ในจำนวนพระเครื่องที่คนไทยนิยม “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” เป็นหนึ่งในสุดยอดความนิยมมาตลอด ไม่มีใครที่ไม่รู้จักหลวงพ่อทวดผู้เหยียบน้ำทะเลจืด แต่ที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งก็คือ ความนิยมนี้ยืนยงอยู่ขณะหลวงพ่อทวดมรณภาพไปเกือบ ๔๐๐ ปีแล้ว
ท่านไม่ใช่พระรุ่นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่มีชีวิตในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้น แม้ท่านจะมีกิตติศัพท์ด้านอภินิหารอยู่บ้าง แต่ที่ผู้คนตั้งแต่ระดับชาวบ้านจนถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินชื่นชมนิยมยกย่อง ก็เพราะท่านเป็นพระที่มีสติปัญญาปราดเปรื่องเลิศล้ำ เชี่ยวชาญทั้งพระธรรมคำสั่งสอนและภาษาบาลี จนได้รับแต่งตั้งกระโดดข้ามขั้นขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นราชตั้งแต่ยังหนุ่มวัยเพิ่ง ๒๒ บวชเป็นพระมาได้แค่ ๒ พรรษาเท่านั้น
มหัศจรรย์พอๆ กับเหยียบน้ำทะเลจืดเชียวแหละ
หลวงพ่อทวดเกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๑๒๕ ปีมะโรง ณ หมู่บ้านสวนจันทร์ ตำบลชุมพล อำเภอจะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา จากครอบครัวที่ยากจนข้นแค้น
ความจริง นายหู และ นางจันทร์ ผู้ให้กำเนิดหลวงพ่อทวด เคยร่ำรวยมีโรงสีมาก่อน แต่ถูกโจรปล้นจนหมดตัว ถึงกับต้องทำงานรับจ้างรายวัน เมื่อทั้งคู่อายุมาก คือนายหูอายุ ๕๖ ปี นางจันทร์ ๕๐ ปี ก็ยังไม่มีบุตร จึงจุดธูปเทียนบวงสรวงขอลูกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หลังจากนั้นก็เกิดสิ่งอัศจรรย์ คือนางจันทร์ตั้งท้อง ทำให้สองผัวเมียดีใจแทบโลดเต้น
ทั้งสองยังต้องตรากตรำทำงานหนักต่อไป จนกระทั่งวันที่ใกล้คลอดนางจันทร์ก็ต้องไปรับจ้างเกี่ยวข้าวให้เศรษฐีใจโหด แม้ว่านางจันทร์ปวดท้องจะคลอดลูกแล้ว เศรษฐีปานก็ไม่ยอมให้หยุดงาน จนปวดมากทนไม่ไหวนางจันทร์จึงวิ่งไปที่โคนต้นไม้ข้างนา และคลอดลูกออกมาลำพังตนเอง เป็นชาย นางจันทร์เอาผ้าผูกเปลแขวนลูกไว้ แล้วกลับไปเกี่ยวข้าวให้เศรษฐีต่อเพราะกลัวจะไม่ได้ค่าแรง สักครู่ได้ยินเสียงลูกร้องจึงรีบวิ่งไปดู ก็ต้องตกใจสุดขีดกรีดร้องสุดเสียง ทำให้เศรษฐีปานและลูกจ้างทั้งหมดวิ่งมาดู แทนที่ทุกคนจะเห็นทารกน้อยอยู่ในเปล กลับเห็นงูใหญ่ขดอยู่ในนั้น นางจันทร์คิดว่างูใหญ่นั้นคงกินลูกของนางไปแล้ว จึงคุกเข่าลงพนมมือขอให้ลูกจงไปสู่สุขคติ และถ้าชาติหน้ามีจริงก็ขอให้กลับมาเกิดเป็นลูกนางอีก แต่พอก้มกราบแล้วเงยหน้าขึ้น ก็พบว่างูใหญ่หายไปแล้ว แต่ลูกของนางก็ยังนอนอยู่ในเปล และที่หน้าอกมีหินก้อนหนึ่งส่งประกายแวววาวเหมือนเพชรวางอยู่ นางจันทร์หยิบหินก้อนนั้นมาพิจารณาแล้วห่อไว้ในพกผ้านุ่ง กอดลูกด้วยความดีใจ
