xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 5-11 มี.ค.2560

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ถอดสมณศักดิ์ “พระธัมมชโย-พระทัตตชีโว” แล้ว หลังหนีหมายจับ ด้าน มส. ไม่จับสึก โยนเจ้าคณะใหญ่หนกลางจัดการ!
(บน) พระธัมมชโย เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์วัดพระธรรมกาย (ล่าง) พระทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
ความคืบหน้ากรณีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ใช้อำนาจมาตรา 44 ให้วัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุม เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารเข้าตรวจค้นวัดพระธรรมกาย เพื่อจับกุมพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์วัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาตามหมายจับข้อหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร ในคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และหมายจับคดีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในหลายจังหวัด แต่พระวัดพระธรรมกายไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นพื้นที่โซน A และ B ซ้ำ ให้หายคาใจ ขณะที่พระธัมมชโยก็ไม่ยอมออกมามอบตัวนั้น

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถอดถอนสมณศักดิ์ โดยระบุว่า ด้วยพระเทพญาณมหามุนี(พระไชยบูลย์ สุทธิผล) วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี เป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีกระทำความผิดข้อหาร่วมกันฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน และรับของโจร ตามที่ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับ และยังถูกกล่าวหาในคดีอาญาฐานอื่นอีกหลายฐานความผิด ซึ่งอัยการคดีพิเศษมีความเห็นสั่งฟ้องในบางคดีด้วยแล้ว แต่พระเทพญาณมหามุนี ไม่ยอมอบตัวตามหมายเรียก และได้หลบหนีคดีดังกล่าว จึงไม่สมควรดำรงอยู่ในสมณศักดิ์ต่อไป และได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ต่อไปแล้ว บัดนี้ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอดถอนพระเทพญาณมหามุนีออกจากสมณศักดิ์ ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.2560 เป็นต้นไป

ด้านพระทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ก็ถูกถอดสมณศักดิ์เช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกฯ เรื่อง ถอดถอนสมณศักดิ์ ระบุว่า ด้วยพระราชภาวนาจารย์(พระทัตตชีโว หรือเผด็จ ทัตตชีโว) วัดพระธรรมกาย เข้าข่ายการเป็นผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการให้ที่พักพิงแก่ผู้ต้องหา และการนำเงินของวัดพระธรรมกายไปเล่นหุ้น เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และยังเป็นผู้ต้องหากระทำความผิด โดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ลงวันที่ 15 ก.พ.2560 โดยพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหามาพบ และรายงานตัว แต่ผู้ต้องหาไม่มาตามกำหนด พนักงานสอบสวนจึงได้ออกหมายเรียกอีก แต่ผู้ต้องหาก็ยังไม่มาพบพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด จึงไม่สมควรดำรงอยู่ในสมณศักดิ์ต่อไป และได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ต่อไปแล้ว บัดนี้ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอดถอนพระราชภาวนาจารย์ออกจากสมณศักดิ์ ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.2560 เป็นต้นไป

ส่วนความคืบหน้าการเข้าตรวจค้นในจุดสงสัยของวัดพระธรรมกายเพื่อจับกุมพระธัมมชโยนั้น เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ทางวัดพระธรรมกายได้ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นอีกครั้ง ซึ่ง พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย พล.ต.ต.ถาวร ขาวสะอาด ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ปทุมธานี, ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี, พระเทพรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี, นายสมศักดิ์ โตรักษา ผู้แทนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ฯลฯ ได้เข้าตรวจค้นพื้นที่ต้องสงสัย 3 จุด ในพื้นที่ 196 ไร่ คือ โซน A โซน B และอาคารบุญรักษา ซึ่งผลการตรวจค้น ไม่พบพระธัมมชโยแต่อย่างใด

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ แถลงหลังการตรวจค้นว่า ไม่พบบุคคลตามหมายจับ และว่า คดีมีอายุความ 15 ปี ทางดีเอสไอและสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะจัดชุดออกสืบสวนติดตามต่อไป ซึ่งจากการประสานสำนักงานตำรวจคนเข้าเมือง ไม่พบว่าออกนอกประเทศ แต่หากออกช่องทางธรรมชาติ ต้องรอตรวจสอบ พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวด้วยว่า จากการตรวจวันนี้ แสดงให้เห็นว่า พระธัมมชโยไม่ได้อาพาธตามที่ทางวัดแจ้ง เพราะหากอาพาธจริง เมื่อเข้าตรวจค้นก็ต้องพบตัว “การขอใช้มาตรา 44 ใช้เพียงขอคุมพื้นที่ เมื่อเหตุการณ์ต่างๆ เข้าสู่สภาพปกติเรียบร้อย ก็กำลังขอยกเลิกมาตรา 44 ไปตามลำดับชั้น”

