ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนช้าง ออกหนังสือแถลงการณ์ไม่สามารถจัดหาบุคลากรที่จะทำงานต่อไป และทุนทรัพย์ที่ได้รับบริจาคไม่เพียงพอ โดยเห็นควรให้ยุติ “มูลนิธิเพื่อนช้าง” ลง
วานนี้ (14 มี.ค.) ผู้ใช้เฟซบุ๊กนามว่า Soraida Salwala หรือ โซไรดา ซาลวาลา ผู้ก่อตั้ง / กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิเพื่อนช้าง ได้โพสต์รูปภาพจำนวน 2 รูป พร้อมระบุข้อความว่า ด้วยความเสียใจค่ะ ได้พยายามอย่างถึงที่สุดแล้ว....โซไรดา ที่ ลขธ.พิเศษ/2560 13 มีนาคม พ.ศ. 2560 เรื่องการทำงานของมูลนิธิเพื่อนช้าง เรียนประธานและคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อนช้าง ทราบ วันนี้เป็นวันช้างไทย วันที่ภาครัฐกำหนดขึ้นเมื่อปี 2541 เพื่อให้ประชาชนคนไทยหันมาสนใจช้าง หลังจากมูลนิธิเพื่อนช้างก่อตั้งขึ้นแล้ว 5 ปี นับว่า “มูลนิธิเพื่อนช้าง” เป็นองค์กรแรกที่พยายามต่อสู้เพื่อ “ช้าง” ไทย มาอย่างยาวนาน กระตุ้นเตือนให้ภาครัฐหันมาให้ความสนใจ และใส่ใจใน “ช้าง” เอกลักษณ์ของชาติไทยได้ระดับหนึ่ง
ดิฉันในฐานะผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนช้าง ขอกราบขอบพระคุณคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อนช้างและที่ปรึกษาทุกคณะที่กรุณารับตำแหน่งนับแต่เริ่มก่อตั้งในปีพุทธศักราช 2536 จวบจนชุดปัจจุบัน ความร่วมมือ กำลังใจ ในการฝ่าฟันอุปสรรคนานาของท่านทั้งหลาย ดิฉันจะจดจำไว้ไม่รู้ลืม แม้นดิฉันจะถูกกลั่นแกล้ง ให้ร้าย ถูกลอบทำร้ายบาดเจ็บ ปัญหาสุขภาพที่มีมาตลอดชีวิต ปัญหาผู้ร่วมงาน (ที่มีวาระซ่อนเร้น) ก่อให้เกิดปัญหาที่ต้องตามแก้ไขซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางสิ่งก็แก้ไขได้ บางสิ่งก็แก้ไขไม่ได้ ยากต่อการทำงานยิ่ง
ซึ่งดิฉันก็ได้พยายามฝ่าฟันมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งสุขภาพที่เสื่อมถอยลงทุกวันทำให้ทำงานไม่ได้มากเช่นเดิมและขาดประสิทธิภาพมากขึ้นในปี 2560 นี้ เป็นปีที่มูลนิธิฯ ครบรอบปีที่ 25 ของการก่อตั้ง การต่อสู้ให้มีกฎหมายที่เหมาะสมสำหรับ “ช้าง” ตั้งแต่ปี 2536 จนขณะนี้มี “ร่าง” กฎหมาย “ช้าง” แล้ว โรงพยาบาลช้างที่มูลนิธิเพื่อนช้างสร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก รักษาช้างป่วย ช้างเจ็บ ดูแลแม่ช้าง (รอคลอด) เป็นจำนวนกว่า 794 ราย ในโครงการสัตวแพทย์สัญจร 2,799 ราย ช้างป่วยนอกขอรับยาและคำแนะนำ 1,055 ราย รวมกว่า 4,651 ราย แม้นจะมีผลงานในการรักษา “ช้าง” มามากมาย ยุติ “ช้างเร่ร่อน” ในกรุงเทพมหานครได้ในปี 2553 (หลังการต่อสู้ผลักดันนานกว่า 17 ปี) และยังต่อสู้ให้หยุดยั้งช้างเร่ร่อนในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ การแก้ปัญหาอื่นๆ ของช้าง ปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอและทุนทรัพย์ที่จะทำให้การทำงานไม่สะดุดลงเป็นปัญหาใหญ่มาโดยตลอด งบดุลติดลบถึง 11 ปี ในจำนวน 24 ปี ของการปฏิบัติงานที่ผ่านมา นับเป็นความยากลำบากยิ่งยวด
ดิฉันได้ตรองและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วจึงดำริว่า เมื่อไม่สามารถที่จะจัดหาบุคลากรที่จะทำงานต่อไปได้ อีกทั้งทุนทรัพย์ที่ได้รับจากการบริจาคมีไม่เพียงพอที่จะก้าวต่อไปเป็นปีที่ 26 ในปี 2561 ของการก่อตั้งแล้ว ดิฉันเห็นควรให้ยุติ “มูลนิธิเพื่อนช้าง” ลง แม้นจะเสียใจที่ไม่สามารถผลักดันให้องค์กรอยู่ได้อย่างยั่งยืน แต่ดิฉันก็ภูมิใจเป็นที่สุด ที่ “มูลนิธิเพื่อนช้าง” ได้ทำงานช่วย “ช้าง” อย่างเต็มที่ ได้ผลักดันให้ปัญหา “ช้าง” เป็นที่รับรู้ของภาครัฐและสังคมโดยทั่วไปและยังมีองค์กรเกี่ยวกับ “ช้าง” เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย
หากมีหนทางอื่นที่จะทำให้ “มูลนิธิเพื่อนช้าง” ดำเนินการต่อไปได้ ได้โปรดพิจารณาแจ้งให้ดิฉันทราบด้วย หากไม่มีแล้ว ดิฉันขอท่านประธานเชิญประชุมคณะกรรมการเพื่อวางแผนดำเนินการตามกฎระเบียบต่อไป ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง ด้วยความเคารพ (นางสาวโซไรดา ซาลวาลา) ผู้ก่อตั้ง / กรรมการและเลขาธิการ
มูลนิธิเพื่อนช้าง
อย่างไรก็ตาม เมื่อหนังสือฉบับนี้ถูกเผยแพร่บนเฟซบุ๊กของ Soraida Salwala ชาวเน็ตที่ติดตามเฟซบุ๊กนี้ต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็น เป็นกำลังใจให้กับ โซไรดา ซาลวาลา ในการปิดมูลนิธิเพื่อนช้างในครั้งนี้