เศรษฐีปานเห็นหินวิเศษก็เกิดความโลภอยากได้ทันที เอ่ยปากขอนางจันทร์ เมื่อนางจันทร์ไม่ยอมให้ก็ข่มขู่ต่างๆ นางจันทร์เกรงว่าจะไม่มีงานทำ ไม่มีปัญญาเลี้ยงลูก เลยตัดใจให้หินก้อนนั้นไป ทำให้เศรษฐีใจโหดดีใจ อนุญาตให้นางจันทร์กลับบ้านก่อนเวลาได้
นายหูเห็นนางจันทร์ท้องแฟบอุ้มลูกกลับมาก็ดีใจ แต่เมื่อนางจันทร์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง นายหูก็บังเกิดความเสียดายหินก้อนนั้น กำชับให้นางจันทร์ทวงคืนมาให้ได้
รุ่งขึ้น นางจันทร์ไปทำงานกับเศรษฐีปานก็ขอหินก้อนนั้นคืน เศรษฐีปานไม่ยอมให้ และทุกครั้งที่ไปพบเศรษฐีปานเมื่อใด นางจันทร์ก็จะเอ่ยปากทวงทุกครั้ง แต่เศรษฐีปานก็ไม่ยอมให้เช่นเคย
หลังจากที่ได้ลูกสมใจ ครอบครัวของนายหูนางจันทร์ก็มีความสุข มีความอบอุ่น และมีโชคเข้ามาเรื่อยๆ ตรงข้ามกับเศรษฐีปาน หลังจากได้หินวิเศษไปก็ประสบเคราะห์กรรมต่างๆ ถูกโจรปล้น เมียเป็นโรคตาย บรรดาลูกและข้าทาสบริวารพากันกระด้างกระเดื่อง หมดความเคารพยำเกรง ฐานะก็ทรุดลงอย่างรวดเร็วถึงขั้นวิกฤติ เศรษฐีปานมาลำดับเรื่องราวดู ก็เห็นว่าเรื่องร้ายเกิดขึ้นเมื่อได้หินก้อนนั้นมาทั้งสิ้น ฉะนั้นเมื่อนางจันทร์มาทวงคืนอีกครั้ง เศรษฐีปานจึงยอมคืนให้ทั้งๆ ที่ยังเสียดาย แต่ไม่กล้าครอบครองต่อไป
เมื่อได้หินวิเศษเป็นดวงแก้วประจำตัวลูกมา กำลังใจและฐานะของนายหูและนางจันทร์ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ มีผู้คนคบหาสมาคมด้วยมากมาย จนลูกชายล่วงเข้าวัย ๗ ขวบจึงพาไปฝากกับ สมภารจาง วัดดีหลวง ที่ใกล้หมู่บ้าน ให้ร่ำเรียนเขียนอ่าน สมภารจางได้ตั้งชื่อให้เด็กชายที่รับอุปการะไว้นี้ว่า “ปู่”
เด็กชายปู่เป็นเด็กเฉลียวฉลาด ปัญญาเฉียบแหลมเกินเด็กรุ่นเดียวกัน ร่ำเรียนทุกอย่างที่อาจารย์สอนได้อย่างรวดเร็ว จนเมื่ออายุได้ ๑๗ ปี สมภารจางก็จัดการบวชเป็นสามเณรให้
สามเณรปู่รับใช้สมภารจางและร่ำเรียนจนสมภารไม่มีอะไรจะสอนให้แล้ว เห็นว่าสติปัญญาของสามเณรปู่ควรจะศึกษาให้ก้าวหน้าต่อไป จึงส่งไปอยู่กับสำนักของ พระครูสัทธรรมรังษี วัดสีหยัง (วัดสีดุยัง อ.ระโนด ในปัจจุบัน) ซึ่งไกลหมู่บ้านสวนจันทร์ออกไปมาก
ตอนที่สามเณรปู่ไปลาบุพการีเพื่อไปเรียนต่อสำนักใหม่นี้ นายหูนางจันทร์ซึ่งชราภาพแล้ว ได้มอบหินวิเศษคู่บุญของลูกชายให้ติดตัวไปด้วย
พระครูสัทธรรมฯอบรมสั่งสอนสามเณรปู่ได้ไม่นาน ก็มีความประทับใจในปัญญาเฉลียวฉลาดของลูกศิษย์ผู้นี้มาก เห็นว่าน่าจะส่งเสริมให้ก้าวหน้าต่อไป จึงส่งต่อไปยัง สำนักอาจารย์กา วัดสีมาเมือง นครศรีธรรมราช
อาจารย์กาก็เช่นกัน ชื่นชมสติปัญญาเรียนรู้เร็วของลูกศิษย์จากสงขลาผู้นี้มาก ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ที่มีอยู่ให้ทั้งหมด จนเมื่อสามเณรปู่อายุได้ ๒๐ ปีครบบวชเป็นพระภิกษุ อาจารย์กาก็เป็นทั้งเจ้าภาพ อุปัชฌาย์ และผู้อุปัฏฐากทั้งหมด