ทั้งนี้ วันเดียวกัน(10 มี.ค.) ที่อาคารพระมหารัชมังคลาจารย์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) พุทธมณฑล จ.นครปฐม ได้มีการประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ซึ่งมีข่าวก่อนหน้าแล้วว่า จะมีการพิจารณากรณีพระธัมมชโย โดยก่อนการประชุม นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานกรรมการเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนเรื่อง พระธัมมชโยมีพฤติกรรมละเมิดพระธรรมวินัยจนถึงขั้นปาราชิกตั้งแต่ปี 2542 และบิดเบือนพระธรรมคำสอนที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้เป็นอาจิณ แต่ที่ผ่านมา ฝ่ายปกครองคณะสงฆ์ยังไม่เคยนำเรื่องดังกล่าวขึ้นสู่การพิจารณาและตัดสินพระไชยบูลย์โดยธรรมวินัย

หนังสือยังระบุอีกว่า พระไชยบูลย์ยักยอกทรัพย์และที่ดินของวัดพระธรรมกาย รับที่ดินและทรัพย์มาใส่ชื่อตน ไม่ใช่การรับมาในฐานะครอบครองแทนวัดพระธรรมกายตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค เป็นการกระทำที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ ขัดต่อกฎหมายบ้านเมืองและพระธรรมวินัยอย่างชัดเจน ต้องอาบัติปาราชิกทันที นอกจากนี้ยังล่วงละเมิดพระธรรมวินัย บิดเบือนแต่งเติมพระธรรมคำสอนเป็นอาจิณ อ้างว่าพระไตรปิฎกผิดเพี้ยนและรื้อมาเขียนใหม่ เป็นการทำให้สงฆ์แตกแยกกัน เป็นอนันตริยกรรม จึงมายื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อขอเป็นโจทก์ให้มีการไต่สวน โดยมีคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งสมบูรณ์ที่สุดแล้ว เป็นอีกทางหนึ่งที่จะดำเนินการกับพระไชยบูลย์ต่อไป

ด้าน พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แถลงหลังการประชุมมหาเถรสมาคม ที่มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีวาระเร่งด่วนนอกระเบียบวาระ คือรับทราบเรื่องถอดถอนสมณศักดิ์พระธัมมชโย และพระทัตตชีโวแล้ว ส่วนเรื่องสละสมณเพศนั้น ต้องให้คณะปกครองตามกฏมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ข้อ3 กรณีพระภิกษุประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็ฯอาจิณ ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป แต่สถานการณ์แบบนี้ช้าไม่ได้ “เรื่องการพิจารณาอาบัติปาราชิกพระธัมมชโยนั้น ที่ประชุมไม่ได้พูดถึง ทาง พศ.ขอให้ใช้กฏ มส.ฉบับที่ 21 ข้อ 3 และทาง มส.ก็แนะนำการใช้กฏ มส.ฉบับที่ 21 และส่งต่อไปยังเจ้าคณะใหญ่หนกลางแล้วตามขั้นตอน ต่อจากนี้เป็นดุลพินิจของพระปกครองตามขั้นตอน ไม่สามารถกำหนดเวลาได้ ส่วน มส.มีอำนาจลักษณะเชิงนโยบาย เป็นการออกกฎหมายมติและปกครองกว้าง ๆ เรื่องนี้รวบรวมหลักฐานส่งให้ผู้บังคับบัญชาของสงฆ์ไปดำเนินการ คือ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง และลดระดับลงไปเรื่อย ๆ จนถึงเจ้าอาวาส”

2.รัฐส่อวืดภาษีหุ้นชิน 1.2 หมื่นล้าน หลัง คกก.วินิจฉัยภาษีฯ อ้างขยายเวลาออกหมายเรียก “ทักษิณ” ไม่ได้ ด้าน สตง.เตือนระวัง ม.157!
 นายทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 2 ปี คดีซื้อขายที่ดินย่านรัชดาฯ
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. คณะกรรมการวินิจภาษี กระทรวงการคลัง ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับการเก็บภาษีเงินได้จากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีซื้อขายที่ดินย่านรัชดาฯ กรณีขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นอินทัช) ให้บริษัท เทมาเสกโฮลดิ้งส์ มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาทในปี 2549 และไม่ได้แสดงรายได้เพื่อเสียภาษีภายในวันที่ 31 มี.ค.2550 ซึ่งการประเมินภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีจากนายทักษิณจะหมดอายุความเนื่องจากครบ 10 ปี หรือภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้

