xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 19-25 มี.ค.2560

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 บังคับคนขับรถยนต์-คนโดยสาร ทั้งรถส่วนบุคคล-รถสาธารณะต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ดีเดย์ 5 เม.ย.นี้!
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เซลฟี่คาดเข็มขัดนิรภัยโชว์
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก โดยระบุว่า เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ขับขี่รถหรือเจ้าของรถที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกจํานวนมาก โดยมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงและเพิกเฉยต่อการบังคับใช้ทางกฎหมาย ซ้ํายังปรากฏว่า มีการกระทําความผิดดังกล่าวซ้ําอีกในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งความสงบเรียบร้อยของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน จึงจําเป็นต้องปรับปรุงกลไกและกําหนดมาตรการทางกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย อันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูประบบการคมนาคมขนส่งและความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 หัวหน้า คสช.โดยความเห็นชอบของ คสช. จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้

ให้เจ้าพนักงานจราจร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใต้การควบคุมดูแลของบุคคลดังกล่าว มีอํานาจเคลื่อนย้ายรถที่หยุดหรือจอดอยู่อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.นี้ หรือใช้เครื่องมือบังคับไม่ให้เคลื่อนย้ายรถดังกล่าวได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติกําหนด โดยการเคลื่อนย้ายรถ เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดสําหรับความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามมาตรานี้ เว้นแต่ความเสียหายนั้น จะเกิดขึ้นจากการกระทําโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ขณะที่เจ้าของรถหรือผู้ขับขี่ต้องชําระค่าใช้จ่ายในการที่รถถูกเคลื่อนย้ายหรือการใช้เครื่องมือบังคับไม่ให้เคลื่อนย้าย ตลอดจนค่าดูแลรักษารถระหว่างที่อยู่ในความครอบครองของเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ให้ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะขับขี่รถยนต์ และต้องจัดให้คนโดยสารรถยนต์รัดร่างกายไว้กับที่นั่งด้วยเข็มขัดนิรภัยขณะโดยสารรถยนต์ และคนโดยสารรถยนต์ดังกล่าวต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะโดยสารรถยนต์ด้วย

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตําแหน่งตั้งแต่สารวัตรขึ้นไปมีหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่งและจํานวนค่าปรับที่ค้างชําระให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่ครบกําหนดชําระค่าปรับตามที่ระบุในใบสั่ง และให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถชําระค่าปรับที่ค้างชําระด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมาตรา ๑๔๑ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถคันใดไม่ชําระค่าปรับ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งจํานวนค่าปรับที่ค้างชําระพร้อมหลักฐานไปยังนายทะเบียน และให้นายทะเบียนตรวจสอบข้อมูลและแจ้งให้ผู้มาติดต่อขอชําระภาษีประจําปีสําหรับรถคันนั้นทราบ เพื่อไปชําระค่าปรับที่ค้างชําระภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าผู้มาติดต่อขอชําระภาษีประจําปีเป็นเพียงตัวแทนเจ้าของรถ ให้ผู้มาติดต่อแจ้งให้เจ้าของรถทราบเพื่อไปชําระค่าปรับภายในระยะเวลาดังกล่าว ในการนี้ ให้นายทะเบียนรับชําระภาษีประจําปีสําหรับรถคันนั้นไว้โดยออกหลักฐานชั่วคราวแทนการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจําปีให้เจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถแทน โดยหลักฐานชั่วคราว ให้ใช้แทนเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจําปี โดยให้มีอายุ 30 วันนับแต่วันที่นายทะเบียนได้ออกให้

ในกรณีที่เจ้าของรถได้ชําระค่าปรับที่ค้างชําระครบถ้วนภายในระยะเวลาตามที่กําหนด ให้เจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถนําหลักฐานแสดงการชําระค่าปรับที่ได้รับจากพนักงานเจ้าหน้าที่มาแสดงต่อนายทะเบียนเพื่อให้ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจําปีสําหรับรถคันนั้น

กรณีที่เจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถที่ได้รับหนังสือแจ้ง ประสงค์จะชําระค่าปรับในวันที่มาติดต่อขอชําระภาษีประจําปี ให้นายทะเบียนมีอํานาจรับชําระค่าปรับตามจํานวนที่ค้างชําระแทนได้ โดยให้นายทะเบียนรับชําระภาษีประจําปีสําหรับรถคันนั้นและออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจําปีให้เจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถ

