xs
xsm
sm
md
lg

พระร่วงวาจาสิทธิ์ – ขอมดำดิน - เดโชดำดิน! ตำนาน – พงศาวดาร หรือ นิทาน !!

เผยแพร่:   โดย: สุวิชชา เพียราษฎร์

ขอมดำดิน
เรื่องราวของ “พระร่วง” ที่ว่าเป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่งของเมืองสุโขทัย ทรงมีวาจาสิทธิ์เสกให้ขอมที่ดำดินมาจะปองร้ายพระองค์ กลายเป็นหินขณะโผล่พ้นดินขึ้นมาเพียงครึ่งตัว หรือเอาน้ำใส่ในไม้ไผ่สานน้ำก็ยังไม่รั่ว ซึ่งเป็นเรื่อง “เหลือเชื่อ” สำหรับคนยุคนี้ แต่ก็มีบันทึกไว้ในพงศาวดาร อีกทั้งเขมรยังมี “เดโชดำดิน” ที่เป็นวีรบุรุษผู้สร้างชาติเขมร ตอบโต้ว่าไม่ได้เป็นหินอยู่ที่ในวัดเมืองสุโขทัย

ในประชุมพงศาวดารเล่มที่ ๔๐ ต่อด้วยเล่มที่ ๔๑ ซึ่งจัดพิมพ์โดยองค์การค้าของคุรุสภา ได้บันทึกเรื่องราวของพระร่วงไว้ว่า ใน พ.ศ.๑๗๖๗ หรือจุลศักราช ๕๘๖ มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ครอบครองเมืองสุโขทัย ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา บำเพ็ญพระราชกุศลศีลธรรมเป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่งทรงพระราชดำริว่า การรักษาอุโบสถศีลในพระราชฐานอันปะปนด้วยเหล่าสตรีนั้น ศีลคงจะไม่บริสุทธิ์เท่าที่ควร หากไปรักษาอุโบสถศีลในที่สงัดวิเวกยังเขาหลวงซึ่งปราศจากสตรี ศีลนั้นจะบริสุทธิ์มีอานิสงส์มากกว่า ฉะนั้นจึงดำรัสให้ข้าราชการทั้งหลายมาประชุมพร้อมหน้า ทั้งพระอัครมเหสีและเหล่านางสนม ดำรัสสั่งให้ช่วยกันรักษาเมืองไว้ ส่วนพระองค์จะเสด็จไปรักษาพระอุโบสถศีลที่ภูเขาหลวง ๗ วัน จากนั้นก็ยกขบวนเสนามาตย์พร้อมด้วยนิมนต์พระราชาคณะไปด้วยอีกหลายองค์

เมื่อถึงเชิงเขาหลวง ทรงเลือกได้ชะง่อนหินที่เหมาะแล้ว ก็ให้ทุกคนกลับคืนเมือง เอาไว้แต่ราชบุรุษ ๔ คนเป็นเพื่อน ทรงรักษาพระอุโบสถศีลบริสุทธิ์อยู่ ณ ที่นั้น
พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเสด็จออกมารักษาพระอุโบสถศีลที่เขาหลวงเช่นนี้อยู่เนืองๆ ครั้งละ ๓ วัน ๕ วัน ๗ วันบ้าง วันหนึ่งเสด็จประพาสไปในป่าเชิงเขาถึงลำธารในหุบเขา ก็ทอดพระเนตรเห็นงู ๒ ตัวสังวาสกัน งูตัวเมียนั้นรูปงามประหลาด คอแดง หงอนแดง จึงทรงทราบว่าชะรอยจะเป็นนางนาคนิมิตตัวเป็นงูเล็ก ยินดีด้วยราคะจริตสังวาสด้วยงูดิน ทรงดำริว่า นางงูนี้เป็นตระกูลนาคอันสูงศักดิ์ มิควรที่จะมารักสังวาสกับงูดินตระกูลต่ำ จึงทรงเอาไม้เท้าเขี่ยงูทั้ง ๒ ผงะออกจากกัน นางนาคนั้นมีความละอายและโกรธ จึงคิดจะฆ่าผู้มาขัดขวางด้วยฤทธิ์นาค แต่ก็ไม่อาจจะทำได้ ด้วยบุญญานุภาพแห่งศีลปกป้องพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชไว้ นางนาคเลยกลับไปบาดาลเสแสร้งร้องไห้ฟ้องบิดาว่า ได้ขึ้นไปรักษาศีลที่ถิ่นมนุษย์เขาหลวงใกล้กรุงสุโขทัย ได้พบพระเจ้ากรุงสุโขทัยเสด็จมาแถวนั้นไม่ทันหลบ ทำให้พระเจ้ากรุงสุโขทัยโกรธ ตีด้วยกระบองใหญ่จนเจ็บปวดไปทั้งกาย ทั้งยังได้รับความอัปยศอดสูอายถึงบิดา ขอจงฆ่าพระเจ้ากรุงสุโขทัยด้วยเถิด