หลังประชุม นายประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรงงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการวินิจฉัยภาษี เผยว่า ได้พิจารณาข้อหารือทั่วไปของกรมสรรพากรกรณีมาตรา 19 ประมวลรัษฎากร ที่ระบุว่า กรณีผู้ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ แต่เสียภาษีไม่ครบ กรมสรรพากรมีอำนาจประเมินภาษีในระยะเวลา 10 ปี นับจากวันยื่นแบบ แต่ต้องออกหมายเรียกภายใน 5 ปี หากไม่ออกหมายเรียกภายใน 5 ปี จะไม่มีอำนาจประเมินภาษีได้ ทั้งนี้ กรณีนายทักษิณ ไม่ได้มีการออกหมายเรียกภายใน 5 ปี

ส่วนประเด็นที่ว่า สามารถขยายเวลาการออกหมายเรียกตามอำนาจมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประมวลรัษฎากรได้หรือไม่ คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า กรมสรรพากรไม่สามารถขยายเวลาออกหมายเรียกได้ เพราะมาตรา 19 เขียนไว้ชัดเจนแล้วว่า ต้องการให้กรมสรรพากรดำเนินการออกหมายเรียกภายใน 5 ปี นอกจากนี้ มาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง การขยายเวลาการออกหมายเรียก จะต้องเป็นการให้คุณแก่ผู้เสียภาษี ไม่สามารถให้โทษแก่ผู้เสียภาษีได้

ทั้งนี้ นายประภาศ ย้ำว่า “การหารือดังกล่าวเป็นการหารือทั่วไป เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติกับผู้เสียภาษีทุกราย ไม่ได้เจาะจงไปที่การเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปเท่านั้น” ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรไม่ออกหมายเรียกให้ผู้ยื่นแบบเสียภาษีไม่ครบ มาจ่ายภาษีภายใน 5 ปี จะมีความผิดละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ก็ต้องไปพิจารณาว่า หากเจ้าหน้าที่รู้อยู่แล้วว่า ต้องออกหมายเรียก แต่ไม่ดำเนินการ ก็มีความผิดละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกรมสรรพากรจะต้องไปสอบสวนต่อไปว่า ใครเป็นผู้ทำให้เกิดความเสียหาย

อนึ่ง คดีนี้ กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีหุ้นดังกล่าวกับบุตรของนายทักษิณ แต่เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งเมื่อปี 2553 ให้ยึดทรัพย์นายทักษิณ 4.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งศาลระบุว่า นายทักษิณเป็นเจ้าของหุ้น ทำให้กรมสรรพากรต้องมาเรียกเก็บภาษีจากนายทักษิณเป็นเงินประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงการเก็บภาษีนายทักษิณที่จะหมดอายุความในวันที่ 31 มี.ค.นี้ว่า เรื่องนี้กระทรวงการคลังได้กำชับกรมสรรพากรดำเนินการอยู่ ให้มีการติดตามและประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรัฐบาลกำลังรอรับฟังรายงานจากข้อสรุปดังกล่าว

ขณะที่นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) กล่าวเรื่องเดียวกันว่า สตง.ได้ทำหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกรมสรรพากรให้พิจารณาขยายเวลาจัดเก็บภาษีออกไป เพื่อให้กรมสรรพากรมีเวลาออกหมายเรียกเก็บภาษีเงินได้ เพราะหากปล่อยคดีให้หมดอายุความ จะดำเนินการจัดเก็บภาษีไม่ได้

นายพิศิษฐ์ ยังเตือนด้วยว่า “หากผู้เกี่ยวข้องและกรมสรรพากรไม่ดำเนินการจัดเก็บภาษีและขยายเวลาออกไป อาจต้องมีความผิดตามมาตรา 154 และ 157 ประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากละเลยการปฏิบัติหน้าที่ มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ซึ่ง สตง.จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด”

ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ได้แนะให้ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เรียกนายทักษิณมายื่นแบบเสียภาษีดังกล่าวภายในเดือน มี.ค.นี้ เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในอายุความ และ คสช.เป็นองค์อธิปัตย์ มีอำนาจบังคับนายทักษิณ ในฐานะผู้ขายหุ้น ซึ่งมีพันธะต้องเสียภาษี และเป็นประโยชน์ที่รัฐพึงได้