ในกรณีที่เจ้าของรถไม่ชําระค่าปรับที่ค้างชําระหรือชําระไม่ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กําหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งนายทะเบียนให้งดการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจําปีสําหรับรถคันนั้น และแจ้งให้พนักงานสอบสวนดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไป หากผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถผู้ใดเห็นว่า ตนมิได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.นี้หรือกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับรถนั้น ให้ทําหนังสือโต้แย้งข้อกล่าวหานั้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียน

ด้าน พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธุ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงว่า จากคำสั่งของหัวหน้า คสช. สิ่งที่เจ้าหน้าที่พร้อมบังคับใช้ทันทีคือ การกวดขันเรื่องเข็มขัดนิรภัยและการชำระค่าปรับ ที่มีผลต่อภาษี โดยเริ่มใช้กับใบสั่งชำระค่าปรับที่ออกมาตั้งแต่วันที่คำสั่งหัวหน้า คสช.ออกมา คือ 21 มี.ค. ไม่มีผลต่อใบสั่งที่ออกก่อนหน้านี้ ส่วนกรณีการจอดรถกีดขวางหรือประเด็นอื่น ต้องไปออกกฏกระทรวงเพื่อรองรับการปฏิบัติ

ขณะที่นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมขนส่งทางบก เผยว่า ประกาศมาตรา 44 ที่ควบคุมความปลอดภัยของรถโดยสารและรถยนต์ส่วนบุคคลนั้น กรณีรถโดยสารมีผลทันที โดยเฉพาะรถตู้โดยสารทั้งใน กทม.และที่วิ่งระหว่างจังหวัด ต้องปรับแก้ให้เหลือ 13 ที่นั่งตามมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมาย และว่า กรมจะนำประกาศดังกล่าวหารือในคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อประกาศบังคับใช้กับรถตู้โดยสารทุกคัน “ประกาศดังกล่าวจะครอบคลุมเฉพาะรถที่มีการกำหนดโครงสร้างว่ามีจำนวนที่นั่งเท่าใด หากรถคันใดมีการต่อเติมที่นั่งเพิ่มเติม หรือเป็นพื้นที่ในรถที่ไม่ได้ถูกระบุเพื่อการใช้สำหรับโดยสาร(ใช้วางสิ่งของ) จะไม่เข้าข่ายตามประกาศดังกล่าว รวมทั้งรถสองแถว ซึ่งตามโครงสร้างไม่สามารถติดเข็มขัดนิรภัยได้ สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง จะใช้มาตรฐานควบคุมดูแลความปลอดภัยอื่นๆ มาทดแทน”

ทั้งนี้ การบังคับให้คนขับ รวมถึงผู้โดยสารรถยนต์ส่วนบุคคลและรถโดยสารสาธารณะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยนั้น ระหว่างวันที่ 21 มี.ค.-4 เม.ย.นี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับคำสั่งที่ออกมา หากพบเห็นผู้กระทำความผิดจะแจ้งเตือนก่อน แต่วันที่ 5 เม.ย.เป็นต้นไป จะจับปรับตามกฎหมายทันที เพราะถือว่าได้มีการแจ้งเตือนแล้ว

2.อธิบดีกรมสรรพากร ยันเรียกเก็บภาษี “ทักษิณ” ขายหุ้นชินคอร์ปทันอายุความ 31 มี.ค.นี้ คาดภาษีบวกค่าปรับ 1.6 หมื่นล้าน!
(ซ้าย) นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และนักโทษหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 2 ปี คดีซื้อขายที่ดินย่านรัชดาฯ (ขวา) นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร
ความคืบหน้าเกี่ยวกับการเก็บภาษีเงินได้จากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีซื้อขายที่ดินย่านรัชดาฯ กรณีขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ซึ่งจะหมดอายุความหลังวันที่ 31 มี.ค.นี้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ยืนยันไม่ใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อให้มีการเรียกเก็บภาษีจากนายทักษิณ แต่ให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีโดยใช้กฎหมายปกติ เพื่อให้กระบวนการขึ้นสู่ศาล ให้ศาลเป็นผู้ตัดสินนั้น

