xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย 45 ปี “พ่อหลวง” เสด็จฯบ้านเชียง ที่มาของแหล่งมรดกโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯทอดพระเนตรแหล่งขุดค้นโบราณวัตถุ ณ บ้านโพธิ์ศรีใน ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน อุดรธานี ด้วยความสนพระทัย เมื่อ 20 มีนาคม 2515
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2515 เวลาบ่าย 2 โมง ท่ามกลางเปลวแดดอันร้อนแรง เสียงเฮลิคอปเตอร์ดังอยู่เหนือหมู่บ้านบ้านเชียง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯเป็นการส่วนพระองค์ โดยมิได้มีหมายกำหนดการมาก่อน เพื่อทอดพระเนตรแหล่งขุดค้นโบราณวัตถุ ณ บ้านโพธิ์ศรีใน ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน อุดรธานี หลังจากที่ทรงทราบข่าวว่ามีการขุดค้นพบโบราณวัตถุที่นี่เป็นจำนวนมาก

ในครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสถามเจ้าหน้าที่ ว่า “ที่ตั้งใจมาดูอยากจะเห็นสิ่งต่างๆ อยู่ในสภาพเดิมอย่างนี้ ทำไมถึงพบหลุมฝังศพและเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสี มากที่นี่”

นอกจากนี้ เมื่อทอดพระเนตรดูโครงกระดูกโบราณด้วยความสนพระทัย จึงมีพระราชดำรัส ต่อว่า “กระดูกนี้เคยใช้ในการพิสูจน์หาอายุได้หรือไม่” ซึ่ง ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร ได้กราบบังคมทูล ว่า “การหาอายุกระดูกในต่างประเทศเคยกระทำกัน แต่ประเทศเรายังไม่เคยได้จัดส่งไป คิดว่าค่าส่งคงจะแพง”

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงทรงชี้แนะว่า “ก็ไม่น่าจะสิ้นเปลืองเงินทองมากนัก เพราะเรื่องพิพิธภัณฑ์เป็นแบบสากลระหว่างประเทศ อีกประการหนึ่ง ทั่วโลกคงจะสนใจเรื่องบ้านเชียงนี้มาก ใครๆ ก็อยากจะรู้และให้ความร่วมมือในการหาอายุ ถ้าหาอายุจากกระดูกได้ ก็จะเป็นการเชื่อถือมากขึ้นอีก”

จากกระแสพระราชดำรัสในครั้งนั้น นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรและ มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อดำเนินการสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีประเภทต่างๆ อย่างละเอียด ระหว่างปี 2517 - 2518 และนำไปศึกษาวิจัยเพื่อตรวจหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ ผลปรากฏว่า ใต้ผืนดินชุมชนบ้านเชียงเป็นแหล่งอารยธรรมเมื่อ 5 พันปีมาแล้ว ถือเป็นการค้นพบอันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาก ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางโบราณคดีของไทยเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การประกาศขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ลำดับที่ 359 ของโลก และลำดับที่ 4 ในเมืองไทยเมื่อปี 2535
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง


บ้านประวัติศาสตร์ของนายพจน์ มนตรีพิทักษ์
ก่อเกิดพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง

ด้วยความสนพระทัยเป็นอย่างยิ่ง การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้น ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ยังเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหลุมขุดค้นบริเวณบ้านนายพจน์ มนตรีพิทักษ์ โดยทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯขึ้นบนบ้านของนายพจน์ และรับสั่งถามถึงความเป็นอยู่ของเจ้าของบ้านและประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ
อังคณา บุญพงษ์
ซึ่ง อังคณา บุญพงษ์ ลูกสาวของ นายพจน์ มนตรีพิทักษ์ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้น ว่า “ในหลวงตั้งใจมาดูวัตถุโบราณของบ้านเชียง และรับสั่งถามทุกข์สุขของพ่อกับแม่ และประชาชนที่มาเฝ้ากันเต็มใต้ถุนบ้านเลย แม่เล่าให้ฟังว่าดีใจที่สุดที่ได้เฝ้ารับเสด็จฯ”

การเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงในครั้งนั้น ทำให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์มรดกบ้านเชียงในฐานะแหล่งโบราณคดี จนกลายเป็นแรงผลักดันให้ประชาชนชาวบ้านเชียงที่เคยเก็บวัตถุโบราณเอาไว้ก็ทยอยนำมามอบให้แก่กรมศิลปากรเป็นจำนวนมาก จนปี 2518 จึงสามารถก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในฐานะพิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งโบราณคดีแห่งแรกของประเทศไทย (เปิดทำการอังคาร - วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 9.00 - 16.00 น.)

