ในสงครามครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ พม่าระดมพลถึง ๙ ทัพยกเข้ามาทั้งทางเหนือ ทางตะวันตก และทางใต้ มีกำลังราว ๑๕๐,๐๐๐ คน แต่ไทยเรารวบรวมกำลังทหารได้แค่ ๗๐,๐๐๐ เกินกำลังที่จะรับมือได้ จึงใช้ยุทธวิธีออกไปสกัดข้าศึกในภูมิประเทศที่เราได้เปรียบ โดยทางเหนือไปยันไว้ที่นครสวรรค์ อีกกองทัพไปยันที่เมืองราชบุรี เพชรบุรี แม้จะรับไม่ไหวก็ให้ทั้ง ๒ กองทัพถ่วงเวลาไว้ให้นานที่สุด รอกองทัพของสมเด็จพระอนุชา กรมพระราชวังบวรฯ ที่ทรงนำกำลัง ๓๐,๐๐๐ ไปตั้งรับ ๕ ทัพพม่าพร้อมทัพหลวงที่กาญจนบุรี ถ้าขับไล่กองกำลังพม่าด้านนี้ออกไปแล้ว จึงไปช่วยตีทัพพม่าด้านอื่นอีกทีละทัพ ส่วนทางใต้ปล่อยให้พม่ายึดไปก่อน ค่อยแก้ไขภายหลัง
ทางด้านทางเหนือนั้น พม่ายกเข้าตีเมืองลำปาง พระยากาวิละ เจ้าเมืองต่อสู้ป้องกันเมืองสุดชีวิต พม่าหักหาญเข้าเมืองมิได้ จึงล้อมเมืองไว้
ส่วนอีกทัพของพม่ายกมาทางสวรรคโลก สุโขทัย พิษณุโลก เจ้าเมืองทั้ง ๓ เห็นว่าข้าศึกยกมาเหลือกำลังรับ จึงพาครอบครัวหนีเข้าป่า พม่าจึงยกล่วงเข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่ปากน้ำพิงฝั่งตะวันออก
ครั้นทัพของกรมพระราชวังบวรฯ ตีทัพพม่าด้านกาญจนบุรีแตกพ่ายไปหมดแล้ว กองทัพที่นครสวรรค์ ซึ่งนำทัพโดยพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กับ กรมหลวงนรินทร์รณเรศร์ ก็ยังไม่ได้จัดการกับพม่าแต่อย่างใด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงมีตราสารไปถึงพระเจ้าหลานเธอว่า แม่ทัพนายกองฝ่ายเหนือทุกคน แม้แต่พระเจ้าหลานเธอเอง หากทำการครั้งนี้ไม่สำเร็จ พระเศียรก็จะไม่ได้อยู่กับพระกายเป็นแน่
กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ได้ทราบความในสารรับสั่ง ก็มีความเกรงกลัวพระราชอาญา จึงสั่งให้กองทัพพระยาสระบุรี ซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่เมืองพิจิตรเป็นทัพหน้า ทัพเจ้าพระยามหาเสนา เป็นทัพหนุน ตามด้วยทัพของกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์กับกรมหลวงนรินทร์รณเรศร์ ยกเข้าตีค่ายพม่าที่ปากน้ำพิง
กองทัพหน้าของพระยาสระบุรี ยกขึ้นไปตามริมฝั่งแม่น้ำฟากตะวันตกแต่เช้าตรู่ เป็นเพราะยังมืดอยู่ แลเห็นฝูงนกกระทุงข้ามแม่น้ำมาตะคุ่มๆ ดูไม่ถนัด ประกอบกับกำลังผวากลัวพม่าอยู่แล้ว ทำให้พระยาสระบุรีตาฝาดเห็นเป็นว่าพม่ากำลังยกทัพข้ามน้ำมา จึงสั่งรี้พลให้ถอยทัพทันที ต่อมาเมื่อรุ่งสว่างจึงเห็นชัดว่าเป็นฝูงนกกระทุง มิใช่พม่า
กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์และเจ้าพระยามหาเสนา ได้ทราบเรื่องที่แม่ทัพหน้าสั่งถอยทัพหนีฝูงนกกระทุง ก็โกรธกริ้วเป็นอันมาก รู้ไปถึงไหนอายเขาถึงนั่น รับสั่งให้เอาตัวพระยาสระบุรีไปประหาร แล้วตัดหัวเสียบไว้ตรงหาดทรายที่ฝูงนกกระทุงข้าม
เหตุการณ์เหลือเชื่อนี้ ปรากฏอยู่ในพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์