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เผยว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรกำลังดำเนินการเรื่องภาษีจากการขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น คงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะยังอยู่ระหว่างการทำงาน แต่ยืนยันว่า สามารถทำได้ทันตามกรอบเวลาคือภายในวันที่ 31 มี.ค.2560

แหล่งข่าวจากระทรวงการคลังเผยว่า วงเงินภาษีเรียกเก็บจากนายทักษิณ กรณีหุ้นชินคอร์ป มีการประเมินเบื้องต้นที่ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเม็ดเงินภาษี 1.2 หมื่นล้านบาท และค่าปรับ 4,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้มีการรายงานไปยังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในวันที่มีการหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและกรมสรรพากร ไม่สามารถให้รายละเอียดในเรื่องนี้มากนัก เพราะจะเกี่ยวข้องกับคดีในอนาคต ดังนั้นในการทำงาน ต้องดูในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ละเอียดที่สุด อย่างไรก็ตาม ได้มีการคาดการณ์เรื่องนี้ ถึงที่สุดแล้วเรื่องน่าจะจบที่ศาล ดังนั้นในการดำเนินการใดๆ ต้องดูว่า จะทำอย่างไรจึงจะชนะคดีให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ แหล่งข่าวเผยว่า การคิดภาษีขายหุ้นของบริษัทชินคอร์ป คิดจากการโอนหุ้นชินคอร์ปของบริษัทแอมเพิล ริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด ให้แก่กรรมการบริษัท คือ นายพานทองแท้ ชินวัตร และนางพิณทองทา คุณากรวงศ์ บุตรชายและบุตรสาวนายทักษิณ ซึ่งต้องเสียภาษีตามมาตรา 39 และมาตรา 40(20) แห่งประมวลรัษฎากร เพราะการซื้อหุ้นในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท จากตลาดขณะนั้นหุ้นละ 49.25 บาท ถือว่ามีเงินได้หุ้นละ 48.25 บาท คิดเป็นเงินได้คนละ 9,941.95 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราสูงสุด 37% ซึ่งนายพานทองแท้และนางพิณทองทาไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 และไม่ชำระภาษีในช่วงนั้น กรมสรรพากรจึงออกหมายเรียกตรวจสอบและประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในการเก็บภาษีนั้น มีเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร เมื่อรวมเงินภาษีและค่าปรับจึงสูงถึง 1.6 หมื่นล้านบาท

3.วัดพระธรรมกายส่งมอบสัญญาบัตร-พัดยศของ “ธัมมชโย-ทัตตชีโว” คืนแล้ว หลังถูกถอดสมณศักดิ์ ด้าน พศ.จี้เจ้าคณะปทุมฯ ตั้งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย!
(บน) พระวัดพระธรรมกายมอบสัญญาบัตร-พัดยศสมณศักดิ์พระธัมมชโยและพระทัตตชีโว คืน หลังมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ถอดถอนสมณศักดิ์ (ล่างซ้าย) พระธัมมชโย (ล่างขวา) พระทัตตชีโว
หลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอดถอนพระราชาคณะออกจากสมณศักดิ์ 2 รูป คือ พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์วัดพระธรรมกาย เนื่องจากหนีหมายจับคดีอาญา และพระราชภาวนาจารย์ หรือพระทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เนื่องจากขัดหมายเรียกของเจ้าหน้าที่

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. พระวิเทศภาวนาจารย์ รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ได้มอบหมายให้พระมหานพพร ปุญญชโย ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย นำสัญญาบัตรและพัดยศสมณศักดิ์ของพระธัมมชโยและพระทัตตชีโวคืนตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดปทุมธานีประสานเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการติดตามจับกุมพระธัมมชโยเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ว่า ขณะนี้ยังคงกำลังเจ้าหน้าที่ในการควบคุมรอบวัดพระธรรมกายอยู่ และได้ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ประเมินสถานการณ์ตลอด โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ของผู้ที่ถูกดำเนินคดี ต้องดำเนินคดีต่อไปอย่างเต็มที่และถึงที่สุด และว่า คิดว่าพระธัมมชโยไม่ได้อยู่ในวัดพระธรรมกายแล้ว แต่ไม่คิดว่าจะเดินทางออกนอกประเทศ เพราะตามข้อมูล ยังไม่มีหนังสือเดินทางของพระธัมมชโย และได้รับแจ้งว่า เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีที่เป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติขอให้มีหนังสือเดินทางยังไม่มีการเซ็นอนุมัติ

