xs
xsm
sm
md
lg

อารมณ์มาเต็ม!! เปิดตัวตน “น้าหัง” หนึ่งนักพากย์บอลที่ “มันส์” ที่สุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักพากย์บอลที่ดีที่สุดคนหนึ่งในตองอู
คอบอลพันธุ์แท้กีฬาฟุตบอล
ผู้ชาญเชี่ยวศาสตร์กีฬาระดับชั้นครู
หรือกระทั่งต้นแบบชีวิตคนธรรมจากศูนย์ที่ประสบความสำเร็จ
ฯลฯ

หลากหลายนิยามความคิดและคำเรียกขานที่ใครต่อใครมีให้แก่ชายผู้มีใบหน้าเปื้อนยิ้มและเปี่ยมอารมณ์ขัน “น้าหัง -อัฐชพงษ์ สีมา” นักพากย์ฟุตบอลผู้ปลุกกระแสลูกหนังจากลีกลาลีกาสเปนยุคแรกๆ ให้เป็นที่รู้จักติดตามในประเทศไทย

จากเด็กบ้านนอกเขตแดนจังหวัดติดตะเข็บชายแดน สู่นักฟุตบอลดีกรีมหาวิทยาลัยอันดับต้น ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บรรยายที่ดีที่สุดในปี 2017 นี้ ไม่ใช่เรื่องของพรหมลิขิต แต่คือความศรัทธาในวิถีที่นำพาชีวิต

“แต่คุณรู้หรือไม่ว่า กว่าที่เขาจะมาถึงจุดนี้ เขาผ่านอะไรมาบ้าง?”
แม้จะเป็นถ้อยคำสำเร็จรูป เราก็ยังเชื่อว่า ถ้อยคำดังกล่าวสามารถใช้ได้กับเรื่องราวของชายผู้นี้ ชายผู้ที่ชื่นชอบฟุตบอลต้องรู้จัก ผู้ที่ยังไม่เกิดต้องศึกษา และยิ่งเกิดมาแล้ว โตไม่ไหวใหญ่ไม่ทันความสำเร็จ ไม่ควรพลาดโดยเด็ดขาด

คนจริงไม่มีย่อท้อ
“เพราะแสวงหา มิใช่เพราะรอคอย”

ก็คงคล้ายๆ กับเรื่องราวของใครต่อใครอีกหลายคนที่ประสบความสำเร็จ ล้วนต้องเติบโตขึ้นมาจากความรักความชอบสิ่งต่างๆ กระทั่งลงมือทำ “อัฐชพงษ์ สีมา” หรือ “พี่หัง” “น้าหัง” ก็เป็นเช่นนั้น

จากลูกคนสวนชาวไร่ยากจนในถิ่นทุรกันดาร ไม่มีกระทั่งไฟฟ้าใช้ สภาพแวดล้อมรายรอบไปด้วยผลหมากรากไม้ รวงข้าว กลิ่นดินโคลน และชีวิตกลางแจ้ง

“เรามันเป็นเด็กต่างจังหวัด อยู่กับดินกับแดดกลางแจ้งเป็นชีวิต กีฬาเดียวที่มันจะซัปพอร์ตเราก็คือฟุตบอล และฟุตบอลก็เป็นกีฬาที่เข้าถึงง่ายที่สุด ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ สนามก็ไม่ต้องวุ่นวาย พื้นที่โล่งในทุ่งนา หาเอาไม้มาปักเป็นเสาโกล แค่นั้นจบ สะบัดอีแตะวิ่งซัดกันได้เลย”

ไม่มีหลัก ไม่มีเกณฑ์ เตะๆ ส่งๆ ตามประสา อาศัยใช้เท้ากระแทกๆ เป็นใช้ได้ กระทั่งอายุปาเข้าไป 14-15 ปี เรียนมัธยมต้น ถึงจะพอมีวิชาจากครูอาจารย์พละที่เห็นแววแล้วดึงเข้าร่วมทีมโรงเรียน ได้ฝึกซ้อมแบบไม่ต้องพึ่งลูกเทนนิส ลูกกอล์ฟ กระเด็นกระดอนให้ข้าวของเสียหายจนแม่ตวาด

“คือเราเตะบอลกันที่ท้องนา จากที่มีซังข้าว มีกองข้าวอยู่ แล้วดินธรรมดาก็เป็นฝุ่น พอหน้าฝนมาก็เปลี่ยนที่เล่น เปลี่ยนไปเล่นอย่างอื่นบ้าง เด็กๆ ต่างจังหวัดเล่นกันอย่างนี้ ทีนี้บอลเวลาเล่น มันก็จะกระเด็นกระดอนไปโดนพวกรั้วลวดหนาม โดนตะปู แป๊บเดียวก็แตก แตกเสร็จก็ยัดไส้จากผ้าบ้าง จากใบไม้ใบหญ้าให้มันหนักๆ เขาไว้ เพราะไม่ค่อยมีทั้งเงินแล้วก็รถที่จะเดินทางกันไปซื้อ ต้องอาศัยเวลาคนในหมู่บ้านที่เขาเข้าเมืองแวะไปทำธุระฝากซื้อ

