เว็บไซต์ อะลิตเติลบุดดา ของวัดไทยลาสเวกัส วิจารณ์ชัด มติมหาเถรสมาคมไม่สึกกลางอากาศ “พระธัมมชโย” เป็นมหกรรมลวงโลก ผอ.สำนักพุทธฯ อ่อนด้อย ให้ “กนก” รอง ผอ.สายธรรมกาย อ้างกฎข้างๆ คูๆ “ม.21 ใช้กับพระกินเหล้า” ชี้กฎ ม.21 ให้อำนาจพิเศษอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าการพิจารณานิคหกรรมอยู่ในชั้นไหน ส่วนการตรวจค้นวัดพระธรรมกายหาบันไดลงทุกฝ่าย
กรณีที่ การประชุมของมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 10 มี.ค. รับทราบวาระพิเศษ ให้ใช้กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ข้อ 3 (1) กรณีพระภิกษุประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ โดยให้สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นผู้ดำเนินการนั้น เว็บไซต์ อะลิตเติลบุดดา ของวัดไทยลาสเวกัส รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา วิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่น่าเชื่อว่าขนาดกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ กับ ฉบับที่ 21 ยังทำอะไรพระไชยบูลย์ สุทธิผล หรือ พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายไม่ได้ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) นำโดย พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการ (ผอ.พศ.) ซึ่งเข้ามาด้วยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 และโยกย้าย นายพนม ศรศิลป์ ไปเป็นผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ยังกินไม่ลง
แม้ประธานมหาเถรสมาคม คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งเป็นของธรรมยุต อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับมหานิกาย และ ธรรมกาย และมีการถอดถอนสมณศักดิ์ พระธัมมชโย และพระทัตตชีโว ถือเป็นสัญญาณหนุนให้ดำเนินการอย่างเฉียบขาดกับพระธัมมชโย ซึ่งก่อนหน้านี้ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สผผ.) และ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สนธิกำลังเรียกร้องให้มหาเถรสมาคมดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับพระธัมมชโย ซึ่งมีคดีติดตัวมากมายหลายร้อยคดี ซึ่งมีทีท่าว่าจะถูกใช้กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 สึกกลางอากาศ
แต่พอประชุมเสร็จ แถลงข่าวโดย พ.ต.ท.พงศ์พร และบรรดาเจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ในสายธรรมกาย ก็ได้ข้อสรุปว่า ยังจับพระธัมมชโยสึกไม่ได้ ให้เจ้าคณะใหญ่รับไปพิจารณาหาทางให้พระธัมมชโยสละสมณเพศ กระบวนการทางสงฆ์ กว่าจะถึงยังอยู่อีกไกล อย่างน้อยก็เป็นปี ถือเป็นมหกรรมลวงโลก ของทั้งมหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เห็นชัดว่า มีกระบวนการอุ้มสมกัน โดยการเบี่ยงเบนข้อกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ได้แก่
1. กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ให้อำนาจแก่มหาเถรสมาคมในการวินิจฉัยให้พระภิกษุที่ต้องคดีความ ไม่ว่าจะชั้นไหน แต่เมื่อเห็นว่าจะให้ครองสมณเพศอยู่นั้น เสื่อมเสียแก่พระศาสนา ก็สามารถสั่งสึกได้ทันที ไม่มีผลกระทบกับกระบวนการสอบสวนที่เรียกว่า นิคหกรรม ทั้งสิ้น ไม่มีการอุทธรณ์ ไม่มีฎีกา ไม่มีแม้กระทั่งโอกาสให้การของจำเลย หัวใจของกฎฉบับนี้ ก็คือ หยุดความเสียหายต่อพระศาสนาในวงกว้างอย่างฉับพลัน ดังนั้น ที่ นายกนก แสนประเสริฐ รอง ผอ.พศ. สายธรรมกาย ว่า ผู้ถูกกล่าวหาก็สามารถต่อสู้ได้ นั้น จึงถือว่าเป็นการเฉไฉไม่ตรงประเด็น ยิ่งที่บอกว่าพระสงฆ์บางรูปกินเหล้า ก็ถูกกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 เช่นกันเป็นการมั่ว
2. กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 เป็นกฎหมายพิเศษ เป็นอาวุธร้ายแรง ที่ให้อำนาจมหาเถรสมาคม สั่งสึกพระภิกษุที่ต้องอธิกรณ์ แต่เรื่องบานปลาย กฎนี้ตราออกมาในปี 2538 เพื่อจัดการกับพระยันตระ ในสมัยนั้น มิได้ออกมาเพื่อจับพระขี้เหล้าสึก เหมือนดังที่ นายกนก แสนประเสริฐ ศิษย์ธรรมกาย ขยายความเพื่อช่วยเหลือพระธัมมชโยแต่อย่างใด เปรียบได้กับการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ เมื่อหมายศาลใช้การไม่ได้ ก็จำต้องใช้กฎหมายที่ใหญ่กว่า เมื่อกฎนิคหกรรม (กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11) ใช้ไม่ได้ผล ผู้ต้องหาเป็นเจ้าพ่อ และบรรดาเจ้าคณะผู้ปกครอง ซึ่งต้องเป็นศาลสงฆ์ตามกฎมหาเถรสมาคม ก็ล้วนแต่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเจ้าพ่อ จึงอออกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 เป็นอาวุธพิเศษ
3. เมื่อมีการเสนอใช้กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ก็ไม่จำเป็นต้องไปพูดถึงกฎหมายมาตราอื่นใด ไม่ว่าจะเป็น กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 ว่าด้วยกฎนิคหกรรม มาตราอื่นใด สูงกว่ากฎหมายคณะสงฆ์ รวมทั้งกฎมหาเถรสมาคมทุกฉบับ เหมือนเมื่อใช้มาตรา 44 แล้ว ก็ไม่ต้องไปใช้มาตราอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นหมายจับ หมายค้น หรือคำสั่งศาล เพราะถือว่าครอบจักรวาลแล้ว
4. เมื่อ พ.ต.ท.พงศ์พร ผอ.พศ. มือใหม่หัดขับ รู้อยู่เช่นนี้แล้ว ถามว่า เหตุไฉนถึงได้ไปยื่นมหาเถรสมาคมให้ใช้กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 กับ พระธัมมชโย เพราะในขั้นตอนของการใช้ ต้องมีการพิจารณาคดีความ ที่เรียกว่านิคหกรรม ไปแล้วขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งเมื่อเห็นว่าเรื่องจะยืดเยื้อยาวนานและเกิดความเสียหายในวงกว้าง ก็สามารถหยิบยกกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ขึ้นมาจัดการได้ทันที โดยที่ไม่ต้องรอการเสนอจากสำนักพุทธฯ เลย แค่มหาเถรสมาคมได้รับรายงานเท่านั้น