วันเดียวกัน พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมเสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) เผยว่า ได้ส่งหนังสือถึงเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ขอให้แต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายตัวจริง เพื่อดูแลวัดพระธรรมกายแทนพระวิเทศภาวนาจารย์ รักษาการแทนเจ้าอาวาส โดยขอให้คัดเลือกพระจากวัดอื่นที่ไม่ใช่วัดพระธรรมกายมาเป็นเจ้าอาวาส เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหากรณีที่มีการสอบสวนติดตามพระธัมมชโย

4.ตำรวจขอหมายจับ “โกตี๋” พร้อมพวกครอบครองอาวุธสงคราม-อั้งยี่ซ่องโจร ชี้มีแนวคิดลอบสังหาร "บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม" ด้วย!
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและอธิบดีดีเอสไอ นำทีมแถลงผลการตรวจค้นบ้านพักเครือข่ายนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋  หลังพบอาวุธสงครามจำนวนมาก
จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้บุกเข้าตรวจค้นบ้านพักของเครือข่ายนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำคนเสื้อแดงสายฮาร์ดคอร์ จ.ปทุมธานี และพบระเบิด อาวุธสงครามและเครื่องกระสุนจำนวนมาก ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คสช. ได้ร่วมกันแถลงข่าวการแก้ปัญหาผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นที่มีพฤติการณ์เป็นผู้กระทำความผิด 16 มูลฐานความผิด โดยระบุว่า ช่วงต้นเดือน มี.ค.2560 มีบุคคลที่เป็นเครือข่ายของนายวุฒิพงศ์ หรือโกตี๋ ผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับ ได้วางแผนสะสมอาวุธสงครามและวัตถุระเบิด เพื่อเตรียมก่อความไม่สงบขึ้น หากเจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมค้นยึดพื้นที่วัดพระธรรมกาย

นอกจากนี้เครือข่ายดังกล่าวยังมีแนวคิดลอบสังหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลแน่ชัดและเชื่อได้ว่ามีการวางแผนลงมือกระทำความผิดจริง กำลังทหารและตำรวจ รวมทั้งฝ่ายปกครอง จึงได้ร่วมกันปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายใน จ.ปทุมธานี อ่างทอง หนองคาย สุรินทร์ นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรปราการ ทั้งหมด 9 จุด เมื่อเช้าวันที่ 18 มี.ค.

ทั้งนี้ ระหว่างตรวจค้น เจ้าหน้าที่ได้อาศัยอำนาจคำสั่ง คสช.ควบคุมบุคคลที่เกี่ยวข้อง 9 คน ประกอบด้วย 1.นายธีรชัย อุตรวิเชียร 2.นายประเทือง อ่อนละมูล 3.นางปาลิดา เรืองสุวรรณ 4.นายวันไชยชนะ ครุฑไชยันต์ 5.น.ส.เอมอร วัดแก้ว 6.นายทศพล เกษโกมล 7.นายอุดมชัย นพสวัสดิ์ 8.จ.ส.อ.ธนโชติ วงศ์จันทร์ชมพู และ 9.ว่าที่ ร.ต.สุริยศักดิ์ ฉัตรพิทักษ์กุล