“เวลารถลากซุงวิ่งเข้ามาในหมู่บ้านที กระโดดโลดเต้นกันเกรียวกราว วิ่งตามดมกลิ่นน้ำมันเครื่อง ตามสูดฝุ่นดินคลุ้งๆ ดีใจ มีความสุขกันอย่างนั้น”

น้าหัง สนทนาถึงความหลังที่จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อราวปี พ.ศ.2508 ขณะเทคโนโลยีไฟฟ้าเดินทางมาเยือนถิ่น โลกฟุตบอลยัดไส้ก็ยิ่งเปิดกว้างและสาวเท้าเข้ามาสู่นักเตะบ้านนอก

“ก่อนหน้านั้น เราจะรู้จักฟุตบอลผ่านทางคลื่นกระจายเสียงของวิทยุทรานซิสเตอร์ใส่ถ่าน จากเวลาที่พ่อเปิดวิทยุฟังข่าวสารบ้านเมืองของสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยแล้วบังเอิญมีฟุตบอลเตะ ก็คือไม่ได้มีอยู่ในหัวว่าเราจะมาฟังอะไรตรงนั้น หลังเตะบอลเสร็จกลับมาจะอาบน้ำจะกินข้าว อ้าววว…มีบอล ก็นั่งฟัง (ยิ้ม) ก็ฟังไปกินข้าวไป แข่งทีมชาติ คิงส์คัพ สมัยก่อน สมชาย ชวยบุญชุม นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ ก็ฟังที่เขาพากย์วิทยุมา แต่ถ้าวันไหนฝนตกคลื่นแทรกก็อดฟัง”

นักบรรยายฝีปากเอก เล่าอย่างครึ้มใจ...
พ่อซึ่งรับรู้ในความหลงใหลของลูกชาย ก็สนับสนุนโดยการสรรหาลูกกลมๆ อย่างลูกเทนนิสและลูกกอล์ฟมาให้เล่นขัดฝีเท้าไปพลางๆ ก่อนได้ประจำศูนย์หน้าดาวยิงประจำทีมโรงเรียน เป็นที่เรียกขานในฉายา “ไหมลูกตาเริญ” เพราะฟาดแข้งชิงชัยจากฝั่งตรงข้ามได้แทบทุกแมตช์ ขณะที่ผลการศึกษาภาคสามัญ ก็จัดว่าอยู่ในศูนย์หน้า จนครูอาจารย์ต้องรีบแจ้งแถลงไขให้ทางบ้านรับรู้เพื่อส่งต่อในระดับชั้นมัธยม

“จริงๆ เรียนแค่ ป.4 ก็ได้ เพราะพี่ชายคนโต พี่สาวคนรองที่บ้านก็เรียนกันแค่นั้นจบแล้วก็ออก แต่พอดี ครูมาบอกพ่อว่าไอ้คนนี้เอ็งต้องส่งไปเรียนหนังสือนะ ถ้าเอ็งไม่ส่งเอ็งเสียใจ (หัวเราะ) ครูบอกว่าผมเก่ง หัวไว อ่านหนังสือออกเกือบหมด ยกเว้นคำยากๆ ตั้งแต่ ป.1 แล้วก็อ่านคล่องแคล่ว สอบได้ที่ 1 ตลอด จากทั้งหมดในห้อง 40-50 คน พ่อจึงควรจะส่งให้เรียนต่อ ถ้าไม่ส่งเรียนต่อจะเสียใจ

“พ่อก็ส่งเรียนที่โรงเรียนประจำตำบลเลย ก็มาเรียน แต่พอเข้ามาที่นี่ ตอน ป.5 ไม่ได้ที่ 1 แล้ว ได้ที่ 2 แทน แพ้ผู้หญิง (หัวเราะ) เพราะเด็กในเมืองเก่งกว่า ส่วนเรื่องการเตะฟุตบอลก็ยังเลื้อยเบสิก ประสางูๆ ปลาๆ ธรรมชาติล้วนๆ จนจบ ป.6 ก็มาเรียนโรงเรียนประจำจังหวัด โรงเรียนปราจีนบุรีกัลยาณี สอบเข้ามาได้อยู่ห้องรองคิงส์ เรียนๆ ไป เตะบอลไป เพราะสมัยนั้นแยกชายแยกหญิง กลางวันก็จะแข่งบอลกันเองระหว่างห้องในสายชั้น ห้องผมก็ได้แชมป์เรื่อยมา จนโรงเรียนมีจัดแข่งห้อง ทีมผมก็ได้แชมป์อีก