ในพิธีบวชสามเณรปู่เป็นพระภิกษุ ปรากฏว่า สมภารจาง พระครูสัทธรรมรังสี นายหู นางจันทร์ ได้เดินทางมานครศรีธรรมราชเพื่อชื่นชมในพิธีสำคัญครั้งนี้
พระอาจารย์ดาได้ตั้งฉายาให้แก่พระภิกษุปู่ว่า “ราโม ธมฺมิโก” และในทันทีที่ทำพิธีบวชเสร็จ ก็ปรากฏว่ามีพระภิกษุถึง ๑๕ รูป ขอถวายตัวเป็นลูกศิษย์ พระอาจารย์กาเลยมอบให้พระภิกษุปูรับหน้าที่ช่วยอบรมสั่งสอนศิษย์คนอื่นๆ ต่อไป
เมื่อบวชเป็นพระภิกษุอยู่กับสำนักอาจารย์กาแห่งเมืองนครศรีธรรมราชมาได้ ๑ พรรษา พระภิกษุราโม ธฺมมิโก ก็เห็นว่าน่าจะได้ศึกษาเพิ่มเติมจากสำนักอื่นต่อไปอีก และเมื่อนำความไปปรึกษากับอาจารย์กา อาจารย์ก็เห็นว่าลูกศิษย์อายุยังน้อย น่าจะศึกษาก้าวหน้าไปกว่านี้ได้อีกมาก จึงแนะนำว่าสำนักใหม่ไม่มีที่ไหนจะเหมาะเท่ากับ สำนักพระสังฆราชแห่งกรุงศรีอยุธยา จึงได้จารึกคำรับรองความประพฤติ ตลอดจนหลักสูตรต่างๆ ที่ได้ศึกษามาลงในใบลาน ให้ศิษย์เอกถือเป็นเอกสารสำคัญไปยังกรุงศรีอยุธยา
พระภิกษุราโม ธฺมมิโก ได้ออกเดินทางจากเมืองนครศรีธรรมราชสู่กรุงศรีอยุธยาด้วยเรือสำเภาสินค้า ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารไปด้วยหลายคน แต่พอถึงชุมพรเรือก็เผชิญกับพายุ ๓ วัน ๓ คน ข้าวปลาอาหารและน้ำจืดที่กำหนดจะจะเข้าไปซื้อที่ชุมพรก็หมดลงตั้งแต่วันแรกที่เจอพายุ เกิดความหิวโดยกระหายกันทั้งลำเรือ บรรดาลูกเรือเห็นว่าเคราะห์กรรมอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อนนี้ น่าจะมาจากมีพระอยู่ในเรือ จึงลงมติเป็นเอกฉันท์ตามธรรมเนียมเรือที่จะจับคนที่ไม่ถูกกับชะตาเรือโยนลงทะเล บรรดาลูกเรือตรงเข้าจับมัดพระภิกษุราโม ซึ่งท่านก็ไม่ได้ขัดขืนดิ้นรนแต่อย่างใด ปล่อยให้พวกเขาทำแต่โดยดี จนลูกเรือพากันแปลกใจ แล้วก็บังเกิดความสงสาร เปลี่ยนใจเป็นพาท่านไปทิ้งไว้บนเกาะดีกว่าโยนทะเล จึงนำตัวลงเรือเล็กมุ่งไปไว้ที่เกาะ
ระหว่างทางที่ถูกพาห่างออกไปจากเรือใหญ่นั้น พระภิกษุราโมก็เห็นว่าลูกเรือแต่ละคนอยู่ในสภาพอิดโรย ไม่มีเรี่ยวแรง เพราะอดทั้งอาหารและน้ำ จึงพนมมือตั้งจิตอธิษฐาน แล้วยกปลายเท้าจุ่มลงในทะเล บัดดลน้ำสีครามก็ขยายวงจากปลายเท้าของท่านออกไปเป็นน้ำใส ท่านจึงบอกกับลูกเรือที่กำลังตื่นตะลึงว่า
“ดื่มเสียสิ พวกเจ้าอย่ากระหายต่อไปอีกเลย ดื่มน้ำจืดให้ชื่นใจเสียเถอะ”
พวกลูกเรือจึงก้มดื่มด้วยความกระหายจนอิ่มแปล้ทุกคน แล้วก็แปลกใจ สำนึกได้ว่าพวกตนได้ทำความผิดอย่างมหันต์แล้ว จึงพากันก้มกราบขอขมาโทษ พระภิกษุราโมยังเตือนพวกเขาให้ใช้ภาชนะเท่าที่มีอยู่ในเรือ ตักน้ำจืดไปฝากพวกบนเรือใหญ่ด้วย
เมื่อเรื่องราวที่พระภิกษุเหยียบน้ำทะเลจืดถูกนำมาเล่าในเรือ และได้ลิ้มน้ำจืดกันตายกันแล้ว ผู้คนในเรือกันพากันก้มกราบขอขมาที่ล่วงเกินท่านไป บัดดลลมก็สงบ ฟ้าโปร่ง สำเภาจึงเดินทางต่อไป
เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยา บรรดาลูกเรือและผู้โดยสารก็พากันแห่แหนตามไปส่งพระภิกษุราโมถึงสำนักท่านสังฆราช เมื่อได้ทรงอ่านคำจารึกในใบลานที่พระภิกษุราโมถือมาแล้ว พระสังฆราชก็รับไว้ด้วยความยินดีที่ศิษย์ใหม่มีความรู้ด้านภาษาศาสตร์เป็นอย่างดี
เมื่อพระภิกษุราโมได้ศึกษาอบรมต่อมา พระสังฆราชก็ได้ประจักษ์ในความรู้สติปัญญาและความประพฤติของลูกศิษย์ใหม่ สมดังคำจารึกในใบลานของพระอาจารย์กาทุกประการ
กิตติศัพท์ที่พระสังฆราชมีพระภิกษุหนุ่มปราดเปรื่อง ได้เรื่องลือไปทั่วกรุงศรีอยุธยา จนมีพระภิกษุสามเณรหลั่งไหลมาสู่สำนักพระสังฆราชมากมาย ความทราบถึงพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงให้ขายโรงเรียนปริยัติธรรมให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเพียงพอกับผู้มาศึกษา ส่วนพระภิกษุปู่ได้ร่ำเรียนในสำนักนี้เพียง ๑ พรรษา ก็จบขั้นสูงสุดเท่าที่มีการสอน ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้จัดงานสมโภชพระภิกษุที่จบการศึกษารุ่นนี้อย่างเอิกเกริก
หลังจากนั้นไม่นานก็มีพราหมณ์ ๗ คนเดินทางมาจากลังกา ถืออักษรบาลีปริศนาในแผ่นทองคำจากพระเจ้ากรุงลังกา มาท้าเล่น “ปริศนาชิงเมือง” กับพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้นำปริศนานี้ไปให้พระภิกษุผู้มีสมณศักดิ์ทั่วกรุงศรีอยุธยาตีความ ก็ไม่มีใครสามารถตีความได้ ทรงวิตกว่าพระเจ้ากรุงลังกาจะดูถูกว่าสมณชีพราหมณ์ในกรุงศรีอยุธยาหาคนมีความรู้ไม่ได้เลย
เย็นวันหนึ่ง พระภิกษุราโมเข้าไปเทศน์ถวายธรรมพระเจ้าอยู่หัวที่ในวังตามที่ทรงโปรดให้แสดงธรรมถวายเป็นประจำ พระภิกษุหนุ่มเห็นพระเจ้าอยู่หัวทรงวิตกครุ่นคิดหนักจึงทูลถาม ทรงเล่าเรื่องอักษรปริศนาชิงเมืองที่พราหมณ์ลังกาเข้ามาท้า พระภิกษุราโมจึงทูลว่าข้อนี้อย่าทรงวิตกกังวลไปเลย อาตมาจะขอรับอาสาเอง
เมื่อถึงวันนัด พราหมณ์ทั้ง ๗ ก็เอาอักษรปริศนามาวางตรงหน้าพระภิกษุราโม ต่อพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัวและขุนนางข้าราชการทั้งปวง พระภิกษุหนุ่มจากปักษ์ใต้พินิจดูอักษรปริศนาอยู่ครู่หนึ่งก็กราบทูลว่า แผ่นทองจารึกภาษาบาลีที่เอามาให้เรียงใหม่นี้ ไม่สามารถเรียงให้ได้ใจความ เพราะขาดหายไป ๗ แผ่น เนื่องจากพราหมณ์ทั้ง ๗ เอาไปซ่อนไว้ในมวยผมคนละแผ่น
ยังไม่ทันที่พระเจ้าอยู่หัวจะโปรดให้ค้น พราหมณ์ทั้ง ๗ ก็ตัวสั่นรีบล้วงแผ่นทองออกมาวางพร้อมกับรับสารภาพที่เล่นไม่ซื่อ พระภิกษุราโมได้เอาแผ่นทองทั้ง ๗ มาวางเรียงต่อ และแปลข้อความได้ถูกต้องตามความหมาย อีกทั้งยังขอพระราชทานอภัยโทษให้พราหมณ์ทั้ง ๗ ด้วย ทำเอาพราหมณ์ลังกาพากันรีบกราบทูลลา ออกสำเภาไปก่อนที่จะโดนประชาทัณฑ์
ความดีความชอบครั้งนี้ ทำให้พระเจ้าอยู่หัวชื่นชมโสมนัสยิ่ง ถึงกับทรงประกาศว่า
“กรุงศรีอยุธยามีพระภิกษุผู้วิเศษเกิดขึ้นรูปหนึ่งแล้ว”
