ทุกวันนี้ เรามีนายทหารหญิงอยู่ในกองทัพถึงระดับชั้น “นายพล” กันแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในฝ่ายบริหารหรือหน่วยช่วยรบ ไม่ใช่เป็นหน่วยรบอันเป็นกำลังหลักของกองทัพ
สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งไทยทำสัญญาร่วมรบอยู่กับญี่ปุ่น “ท่านผู้นำ”ได้ดำริที่จะตั้งกองทหารหญิงขึ้น ให้มีหน้าที่รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทหารชาย โดยปรารภว่า
“กำลังอันเข้มแข็งแกร่งกล้าในการป้องกันประเทศชาตินั้น คือทหาร ไม่เลือกว่าชาย หญิง...เหมือนกับบรรพบุรุษของเรา”
การจะมีทหารหญิง ก็ต้องมีนายทหารหญิงขึ้นก่อนเพื่อบังคับบัญชา ด้วยเหตุนี้ กระทรวงกลาโหมจึงมีคำสั่งด่วนเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๔๘๕ เรื่องเปิดรับสมัครเข้าศึกษาวิชาในโรงเรียนทหาร โดยให้ ผบ.ทบ. ดำเนินการร่วมกับกรมยุทธศึกษาทหารบก จัดหลักสูตรนักเรียนนายร้อยหญิงขึ้น มีหลักการทำนองเดียวกับหลักสูตรนายร้อยสำรองทุกประการ เว้นแต่บางสิ่งที่ไม่สะดวกแก่การปฏิบัติของหญิงก็ผ่อนผันให้เท่าที่จำเป็น
การเปิดรับสมัครได้เริ่มขึ้นในวันที่ ๑๐-๑๘ กันยายน ๒๔๘๕ โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้จะเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยหญิงรุ่นแรก คือ
๑.สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ของกระทรวงศึกษาธิการ หรือที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่า
๒.มีอายุตั้งแต่ ๑๘ ปี ถึง ๒๔ ปีบริบูรณ์ การนับอายุถือตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร
๓.มีนามตัว นามสกุล และสัญชาติเป็นไทย ทั้งบิดามารดาต้องเป็นคนไทยโดยกำเนิด
๔.มีอัธยาศัยและความประพฤติเรียบร้อย
๕.ไม่ถูกปลดจากยุวนารี
๖.มีอวัยวะสมบูรณ์ปราศจากโรค ลักษณะรูปร่างท่าทางและขนาดร่างกายเหมาะเป็นทหาร
๗.มีเสียงดังแจ่มใส
๘.เป็นหญิงโสด
๙.บิดามารดาผู้ให้กำเนิดต้องเป็นผู้มีหลักฐานหรืออาชีพอันชอบธรรม
๑๐.ต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง
เป็นที่น่าสังเกตคุณสมบัติในข้อ ๓ ที่ว่า ต้องมีนามตัวและนามสกุลเป็นไทย เพราะยุคนั้นเป็นยุคปลุกกระแสชาตินิยม ดาราในยุคนี้คงขาดคุณสมบัติกันเป็นแถว เพราะทั้งชื่อและนามสกุลดูไม่ออกว่าเป็นดาราไทยหรือดาราเทศกันแน่
นักเรียนนายร้อยหญิงได้รับความสนใจจากสาวไทยหัวใจนักรบกันล้นหลาม มีผู้สมัครถึง ๕๐๐ คนเศษ แต่คัดเลือกไว้เพียง ๒๘ คนเท่านั้น โดยมี นางสาวจีรวัสส์ พิบูลสงคราม บุตรสาวของจอมพล ป.กับท่านผู้หญิงละเอียดสมัครเป็นหมายเลข ๑
ในวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๔๘๖ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารบกได้เป็นประธานเปิดการศึกษาของนักเรียนนายร้อยหญิง ณ โรงเรียนเทคนิคทหารบก ซึ่งตั้งอยู่ในกรมยุทธศึกษาทหารบก ถนนราชดำเนินนอก ด้านหลังทำเนียบรัฐบาล
หลักสูตรเร่งรัด ๖ เดือนแรก จะต้องเรียนภาควิชาการ ๑๓ วิชา ได้แก่ วิชาทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ทหารช่าง ทหารอากาศ ยุทธวิธี แผนที่ จิตวิทยา กฎหมาย ศีลธรรม สุขวิทยาอนามัย และไอพิษ โดยเช้าไปเย็นกลับ
ช่วง ๖ เดือนหลัง เป็นภาคปฏิบัติ ซึ่งต้องฝึกเช่นเดียวกับนักเรียนนายร้อยสำรองชาย จึงต้องอยู่ประจำ ในภาคนี้นอกจากมีการฝึกยิงปืน ขุดสนามเพลาะ การใช้อาวุธประจำกายและประจำหน่วย ยังมีการฝึกเดินทางไกล รวมทั้งพลศึกษา ซึ่งมีท่ากายบริหารต่างๆ ราวเดี่ยว ราวคู่ ห่วง ยูโด ดาบฝรั่ง ดาบไทย มวยไทย ว่ายน้ำ และไต่เชือก