พระยานาคราชได้ฟังราชบุตรีก็โกรธแค้นพระเจ้ากรุงสุโขทัย จึงแปลงเป็นดาบสฤาษีมาพบ แล้วแกล้งทูลถามว่า มหาราชผู้ประเสริฐมาทำอะไรอยู่แถวนี้ และได้เห็นสิ่งใดประหลาดบ้าง พระเจ้ากรุงสุโขทัยก็บอกกับพระฤาษีว่ามารักษาพระอุโบสถศีล และที่ประหลาดนั้นก็ได้เห็นงูสองตัวสังวาสกัน นางงูมีรูปงาม หงอนแดง คอแดงประหลาด จึงคิดว่าชะรอยจะเป็นตระกูลนาคราชอันสูงศักดิ์ ไม่ควรมารักสังวาสงูดินตระกูลต่ำ จะเสียตระกูลไป จึงเอาไม้เท้าเขี่ยงูทั้งสองให้พรากออกจากกัน

พระยานาคราชได้ฟังก็เลื่อมใสยินดีในพระเจ้ากรุงสุโขทัย ทูลลากลับไปนาคพิภพ แล้วด่าว่าราชธิดาที่ลวงว่าจะลาไปรักษาศีล แต่กลับไปเล่นชู้สู่ชายชาติงูดินตระกูลต่ำ ฉะนั้นอย่าอยู่เมืองนาคต่อไปเลย จงไปปรนนิบัติรับใช้พระเจ้ากรุงสุโขทัยผู้มีพระคุณ ณ เขาหลวงเถิด

นางนาคได้ฟังบิดาบริพาสก็เกรงกลัว รีบอำลามาที่เขาหลวง แล้วนิมิตกายงามเฉิดฉายโสภีเป็นดรุณีรูปงามดังเทพธิดา ประดับภูษาอาภรณ์เพริศพริ้ง เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสุโขทัย ณ ที่ทรงศีล เล่าความตามเป็นจริงทั้งหมดทูลถวาย พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชก็โสมนัสยินดีที่พระยานาคราชส่งบุตรีมาปรนนิบัติ ทั้งสองจึงสังวาสอยู่ด้วยกันตามประเพณีคดีโลก

นางนาคนั้นได้จัดเครื่องอุปโภคบริโภคอันเอมโอชด้วยฤทธิ์ของนาค แท่นที่ไสยาสน์ก็ประดับด้วยดอกไม้และเครื่องลูบไล้สุคนธมาลา ทั้งยังนวดคั้นพระหัตถ์ พระบาท และร่างกาย ปรนนิบัติอยู่ได้ ๗ ราตรีพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชก็ต้องเสด็จกลับคืนเมืองเพื่อว่าราชการ แต่รสเสน่หาของนางนาคนั้นละเอียดประหลาดกว่ามนุษย์อย่างน่าอัศจรรย์ จึงทรงปรารถนาจะพานางเข้าไปอยู่ในพระราชวังด้วย แต่เพื่อให้สมเกียรติจึงรับสั่งให้นางคอยอยู่ที่เขาหลวงก่อน จะกลับเข้าไปว่าราชการ ๗ วันแล้วจะจัดราชรถและขบวนโยธามารับนางเข้าไปสู่พระนคร