ข่าวนี้ระบือลือลั่นไปทั่ว ผู้คนจากทุกสารทิศแม้ห่างไกลกรุงศรีอยุธยา ก็หลั่งไหลมาชมบุญพระภิกษุหนุ่ม และหลังจากนั้นไม่นานก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ให้พระภิกษุราโม ธฺมมิโก ผู้มีพรรษาเพียง ๒ พรรษา กระโดดข้ามขั้นเป็นพระราชาคณะที่ พระราชมุนีสามิรามคุณูปมาจารย์ ตำแหน่งเป็นพระอาจารย์สอนพระธรรมวินัย ทั้งยังทรงแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาทางศาสนาประจำราชสำนักด้วย
ทางฝ่ายเมืองนครศรีธรรมราชและสงขลาเมื่อได้ข่าวนี้ ท่านสมภารจาง พระครูสัทธรรมรังสี พระอาจารย์กา พร้อมด้วยนายหูนางจันทร์ ก็ได้โดยสารเรือสำเภาเข้ามาร่วมงานสมโภชที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีงานยาวนานถึง ๑๕ วัน
หลังจากนั้นก็ได้มีโรคห่าระบาดขึ้นในกรุงศรีอยุธยา คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก โรคห่าได้แพร่ระบาดไปโดยไม่มีสิ่งใดยับยั้งได้ ในที่สุดคำร่ำลือก็ไปลงที่พราหมณ์ทั้ง ๗ ต้องหาว่าเป็นผู้นำโรคห่ามาเผยแพร่ เมื่อชาวบ้านพูดกันถึงพราหมณ์ลังกา ก็ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงนึกถึงพระราชมุนีสามิรามคุณูปมาจารย์ ผู้ปราบพราหมณ์ลังกา จึงรับสั่งให้ไปนิมนต์ท่านเจ้าคุณเข้าวังและทรงปรารภเรื่องโรคห่า ขอให้เจ้าคุณช่วยอาณาประชาราษฎร์ด้วย ท่านเจ้าคุณจึงประกอบพิธีทำน้ำมนต์และนำหินวิเศษคู่บุญมาแช่ลงในบาตรน้ำพระพุทธมนต์ด้วย
หลังจากที่มีการนำน้ำมนต์ของเจ้าคุณปู่ไปแจกจ่ายแก่ราษฎร ไม่นานโรคห่าก็บรรเทาเบาบางลงจนหายไปราวปาฏิหาริย์ ทำให้ความศรัทธาที่มีต่อเจ้าคุณหนุ่มสูงขึ้นอีก ผู้คนได้หลั่งไหลมาที่สำนักพระสังฆราชแน่นขนัดทุกวัน ซึ่งไม่เพียงแต่ฆราวาสเท่านั้นที่ชื่นชมนิยมศรัทธาท่านเจ้าคุณ บรรดาสงฆ์ในกรุงศรีอยุธยาก็ศรัทธาท่านเจ้าคุณหนุ่มไม่น้อยไปกว่ากัน จึงได้มีการประชุมคณะสงฆ์และลงมติเป็นเอกฉันท์ แต่งตั้งเจ้าคุณราชมุนีสามิราคุณูปมาจารย์ เป็นพระคณาจารย์เอกประจำสำนักเรียนทุกสำนักในกรุงศรีอยุธยา และเป็นพระวินัยธรประจำกรุงศรีอยุธยาอีกตำแหน่งด้วย
ท่านเจ้าคุณปู่จำพรรษายู่สำนักพระสังฆราชแห่งกรุงศรีอยุธยาจนอายุย่างเข้า ๓๐ ปี ก็นึกถึงโยมบิดามารดาที่แก่ชราลงมากแล้ว ถ้าไม่กลับไปดูแลตอนนี้ก็คงไม่มีโอกาสได้เห็นหน้ากันแน่ จึงทูลลาพระเจ้าอยู่หัวและพระสังฆราชกลับบ้านเกิดเมืองนอน
ท่านเจ้าคุณจากกรุงศรีอยุธยาด้วยความอาลัยของทุกคน มีขบวนแห่มาส่งที่ท่าเรืออย่างมโหฬาร ส่วนชาวบ้านสวนจันทร์ก็ตื่นเต้นดีใจกันอย่างไม่คาดฝัน เมื่อเจ้าคุณเดินเท้าจากเมืองสงขลาไปถึงบ้านเกิด นายหูซึ่งป่วยด้วยโรคชรามาหลายเดือนก็หายป่วยเป็นปลิดทิ้ง ทั้งนางจันทร์ก็ลืมความชรา กระปรี้กระเปร่าออกรับแขกที่มากันเต็มบ้าน แม้สองตายายจะมีฐานะดีมีบ้านช่องใหญ่โตแล้ว ก็ยังไม่พอที่จะรับผู้คนที่มากันอย่างแน่นขนัดได้