5. ถ้ายังไม่มีการดำเนินการนิคหกรรมพระธัมมชโย ก็ถือว่ายังไม่เข้าข่ายจะใช้กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 เหตุใด พ.ต.ท.พงศ์พร จึงรีบร้อนยื่นเรื่องเข้าไปในที่ประชุมมหาเถรสมาคม ถ้ารู้แล้วยังฝืนทำ ก็เท่ากับตั้งใจช่วยเหลือพระธัมมชโย ให้สามารถยืดเวลาออกไปเรื่อยๆ หรือไม่ก็โดนวางยาจากสำนักพุทธฯ โดยให้นายกนก ซึ่งเป็นสายธรรมกายพูดแทน หากมีการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งต่อไป คงถูกสายธรรมกายในสำนักพุทธฯ คุมเกมหมด
การส่ง พ.ต.ท.พงศ์พร เข้ามาคุมสำนักพุทธฯ แบบตัวคนเดียวนั้น เห็นทีจะเสียเที่ยว ไม่ต่างจากการสถาปนาพระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งก็ทำอะไรไม่ได้เลย เพราะในมหาเถรสมาคม ก็มีสายของธรรมกายนั่งอยู่เต็มไปหมด ไม่เว้นแม้แต่ตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในสมัยนั้น รอดูนัดต่อไป ถ้ายังออกอาการเหมือนเดิมอีก ก็คงต้องเรียกร้องให้กลับไปดีเอสไอ ข้อหาล้มมวย
6. ถ้ามหาเถรสมาคม อ้างว่า การจะใช้กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ได้ ต้องให้ผ่านนิคหกรรมชั้นใดชั้นหนึ่งมาก่อน แล้วจึงให้เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ไปดำเนินการนิคหกรรมพระธัมมชโยตามลำดับชั้นปกครอง ตรงนี้มีปัญหาอีก 3 ข้อ ได้แก่ เป็นการอธิบายผิดขั้นตอนกฎหมาย เพราะไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าการพิจารณานิคหกรรมอยู่ในชั้นไหน เมื่อยังไม่เข้าเกณฑ์การใช้ ก็ใช้ไม่ได้
ดังนั้น เพื่อจะให้เข้าเกณฑ์การใช้กฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ จึงต้องให้มีการดำเนินการนิคหกรรมจากชั้นเริ่มต้นก่อน โดยการให้เจ้าคณะใหญ่หนกลาง สั่งการไปยังต้นสังกัดให้ดำเนินการสอบสวนอธิกรณ์พระธัมมชโย ไม่ใช่ให้เจ้าคณะใหญ่หนกลางวินิจฉัยให้พระธัมมชโยสึก เพราะไม่มีกฎหมายมาตราใดให้อำนาจเจ้าคณะใหญ่วินิจฉัยให้พระรูปใดสึกได้เลย
ถ้าเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ออกคำสั่งให้พระธัมมชโยสึกจริง ทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจ เพราะอำนาจการสั่งสึกเป็นของศาลสงฆ์ตามกฎนิคหกรรมและของกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ย่อมถูกฟ้องร้องจากพระธัมมชโยว่า มหาเถรสมาคมและเจ้าคณะใหญ่ทำผิดกฎหมายเสียเอง ก็จะเปิดช่องให้พระธัมมชโยเอาตัวรอดได้ต่อไป แถมยังสร้างความชอบธรรมให้แก่บรรดาสาวกที่ไม่เชื่อว่าพระธัมมชโยผิดอีกต่างหากด้วย
7. ในการเสนอให้ใช้กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ครั้งนี้ เมื่อเห็นว่ายังใช้ไม่ได้เพราะยังไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องผ่านการนิคหกรรมดังกล่าว แต่รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.พศ. ก็บอกว่า “จับพระสึกกลางอากาศไม่ได้ ไม่เป็นไปตามขั้นตอน” ถือว่าเป็นศรีธนญชัยในทางกฎหมาย เพราะกฎฉบับนี้ ถือว่าเป็นกฎหมายลัดขั้นตอน มิใช่ตามขั้นตอน ทั้งสองคนทำหัวหมอ เอากฎหมายทั่วไป มาอธิบายกฎหมายพิเศษ หรือใช้กฎหมายพิเศษแบบกฎหมายทั่วไป