ครั้นกลับมาถึงกรุงสุโขทัย พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชก็ทรงวุ่นวายอยู่กับราชกิจ ทั้งยังมีพระสนมนางกำนัลที่โปรดปรานอีกมาก เลยทรงลืมกำหนดที่นัดกับนางนาคไว้
ฝ่ายนางนาคคอยพระสวามีจนครบกำหนด ๗ วันตามสัญญา ก็ยังไม่เห็นเสด็จมารับ จึงคิดว่าถูกทอดทิ้งเสียแล้ว ชะรอยว่ากรรมที่ได้เบียดเบียนผู้ถือศีลภาวนาให้เสียสิกขากรรมมาถึงตัว จึงคิดจะกลับไปยัง นาคพิภพ แต่ก็เกิดเสียวในครรภ์ที่มีสัตว์มาจุติในนั้น ครั้นจะพากลับไปเมืองนาคให้คนอื่นรู้ก็จะอัปยศอดสู จึงคิดจะสำรอกต่อมโลหิตในครรภ์คืนให้พระสวามี นางจึงไปที่ริมลำธาร วางผ้าแดงกับพระธำมรงค์ที่ทรงมอบให้ดูต่างหน้า แล้วสำรอกต่อมโลหิตไว้ในวงพระธำมรงค์ อธิษฐานว่าอย่าให้มีภัยอันตรายใดๆ ประกาศฝากลูกน้อยไว้กับหมู่เทพยดาอารักษ์แห่งเขาหลวง แล้วร่ำไห้จากไปสู่นาคพิภพด้วยความโทมนัส

ในกาลนั้นมีคางคกตัวหนึ่งหากินอยู่แถวลำธาร ครั้นได้กลิ่นคาวโลหิตจึงตรงมาที่พระธำมรงค์ แล้วกลืนต่อมโลหิตเข้าไปพร้อมกับพระธำมรงค์ แต่ต่อมโลหิตนั้นเป็นมนุษย์ที่มีอานุภาพด้วยเชื้อของนาค ทำให้คางคกตัวนั้นถึงแก่ความตาย มนุษย์ผู้มีบุญญาธิการจึงได้อาศัยอยู่ในรูปของคางคกที่ไม่เน่าเปื่อย เร่ร่อนสัญจรอยู่ในย่านนั้น

ฝ่ายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เมื่อล่วงพ้น ๗ วันไปแล้วจึงได้สติระลึกถึงนางนาค จัดขบวนราชรถและบริวารโยธาออกไปรับ แต่ก็ไม่ได้พบนางนาค ตระเวนหาจนทั่วเขาหลวงถึง ๓ วัน ถามใครก็ไม่เห็น จึงจำต้องเสด็จกลับด้วยความเศร้าโศก ทรงเสียดายนางนาคดั่งเสียเมือง

ครั้งนั้นยังมีสองตายายอยู่ที่ตำบลพูขอน ใกล้เขาหลวง หากินทางจับสัตว์น้ำตามลำธารหนองบึงในย่านนั้น วันหนึ่งเอาสุ่มกับข้องออกไปหาปลา เห็นผ้าแดงผืนหนึ่งวางอยู่ข้างลำธารจึงเก็บไปด้วยความดีใจ ครั้นสุ่มปลากลับได้คางคกก็โยนทิ้ง เมื่อสุ่มต่อไปทั้งวันก็ไม่ได้ปลาเลย ได้แต่คางคกตัวเดิม จนตาโกรธจะฆ่าคางคกทิ้ง คางคกจึงอ้อนวอนว่า บิดาท่านอย่าฆ่าข้าเลย จงเลี้ยงไว้เถิด ข้าจะรักษาเฝ้าเรือนท่านให้ สองตายายได้ยินคางคกพูดภาษามนุษย์ได้ก็ดีใจ คิดว่าทั้งสองก็ไม่มีบุตรด้วยกัน เอาคางคกตัวนี้ไปเลี้ยงไว้เป็นบุตรเราเถิด