การกลับบ้านเกิดครั้งนี้ ท่านเจ้าคุณดำริจะสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งในหมู่บ้านสวนจันทร์ที่ยังไม่มีวัด ชาวบ้านจึงร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นถวายท่านเจ้าคุณเหนือหมู่บ้านขึ้นไป ๑ กม. เรียกกันว่า “วัดพะโคะ”
ท่านเจ้าคุณจำพรรษาอยู่ที่วัดพะโคะได้ไม่นาน โยมบิดาซึ่งอายุเกือบ ๙๐ ปีแล้ว ก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา ท่านเจ้าคุณต้องคอยเทศน์ปลอบใจโยมแม่ซึ่งเสียใจหนัก
ท่านเจ้าคุณเห็นว่าวัดพะโคะนั้นไม่เหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางเผยแพร่พระพุทธศาสนาอยู่หลายประการ จึงคิดจะหาที่สร้างวัดใหม่ขึ้นอีกแห่งให้เป็นศูนย์กลางของการเผยแพร่พุทธศาสนา ซึ่งไม่ใช่วัดเล็กๆ อยู่ในหมู่บ้านอย่างวัดพะโคะ
ประวัติของหลวงพ่อทวดในตอนนี้ ซึ่งเป็นตำนานเก่าแก่ถึง ๔๐๐ ปี จึงปรากฏในรูปแบบอภินิหารอย่างเต็มที่ โดยจารึกกันไว้ว่า
คืนหนึ่งขณะท่านเจ้าคุณกำลังนั่งคิดถึงเรื่องสร้างวัดใหม่ ก็ปรากฏมีสามเณรรูปหนึ่งถือดอกมณฑาสวรรค์เดินจงกรมมาที่วัดพะโคะ ทำให้ชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่ในวัดมองด้วยความแปลกใจ แต่เจ้าคุณองค์เดียวสังหรณ์ใจว่า สามเณรผู้นี้คงไม่ใช่คนธรรมดาแน่ อาจเป็นเทวดาแปลงร่างลงมาก็ได้
สามเณรน้อยบอกกับชาวบ้านว่าชื่อ บุญปลอด มาจากเมืองนครศรีธรรมราช และบอกกับเจ้าคุณว่าจะมาช่วยสร้างวัดตามที่ท่านเจ้าคุณตั้งปรารถนาไว้ หลังจากปรึกษาหารือกันอยู่หลายวัน ท่านเจ้าคุณกับสามเณรน้อยก็แสดงอภินิหาร เหาะขึ้นไปบนอากาศทั้งสององค์ต่อหน้าชาวบ้าน ล่องลอยไปเหนือป่าใหญ่เพื่อหาที่สร้างวัด
เมื่อมาถึงที่เหมาะแห่งหนึ่ง ทั้งสององค์ก็ลงมาสู่พื้นดิน แต่ยังไม่ทันถึงพื้นก็มีช้างเผือกเชือกหนึ่งเอางวงมารับทั้งสององค์ให้ขึ้นนั่งบนหลัง แล้วพาบุกป่าต่อไป ทั้งเจ้าคุณและเณรน้อยปล่อยให้ช้างพาไปตามแต่ใจช้าง จนถึงที่แห่งหนึ่งช้างก็หยุดและหมอบลงให้ทั้งสององค์ลงจากหลัง ท่านเจ้าคุณและสามเณรบุญปลอดเห็นตรงกันว่า สถานที่ที่ช้างพามานั้นเป็นชัยภูมิเหมาะอย่างยิ่งในการสร้างวัด จึงหาหลักปักลงและเอาจีวรผูกหัวเสาเป็นการจองไว้
วัดนี้ก็คือ “วัดช้างให้” ซึ่งอยู่ไกลจากวัดพะโคะมาก ปัจจุบันได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดราษฎร์บูรณะ” อยู่ในเขตจังหวัดปัตตานี
เมื่อมาจำพรรษาอยู่วัดใหม่จนวัยล่วงเข้า ๔๕ ท่านเจ้าคุณก็เจอคนลองดีเข้าอีก ต้องเหยียบน้ำทะเลจืดอีกครั้ง