จังหวะนี้แหละที่ครูเห็นแวว พอจบก็ได้โควตาเรียนต่อเพราะเรียนเก่ง กีฬาก็ได้ ได้อยู่ห้อง 1 เลย หลังจากนั้นก็ทำกิจกรรมอื่นๆ อีกด้วยนอกจากนักกีฬา หัวหน้าห้อง เป็นคนพูดหน้าเสาธง นำสวดมนต์ นำร้องเพลงชาติ เป็นประธานนักเรียน ทั้งๆ ที่เป็นเด็กจากชายขอบอยู่ในหมู่บ้านที่ไกลความเจริญ ไม่ต่างไปจากทีมเจ้าป่า ‘นอตติงแฮมฟอเรสต์’ ในยุครุ่งโรจน์ที่ได้แชมป์ยูโรเปี้ยนส์คัพ (ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีกในปัจจุบัน) ถึงสองสมัยติดต่อกัน (ปี ค.ศ.1979 และ1980) ฟอร์มการเล่นของ “เจ้าไหม” ก็โชติช่วง แม้เป็นตัวรับกองหลัง แต่ก็เป็นทีเด็ดตัวเติมเกมฝั่งริมเส้นซ้ายพาทีมชนะ

จากลีกในตำบล ผ่านไปชิงชัยในระดับอำเภอ ก่อนจะทะลุออกไปต่างจังหวัด กระทั่งข้ามเขตภูมิภาคของถ้วยกรมพลศึกษาถึงรอบก่อนชิงชนะเลิศ

“ตอนเด็ก เราอยู่บ้าน เราเราอาจจะเก่ง แต่พอขึ้นมาสูงหน่อย มันเจอคนที่เขาฝึกฝนมาถูกมากกว่าเรา มีพละกำลังแล้วก็ฝึกฝนดีกว่าเรา เป็นศูนย์หน้าเก่งๆ กว่าเรา เราก็ค่อยๆ ไหลลงมา มาเล่นแบ็กซ้าย คือพูดง่ายๆ เรามีใจ มีแรง มีความเข้าใจ แต่ทักษะการฝึกฝนเราไม่ได้ถูกต้องเท่าไหร่นัก โลกมันกว้างมาก เราเพิ่งได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างในช่วงนี้ ได้มีโค้ชครูสอนเบสิก ได้เห็นการแข่งขันฟุตบอลมืออาชีพจริงๆ

“ก็เล่นฟุตบอลมาเรื่อยๆ เราก็เต็มที่กับมันในจังหวะนั้น ฝันอยากจะเป็นนักฟุตบอลทีมช่งทีมชาติ (ยิ้ม) แต่ตอนนั้นพ่ออยากจะให้เป็นทหาร และด้วยความที่เราเป็นคนต่างจังหวัดทางเขตชายแดน ฝันเราโดนปลูกฝังเรื่องการรักชาติ ในยุคนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ วิทยุอะไรต่างๆ ก็จะสื่อสารเรื่องพวกนี้ ก็เกิดเป็นฝันอีกอย่างหนึ่ง คือการเป็นทหาร เป็นรั้วของชาติ

“จบจาก ม.6 ก็เลยเบนไปทางนั้นทันที แต่ก็ไม่ได้เป็น”
น้าหังกล่าวพลางขมวดสีหน้า ย้อนคิดถึงความผิดหวังในห้วงวินาทีนั้น ที่ฝันทลายลง

“นิ้วนางข้างซ้ายผมขาด…” น้าหังเผยแล้วยกนิ้วต้นเหตุเป็นประจักษ์พยาน
มันเกิดขึ้นจากความซุกซนในวัยเด็ก - เกิดจากความไม่ระมัดระวังในการจับหนูนา
ระหว่างที่เอามือดักปิดทางหนีของหนู เสียมของเพื่อนก็เสียบฉับเข้าให้ที่ปลายนิ้ว
สะบั้นทั้งนิ้วนาง และความฝัน...

