เมื่อเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ นั้น พระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานมายัง “สมเด็จหญิงน้อย” ซึ่งก็คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล ซึ่งดำรงตำแหน่งราชเลขาธิการฝ่ายในอยู่ในขณะนั้น นอกจากนี้ยังพระราชทานพระบรมราชานุญาต่ให้ผู้อื่นอ่านได้
เมื่อพระราชหัตถเลขานี้มาถึงหลายฉบับ ผู้ที่ได้อ่านเห็นว่าเรื่องเสด็จประพาสซึ่งดำรัสเล่ามาในพระราชหัตถเลขานี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องน่าสนใจ นอกจากจะทรงพรรณนาสิ่งที่ได้ทอดพระเนตรและมีพระราชวินิจฉัยไว้อย่างน่าอ่านแล้ว ยังดำรัสเล่าความทุกข์สุขส่วนพระองค์แกมเรื่องสนุกขบขัน ชวนให้อ่านเพลิดเพลินไม่รู้เบื่อ จึงกราบบังคมทูลขอรวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือไว้ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมาก ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบกลับมาว่า จะพิมพ์ก็ได้ แต่ต้องตัดข้อความที่ไม่ควรเผยแพร่ออกเสียบ้าง เมื่อเสด็จกลับมาจะตรวจทานต้นฉบับให้ พร้อมทั้งพระราชทานชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า “ไกลบ้าน”
พระราชหัตถเลขานี้ได้เริ่มทยอยพิมพ์ทีละฉบับ ออกจำหน่ายในงานประจำปีวัดเบญจมบพิตร ซึ่งได้เริ่มในวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๐ จนครบ ๔๓ ฉบับ รวมเป็นหนังสือหนาถึง ๑,๘๕๐ หน้า แบ่งเป็น ๔ เล่ม ต่อมากรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนำมาจัดพิมพ์ใหม่อีกตามคำขอของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล เพื่อแจกในงานฉลองพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบของพระวิมามาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ซึ่งเป็นพระชนนี ในปี พ.ศ.๒๔๖๖ ขยายหน้ากระดาษเป็นขนาดพับแปด ทำให้เหลือเป็นหนังสือแค่ ๒ เล่ม
ในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๔๒ ซึ่งทรงนิพนธ์ในขณะเสด็จพระราชดำเนินกลับใกล้ถึงเมืองไทยแล้ว ซึ่งจะอัญเชิญมาให้อ่านกันในครั้งนี้ ทรงพรรณนาถึงความทุกข์ที่เกิดจากความหิว แต่มิใช่ความหิวที่เกิดจากขาดพระกระยาหาร หากแต่ทรงเบื่อหน่ายกับอาหารฝรั่งที่ต้องเสวยมาตลอดรายการที่เสด็จประพาส จนทำให้เสวยไม่ลง เมื่อเข้าบรรทมความหิวจึงทำให้บรรทมไม่หลับ และทรงนึกถึงพระกระยาหารไทยที่ทรงโปรดต่างๆ ทำให้ผู้อ่านได้ทราบรายการพระกระยาหารที่ทรงโปรดไปด้วย ดังมีข้อความในพระราชหัตถเลขาในฉบับนี้ว่า
บรรทึกความหิว
กลางคืนวันเสาร์ที่ ๑๙ ตุลาคม
เรือพม่า ในทเลเมดิเตอเรเนียน
(กำหนดเปลี่ยนเที่ยงคืน) ร.ศ. ๑๒๖
(กำหนดเปลี่ยนเที่ยงคืน) ร.ศ. ๑๒๖
ในการที่จะเขียนลงไปนี้ จำจะต้องป้องกันไม่ให้เข้าใจผิดไปว่าอาหารในเรือลำนี้ไม่ดีจึงต้องหิว ถ้าจะว่าตามความจริงเปนเวลาที่อาหารดีคราวหนึ่งซึ่งมีเหมือนเช่นนี้ แต่น้อยแห่ง อาหารนั้นดังนี้
เวลาเช้าไข่ จะชอบอย่างไรสั่งได้ แต่พ่อกินไข่ไม่ได้ตั้งแต่ฮอมเบิค มีปลา ปลาจับบทดีมาแต่ซิซิลี ในเรือนี้ปลาดีเสมอ แต่ผีฤๅปิศาจปลาเยอรมันมาหลอกร่ำไป จนเลยกลัวกินปลาไม่ใคร่จะได้ เพราะฉนั้นเวลาเช้าจึงเลิกปลาเสียอิกอย่างหนึ่ง เหลือแต่เนื้อ เปนแกะฤๅโควันละ ๒ ชิ้นจานหนึ่ง เนื้อเย็นต่างๆ (ซึ่งไม่มีแห่งใดทำดีกว่าในเรือนี้) จานหนึ่งรวมกัน ขนมมี แต่เปนโรคเก่า ที่พ่อกินไม่เปนเหลือแต่ลูกไม้กับน้ำชา น้ำชามีน้ำตาลแลนม เขากินเปนน้ำ แต่เราต้องแถมน้ำเย็น ซึ่งฝรั่งกินไม่เปน
เวลากลางวันมีเนื้อเย็นต่างๆ ตั้งกว่า ๑๖ อย่าง จัดจานใหญ่ทั้งก้อน หั่นเปนชิ้นๆ วางไว้บนก้อนเนื้อให้น่ากิน วางด้วยความคิดให้เห็นเปนหั่นไวๆ ไม่ใช่เรียงฤๅประดับไว้ ที่สุดจนถ้ามีเครวีจะรดก็รดให้เข้าที คือไม่ให้เห็นเปนเปรอะเปื้อน ที่ไหนเครวีกองก็กองอยู่ไม่มีรอยแตก ที่ไหนจานเปล่าก็ขาวสอาด เนื้อเย็นเหล่านี้ คืออกห่าน หมูแฮมต้มจืด ลิ้นเค็ม ไก่ เนื้ออัดต่างๆ ไส้กรอกปลาเค็มเปนต้น ยังมีปลาสดโรยผงขนมปังทอด แลเนื้อสดอิก ๔-๕ ที่ ตั้งด้วยเครื่องแกล้ม แตงร้านแช่ผักดอง ขวดน้ำส้ม น้ำซอส เครื่องหิ้ว ตั้งขัดจังหวะจาน ดูโต๊ะเหมือนในตำราทำกับเข้า จานที่จัดเหมือนเครื่องตุ๊กตาที่เคยเล่นมาแต่เด็กๆ รวมความว่าน่ากิน รศอร่อย กินเค็มเปนไม่เลี่ยน ไม่เคยเห็นบริบูรณ์กว่านี้
แต่ในเวลาเราไปนั่งแล้วใช่ว่าจะต้องกั้นของเหล่านั้นเปล่า มีกับเข้าร้อนๆ เข้าไปเดินอย่างธรรมดาสามคราว คือไข่เจียว ปลา เนื้อ ซึ่งพ่อกินอย่างเดียวเหมือนกัน ต่อเสร็จสามอย่างจึงถึงของที่วางอยู่บนโต๊ะ