3.โปรดเกล้าฯ ถอดยศ “จุมพล มั่นหมาย” พร้อมเรียกคืนเครื่องราชฯ ด้านศาลนครราชสีมาสั่งจำคุก 3 ปี คดีรุกป่าทับลาน!
นายจุมพล มั่นหมาย อดีตรองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษ และอดีตรอง ผบ.ตร.
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถอดยศตํารวจ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีใจความว่า มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอด พลตํารวจเอก จุมพล มั่นหมาย ออกจากยศตํารวจ ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งเป็นวันที่มีคําสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ เนื่องจากกระทําความผิดวินัยฐานกระทําการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในการเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์ ใช้ตําแหน่งหน้าที่ราชการไปในทางไม่ถูกต้องแสวงหาประโยชน์ให้ตัวเอง ฝักใฝ่ในเรื่องการเมือง เป็นอันตรายต่อความมั่นคง ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.ตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ประกอบข้อ 1 (4) ของระเบียบสํานักงานตํารวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตํารวจ พ.ศ. 2547 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่นายจุมพลได้รับพระราชทานด้วย

วันเดียวกัน(10 มี.ค.) พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง พร้อมด้วย พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผู้บังคับการปราบปราม และ พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 4 ได้นำตัวนายจุมพล มั่นหมาย อดีตรองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษ และอดีตรอง ผบ.ตร.พร้อมพวก ผู้ต้องหาคดีรุกป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เดินทางไปยังศาลจังหวัดนครราชสีมา เพื่อฟังคำตัดสินของศาล หลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางญาติที่ไปให้กำลังใจเต็มห้องพิจารณาคดี

หลังศาลตัดสินคดี พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่า คำพิพากษาของศาลในคดีหลักคือบุกรุกป่า และคดีเกี่ยวกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ศาลตัดสินจำคุก 6 ปี ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 3 ปี ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.อาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ศาลให้มีการรื้อถอน และชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 9 แสนบาท ส่วนจะนำตัวนายจุมพลไปจำคุกที่ไหนนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ส่วน พล.ต.ต.พงษ์เดช หรหมมิจิตร อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ยังให้การปฏิเสธ และขอต่อสู้คดี และว่า วันนี้ศาลพิพากษา 2 ราย ซึ่งต้องรอว่าทั้ง 2 รายจะอุทธรณ์หรือไม่ สำหรับผู้ต้องหาอีก 5 รายอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของพนักงานอัยการ ส่วนผู้ต้องหารายรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาอีก 2 ราย คือรายที่ 6 และ 7 มีความเกี่ยวข้องกับการครอบครองพื้นที่ป่าสงวนและมีความใกล้ชิดกับนายจุมพล

พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวอีกว่า คดีนี้ พนักงานสอบสวนสั่งฟ้อง ทั้งหมด 7 คน ประกอบด้วย 1. นายจุมพล มั่นหมาย 2. พล.ต.ต.พงษ์เดช พรหมมิจิตร 3. นางฐนกร มั่นหมาย ภรรยานายจุมพล 4. นางชญานิศฐ์ พิศิษฐวานิช (พรหมมิจิตร) ภรรยา พล.ต.ต.พงษ์เดช 5. นายพงษ์ศักดิ์ พิศิษฐวานิช 6. นายธีระพล พิศิษฐวานิช และ 7. นายมานพ ปลอดโคกสูง ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 16 (1), (4), พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535, พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 และประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ

4.ป.ป.ช.มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน “สุริยะ-วิเชษฐ์” พร้อมอดีตบิ๊กการบินไทยรวม 26 ราย กรณีสินบนโรลส์รอยซ์!
 (ซ้าย) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม (ขวา) นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี อดีต รมช.คมนาคม
เมื่อวันที่ 9 มี.ค. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แถลงผลประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า ที่ประชุมมีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รวมทั้งคณะกรรมการบริษัท การบินไทย และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท การบินไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2547-2548 ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER และซื้อเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินแอร์บัส A340-500/600 จากบริษัท โรลส์รอยซ์รวม 26 คน เนื่องจากมีเหตุอันควรสงสัยว่า ร่วมกันใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้บริษัทโรลส์รอยซ์ได้รับประโยชน์ในการทำสัญญาขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินให้แก่บริษัท การบินไทย