แต่บททดสอบของชีวิตเจ้าป่าหนุ่มไม่ยั้งหยุดเพียงแค่นั้น เพราะหลังจากนั้นไม่นาน คะแนนผลสอบเข้าคณะ “วนศาสตร์ เกษตรฯ” สาขาที่เลือกอยากเรียนก็ประกาศรายชื่อตัวจริงโดยไร้ซึ่งชื่อของเขา เขาวนสอบอีกหลายปีก็ไม่ติด ทำให้อดีตจอมทัพหัวหน้าทั้งกลุ่มเพื่อนและชั้นเรียน ถึงกับบาดเจ็บทางจิตใจจนเซไถลออกนอกสนามชีวิต

และเมื่อไร้ซึ่งตำแหน่งแห่งทางที่จะเดิน นานถึง 4 ปี พละกำลังหนุ่มที่เคยได้ปลดปล่อย สติอารมณ์ที่เคยได้ขบคิดวิชาการ ก็อันตรธานกลายเป็นการสร้างเรื่องราวชกต่อยหาเรื่องและเที่ยวเตร่

อย่างไรก็ตาม “คนจริง” ก็คือ “คนจริง” ลูกผู้ชายจิตใจชาติทหาร ลูกเจ้าป่าที่เติบโตท่ามกลางพงไพร หากพลาดท่าล้มแล้วไม่ลุกก็จะต้องตายกลายเป็นเหยื่อของสัตว์อื่นที่แข็งแรงกว่า สัญชาตญาณก็ต้องปลุกตัวเองให้ลุกสู้ รีบเลียแผลแล้วยืนหยัดกลับมา ค้นหาหนทางและแผ้วถางอาณาเขต

ในปี 2530 “อัฐชพงษ์ สีมา” นิสิตหนุ่มที่ใครๆ เรียกขานว่า “ไหม” กลายเป็น “กระหัง” (เพราะชื่อเดิมดันไปซ้ำกับรุ่นพี่ในรั้วจามจุรี) ขอเพื่อนๆ และครูบาอาจารย์เป็นผลสำเร็จจากการบากบั่นนหมั่นอ่านเพียรเพิ่มจาก 1 เดือนก่อนสอบ เป็น 1 ปีก่อนสอบ 6 วันตั้งแต่ตะวันตกดินถึงรุ่งเช้าวันละ 3 วิชา เพื่อชัยชนะ เพื่อการเป็นตัวจริงในสนาม

“เราถูกเลี้ยงมาแบบวิ่งมาราธอน เราไม่ต้องชนะแต่เราวิ่งให้ถึงเส้นชัย ถ้าวิ่ง 10 กิโลเมตร ก็วิ่งความเร็วเท่าที่เราวิ่งได้ แต่ให้ถึงเส้นชัยให้ได้

“เก่งไม่กลัว กลัวพวกที่อดทนและอึดมากกว่า เรามีทัศนคติอย่างนี้ พอหลังๆ เราโตมา ทัศนคติที่เป็นบวกถือว่าเป็นแสงนำทางที่ถูกต้อง ถ้าเราเอาทัศนคติผิดมันไปอีกเส้นทางหนึ่ง อย่างจะไปเชียงใหม่ แต่ไปเส้นถนนเพชรเกษม ก็ไม่ได้ ยังไงก็ไม่ถึง ทัศนคติต้องจับให้ถูกต้อง ให้บวก อาจจะมีเรื่องราวอะไรก็แล้วแต่ แต่มันมีหลายมุมให้เราเลือกมองได้ เราต้องจับมองมุมให้มันถูกให้ได้

“และถ้าสิ่งที่เราทำมันไม่ประสบความสำเร็จสักที ก็ต้องมาดูที่ตัวเรา มาปรับปรุงตัวเรา หลักจริงๆ ทุกวันนี้ก็ยังต้องเรียนรู้กันไป แต่ก็ได้จาก 4 ปีที่เสียมาเยอะ ทีนี้พอเข็มทิศเราถูก ใจเราถูก พอกลับมาคิดได้ เราก็กลับมาได้ถูกทาง เราก็เลือกเอาสิ่งที่เราชอบและเราทำได้ ก็เลยตัดสินใจเรียนคณะครุศาสตร์ พลศึกษา จุฬาฯ จบเกียรตินิยมอันดับ 2 ได้รางวัล... เป็นประธานฝ่ายกีฬาของมหาวิทยาลัย (อบจ.) เป็นทั้งนักกีฬามวย กรีฑา รักบี้ และฟุตบอล”

สู่เส้นทางนักพากย์บอล
ปั่นโค้ง เลี้ยงจี้ กว่าจะมี “ตัวตน”

หลังจากชีวิตพลิกกลับมาอีกครั้ง ท่ามกลางความมุ่งมั่นและทัศนคติที่เปี่ยมความตั้งใจ ความบังเอิญบางอย่างก็นำพาให้เขาได้ก้าวเข้าสู่เส้นทางสายนักบรรยาย