8. เมื่อมหาเถรสมาคมเห็นว่า การใช้กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ติดขัด ที่ต้องผ่านการนิคหกรรมมาก่อน นั่นแสดงว่ายังมีช่องโหว่ ก็สามารถจะทำการแก้ไขให้กระชับมากขึ้นกว่าเดิม เหมือนกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 7 ให้เสร็จภายในวันเดียว แต่ถามว่าทำไมไม่ทำ เพราะอำนาจในการออกกฎหรือแก้ไขเป็นของมหาเถรสมาคมเต็มๆ ทั้งๆ ที่ประธานก็เป็นฝ่ายธรรมยุต ผอ.พศ. ก็เป็นสายตรงของรัฐบาล ที่ส่งเข้ามาทำงานนี้โดยเฉพาะ ถ้าจะบอกว่าไม่อยากให้ถูกครหาว่าแก้กฎหมายเพื่อใช้กับพระธัมมชโย ถามว่า ที่แก้กฎหมายเพื่อเปลี่ยนกฎเกณฑ์การตั้งพระสังฆราชมิใช่เพื่อกีดกันสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) เป็นการเฉพาะหรือ
9. หมายเรียกก็ออกแล้ว หมายจับก็ออกแล้ว หมายค้นก็ออกแล้ว มาตรา 44 ก็ออกแล้ว ยศหรือสมณศักดิ์ก็ถอดแล้ว มาถึงกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ก็ยังใช้ไม่ได้อีก ทั้งๆ ที่มีอำนาจทุกอย่างอยู่ในมือ ทั้งรัฐบาลและมหาเถรสมาคม ซึ่งลงทุนเปลี่ยนประธาน จากมหานิกายมาเป็นธรรมยุต ถ้ายังทำอะไรธัมมชโยไม่ได้ ใครต่อใครที่เคยด่ามหานิกายเอาไว้ฉันใด ก็ควรเปลี่ยนไปทางอื่น
เว็บไซต์ อะลิตเติลบุดดา ยังกล่าวถึงการตรวจค้นวัดพระธรรมกายอีกว่า ไม่ได้เหนือความคาดหมาย กับภารกิจสุดท้ายของดีเอสไอ ที่มีบรรดาพระเถรานุเถระของวัดพระธรรมกาย เชิญให้เจ้าหน้าที่ ให้เข้าไปสำรวจตรวจตราในวัดได้ทุกจุดที่ต้องการ แสดงว่า 1. มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับวัดพระธรรมกาย ผ่านนายหน้า อันได้แก่ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เว้นพื้นที่ไว้บางส่วน เพื่อเป็นจุดหายใจของพระธัมมชโยไม่ให้คิดสั้นและทำการอื่นใด
2. จำเป็นต้องถอยคนละก้าว แต่ถอยอย่างไรไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพระธัมมชโยเสียหน้า เพราะว่า ต่างคนต่างก็ถือไพ่คนละใบ เป็นศึกศักดิ์ศรีก็ว่าได้
3. เมื่อเปิดประตูวัดให้ตรวจแล้วไม่พบธัมมชโย รัฐบาลน่าจะเครียดและตั้งข้อหาสารพัด กลับกลายเป็นบรรยากาศผ่อนคลายทุกฝ่าย โดยเฉพาะดีเอสไอนั้นจะได้กลับบ้าน
4. เมื่อพระธัมมชโยไม่โผล่ให้จับ แถมพระเณรในวัดก็หน้าตาสดใส ไม่หมองเศร้าเหมือนคราวแรก ก็เพราะมีการเคลียร์ภารกิจภายใน ผ่องถ่ายอำนาจกันเรียบร้อยแล้ว พระธัมมชโย และพระทัตตชีโว จึงตัดสินใจให้เปิดวัดเพื่อแลกกับคำขอร้องของผู้ใหญ่ ที่ไม่อยากใช้มาตรา 44
5. พอเปิดประตูวัดพระธรรมกายได้ไม่กี่นาที นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประกาศว่า “ยังจับพระธัมมชโยสึกกลางอากาศไม่ได้ ไม่งั้นพระไทยทั้งประเทศจะหวาดเสียว” ก่อนที่ทุกฝ่ายจะเรียงตามคำพูดของนายวิษณุ จะได้ไม่ติดกับดักทางกฎหมาย