เมื่อศึกษาจนครบหลักสูตร ผ่านการสอบเรียบร้อยแล้ว นักเรียนนายร้อยหญิงทั้ง ๒๘ คน ก็ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๘๗ ตำแหน่งผู้บังคับหมวด โดยสำรองราชการมณฑลทหารบกที่ ๑ รับยศเป็น “ว่าที่ร้อยตรีหญิง” รับเงินเดือนขั้น ๒๖ คือ ๘๐ บาท
นอกจากจะเปิดหลักสูตรนักเรียนนายร้อยหญิงนี้แล้ว กองทัพบกยังได้จัดตั้งโรงเรียนนายสิบหญิงขึ้นอีกที่ลพบุรี และตั้งกองทหารหญิงขึ้นเป็นกองพันสุรนารี กรมทหารสุริโยทัย ที่จังหวัดลพบุรี
ในการเข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นนักรบหญิงนี้ นายทหารหญิงมีคำปฏิญาณตนว่า
“ฉันจะพลีชีพให้สมกับเกียรติของทหาร คือ ตายในสนามรบ
ฉันจะเทิดไว้ซึ่งเกียรติของชาติ คือสงวนความเป็นดอกไม้งามของไทย
ฉันจะเทิดทูนเหนือหัวซึ่งเกียรติของทหารหญิง คือ แม่พิมพ์ที่ดี
คุณงามความดีที่จะต้องยึดมั่นไว้ ให้หนักแน่นกว่าขุนเขา
ส่วนความเสียสละเพื่อชาติจะให้เบากว่าปุยนุ่น”
ต่อมาในกลางปี ๒๔๘๗ นั้น เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำท่าว่าใกล้ยุติ โดยฝ่ายอักษะ คือเยอรมันและญี่ปุ่น กำลังถูกฝ่ายสัมพันธมิตร มี อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และจีน ตีถอยร่นทุกสมรภูมิ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นหัวหน้าลับขบวนการเสรีไทย จึงวางแผนที่จะโค่นล้มจอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้ได้ก่อนสงครามจะยุติ เพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกเป็นฝ่ายผู้แพ้สงครามด้วย และได้จังหวะที่จอมพล ป. เสนอร่าง พ.ร.บ.จัดสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ที่เพชรบูรณ์ กับร่าง พ.ร.บ.จัดสร้างพุทธมณฑลบุรี ต่อสภา ชักชวนสมาชิกสภาคว่ำ พ.ร.บ.ทั้ง ๒ ฉบับได้สำเร็จ จอมพล ป. ลาออกแทนการยุบสภา เพราะคิดว่าไม่มีใครกล้าเข้ามาชิงตำแหน่งนายกฯ แน่ ยังไงก็ต้องได้รับการลงมติให้กลับเข้ามาใหม่ แต่ผิดคาด ดร.ปรีดีหว่านล้อมสมาชิกสภาผู้แทนได้สำเร็จ และส่งนายควง อภัยวงศ์ ลงสู้ นายควงได้ขึ้นเป็นนายกฯ แทนจอมพล ป.ในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๘๗
ในวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๘๘ หลังสงครามโลกสงบลง กระทรวงกลาโหมในรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ก็ได้ประชุมพิจารณาเรื่องนายร้อยหญิงและนายสิบหญิง ในที่สุดได้มีคำสั่งพิเศษของกองทัพบก ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๔๘๘ ให้มีการปรับปรุงจัดหน่วยในกองทัพบกเสียใหม่
ในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๘๘ นายร้อยตรีหญิงสดๆ ร้อนๆ ก็สิ้นสภาพพร้อมกับทหารหญิงในกองทัพทั้งหมด โดยกระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งพิเศษให้เปลี่ยนภาวะนายร้อยหญิงและนายสิบหญิงทั้งหมด เป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือนประเภทสามัญ ผู้ใดจะลาออกเพราะไม่สมัครใจจะรับราชการต่อไป ก็ให้ออกได้โดยไม่มีบำเหน็จบำนาญ
การดำริของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่จะให้มีกองทหารหญิงกองพันสุรนารี กรมทหารสุริโยทัย ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทหารชาย เลยต้องยุติปิดฉากลง และยังไม่เปิดฉากใหม่จนทุกวันนี้