“จากที่ผ่านมา เรารู้แล้วว่าอะไรที่เราทำได้ทำไม่ได้ ดังนั้น เราชอบฟุตบอลก็จริง อยากจะเป็นทีมชาติก็จริง ถ้าเราได้รับการฝึกฝนที่ถูกต้อง ได้รับโอกาสตั้งแต่เด็กๆ โดยไม่ต้องเรียนรู้และฝึกฝนเอง เมื่อเรามาเรียนมาศึกษาก็ทำให้เรารู้ว่า ร่างกายมันควรที่จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ในการฝึกฝน แต่เราไม่ทัน ก็แค่เป็นนักกีฬาของมหาวิทยาลัยไป แล้วก็เรียน เน้นความรู้ พอรู้แล้วว่าเราไม่สามารถที่จะปฏิบัติเป็นนักกีฬา เราก็หันหน้าไปเน้นความรู้ ตั้งใจเรียน ทำกิจกรรม

“ไปทางทฤษฎีแทนการปฏิบัติ เพื่อนๆ เขาเตะบอลกัน เราก็เล่นด้วย แข่งด้วยกัน แต่ถ้าเป็นอะไรที่จริงจัง เราก็ถอยออกมาทำหน้าที่เบื้องหลัง สนับสนุน ทีนี้ พอหมดทุกอย่างที่เราช่วยได้แล้ว ทำได้แล้ว เราก็มาบรรยายเป็นโฆษกพิธีกร เพราะเราชอบบอล ก็อยากอยู่ใกล้ๆ กับมันให้ได้มากที่สุด

“ตรงนี้ก็เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ปูพื้นเรื่องนักบรรยายในสไตล์ของเรา เนื่องจากเรามีใจ เราใส่ใจ เราร่วมกับเกม แม้ว่าตอนแรกๆ จะเน้นฮา ไปทางแซวเพื่อนแซวฝูงสนุกสนานตามใจก็ตาม”

หลังเรียนจบทำงานกับทางด้านกายบริหารฟิตเนสเบอร์ต้นของประเทศในสมัยนั้นที่โรงแรมดุสิตธานีและเข้าร่วมงานกับบริษัทพาร์ตเนอร์ที่จัดทำวัสดุที่เกี่ยวข้องกับการทำรองเท้าแบรนด์ดังระดับโลก อาทิ อาดิดาส ไนกี้ ฯลฯ ก่อนที่จะผันตัวก่อสร้างบริษัทแนวเดียวกันเป็นของตัวเองกับเพื่อน ชื่อว่า “Texon” ตั้งแต่อายุเพียงเลข 3 ในตำแหน่งประธาน เจ้าของ อดีตเจ้าป่าก็ได้ค้นพบทิศทางของตัวเองจนกลายร่างเป็นพญาหงส์ ซึ่งนับว่าน้อยคนนักที่จะทำได้ หลังจากชีวิตพลิกผันเกือบเสียผู้เสียคน กลับมาเป็นผู้ประสบความสำเร็จแถวหน้าของคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น เช่นเดียวกับ “หงส์แดง” บิ๊กโฟร์ยักษ์ใหญ่ตลอดกาลของทีมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษที่ชื่นชอบ

ตัวจริงในสนามชีวิตยังไม่ยอมสยบเพียงเท่านี้ เพราะวิธีที่ดีที่สุด ในการทำนายอนาคต คือ การสร้างมันขึ้นมา ดังนั้น ใจที่ยังค้างคา ก่อนเรียนจบ จึงได้ฝากฝังตัวเองกับอาจารย์ที่สอนสั่งและเป็นนักพากย์ชื่อดัง (น้าติง อาจารย์สุวัฒน์ กลิ่นเกษร) ว่าถ้ามีงานทางด้านการพากย์การบรรยาย ขอให้ชักชวนไปด้วย ซึ่งในระหว่างที่รอโอกาสอยู่นั้น ใจที่รักก็นำพาให้ติดตามโลกวงการฟุตบอลอยู่ไม่ขาดสาย ร่วมกับเสริมเติมทางด้านอื่นๆ ของความสามารถ จนจบปริญญาตรีอีกใบทางด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ที่มหาวิทาลัยนิด้า

“แม้ว่าเราจะเดินช้า แต่ยิ่งช้าแล้ว ต้องเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ”
น้าหังพูดเล่าถึงข้อคิดคติชีวิตด้วยรอยยิ้มเต็มดวงหน้า ก่อนจะบอกถึงจังหวะชีวิตโอกาสที่รอคอยบนถนนการเป็นนักพากย์บรรยายฟุตบอล

“หลังจากเรียนจบครูแล้วก็ไม่ได้เป็นครู ไปเป็นเทรนเนอร์ออกกำลังกาย ไปเป็นพนักงานขายวัสดุทำรองเท้าจนกระทั่งเจ้าของบริษัท ชีวิตมันดูสวนทางกันมากกับสิ่งที่เราชอบ (หัวเราะ) คือเรื่องของเรื่อง หลังจากที่ไปบอกน้าติง แล้วท่านก็พูดแซวตามประสาว่าอย่างเราจะเป็นได้หรือ จนผ่านไปเกือบ 5-6 ปี ท่านก็มาบอกว่ารับงานมา สนใจพากย์ไหม เพราะ UTV เพิ่งเปิดใหม่ แค่นั้นสั้นๆ เลย