ตายายจึงเอาคางคกใส่ข้องตอนกลับบ้าน แต่ระหว่างทางเดินมาคางคกก็ร่วงจากข้อง ครั้นจับใส่ไม่นานก็ร่วงอีก ต้องจับใส่อยู่หลายครั้งกว่าจะถึงบ้าน จึงให้ชื่อคางคกนั้นว่า “ออร่วง”

ระหว่างที่ตายายออกไปหาปลาก็ปล่อยให้คางคกเฝ้าบ้าน เมื่อตายายกลับมาก็พบอาหารโอชารสต่างๆใส่ภาชนะไว้ด้วยฤทธิ์นาค แต่ตายายกลับคิดไปว่ามีคนอยากให้ตัวตาย จึงเอาอาหารใส่ยาพิษมาให้ ตายายคิดถึงความแก่ชราของตน หากมีคนเขาอยากให้เราตายก็ดี จะได้พ้นทุกข์เสียที จึงชวนกันกินอาหารนั้น อาหารก็อร่อย กินแล้วก็ไม่ตาย สองตายายจึงแปลกใจ และเป็นเช่นนี้อยู่ทุกวัน วันหนึ่งตายายจึงแกล้งออกจากบ้านแล้วย้อนกลับมาซุ่มดู ก็เห็นทารกออกมาจากร่างคางคก แล้วนิมิตโภชนาอาหารขึ้น ตาจึงย่องเข้าไปชิงเอาคางคกโยนใส่เตาไฟ แล้วกอดทารกนั้นไว้ ทารกจึงเป็นที่รักใคร่ของตายายดังลูกแท้ๆของตน และเรียกว่า “เจ้าร่วง” ตลอดมา

เจ้าร่วงบังเกิดเมื่อจุลศักราช ๕๙๑ หรือ พ.ศ.๑๗๗๒ เมื่อโตขึ้นมีรูปโฉมงดงาม มีบุญญาธิการ และมีวาจาสิทธิ์ กระทำสิ่งใดก็สำเร็จในสิ่งนั้น ชอบเล่นว่าว ช่วยตายายทำงานด้วยความขยันขันแข็ง

อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชจะให้ปลูกปราสาทในเมือง จึงให้จัดหาไม้ไผ่และไม้จริงจำนวนมาก ตายายได้รับมอบหมายให้หาไม้ไผ่มาร้อยลำ เมื่อตาตัดได้ครบแล้วจึงบอกเจ้าร่วงให้ช่วยขน เจ้าร่วงก็จับไม้ไผ่ลำเดียวลากไปพร้อมกับเรียกไม้ไผ่ทั้งกองให้ตามมา ไม้ไผ่ทั้งหมดก็ตามไปจนถึงที่จะสร้างปราสาท

ในวันที่ได้ฤกษ์ยกเสาปราสาท คนจำนวนพันพากันยกเสาลงหลุม แล้วก็ตั้งไม่ตรงเลยสักต้น ผลักกันจนเหนื่อยจึงต้องหยุดพัก เจ้าร่วงเดินไปจับเสาต้นหนึ่งแล้วร้องสั่งให้เสาทุกต้นจงตั้งตรง เสาที่เอียงเหล่านั้นก็ตั้งตรงหมดทุกต้น คนทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์ ก็คิดว่าเจ้าร่วงคงจะไม่ใช่มนุษย์แน่ ชะรอยจะเป็นเทวดา จึงพากันไปกราบทูลพระเจ้ากรุงสุโขทัย

พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชจึงให้นำตายายและเจ้าร่วงเข้าเฝ้า วันนั้นเจ้าร่วงห่มผ้าแดงขมวดพระธำมรงค์ไว้ที่ชาย พระเจ้ากรุงสุโขทัยเห็นผ้าแดงก็จำได้ และเมื่อทรงไต่ถามตายายว่าบ้านช่องอยู่ไหน ได้ผ้าแดงมาอย่างไร และเจ้าร่วงเป็นใคร ก็ทรงแน่ใจว่าเจ้าร่วงนั้นคือราชโอรสของพระองค์ที่เกิดจากนางนาค จึงขอเจ้าร่วงจากสองตายาย แล้วทำขวัญสมโภชถึง ๓ วัน ๓ คืน จากวันนั้นเจ้าร่วงก็เป็นที่รักใคร่เสน่หาของพระเจ้ากรุงสุโขทัย

เจ้าร่วงได้เฝ้าอุปัฏฐากพระราชบิดามาช้านาน มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงขอถวายบังคมลาไปบวชเป็นสามเณรเพื่อเล่าเรียนพรหมจรรย์ ต่อมาก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ

ในขณะนั้นเมืองต่างๆในเขตแดนย่านนี้ ไม่ว่าจะสุโขทัย ละโว้ ต่างก็ตกเป็นเมืองขึ้นของขอม ต้องตักน้ำใส่ตุ่มส่งไปถวายพระเจ้ากรุงกัมพูชา วันหนึ่งพระภิกษุร่วงเห็นเขาขนตุ่มน้ำใส่เกวียนไปเช่นนั้น จึงว่าต่อไปนี้อย่าเอาน้ำใส่ตุ่มให้หนักเลย เอาไม้ไผ่สานเป็นตารางบนเกวียน แล้วตักน้ำเทใส่ตารางขังไปก็ไม่รั่ว เมื่อคนเหล่านั้นทำตาม น้ำก็ขังอยู่ในตารางอย่างน่าอัศจรรย์

พระเจ้ากรุงกัมพูชาเห็นตารางบนเกวียนใส่น้ำมาได้ก็แปลกพระทัย เมื่อไต่ถามก็ได้ความพระร่วงผู้เป็นภิกษุสั่งให้ทำเช่นนั้น ทรงวิตกว่าพระร่วงเป็นผู้มีบุญญาธิการยิ่งนัก จึงรับสั่งว่าต่อไปเมืองสุโขทัยมิควรเอาน้ำมาส่งแก่เรา จงเอาน้ำไปถวายพระภิกษุรูปนั้นเถิด จะได้เป็นกุศลแก่เรา

แต่กระนั้น เจ้ากรุงกัมพูชาก็เห็นว่าพระร่วงเป็นคนฉลาด มีปัญญาหลักแหลม และยังมีบุญญาธิการสูง ต่อไปคงต้องแข็งเมืองแน่ จึงคิดที่จะฆ่าเสีย ทรงให้สืบเสาะจนหาได้คนที่มีวิชาความรู้วิเศษไปกำจัดพระร่วงไปโผล่ที่วัดมหาธาตุซึ่งพระร่วงทรงผนวชอยู่ พบพระร่วงกวาดวัดอยู่ใกล้วิหารลานพระเจดีย์ แต่ไม่รู้จักจึงถามหาพระร่วง พระร่วงหันมาเห็นบุรุษผู้เก่งกล้าของกัมพูชาผุดจากดินขึ้นมาครึ่งตัว จึงกล่าววาจาสิทธิ์ว่า ท่านจงอยู่ที่นี่เถิด ว่าแล้วก็เดินจากไป บุรุษที่พระเจ้ากรุงกัมพูชาส่งมาจะโผล่ขึ้นจากดินอีกก็ไม่ได้ จะดำลงไปอีกก็ไม่ได้ ร่างจึงแห้งแข็งเป็นหินอยู่ตรงนั้น
พระร่วงเห็นว่าศีลของตนไม่บริสุทธิ์แล้วจึงลาสิกขา และกราบทูลพระราชบิดาขอไปสร้างเมืองใหม่ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชจึงทรงให้ไปสร้างเมืองขึ้นที่เมืองเก่าชื่อสัชนาลัย อยู่ริมแม่น้ำปาฬอกนที เชิงเขาสัชนาลัย ซึ่งพระฤาษีสัชนาลัยดาบส พระอัยกาทวด เป็นผู้สร้างไว้ก่อน และให้ชื่อเมืองนี้ว่า สวรรคโลก