6. แสดงว่า พระธัมมชโย และพระทัตตชีโว ยอมตัดใจ ไม่อยากทำลายอาณาจักรที่สร้างเองกับมือ ยอมสละเรือเหมือนกำนันเป๊าะ ปล่อยให้ลูกๆ หลานๆ เข้ามารับช่วงต่อ ถึงไม่รุ่งเรืองเหมือนอดีต แต่ก็ไม่พังทลายในพริบตา ดังกระแสข่าวที่ว่าจะยึดวัดไปทำศูนย์ประชุม
7. มหาเถรสมาคมก็โล่งใจ ยังไม่อยากจะใช้ไม้แข็งกับคนกันเอง หรือ คนเคยเห็นหน้า ยิ่งบรรดากรรมการมหาเถรสมาคม ล้วนแต่ “เคยไปรับซอง” จากมือของพระธัมมชโย (คุณครูไม่ใหญ่) มาแล้วทั้งสิ้น หลักฐานพยานยังสดๆ คำพูดสรรเสริญยังดูได้ในยูทูป ทำแบบนั้นมันก็ตบหน้าตัวเองว่าใช้ไม่ได้ เป็นผู้ใหญ่ตระบัดสัตย์
วันก่อนบอกว่า “พระเดชพระคุณฯ อุปการคุณแก่พระศาสนาหาได้ยาก หากขาดพระเดชพระคุณแล้ว พระพุทธศาสนาก็จะไม่รุ่งเรือง ฯลฯ” แต่ถ้าวันนี้บอกว่า พระธัมมชโยเป็นอันตราย ก็กลายเป็นว่า มหาเถรสมาคมเองจะเสียศูนย์ ดังนั้น จึงต้อง ลากเกมเอายาวๆ ไว้ก่อน ค่อยผ่อนค่อยคลาย ให้พระธัมมชโยหายตัวไปเดือนสองเดือน จากนั้นจึงค่อยประกาศคนหาย เอาแค่ไล่ อย่าถึงกับฆ่าแกงกัน
ทั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า ปฏิบัติการเข้าค้นวัดพระธรรมกายโดยมือของคนใน เป็นการทอดบันไดลงให้แก่ทุกฝ่าย ไล่ตั้งแต่ มหาเถรสมาคม รัฐบาล สำนักพุทธ ดีเอสไอ เจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ แม่ค้าคลองสาม และบรรดาสมาชิกของวัดพระธรรมกายทั้งหมด ทั้งภายในและภายนอก แต่งานนี้อย่าเรียกว่าแฮปปี้เอ็นดิ้งเอาแค่โล่งใจทุกฝ่าย ก็เหลือเฟือแล้ว
มองมุมคนที่ต้องการให้เด็ดขาดก็อาจจะเป็นซูเอี๋ย รัฐบาลไม่เอาจริง เจ้าหน้าที่ทำงานแบบไม่มีกะจิตกะใจ ฯลฯ ซึ่งก็ว่าได้ มองในมุมของคนที่ข้างในวัดพระธรรมกาย ก็อาจจะเป็น “เรามาไกลเกินจะกลับ” แต่จะไม่กลับก็ไม่ได้ เพราะจะถูกลอยแพ ดังนั้น ถึงจะกลับกลางอากาศก็ต้องกลับ
ในมุมมองของชาวพุทธส่วนใหญ่ ที่ทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจ แต่ว่าอยู่กับพระพุทธศาสนา “แบบไทยๆ” มานาน ก็สงสารทั้งรัฐบาลและวัดพระธรรมกาย คนดูส่วนใหญ่ก็ทั้งเบื่อและรำคาญ จะเอาไงก็เอาไป แต่อย่างไรก็อย่าให้ถึงกับเลือดตกยางออก คนไทยด้วยกัน พระเณรและญาติโยมในวัดก็ลูกหลานคนกันเองทั้งนั้น ท่องกันมาเป็นร้อยเที่ยวพันเที่ยว “แตกต่าง ไม่แตกแยก” ก็อยากจะทำให้ได้ดังพูด
คนดูส่วนใหญ่อยากให้หยวนๆ แต่ก็ไม่ติดขัดอะไร ถ้ารัฐบาลจะเล่นงานพระธัมมชโยเป็นการส่วนตัว เพียงแต่ไม่อยากให้พระเณรนับพัน และญาติโยมที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เหล่านั้นเดือดร้อนด้วย ดังนั้น เมื่อวัดเปิด เจ้าหน้าที่เข้าได้ ถึงค้นแล้วไม่เจอ ก็ถือว่าโล่งใจ เพราะขืนเจอ สถานการณ์ก็อาจจะยกระดับขึ้นไปอีกขั้น แบบว่า “ยอมตายเพื่อหลวงพ่อ” จะก่อตัวขึ้นอีก