“เราก็โอ๊ย…เอาครับ รีบตอบรับทันที ก็ไปพากย์เลย ครั้งแรกพากย์บอลโปรตุเกส จำได้แม่น เพราะถึงกับหืดขึ้นคอ แม้จะเป็นพากย์เทปก็ตาม เนื่องจากสมัยนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีข้อมูล ก่อนจะพากย์เราต้องจดรายชื่อ กรอเทปไปมาเพื่อแกะ จดรายชื่อจากด้านหลัง เบอร์ ตำแหน่งทีละคน จนครบทั้งสองทีม จากนั้นเริ่มพากย์ก็ต้องก้มๆ เงยๆ มองที่กระดาษที่จดที มองหน้าจอทีเพื่อบรรยายตามสภาพเกม ปากก็ต้องจ่ออยู่กับไมโครโฟน คือถ้ามีวิดีโอบันทึกแล้วคนได้เห็น ต้องแซวแน่ๆ ว่า ปากจะอมไมโครโฟนอยู่แล้ว

“ตลกมากตอนนั้น”
น้าหังบรรยายภาพของความตื่นเต้นและอาการตระหนกตกประหม่าในครั้งแรกที่ให้เสียงบันทึก

“ทีนี้เรารู้แล้วว่าต้องจำชื่อ จำเบอร์ จำตำแหน่งให้แม่น แล้วจะทำให้มันง่ายต่อการพากย์ หลังจากนั้นเราก็เอารายชื่อในเกมที่แล้ว จดเรียงให้สวยงาม รวบรวมทำเป็นแฟ้มขึ้นมา พอเจอทีมเดิมอีกครั้งก็จะมีเพียงไม่กี่คนที่เพิ่ม เราก็ค่อยๆ เพิ่ม จนครบหมด เอามาเปิดท่องอ่านดูจนจำขึ้นใจ

“ก็พากย์บอลโปรตุเกสอยู่ได้ประมาณเกือบๆ 2 ปี เพื่อนๆ พี่ๆ ก็เห็นแวว จึงชักชวนให้มาพากย์ที่ IBC ได้แป๊บหนึ่ง IBC กับ UTV เขารวมบริษัทกัน นักพากย์ก็เกิน ผมอาวุโสน้อยที่สุดก็เลยหลุด ไม่ได้พากย์เลย 3-4 ปี จนไปแต่งงานมีครอบครัว ถึงได้กลับมาพากย์ใหม่เพราะว่าคนขาด ดีใจมาก แม้ว่าจะได้มาพากย์บอลไทยในตอนนั้นที่กระแสความนิยมยังไม่ขนาดนี้

“คือเราคิดว่าเราทำให้เต็มที่ ในทุกอย่าง ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั้น อาจจะฟังดูเชยๆ แต่ทำได้จริง”

และก็จริงดังที่ว่า เพราะหลังจากนั้น ทั้งบอลใหญ่ทีมชาติไปจนถึงโต๊ะเล็กบอลฟุตซอลมหาวิทยาลัย กระทั่งบอลชายหาด สดหรือเทปติดขอบสนาม แฟนๆ ฟุตบอลจะได้สดับสำนวนลีลาการให้เสียงที่เปี่ยมไปด้วยจังหวะจะโคนเร้าใจ พร้อมๆ กับเกร็ดความรู้ทางฟุตบอลและนักแตะควบคู่ไล่ไปจนถึงการคาดเดาความคิดของโค้ชทีมที่กำลังวางแผน

“ด้วยความที่เรากระสันอยากจะพากย์ เราก็เลยเต็มที่ ส่วนเรื่องสไตล์ทั้งหมดเกิดจากจังหวะที่พากย์บอลไทยในตอนนั้นที่ยังไม่เป็นสไตล์นี้ พากย์ธรรมดา สไตล์นี้เกิดจากช่วงนั้นทางช่องให้ไปพากย์บอลสเปน ซึ่งบอลสเปนคู่แรกสุดก็เที่ยงคืน เราได้คู่ที่ 2 และ 3 ประจำ พากย์ไปเราก็ง่วงไป ก็เลยคิดว่าขนาดเรายังง่วงแล้วคนฟังจะไม่ง่วงด้วย ก็ไม่มีทาง ก็เลยกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้มันไม่ง่วง