เหตุการณ์เกิดขึ้นในคืนหนึ่งที่เดือนมืด ขณะที่ท่านเจ้าคุณก้าวลงจากกุฏิจะไปฐานกลางดึก ปรากฏว่ามีคนกลุ่มหนึ่งแอบมาซ่อนอยู่ใต้กุฏิ โดดเข้ารวบตัวเจ้าคุณอุ้มออกไปจากวัด ซึ่งท่านก็ไม่ได้ขัดขืนหรือร้องให้คนช่วยแต่อย่างใด คนกลุ่มนี้ได้พาท่านไปลงเรือใบจะออกไปทะเลลึก แต่เมื่อเรือออกจากฝั่งมาได้ประมาณ ๒๐ เมตร พวกโจรก็ประหลาดใจ เพราะขณะลมกินใบเรืออยู่นั้นเรือกลับหยุดนิ่งเหมือนถ่วงด้วยสมอ จะทำอย่างไรเรือก็ไม่ขยับ เหล่าโจรกระวนกระวายกันจนเหนื่อยหอบและหิวกระหาย ท่านเจ้าคุณจึงพนมมือตั้งจิตอธิษฐาน แล้วยกเท้าจุ่มลงในน้ำทะเลอีกครั้ง น้ำทะเลสีครามก็เป็นวงใสขยายออกไปทันที เหล่าโจรมองอย่างตะลึง เมื่อท่านเจ้าคุณบอกให้เขาดื่มแก้กระหายเสีย พวกโจรก็ยังไม่ยอมเชื่อ จนท่านต้องวักขึ้นมาดื่มให้ดู พวกโจรจึงลองดูบ้าง เมื่อเห็นว่าเป็นน้ำจืดสนิทก็ก้มหัวลงดื่มกันจนอิ่มแปล้ แล้วพากันก้มกราบด้วยความสำนึกผิด พลันเรือก็คลื่นออกไปตามแรงลมทันที
ท่านเจ้าคุณได้เทศน์สั่งสอนโจรกลุ่มนั้นเมื่อเขาพาท่านกลับมาส่งที่กุฏิตามเดิม และหลังจากนั้นก็ไม่มีโจรกลุ่มไหนกล้ามาระรานวัดช้างให้อีกเลย
เมื่อเจ้าคุณราชมุนีสามิรามคุณูปมาจารย์มีอายุล่วงเข้าวัย ๕๐ สังขารของท่านคงจะดูแก่ชราลงมาก ผู้คนทั้งหลายพากันเรียกท่านว่า “หลวงพ่อทวด” ส่วนคำเดิมที่เคยเรียกกันว่า “หลวงพ่อพะโคะ” บ้าง “ท่านเจ้าคุณ” บ้าง ก็ค่อยๆ เลือนหายไป
ในวัย ๖๕ หลวงพ่อทวดคำนึงว่า เมืองไทรบุรีซึ่งขณะนั้นยังเป็นของไทย แต่ศาสนาพุทธยังแผ่ไปถึงน้อย ท่านจึงคิดจะไปวางรากฐานเผยแพร่พระศาสนาขึ้นที่นั่น
การเดินทางของท่านช่วงนี้เล่ากันว่า ท่านได้ออกจากวัดช้างให้หลังจากฉันเพลแล้ว และออกเดินเท้าสู่รัฐไทรบุรีเพียงลำพังองค์เดียว แต่ก่อนค่ำวันนั้นท่านก็ไปถึงที่หมายท่ามกลางความแปลกใจของผู้คน เพราะตามปกติคนธรรมดาต้องใช้เวลาถึง ๒ วัน
ข้าหลวงจังหวัดไทรบุรีได้นำประชาชนจัดงานสมโภชต้อนรับหลวงพ่อทวดอย่างเอิกเกริก ผู้คนต่างแช่มชื่นเบิกบานที่มีผู้วิเศษมาเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เพราะขณะนั้นไทรบุรีกำลังเผชิญปัญหาฝนแล้ง แห่นางแมวก็แล้ว สวดคาถาขอฝนก็แล้ว จนเกือบจะหมดฤดูฝนแล้วฝนก็ยังไม่ยอมตก ข้าหลวงจังหวัดได้นำความเดือดร้อนของชาวไทรบุรีไปปรึกษาหลวงพ่อทวด ท่านเจ้าคุณบอกว่าท่านก็ไม่รู้จะทำยังไงให้ฝนตกได้ แต่แล้วคืนนั้นท่านก็หายตัวไปจากวัด ลูกวัดพากันโกลาหล แต่ข้าหลวงเชื่อว่าท่านเหาะเหินเดินอากาศขึ้นไปขอความเมตตาจากเทพยดา จึงไม่ตื่นเต้นที่จะค้นหา พอรุ่งอรุณฝนก็ตกลงมาห่าใหญ่ และตกอยู่ ๗ วัน ๗ คืน จนแผ่นดินชุ่มน้ำ ข้าวกล้างอกงามเขียวชอุ่ม
หลวงพ่อทวดไปเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรและวางรากฐานเผยแพร่พระศาสนาอยู่ที่ไทรบุรีเป็นเวลานาน จนอายุล่วงเข้า ๘๐ จึงกลับมาเยี่ยมวัดช้างให้ ๑๕ วัน แล้วกลับไปทำงานตามปรารถนาของท่านที่ไทรบุรีอีก ท่านเผยแพร่พระศาสนาอยู่ที่ไทรบุรีจนอายุได้ ๙๐ ปี พระพุทธศาสนาหยั่งรากลงที่ไทรบุรีอย่างมั่นคง