เวลาค่ำเปนดินเนอตามธรรมเนียม คือซุป ปลา เนื้อ นก ผัก ขนม ผลไม้ ของกินเล่น แต่กาแฟกินบนดาดฟ้าเมื่อมาในตอนนี้ เพราะเย็นสบายกว่าในห้องสูบบุหรี่ ทั้งการกินดีมีบริบูรณ์เช่นว่ามานี้พ่อก็กินไม่ได้มาก ไม่ใช่เพราะเจ็บไข้อันใด แต่เปนด้วยลำฅอ ฤๅกระเภาะอาหารไม่บานรับอาหารที่แห้งแขง แลรศเดียวเช่นนี้ กลืนลงไปก็แคบเสียเฉยๆ ต้องการหวายสักเส้นหนึ่งกระทุ้งเหมือนกรอกปรอดศพ แต่ถ้าเข้าต้มฤๅเข้าสวยถูกลำฅอเข้าดูมันแย้มโล่งลงไปตลอดกระเภาะอาหาร เมื่อเล่าความเปนอยู่เช่นนี้แล้ว จะเล่าถึงเหตุที่เกิดขึ้นในวันที่ ๑๘ ตอนดึก ซึ่งเปนวันที่ ๑๙ แล้วนั้นต่อไป
พ่อนอนหลับ ๗ ทุ่ม ไปตื่นขึ้นด้วยความหิวได้ความว่า ๑๐ ทุ่มครึ่ง นึกว่าจะแก้ได้ตามเคยคือดื่มน้ำลงไปเสียสัก ๓ อึก จึงได้ดื่ม แล้วนอนสมาธิต่อไปใหม่ ให้เสียวๆ ในฅอ แลเห็นปลากุเราทอดใส่จานมาอยู่ที่ไนยตา ขับไล่กันพอจะจางไป ไข่เค็มเปนมันย่องมาโผล่ขึ้นแทน แล้วคราวนี้เจ้าพวกแห้งๆ ปลากระบอก หอยหลอด น้ำพริก มาเปนแถวเรียกน้ำชามากินเสียครึ่งถ้วย เปิดไฟฟ้าขึ้นอ่านหนังสือจะให้ลืมพวกผีปลาผีหอยมาหลอก หนังสืออิลิซาเบทก็หมด เมื่อแรกนอนเหลือแต่หนังสือตอบของยายแม่มีไปถึงลูก ที่ลงมือไว้เมื่อกลางวัน เพราะไม่มีอะไรทำ ผเอิญถูกที่ยายนั่นไปเมืองลูเซิน แกพูดถึงไปกินเข้าที่โฮเตลนะชะนาล เมื่อหัวคํ่าต้องการหวายกระทุ้ง ทำไมมาอ่านหนังสือนี้กลับเห็นไปว่าดูพอใช้ได้ ให้กินเวลาหิวนี้ก็เอา แต่พอนึกขึ้นอ้ายกับเข้าฝรั่งโผล่หน้าสลอนขึ้นมาแล้ว ดูๆ ไปมันก็เลี่ยนทั้งนั้น แต่ถ้าเวลานี้ดูก็เห็นจะใช้ได้บ้าง กลับรู้สึกตัวฉุนขึ้นมา อียายนี่ตะกลามนักคบไม่ได้ มาพรรณาแต่ถึงกับเข้า ชวนให้อยากมาก โยนหนังสือผลุง เอาน้ำชามาริน เอาน้ำตาลเติมลงไปซด แรกกินก็ดูดี รู้สึกว่าอ้ายรศชาตหิวเช่นนี้เคยมาเสียหนัก แต่ครั้งเปนเณรแล้วเปนพระเล่า มันก็หายกันด้วยน้ำตาลเท่านี้เอง ลงมือชักม่านดับไฟพยายามจะหลับ ทำไมมันจึงนึกต่อไปไม่รู้ว่าเขาว่ากันว่าหิวแล้วกินหวานๆ ยิ่งหิวมาก เขากินขนมเสียก่อนจึงกินเข้าก็มี ในกำลังนึกอยู่นั้นเองเข้ากับแกงเผ็ดโผล่ขึ้นมาในไนยตาที่หลับๆ ประเดี๋ยวไข่เจียวจิ้มน้ำพริก