ส่วนกรณีเรียกสินบนนั้น นายสรรเสริญกล่าวว่า ขณะนี้พบตัวคนกลางที่เป็นเอกชนแล้ว หากในการไต่สวนข้อเท็จจริง ปรากฏพยานหลักฐานการเรียกรับสินบน สามารถสั่งไต่สวนเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตประเทศอังกฤษ(เอสเอฟโอ) จะเป็นเรื่องที่ดำเนินการยาก แต่หากโชคดีไปพบเส้นทางการเงิน ก็จะสามารถดำเนินการได้

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ยังไม่ทราบกรณีที่ ป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีสินบนโรลส์รอยซ์ โดยมีอดีตรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีตผู้บริหารการบินไทยรวม 26 คน เป็นผู้ถูกกล่าวหา พร้อมเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดให้การบินไทยส่งรายงานผลการสอบสวนภายในกรณีสินบนโรลส์รอยซ์มาให้โดยเร็ว เพื่อให้ตอบคำถามสังคมได้ว่ากำลังดำเนินการอะไรอยู่ เนื่องจากเกินระยะเวลา 30 วันที่กำหนดไว้ และ ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว

5.ศาลฎีกา พิพากษายืนจำคุก “เจ๋ง ดอกจิก” 2 ปี ไม่รอลงอาญา คดีปราศรัยหมิ่นเบื้องสูง!
 นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) และจำเลยคดีก่อการร้าย
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) และจำเลยคดีก่อการร้าย เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

คดีนี้ โจทก์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 53 บรรยายพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค.53 จำเลยได้ขึ้นปราศรัยบนเวที นปช. เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ด้วยเครื่องกระจายเสียงและมีการติดตั้งจอภาพต่อหน้าประชาชนจำนวนมาก โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ยุบสภาของอภิสิทธิ์นี่มันยากเพราะอะไร เพราะปัจจัยหลายๆ อย่างที่ออกมา เปรมก็ไม่ยอมและอาจมีเหนือกว่านั้น ผมก็ไม่รู้ ไม่กล้าพูด แต่พี่น้องที่อยู่ที่นี่ (ใช้มือจับปากของตัวเอง และกิริยาที่สื่อให้ผู้รับฟังเห็นว่าอย่าพูดไป หรือพูดไม่ได้) คิดอะไรกันอยู่นะ ผมร้อนใน ผมจับปากก่อน ไม่มีใครรู้หรอกครับ เพราะปัจจัยที่ไอ้อภิสิทธิ์ไม่กล้ายุบสภา หนึ่งเปรม ติณสูลานนท์ ไม่ยอมยุบ สองพรรคร่วมรัฐบาล สามทหาร สี่สุเทพ ห้าเนวิน พวกนี้คอยบีบคอสุเทพ คอยบีบคออภิสิทธิ์ไว้”

ซึ่งคำพูดของจำเลยย่อมทำให้ประชาชนเข้าใจว่า ผู้ที่อยู่เหนือกว่าและอยู่เบื้องหลัง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี คือผู้แต่งตั้งประธานองคมนตรี ทรงเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง อยู่เบื้องหลังไม่ยอมให้นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรียุบสภาตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง คำพูดดังกล่าวจึงเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง เกลียดชัง จึงขอให้ลงโทษจำเลย และให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษคดีก่อการร้ายของศาลอาญาด้วย ซึ่งครั้งแรกจำเลยให้การรับสารภาพ แต่ภายหลังให้การปฏิเสธสู้คดี

โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 56 ให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 3 ปี แต่ในทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 จึงให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี แต่ไม่รอการลงโทษ ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์สู้คดี แต่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 57 ยืนตามศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยได้ยื่นฎีกา และได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์และฎีกาคดีในวงเงินประกัน 5 แสนบาท

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อถึงกำหนดศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา นายยศวริศได้เดินทางมาศาล โดยมีสีหน้าท่าทางแจ่มใส ทักทายกับนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ และผู้ใกล้ชิดที่เดินทางมาให้กำลังใจ

ทั้งนี้ ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษากันแล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ขณะเกิดเหตุ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี จำเลยปราศรัยบนเวที นปช. เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 53 บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศว่า “ยุบสภาอภิสิทธิ์มันยาก เพราะ พล.อ.เปรมไม่ยอม และอาจจะมีเหนือกว่านั้น ผมพูดไม่ได้ ...” และข้อความอื่น ซึ่งโจทก์มีพยานเป็นนิติกร ตัวแทนจากสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย และประชาชนซึ่งประกอบอาชีพรับจ้าง เบิกความว่า เมื่อได้ฟังข้อความที่จำเลยปราศรัย ทำให้เข้าใจได้ว่าคือสถาบันเบื้องสูง และเมื่อพิจารณาข้อความประกอบทั้งหมดแล้วยังเห็นว่า คำกล่าวของจำเลยได้โจมตี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อย่างรุนแรง ทั้งในเรื่องส่วนตัวและการกล่าวหาทุจริต โดยจำเลยกระทำในลักษณะที่ไม่ให้ความเกรงใจและไม่ให้ความนับถือต่อประธานองคมนตรีที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้ง