พระร่วงได้พูนดินเป็นถนนกว้าง ๙ วา จากเมืองสุโขทัยไปเมืองสัชนาลัย เป็นระยะทาง ๔ โยชน์เศษ แล้วเอาเปลือกเม็ดมะขามคั่วซึ่งเสวยเนื้อจนหมดแล้ว โปรยไปสองข้างถนน กล่าวด้วยวาจาสิทธิ์ว่า เปลือกเม็ดในมะขามจงเป็นต้นมะขามเถิด เปลือกเม็ดมะขามก็งอกเป็นต้นมะขามเหมือนเพาะด้วยเม็ดดิบ เป็นต้นมีใบ ดอก ฝัก แต่ไม่มีเม็ดใน สร้างเมืองใหม่เสร็จภายใน ๔ เดือน จากนั้นพระร่วงเจ้าก็ครองราชย์อยู่ที่เมืองสวรรคโลกสืบไป

ครั้นต่อมาใน พ.ศ.๑๘๐๐ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชสวรรคต พระร่วงจึงเสด็จมาครองเมืองสุโขทัย ทรงพระนามว่า พระร่วงบรมราชาธิราช แล้วให้พระอนุชาต่างมารดา ซึ่งพระราชทานนามว่า พระศรีธรรมราชา ไปครองเมืองสวรรคโลก

อยู่มาวันหนึ่ง พระร่วงบรมราชาธิราชได้เสด็จไปเมืองสวรรคโลก ทอดพระเนตรเห็นกุฏิวิหารผุคร่ำคร่าหักพังเป็นอันมาก จึงปรึกษาพระอนุชาว่า พระองค์จะเสด็จไปเมืองมคธ คือเมืองจีน ขอช่างทำถ้วยชามของพระเจ้ากรุงจีนมาทำถ้วยชามที่เมืองเรา แล้วจะได้ทำกระเบื้องมุงหลังคากุฏิวิหารเหล่านี้ด้วย พระอนุชาเห็นดีเห็นชอบและขอตามเสด็จไปด้วย

ทั้งสองพระองค์เสด็จโดยเรือพระที่นั่งฝ่าคลื่นมหาสมุทรไปถึงเมืองมคธราฐ พอดีกับพระโหราแห่งราชสำนักพระเจ้ากรุงจีนถวายคำทำนายว่า จะมีข้าศึกมายึดพระนครในวันรุ่งขึ้น พระเจ้ากรุงจีนตกพระทัย รับสั่งให้เสนาโยธาทวยหาญมาประจำประตูหอรบทั้งนอกและในเป็นจำนวนแสน

ครั้นถึงเวลา สมเด็จพระร่วงเจ้ากับพระอนุชาก็เสด็จไปถึง จึงให้ราชบุรุษรักษาเรือไว้ แล้วเสด็จขึ้นไปเฝ้าพระเจ้ากรุงจีนเพียงสองพระองค์ เหล่าทหารที่เฝ้าหอรบทั้งนอกและในเห็นสองกษัตริย์พระราชดำเนินมาก็บังเกิดความกลัว ปล่อยให้เข้าไปถึงท้องพระโรง