ด้านดีเอสไอได้รับคดีตรวจยึดอวุธสงครามที่บ้านพักเครือข่ายนายวุฒิพงศ์ไว้เป็นคดีพิเศษ เนื่องจากตรวจสอบพบว่าปืนเอ็ม 16 จำนวน 1 กระบอกในบ้านเครือข่ายนายวุฒิพงศ์ เป็นปืนของทหาร 1 ร.พัน 1 ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่เมื่อปี 2553 บริเวณถนนราชปรารภ และถูกขโมยไป 2 กระบอก โดยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ตรวจยึดของกลางได้คืน 1 กระบอก และดำเนินคดีผู้ต้องหาไปแล้ว กระทั่งล่าสุดตรวจพบอีก 1 กระบอกจากบ้านเครือข่ายนายวุฒิพงศ์ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม นปช.มีกลุ่มฮาร์ดคอร์ติดอาวุธเข้าไปปะปนกับคนเสื้อแดงจริง ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มี.ค.พนักงานสอบสวน ดีเอสไอ ได้แจ้งข้อหาผู้ต้องหาเครือข่ายนายวุฒิพงศ์ทั้ง 9 คน ข้อหาร่วมกันก่อการร้าย ร่วมกันครอบครองอาวุธสงคราม และเครื่องกระสุนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ครอบครองได้ ก่อนนำตัวไปขอศาลอาญาฝากขังเมื่อวันที่ 25 มี.ค. พร้อมค้านการประกันตัว เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นกลุ่มที่นิยมความรุนแรง และมีพฤติการณ์สะสมกำลังพล และอาวุธสงคราม เพื่อก่อเหตุรุนแรงหรือเพื่อใช้ต่อสู้กับรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย หากปล่อยตัวชั่วคราว เกรงจะหลบหนีและไปก่อเหตุรุนแรงอีก ซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขังได้

ด้านนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ ได้ออกมาโต้ผ่านยูทูบในวันเดียวกัน อ้างว่ารัฐจัดฉากกรณีบุกค้นบ้านแล้วพบอาวุธสงครามจำนวนมาก และสงสารลูกน้องมากที่โดนจับ เพราะไม่มีปัญญาไปช่วย

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐมีคลิปวิดีโอยืนยันว่า การตรวจค้นและยึดอาวุธสงครามที่บ้านเครือข่ายโกตี๋นั้นไม่ใช่การจัดฉาก โดย พล.อ.ประวิตร ได้เปิดคลิปดังกล่าวให้ที่ประชุม ครม.ดูเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา

วันเดียว(21 มี.ค.) พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยว่า พนักงานสอบสวนกองปราบฯ ได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญาอนุมัติหมายจับนายวุฒิพงศ์ กับพวกรวม 6 คน ในหลายข้อหา อาทิ ครอบครองยุทธภัณฑ์ อาวุธสงคราม, ครอบครองยาเสพติด(ยาบ้า), อั้งยี่ ซ่องโจร หลังพบพฤติกรรมชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดและเชื่อมโยงกับของกลางที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยึดได้ อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวว่า ตนไม่ชี้ว่า กลุ่มนี้คือกลุ่มคนเสื้อแดง แต่เป็นกลุ่มเรดเรดิโอเท่านั้น และว่า จากการสืบสวนพบว่า กลุ่มนี้มีเป้าหมายลอบสังหาร พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร รวมถึงเป้าหมายก่อกวนทำร้ายฝ่ายตรงข้ามกับวัดพระธรรมกายในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ปิดล้อมตรวจค้นเพื่อจับกุมพระธัมมชโย นอกจากนี้จากการสืบสวนยังพบว่า ใน 9 คนที่ถูกควบคุมตัว มีหลายคนเคยปรากฏตัวบริเวณวัดพระธรรมกายและตลาดกลางคลองหลวง โดยเจ้าหน้าที่ไม่ทราบเจตนาว่าไปทำอะไร แต่เป็นการไปโดยผิดปกติ ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้เตรียมประสานกับทางการลาว เพื่อขอส่งตัวนายวุฒิพงศ์ หรือโกตี๋ เป็นผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว หลังคาดว่านายวุฒิพงศ์หลบหนีไปอยู่ประเทศดังกล่าว

5.ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนจำคุก “กี้ร์ อริสมันต์” กับพวก คนละ 4 ปี ไม่รอลงอาญา คดีนำม็อบบุกล้มการประชุมอาเซียน ซัมมิท ที่พัทยา!
ภาพเหตุการณ์ขณะนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำ นปช.นำม็อบพังประตูและบุกล้มการประชุมอาเซียน ซัมมิท ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา เมื่อ 11 เม.ย.52
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ศาลจังหวัดพัทยา ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่อัยการจังหวัดพัทยา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) กับพวกรวม 18 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันกระทำการใดๆ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และความผิดอื่นรวม 4 ข้อหา กรณีรวมตัวประท้วงปิดโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2552

คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 5 มี.ค.2558 ให้จำคุกจำเลย 12 คน คนละ 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และปรับคนละ 200 บาท ประกอบด้วย นายอริสมันต์, นายนิสิต สินธุไพร, นายพายัพ ปั้นเกตุ, นายวรชัย เหมะ, นายวันชนะ เกิดดี, นายพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง, นายศักดา นพสิทธิ์, พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์, นายนพพร นามเชียงใต้, นายสำเริง ประจำเรือ, นายสมยศ พรหมมา, นพ.วัลลภ ยังตรง  และนายสิงห์ทอง บัวชุม และให้ยกฟ้องนายธงชัย ศักดิ์มังกร และ พ.ต.อ.สมพล รัฐบาล นอกจากนี้ศาลยังได้สั่งพักคดีในส่วนของจำเลยที่หลบหนี 3 คน คือ พ.ต.ท.เสงี่ยม สำราญรัตน์, นายสุรชัย แซ่ด่าน และ น.ส.อรวรรณ ไม่ทราบนามสกุล

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

หลังฟังคำพิพากษา นายคารม พลพรกลาง ทนายความ นปช.ได้ยื่นขอประกันตัวจำเลยทั้ง 12 คน โดยยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 1 ล้านบาท ยกเว้นนายอริสมันต์ ทนายได้ยื่นหลักทรัพย์สูงกว่าคือ 2 ล้านบาท เนื่องจากนายอริสมันต์มีคดีอื่นรวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ศาลจังหวัดพัทยาได้คัดค้านการประกันตัว พร้อมนำตัวนายอริสมันต์ กับพวกฝากขังยังเรือนจำพิเศษพัทยา

หลังจากนั้น นายคารม ทนายความ นปช. ได้ทำหนังสือยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อขอประกันตัวผู้ต้องขังทั้งหมด โดยนายอริสมันต์ ยื่นหลักทรัพย์มูลค่า 2 ล้านบาท ส่วนคนอื่นๆ ใช้หลักทรัพย์คนละ 1 ล้านบาท

วันต่อมา(22 มี.ค.) นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ศาลฎีกาพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ที่1-6 จำเลยที่ 10 -13 และ จำเลยที่ 15-17 คนละ 4 ปี ซึ่งต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และจำเลยดังกล่าวยังมิได้ยื่นฎีกา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวให้ยกคำร้อง

ทั้งนี้ นอกจากคดีนำม็อบบุกล้มการประชุมอาเซียนซัมมิทที่พัทยาแล้ว นายอริสมันต์ยังมีอีก 1 คดีที่ศาลฎีกาจะพิพากษาในวันที่ 28 มี.ค.นี้ เวลา 09.30 น. คือ คดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอริสมันต์ เป็นจำเลย ฐานหมิ่นประมาท สืบเนื่องจากนายอริสมันต์ได้ปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 และ 17 ต.ค. 2552 ซึ่งมีการถ่ายทอดสดคำปราศรัยผ่านช่องพีเพิล แชนแนล กล่าวหานายอภิสิทธิ์ โจทก์ ทำนองว่า การบริหารงานรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ กู้ยืมเงินมาเพื่อทุจริตคดโกง โดยหยิบยกเรื่องสถาบันมากล่าวอ้าง และกล่าวหาว่าเป็นผู้หน่วงเหนี่ยวคำร้องฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้ล่าช้า รวมถึงสั่งทหารฆ่าประชาชน ปล้นอำนาจจากประชาชน และไม่ดำเนินการตรวจสอบการทุจริตในโครงการต่าง ๆ

ซึ่งคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกนายอริสมันต์ 12 เดือน ฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา และเนื่องจากมีเหตุการณ์กล่าวพาดพิงสถาบัน จึงไม่รอการลงโทษ ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ทั้งนี้ ตอนแรกศาลฎีกาได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่นายอริสมันต์ไม่เดินทางมาศาล โดยให้ผู้แทนไปยื่นคำร้องต่อศาลอ้างว่าตนเองป่วย ปวดท้อง รักษาตัวอยู่โรงพยาบาล ศาลฎีกาจึงเลื่อนอ่านคำพิพากษาเป็นวันที่ 28 มี.ค.นี้แทน
กำลังโหลดความคิดเห็น