกรรมทางดนตรีกับทางมหาวิทยาลัยเป็นประจำ
เมื่อเดินทางกลับจากศึกษาต่อในปี พ.ศ. 2501 ท่านได้ร่วมกับ ศาสตราจารย์ กำธร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และชาวต่างชาติอีก 2 คน ตั้งวงสตริงควอเตทขึ้น ต่อมาวงสตริงควอเตทได้พัฒนาไปเป็นวงโปรมิวสิกา ซึ่งเป็นวงดนตรีที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และก็ได้รับความสนับสนุนจากสถาบันเกอเธ่ (สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน) ให้ใช้สถานที่ฝึกซ้อม ทั้งยังได้ส่งนายฮันส์ กุนเธอร์ มอมเมอร์ มาช่วยควบคุมวง
วงดนตรีโปรมิวสิกานี้ นับเป็นวงดนตรีที่บุกเบิกวงการดนตรีคลาสสิกของประเทศไทย ซึ่งท่านเป็นผู้ริเริ่มและรับหน้าที่เป็นทั้งหัวหน้าวง ผู้จัดการวง ผู้แสดงเดี่ยว และผู้อำนวยเพลง จนกระทั่งเกิดการรวมตัวครั้งใหม่เป็นวงดนตรีที่ใหญ่ขึ้น มีชื่อว่า วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ หรือ บางกอก ซิมโฟนี ออเคสตร้า (B.S.O.) นอกจากการเป็นนักดนตรี และผู้อำนวยเพลงแล้ว หม่อมหลวง อัศนี ยังมีผลงานประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสานจำนวนมาก ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) เมื่อ พ.ศ. 2537