อดีต สปช. เผย กรณีข้อเสนอขุด “คลองไทย” เชื่อมอ่าวไทย - อันดามัน ถามสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติตัวไหน ระบุ ภาคใต้เน้นหนักเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ชี้เทียบกับคลองสุเอชและคลองปานามาไม่ได้ เพราะย่นระยะทางแค่ 700 กม. เทียบกับงบ 1.68 ล้านล้านบาทคุ้มกันหรือไม่ แถมยังประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (23 มี.ค.) เฟซบุ๊ก ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” ระบุว่า “ช่วงนี้มีข่าวเรื่องการเสนอโปรเจกต์ #คลองไทย เพื่อให้รัฐบาลพิจารณา และขอความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ผมเองก็ทำงานเรื่องทะเล จึงอยากเสนอประเด็นไว้บ้าง โดยใช้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาเป็นเกณฑ์ครับ คลองไทยหมายถึงคลองที่ตัดผ่านภาคใต้ เชื่อมต่อฝั่งอ่าวไทยกับฝั่งอันดามัน เพื่อให้เรือสินค้าเดินทางผ่าน โครงการที่เสนอใช้เส้นทาง 9A สงขลา - นคร - ตรัง - กระบี่ ระยะทาง 135 กิโลเมตร กว้าง 350 - 400 เมตร ยาว 135 กิโลเมตร ยังมีการสร้างเกาะเทียมโดยนำดินมาถม 2 เกาะ ทั้งสงขลา และ กระบี่ แต่ละเกาะพื้นที่ 83 ตารางกิโลเมตร ฯลฯ
คลองไทยใช้เงินลงทุน 48,000 ล้านเหรียญ (1,680,000 ล้านบาท เรท 35) ใช้เวลาขุด 6 ปี ประหยัดระยะทางได้ 700 กิโลเมตร หรือคิดเป็นเวลาเรือวิ่ง 40 ชั่วโมง ทั้งหมดนั่น คือข้อมูลตามที่กลุ่มผู้ศึกษาเสนอมา ยังไม่ใช่โครงการของรัฐบาลนะครับ เป็นแค่ข้อเสนอเท่านั้น คราวนี้เราลองมาพิจารณาทีละจุด โดยใช้หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน SD หรือ Sustainable Development - สร้างประโยชน์ให้สูงสุด ลดผลกระทบให้มากสุด เนื่องจากโครงการใหญ่ มีรายละเอียดเยอะ ผมจึงพูดถึงเฉพาะประเด็นสำคัญ และไม่พยายามตอบคำถามแบบเดาไปล่วงหน้า แต่จะใช้ข้อมูลจากส่วนอื่นๆ ที่พอรู้มา และตั้งคำถามใหญ่ๆ ไว้เพื่อจะได้ลองพิจารณาครับ อันดับแรก คลองดังกล่าวสอดคล้องกับแผนพัฒนาชาติหรือไม่ ? สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ไหน แผนพัฒนาอย่างยั่งยืน 15 ปี ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฯลฯ ซึ่งผู้เสนอโครงการคงจะต้องทำการบ้านตรงนี้ เท่าที่ผมทราบ รัฐบาลกำลังเน้น SEA (Strategic Environmental Assessment) เท่าที่ผมอ่านหรือไปประชุม SEA ระบุให้ภาคใต้เน้นหนักเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ซึ่งก็สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันการสร้างเขตพัฒนาขนาดใหญ่ ทั้งโลจิสติกส์ ฯลฯ ยังหมายถึงการใช้พลังงานมหาศาล โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า ซึ่งแค่นี้ภาครัฐก็บอกว่าภาคใต้จะไม่พอแล้ว จะสร้างโรงไฟฟ้าก็ยังไม่แน่อยู่เลย แล้วเราจะเอาไฟฟ้ามาจากไหน ? นั่นเป็นตัวอย่างคำถาม ยังมีเรื่องแรงงาน ฯลฯ มาถึงเรื่องความคุ้มค่า เมื่อกล่าวถึงคลองไทย หลายคนอาจคิดถึงคลองสุเอซหรือคลองปานามา ซึ่งเป็น 2 คลองหลักของโลก คลองสุเอซลดระยะทางได้ 7,000 กิโลเมตร คลองปานามาลดระยะทางประมาณ 14,500 กิโลเมตร คลองไทยลดระยะทาง 700 กิโลเมตร ตัวเลขที่แตกต่างมีความหมายอย่างยิ่ง การลดระยะทางได้มาก หมายถึงเรือยินดีจ่ายเงินเพราะคุ้มต่อค่าน้ำมันและเวลา แต่ถ้าลดได้ 700 กิโลเมตร จะลดได้กี่บาท (คิดเป็นต่อคอนเทนเนอร์) เรือจะยินดีจ่ายกี่บาท ? นั่นคือคำถามสำคัญ เพราะจะเกี่ยวข้องกับรายได้ของเรา (หรือผู้ลงทุน) เนื่องจากค่าลงทุนมหาศาลถึง 1.68 ล้านล้านบาท เฉพาะดอกเบี้ยก็คงมหาศาล ถ้าเราเก็บจากเรือที่ผ่านคลองได้ไม่มาก อาจทำให้ไม่คุ้มค่า คำถามต่อไปเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ข้อเสนอโครงการที่บอกว่าเส้นทาง 9A จะมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เรื่องนี้คงต้องเพิ่มเติมคำอธิบาย เหตุผลคือเส้นทางมาที่กระบี่ บริเวณนี้เป็นเขตรวมเศรษฐกิจท่องเที่ยวหลักของภาคใต้ (กระบี่ - ภูเก็ต - พังงา) เป็นคลัสเตอร์ท่องเที่ยวสำคัญที่สุดของไทย (รองจากกรุงเทพฯ)
นอกจากนี้ รัฐบาลยังประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทั้งจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต และ พังงา ผู้เสนอคงต้องตอบให้ชัดเจนว่า ถ้ามีผลกระทบน้อยสุดเมื่อเทียบกับเส้นทางอื่น แล้วรัฐบาลจะประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมทั้ง 3 จังหวัดทำไม ? คงต้องทำตารางเปรียบเทียบ ให้น้ำหนักในแต่ละด้าน เพื่อมาดูให้จริงจังว่าเส้นทาง 9A ที่มีผลกระทบน้อยที่สุด มันมีหลักการและเหตุผลอย่างไร ? เกาะลันตาที่ตั้งอยู่ปากคลองเต็มๆ จะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ? สุดท้ายคือการสร้างเกาะเทียม แต่ละเกาะขนาด 83 ตารางกิโลเมตร เรื่องนี้ต้องว่ากันอีกยาว ผมคงไม่ลงไปประเด็นนี้เพราะมีมากมายหลายเรื่องที่คงต้องพูดถึง ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ผมไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินใจตรงส่วนนั้น ผมเขียนเพื่อชี้ประเด็นที่ควรพิจารณา เนื่องจากเริ่มมีการขอความคิดเห็นจากหลายฝ่าย และเพื่อนธรณ์จำนวนมากก็สอบถามมาในเรื่องนี้
สำหรับคำตอบในประเด็นต่างๆ ผู้ที่เสนอโครงการคงต้องเป็นผู้ตอบแก่รัฐบาลและสังคมครับ”
ข้อมูลจาก Thon Thamrongnawasawat