“เราก็ต้องกระตุ้นตัวเรา แล้ววิธีการพากย์จะเป็นอย่างไรบ้าง ก็มานั่งคิด ถ้าอย่างนี้เราควรจะมีอารมณ์ร่วมกับเกมอย่างไรบ้าง จังหวะเข้าทำแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ให้มันตื่นเต้น แต่ไม่เวอร์เกินไป ไม่ใช่เรื่องเฟก ให้เราอินไปกับเขาจริงๆ ก็พยายามฝึกไปเรื่อยๆ พอเราตั้งใจแถมเราเข้าใจเกม เราก็คาดเดาจังหวะทิศทางได้ถูก เลยเป็นสไตล์อย่างที่เราเห็นๆ กัน”

…ปั่นโค้งๆ
เลี้ยงจี้
กินคาซินยาด (ผู้รักษาประตูทีมรีล มาดริด) ไม่ได้…ฯลฯ

ปรากฏว่า ได้เสียงตอบรับดีเกินคาด กลายเป็นส่วนหนึ่งในผู้ที่เป็นฟันเฟืองในการพัฒนาสานต่อรูปแบบแนวทางในการบรรยายให้ผู้ชมสนุกสนานและติดตาม

“คือแรกๆ ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ยังตกใจตัวเองเหมือนกันในตอนนั้นที่มีแฟนบอลมาทักว่า พี่ๆ ครับ ใช่น้าหังหรือเปล่าครับ ถึงได้รู้ว่าเรามาถูกทางแล้วอย่างที่ตั้งใจอยากให้เขาสนุกกับเกม

“แต่ก็อยู่ในขอบเขต ไม่สวิงสวายเกินไป เป็นคล้ายๆ การคืนชีวิตให้ภาษา ให้คำบอกเพิ่มเติมรสอิริยาบถ มีชีวิตออกมา แล้วพอเราอยู่กับเกม เราก็มีความเข้าใจ นอกจากตรงนี้ ก็จะเป็นการคาดเดาแผนการของโค้ชแต่ละทีม พูดๆ ง่ายทำตัวเป็นอินเดียน่า โจนส์ ค้นหาสมบัติ อาจจะเจอบ้าง ไม่เจอบ้าง มันก็สนุกสนาน มีสาระแฝง”

“นับจากตอนนั้นก็ 20 กว่าปีแล้ว ก็ยังมีที่ต้องเพิ่มลดปรับเพื่อให้ออกมาดีที่สุดสำหรับแฟนบอล ก็ขอบคุณที่บางคนยกเราเป็นตำนาน เป็นคนคนหนึ่งที่ทำให้วงการบรรยายบอลพัฒนาขึ้น บอกว่าไม่ต้องปิดเสียงแล้วเวลาฟัง ก็ขอบคุณ ถือเป็นเกียรติอย่างสูง ล่าสุดกับรางวัลผู้บรรยายเด่นรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 31 ที่ผ่านมา ก็ขอบพระคุณเช่นกัน ผมจะพยายามทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ พยายามทำให้เต็มที่เพื่อให้แฟนๆ ถ้าอันไหนเกินไปเราก็ผ่อนลงมา ซึ่งบางทีเราก็ไมรู้ตัวแต่เสียงแฟนๆ จะช่วยปรับให้ถูกใจ ก็ส่งคำแนะนำติชมมาได้

“ผมพร้อมที่จะพัฒนา เพราะเราจากที่ไม่มีอะไร ไม่มีคนรู้จัก แต่เราเกิดขึ้นมาได้จากตรงนี้ ทั้งจากแฟนบอลและทางช่องทรู วิชั่นส์ ก็ต้องทำให้เต็มที่ เพราะเราคนบ้านนอก พ่อแม่สอนมาว่าบุญคุณข้าวแดงแกงร้อนของคนนั้นสำคัญมาก นอกจากความพยายามของเรา สิ่งที่ทำให้เราเป็นเรา ก็คือบุญคุณที่ได้รับจากผู้อื่น”

สารจากใจถึงใจ
“เดินหมากยังต้องคิด เดินหมากชีวิตไม่คิดได้อย่างไร”
บทส่งท้ายลูกกลมๆ

ตลอดระยะเวลา 20 ปีแห่งความภาคภูมิใจที่สรรค์สร้างจนเป็นตำนานกล่าวถึงน้าหังหรือพี่หัง ยังคงทำหน้าที่สานต่อทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้าให้แฟนๆ คอบอลสนุกสนานและมีความสุขเสมอต้นเสมอปลายไม่มีขาดตกบกพร่อง ซึ่งนอกจากลักษณะนิสัยและความรักความชอบแล้วนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนธรรมดาคนหนึ่งลุกขึ้นมาสร้าง และปลุกให้ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในหน้าประวัติศาสตร์ได้ท่ามกลางความรวดเร็วในการพัฒนาของสังคมปัจจุบัน และความไม่แน่นอนในลูกกลมๆ คือความไม่ประมาทเดินนำสัจธรรมชีวิต