ก่อนที่ท่านจะมรณภาพเพียง ๓ วัน หลวงพ่อทวดก็เรียกประชุมญาติโยมผู้ใกล้ชิดทั้งหมด และปรารภว่า บัดนี้ท่านก็อายุล่วงเข้า ๙๐ ปีแล้ว เห็นจะต้องจากกันในวันสองวันนี้แน่ เมื่อท่านจากไปก็อย่าได้เศร้าโศกเสียใจ เพราะทุกคนต่างเกิดมาใช้กรรม เมื่อใช้หมดแล้วก็ต้องตาย เมื่อมีชีวิตอยู่ขอให้สร้างคุณงามความดี ละเว้นการประพฤติชั่ว อย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกัน และเมื่อท่านมรณภาพไปแล้ว ก็ขอให้นำศพของท่านไปฌาปนกิจที่วัดช้างให้
หลังจากสั่งเสียครั้งนี้แล้ว อีก ๓ วันต่อมา ท่านก็มรณภาพไปอย่างสงบ
ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ หลังจากหลวงพ่อทวดมรณภาพไปแล้วถึง ๒๘๒ ปี พระครูวิสัยโสภณ (ทิม) เจ้าอาวาสวัดช้างให้ ได้ระลึกถึงพระคุณอันล้นเหลือของหลวงพ่อทวด จึงได้จัดสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวดเป็นรุ่นแรกขึ้น เป็นเนื้อว่าน ๑๐๘ ชนิดผสมโลหะทองเหลืองรมดำ ปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอันมาก จนต้องสร้างต่อมาอีกหลายๆรุ่น จนถึงรุ่นปี ๒๕๐๕ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็นำหลวงพ่อทวดไปแจกให้ทหารไทยที่ไปเกาหลีทุกคน จนทำให้ “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” ดังระเบิด
จากนั้นวัดต่างๆ ทั่วประเทศ แม้แต่วัดใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ อย่าง วัดสุทัศน์เทพวราราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ วัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม วัดยานนาวา ฯลฯ ต่างก็ทำพิธีปลุกเศกหลวงพ่อทวดขึ้นมา และมีประชาชนหลั่งไหลไปขอบูชากันล้นหลาม
เรื่องเล่าเกี่ยวกับอภินิหารของหลวงพ่อทวดมีมากมายหลายต่อหลายเรื่อง ล้วนแต่เป็นเรื่องตื่นเต้นน่าพิศวงทั้งสิ้น เรื่องเด่นเรื่องหนึ่งที่ตัวละครเป็นบุคคลสำคัญระดับโลก ก็คือเรื่องที่หลวงพ่อทวดคุ้มครองชีวิตนายพลเดอโกลส์ หัวหน้าขบวนการฝรั่งเศสเสรีในสงครามโลกครั้งที่ ๒ รอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์ขณะที่เป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส เหตุเกิดขณะที่ท่านประธานาธิบดีวัย ๗๑ ปีกำลังเดินทางไปสนามบินทหารซึ่งอยู่ห่างปารีสไปประมาณ ๑๓ กม. ระหว่างทางได้มีสมาชิกของขบวนการกู้ชาติกลุ่มหนึ่งมาดักยิงด้วยปืนกลในระยะใกล้ กระสุนปืนเจาะรถพรุนไปทั้งคัน นัดหนึ่งทะลุกระจกด้านหลัง เฉียดศีรษะท่านนายพลไปเพียง ๒ นิ้ว ส่วนตัวท่านแคล้วคลาดไม่บาดเจ็บแม้แต่น้อยอย่างน่าอัศจรรย์
หลังจากเหตุการณ์นี้ มีการเปิดเผยอย่างเกรียวกราวว่า นายพลเดอโกลส์พกพระเครื่องหลวงพ่อทวดรุ่นแรก ที่ พล.ต.อำนาย ไชยโรจน์ นายทหารไทยนำไปมอบให้ก่อนหน้านั้น
แม้วันนี้หลวงพ่อทวดจะมรณะไปแล้วถึง ๓๔๕ ปี และถ้านับจากวันที่ท่านได้รับความนิยมนับถือของผู้คนตั้งแต่ระดับชาวบ้านจนถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ก็เป็นเวลากว่า ๔๐๐ ปีแล้ว จึงนับเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่ผู้คนเลื่อมใสอย่างยืนยงยาวนานที่สุดเลยทีเดียว