ประเดี๋ยวทอดมันกุ้ง ปลาแห้ง ผัดอะไรพากันมาล้อหลอกเสียใหญ่ หลับตาไม่ได้ต้องลืมลืมก็แลเห็นแกงเทโพหลอกได้ทั้งกำลังตื่นๆ เช่นนั้น จนชั้นยำแตงกวาก็พลอยกำเริบ ดีแต่ปลาร้าขนมจีนน้ำยาฤๅน้ำพริก สงสารไม่ยักมาหลอก มีแต่เจ้ากะปิคั่วมาเมียงอยู่ไกลๆ เห็นจะไม่ได้การ สู้มันไม่ไหวเรียกอ้ายฟ้อน ไปคลำๆ ดู มันมีลูกไม้อะไรอยู่ที่ไหนไม่ว่า ให้เอามาให้กูลูกหนึ่ง อ้ายฟ้อนไปสักครู่หนึ่งกลับมาบอกว่า มีแต่แอ๊บเป้อด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม” ตอบว่า “แอบเปอลไม่ใช่ลูกไม้ฤๅเอามาเถอะ” พอได้มาต้องลุกขึ้นนั่ง หั่นเคี้ยวเข้าไปสักครึ่งลูก นึกว่าถ้ากินมากเข้าไปเวลาดึกเห็นจะไม่ดี จึงหยุดกินแต่เท่านั้น สั่งให้ไปบอกพระราชวรินทร์เวลาเช้า ให้ไปบอกให้กุ๊กในเรือหุงเข้าสำหรับกินเวลาเช้า เพราะนึกว่าถ้าหุงเองคงจะทนช้าไม่ได้ กุ๊กเรือนี้นับว่าหุงเปน เคยไม่ดิบสองคราวมาแล้ว พอสั่งเสร็จล้มตัวลงนอน รู้ว่าผงลูกแอบเปอลตกถึงกระเภาะเท่านั้น ผีสางพวกกุ้งปลาเลยไม่หลอก หลับสนิทดี
ครั้นเช้าตื่นขึ้นถามอ้ายฟ้อนว่าอย่างไรเรื่องเข้าสำเร็จฤๅไม่ อ้ายฟ้อนบอกว่าพระราชวรินทร์ไปกำกับให้กุ๊กหุงเอง เปียกบ้างไหม้บ้าง สองหม้อแล้วไม่สำเร็จ พ่อรู้สึกความผิดของตัวทันที ว่าไปใช้ให้หระราชวรินทร์ไปสั่ง แกไม่สั่งเปล่า ไปขี่หลังนั่งมาติกา จนอ้ายกุ๊กทำอะไรไม่รอดตามเคย จะว่ากะไรก็ไม่ได้ ร้องได้แต่ว่า “ฮือถ้าเช่นนั้นเราต้องหุงเอง” อ้ายฟ้อนว่า “เจ้าคุณบุรุษหุงแล้ว” พอล้างหน้าแล้วก็ได้กิน พระยาบุรุษเข็ดดิบคราวก่อน เลยหุงเปียกไปนิด อ้ายเสบียงก็ “เปนตริดติดตี่ตาศรีคงยศ จะขึ้นไปเวียง เสบียงก็หมด ตาศรีคงยศ อดแทบตายเอย” เหลือกระปิน้ำตาลติดก้นขวด เอามาปนกับมะนาวบีบ พริกป่นโรยลงไปหน่อย คลุกเข้ากินกับหมูแฮมแลกับฝรั่งเพลินอิ่มสบายดี ฅอเหมือนเปิดปากถุง ใส่ลงไปหายพร่อง ไม่ได้มาตันอยู่น่าอกเช่นขนมปังกับเนื้อเลย เวลาลงไปกินเข้ากลางวันพบพระราชวรินทร์บอกว่า กินเข้าอร่อยจริงๆ พระราชวรินทร์คำนับแล้วอมยิ้ม ...
“ไกลบ้าน” พระราชนิพนธ์ที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งนี้ นอกจากจะมีพิมพ์ออกมาหลายครั้งแล้ว ปัจจุบันยังหาอ่านได้ง่ายๆในอินเทอร์เน็ต