พระเจ้ากรุงจีนเห็นสองกษัตริย์เข้ามาถึงพระองค์ก็ทรงตกพระทัยจะถวายบังคม พระร่วงจึงรีบห้ามไว้ และว่าพระองค์มาจากเมืองสุโขทัย ปรารถนาจะขอช่างทำถ้วยชามและกระเบื้องไปทำที่เมืองสุโขทัย พระเจ้ากรุงจีนทรงทราบว่าเป็นพระร่วงที่เคยได้ข่าวจากพ่อค้าวาณิชเลื่องลือถึงเรื่องวาจาสิทธิ์มาแล้ว ก็บังเกิดความชื่นชมโสมนัส มีพระราชดำริที่จะยกราชสมบัติและพระราชธิดาแก่พระร่วงเจ้า

พระร่วงได้ฟังดังนั้นก็ขอเสี่ยงทายด้วยการตัดศีรษะรูปพระราชสีห์ ว่าถ้าหัวพระราชสีห์ตกที่เมืองใด ก็จะยอมเสวยราชสมบัติที่เมืองนั้น พลันที่ฟาดพระแสงขรรคาวุธ รูปพระราชสีห์ขาดกลางตัว ส่วนศีรษะก็ลอยไปบนอากาศ ตกลงกลางพระนครกรุงสุโขทัย พระเจ้ากรุงจีนและเหล่าเสนามาตย์ได้เห็นเหตุอัศจรรย์เช่นนั้นก็ยิ่งเลื่อมใส จึงจะราชาภิเษกสมเด็จพระร่วงพร้อมกับอภิเษกด้วยพระราชธิดา แต่พระร่วงได้ทรงยับยั้งไว้ ว่าเมืองที่พระองค์จะต้องครองราชย์นั้นก็คือกรุงสุโขทัย แต่ก็อภิเษกอยู่ด้วยพระราชธิดาถึง ๓ เดือนจึงขอลากลับกรุงสุโขทัย พระราชธิดาขอติดตามพระสวามีมาด้วย พระเจ้ากรุงจีนก็พระราชทานเงินทองแก้วแหวนแพรพรรณ พร้อมด้วยช่างทำถ้วยชาม ๕๐๐ คน

พระร่วงเจ้าทรงโปรดเกล้าฯให้ราชธิดาพระเจ้ากรุงจีนอยู่ในพระราชเรือนหลวง มีพระนามปรากฏว่า นางคันธารราชเทวี เป็นที่เสน่หาของพระร่วงเจ้า ต่อมามีราชบุตรองค์หนึ่ง มีพระรูปโฉมงาม เป็นที่รักของพระร่วงเจ้า พระมารดา และมหาชนทั้งหลาย

ส่วนช่างที่มาจากเมืองจีน ก็ไปทำถ้วยชามกระเบื้องเคลือบ ณ เมืองสวรรคโลก มุงวิหารการเปรียญและพระอุโบสถ และโปรดฯให้ช่างทำพระปรางค์ใหญ่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมาพระเจ้าศรีธรรมราชา พระอนุชา ได้สร้างเจดีย์ใหญ่ขึ้นอีกองค์ เป็นอิฐและศิลาสูงกว่าพระปรางค์ พระร่วงเจ้าทอดพระเนตรเห็นก็ไม่พอพระทัย ให้รื้อยอดที่เป็นศิลาลงมาตั้งไว้ในวัด ซึ่งศิลายอดเจดีย์ก็ยังปรากฏจนทุกวันนี้