นอกจากนี้ จำเลยก็ยังกล่าวถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในขณะนั้น ในลักษณะเดียวกัน โดยไม่ให้ความเกรงใจและไม่ให้ความนับถือ นอกจากนั้น จำเลยยังแสดงท่าทางในลักษณะเอามือปิดปาก สื่อให้เข้าใจว่าพูดไม่ได้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าการกระทำของจำเลยนั้นหมายถึงสิ่งของอื่นนั้น ฟังไม่ขึ้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าไม่เป็นกลาง และยุ่งเกี่ยวทางการเมือง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่สมควรลงโทษสถานเบาและควรรอการลงโทษจำเลยหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยได้กระทำต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบต่อจิตใจของประชาชนทั่วไปที่มีความจงรักภักดี และไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 3 ปี และลดโทษให้ 1 ใน 3 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ปรานีแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะให้รอการลงโทษ ที่ศาลล่างพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืนจำคุกจำเลย 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ

หลังฟังคำพิพากษา นายยศวริศได้ใช้โทรศัพท์พูดคุยกับคนใกล้ชิด ก่อนที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะควบคุมตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกา โดยมีกลุ่มคนใกล้ชิดและทนายความให้กำลังใจขณะรอส่งตัว อย่างไรก็ดี ภรรยาและครอบครัวของนายยศวริศไม่ได้เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาด้วยแต่อย่างใด

6.ศาลอาญาเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดี “กี้ร์ อริสมันต์” ปราศรัยหมิ่น “อภิสิทธิ์” หลังเจ้าตัวอ้างปวดท้อง นัดใหม่ 28 มี.ค.!
นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) และจำเลยคดีก่อการร้าย
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้มีคำสั่งเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2552 และ วันที่ 17 ต.ค. 2552 จำเลยได้ปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยมีการถ่ายทอดสดคำปราศรัยผ่านช่องพีเพิลแชนแนล กล่าวหานายอภิสิทธิ์ โจทก์ ทำนองว่า การบริหารงานรัฐบาลนายอภิสิทธิ์กู้ยืมเงินมาเพื่อทุจริตคดโกง โดยการหยิบยกเรื่องสถาบันมากล่าวอ้าง และกล่าวหาว่าเป็นผู้หน่วงเหนี่ยวคำร้องฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้ล่าช้า รวมถึงสั่งทหารฆ่าประชาชน ปล้นอำนาจจากประชาชน และไม่ดำเนินการตรวจสอบการทุจริตในโครงการต่างๆ

เป็นที่น่าสังเกตว่า นายอริสมันต์ จำเลย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประกันตัวไปในวงเงิน 500,000 บาท ไม่ได้เดินทางมาศาลตามนัด แต่มีผู้แทนทนายความมายื่นคำร้องขอเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปก่อน โดยอ้างว่าป่วยปวดท้อง รักษาอาการที่โรงพยาบาล

ด้านศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยทราบนัดโดยชอบแล้ว ไม่มา แต่มีผู้แทนมายื่นคำร้องอ้างเหตุอาการเจ็บป่วย ซึ่งความเจ็บป่วยถือเป็นเหตุจำเป็นที่ไม่อาจก้าวล่วง จึงให้เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปเป็นวันที่ 28 มี.ค.นี้ เวลา 09.30 น.

สำหรับคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกล่าวข้อความเท็จ ยุยง ปลุกปั่นประชาชนที่รับฟังการปราศรัย ทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง กระทั่งเหตุการณ์บานปลายทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง เป็นการมุ่งหวังทางการเมืองที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายพรรคการเมืองที่จำเลยสังกัด ไม่ใช่เป็นการแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต จึงให้จำคุก 2 กระทง ๆ ละ 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือนฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา และมีการกล่าวพาดพิงสถาบัน จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ

หลังจากนั้น จำเลยยื่นอุทธรณ์ ต่อมา ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2557 เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย และไม่รอการลงโทษนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเหมาะสมแล้ว จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยได้ยื่นฎีกาสู้คดี และได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกา
กำลังโหลดความคิดเห็น