และกลายเป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านเชียงที่ช่วยกันรักษาสภาพแหล่งขุดค้นพบโบราณคดีให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ครอบครัว นายพจน์ มนตรีพิทักษ์ ยังได้มอบบ้านหลังนั้นให้แก่ชุมชน เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของบ้านเชียง ว่า ครั้งหนึ่ง ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เคยเสด็จฯมาที่แห่งนี้ และในฐานะบ้านเก่าโบราณแบบไทยพวนที่ยังสมบูรณ์อยู่และหาดูได้ยากในปัจจุบัน
โครงกระดูก “คุณทองโบราณ” ที่พบในหลุมขุดค้นโบราณคดีบ้านเชียง
“คุณทองโบราณ” ชื่อพระราชทานสุนัขบ้านเชียง

ในปี 2547 แหล่งขุดค้นวัตถุโบราณบ้านโพธิ์ศรีใน ได้ขุดค้นพบโครงสุนัขในลักษณะเต็มโครงนอนขดตัวอยู่ในหลุม ดังนั้น พญ.คุณหญิง อัมพร สุคนธมาน พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์ กฤษณ์ จันทิก ได้เดินทางมา ณ หลุมขุดค้นโบราณคดีบ้านเชียง และได้นำความไปกราบบังคมทูลเรื่องกระดูกสุนัข

โดย พญ.คุณหญิง อัมพร ได้บันทึกไว้ว่า “พระองค์ท่านได้พระราชทานคำแนะนำให้ดูแลอย่างถูกต้อง ข้าพเจ้ากราบบังคมทูลอีกว่า จะทรงเรียกชื่อเขาว่าอย่างไร มีรับสั่งทันทีว่า “เรียกเขาว่าทองโบราณ” ข้าพเจ้าปลื้มปีติที่สุนัขของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ได้รับพระราชทานนาม “คุณทองโบราณ” นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม อันหาที่ใดเปรียบมิได้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง และชาวบ้านเชียง รวมถึงชาวศิลปากรทั้งหลาย”
ลวดลาย “โฮ่งมัดหมี่ลายคุณทองโบราณ”
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงมีให้แก่ชาวบ้านเชียง โดยพระราชทานแนวทางในการอนุรักษ์และดูแลรักษามรดกของชาติ ขณะนี้ทางพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง จึงได้จัดทำผ้าทอเพื่อจารึกประวัติศาสตร์แห่งความปลื้มปีตินี้ไว้บนผืนผ้าทอไทยพวนอันเป็นมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านเชียงที่สืบทอดกันมานาน
สมบัติ มัญญะหงส์
โดยขณะนี้ สมบัติ มัญญะหงส์ ได้รับหน้าที่อันสำคัญเพื่อออกแบบลวดลาย “โฮ่งมัดหมี่ลายคุณทองโบราณ” เสร็จสิ้นแล้ว และจะทำการทอขึ้นโดยกลุ่มอาชีพทอผ้าตำบลบ้านเชียงต่อไป เพื่อเป็นที่ระลึกในงานสัปดาห์เฉลิมฉลองงานมรดกโลกบ้านเชียงปีที่ 25 ด้วย
นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เปิดงานมหกรรมเปิดโลกอารยธรรมบ้านเชียง
45 ปี วันอนุรักษ์ฯ

เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีต่อชุมชนบ้านเชียงนั้น ดังนั้น ในวันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี ทางจังหวัดจึงจัดให้เป็น “วันมรดกโลกบ้านเชียง” ถึงปีนี้นับเป็นปีที่ 45 แล้ว โดยในวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา ชยาวุธ จันทร พ่อเมืองอุดรธานีคนปัจจุบัน พร้อมด้วย สุรพล เศวตเศรณี ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมเปิดโลกอารยธรรมบ้านเชียง” ณ ลานวัฒนธรรมมรดกโลกบ้านเชียง ต.บ้านเชียง

และภายในงานท่านผู้ว่าฯ ชยาวุธ ได้ประกาศให้เป็น “วันอนุรักษ์มรดกโลกบ้านเชียง” อีกด้วย

“การเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรหลุมขุดค้นโบราณคดีบ้านเชียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยังความปลาบปลื้มในพระพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่สุดแก่ชาวบ้านเชียงและชาวอุดรธานี ทางจังหวัดจึงพิจารณาเห็นสมควรที่จะประกาศให้วันที่ 20 มีนาคม เป็นวันอนุรักษ์มรดกโลกบ้านเชียง เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาะคุณของทั้งสองพระองค์ และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชาวอุดรธานี”

ซึ่งตลอดทั้งปี ทางอุดรจะจัดกิจกรรมต่อยอดด้านศิลปวัฒนธรรมมากมาย อาทิ การจัดสัมมนาเชิงวิชาการ workshop ต่อยอดพัฒนาเรื่องเล่าบ้านเชียงจากปราชญ์หลายแขนง, กิจกรรมประกวดออกแบบศิลปหัตถกรรมบ้านเชียง ฯลฯ รวมถึงยังร่วมพัฒนาให้บ้านเชียงกลายเป็แหล่งท่องเที่ยวอันมีเอกลักษณ์

เพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของคุณค่ามรดกโลกทางวัฒนธรรม ที่ควรค่าแก่การบอกต่อ และอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติให้ลูกหลานได้ศึกษาสืบต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น