“ถ้าถามว่าทั้งหมดทั้งมวลอะไรที่ทำให้เราขึ้นมาได้ในทุกวันนี้ จริงๆ ฟุตบอลนี่แหละที่สอนเรา ลูกกลมๆ อะไรก็เกิดขึ้นได้ ใช่ไหม ที่เขาพูดๆ กัน เราเลยต้องวางแผนสเต็ปชีวิต จะได้ไม่เป็นอย่าง 4 ปีที่เสียไป

“เพราะอะไรมันก็เกิดขึ้นได้ ไม่สามารถที่จะคาดการณ์อะไรได้ คือคาดการณ์ดีสุดก็คือเราต้องคอนโทรลลูกบอลให้ได้ ชีวิตก็เหมือนกัน เราคอนโทรลชีวิตตัวเองของเรา แผนของเราก็ต้องคอนโทรลให้ได้

“มันก็ยากนะ…”
น้าหังเผย ก่อนจะกล่าวต่อถึงข้อคิดคติให้กับแฟนๆ และเยาวชนคนรุ่นหลังสามารถนำไปปรับใช้เพื่อป้องกันความผิดพลาด

“เพราะหนึ่ง นอกจากจะมีเท้าเราแล้ว ยังมีอีกหลายสิบเท้าที่ไหน ที่จะมาแบ่งแย่งการคอนโทรล ทำให้การคอนโทรลของเรามันนิ่งได้ยาก ฉะนั้น อะไรมันก็เกิดขึ้นได้ เราก็พยายามจะเดินให้อย่างสุขุมมั่นคงที่สุด ตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทำทุกอย่างให้มันอย่าเกินตัว ทำไปตามสเต็ปของมัน เดินแบบมั่นคง ตามแผนที่วางไว้

“อย่างทำงาน เรามาก่อน เราก็ดีใจแล้วที่เรามาก่อนเวลาอย่างวันนี้ เราเป็นผู้ชนะแล้ว แต่ถ้าเรามาช้าสองสามนาที เราจะกังวลใจกลัวจะโดนว่าไหม เราต้องเป็นคนที่แพ้ต่อแผนการของเรา ตรงนี้แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าเราสะสมชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ ไปเรื่อย มันก็จะเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ พัฒนาไปสู่ชนะที่ยากกว่านั้นได้

“ต่อจากนั้นมันก็จะเป็นนิสัยของเรา มันเหมือนเรื่องการฝากเงินไว้กับธนาคาร ถ้าเราไม่เบิกมันออกมา มันก็ไม่หมด แล้วมันจะลืมไปเอง ความคิด การกระทำก็เหมือนกัน ถ้าเราสะสมเรื่อยๆ เราก็คุ้นเคยกับมัน”

4-4-2 กลางๆ คอยรุกและลับ 5-4-1 ตั้งรับ 3-4-3 เดินหน้าบุก สลับสับเปลี่ยนไปตามรูปแบบชีวิต

“เพราะบางที วางแผนต่อสู้มาแล้ว มันอาจจะมีผิดพลาดได้ แต่เราต้องรู้ว่ามันเพราะอะไรเท่านั้นเอง เหมือนฟุตบอล เราเลี้ยงเข้าไปจะยิงได้อยู่แล้วลูกนี้ บางทีมันสะดุดยอดหญ้า เราก็ต้องรู้ว่ามันเพราะอะไร คาดเดาไม่ได้ แต่ถ้าเราพายามทำให้ดีที่สุด ทำตามแผนให้ดีที่สุด วางแผนตามสถานการณ์ เราก็ต้องปรับ

“ที่สำคัญอยู่ที่ตัวเราที่มีสมาธิสติแค่ไหน เรามีความพร้อมแค่ไหนที่จะเผชิญ แล้วเก่งพอที่จะปรับเปลี่ยน อะไรก็เกิดขึ้นได้ ลูกกลมๆ”

ปัจจุบัน “น้าหัง-อัฐชพงษ์ สีมา” อายุ 52 ปี ยังคงดำเนินการพากย์ประจำอยู่ที่ช่องทรูวิชั่นส์, ช่องทรู โฟร์ยู ในทุกๆ วันที่มีการแข่งขันฟุตบอล ทั้งไทยลีก พรีเมียร์ลีก ลาลีกาสเปน ฟุตบอลถ้วยยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก เอฟเอคัพ ฯลฯ ด้วยลีลาเร้าใจและใจที่รักมั่นต่อฟุตบอลไม่มีเปลี่ยนแปลง




เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร

กำลังโหลดความคิดเห็น