ส่วนถ้วยชามที่ทำขึ้น ดินไม่เหมือนในเมืองจีน จึงเกิดริ้วรอยเหมือนร้าวไปทั่ว
ในสมัยพระร่วงนั้น แม้จะมีวาจาสิทธิ์ แต่พระองค์ก็ไม่ได้รังแกเบียดเบียนบ้านเมืองใกล้เคียง กษัตริย์ในประเทศต่างๆจึงได้ถวายเครื่องราชบรรณาการแด่พระองค์ และขอพระราชทานนามบัญญัติจากพระร่วงเจ้า ซึ่งพระองค์ก็ได้พระราชทานนามบัญญัติจารึกลงในแผ่นทอง พระราชทานแก่กษัตริย์เหล่านั้น กว้างไกลไปถึงรามัญ พุกาม เมาะตะมะ มลายู จนถึงเมืองจีน

อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อพระร่วงเจ้าครองราชย์มาได้ ๘๐ ปีเศษ มีพระชนมายุ ๙๒ พรรษา จึงตรัสแก่ขุนนางและอาณาประชาราษฎร์ ให้ช่วยกันรักษาเมืองไว้ พระองค์จะเสด็จไปสรงน้ำที่แก่งศิลาใหญ่ในเมืองสวรรคโลก ถ้าภายใน ๗ วันพระองค์ไม่กลับมา ก็ให้ราชาภิเษกเจ้ารามราชบุตรขึ้นครองราชย์

ตรัสสั่งเสียแล้วพระร่วงเจ้าก็เสด็จสู่เมืองสวรรคโลกพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก ทรงลงสรงน้ำชำระพระสรีระภายในแก่งใหญ่ ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่าแก่งหลวง และได้อันตรธานหายไปในสายน้ำ โดยไม่มีผู้ใดเห็น

เหล่าบรรดาเสนามาตย์กว่าร้อยคนลงดำค้นหาในแก่งศิลาใหญ่ทุกซอกทุกมุม แม้แต่ในป่ารอบด้าน และทุกตำบล ก็ไม่พบ บ้างก็ว่าพระองค์ระลึกถึงพระราชชนนีและลงไปเยี่ยมพระประยูรญาติในนาคพิภพ ต่างเฝ้ารออยู่ที่ริมแก่งน้ำนั้นก็ยังไม่เสด็จกลับมา จึงจำใจต้องกลับกรุงสุโขทัยด้วยความโศกเศร้าอาดูร

ตำนานเรื่องพระร่วง มีปรากฏอยู่หลายสำนวน ล้วนมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน ซึ่งชื่อ “พระร่วง” นี้กล่าวคลุมเครือว่าเป็นกษัตริย์ของกรุงสุโขทัย บ้างก็หมายถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งในเมืองสุโขทัยก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เกี่ยวพันกับพระร่วง เช่นปลาพระร่วง ที่เนื้อใสเห็นแต่ก้างว่ายน้ำ ข้าวตอกพระร่วง ไม้เช็ดก้นพระร่วง และโซกพระร่วง คือช่องเขาขาดที่ว่าพระร่วงลองพระขรรค์ฟันภูเขาขาดออกจากกัน

ส่วนทางกัมพูชาก็มีเรื่องทำนองพระร่วงนี้เหมือนกัน แต่เนื้อเรื่องกลับตรงกันข้ามให้ฝ่ายกัมพูชาเป็นพระเอก และนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี ๒๕๔๑ ในชื่อเรื่อง “เดโชดำดิน” เพื่อปลุกเร้าคนรุ่นใหม่ชื่นชมความเก่งกล้าของบรรพชน ซึ่งพระเอกคือ พญาเดโช ซึ่งคงไม่ใช่ที่มาเป็นหินอยู่ในลานวัดแน่

ที่เอาเรื่องนี้มาเล่า ก็เพื่อให้อ่านกันสนุกๆ และเป็นความรู้ว่า เรื่องพระร่วงแม้จะดูเป็นนิทาน แต่ก็ไม่ใช่นิทานธรรมดา ถูกจารึกไว้ในพงศาวดาร และเพื่อนบ้านยังสร้างเรื่องมาตอบโต้เสียด้วย
ขอมดำดินที่วัดตระพังทอง สุโขทัย
กำลังโหลดความคิดเห็น