พสกนิกรทั่วสารทิศทยอยเดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพระบรมมหาราชวัง อย่างต่อเนื่อง เป็นวันที่ 123 ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
วันนี้ (5 มี.ค.) บรรยากาศการไว้อาลัยและกราบสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งดำเนินมาเป็นวันที่ 123 ตลอดทั้งวัน ยังมี พสกนิกรทุกหมู่เหล่าจากทั่วสารทิศของประเทศไทย ทยอยเดินทางมารอต่อแถวเข้าถวายสักการะพระบรมศพอย่างไม่ขาดสาย ตลอดทั้งวันตั้งแต่ช่วงเช้ามืด ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้
3 สาวโรงงานย่านบานา นางสาวสุริยา บุญล้อม อายุ 47 ปี ชาวจังหวัดสุรินทร์ นางสาวลำชี นวลแสง ชาวจังหวัดศรีสะเกษ และ นางสาวพรรณทิพย์ แสงแจ้ง วัย 39 ปี ชาวกรุงเทพมหานคร ที่ได้อาศัยช่วงวันหยุดจากการทำงานพากันเดินทางมาสักการะพระบรมศพ โดย นางสาวสุริยา ได้กล่าวภายหลังที่สักการะพระบรมศพ เสร็จแล้วว่า รู้สึกตื้นตันใจ ดีใจมากที่มีโอกาสได้มากราบสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ ๙ เพราะพระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยเพื่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด ส่วนตัวแล้วประทับใจโครงการในพระราชดำริการทำไร่นาสวนผสม เพราะที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตัวเอง ก็จะน้อมนำเรื่องการทำไร่นาสวนผสมมาเป็นหลักยึดในการทำการเกษตร ในช่วงที่ผืนนาว่างจากฤดูเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงนาปี และ นาหว่าน ก็จะปลูกผัก ปลูกถั่วเขียวซึ่งเป็นพืชคลุมดิน อันเป็นการพักฟื้นหน้าดินเพื่อปรับสภาพหน้าดินสำหรับการปลูกข้าวต่อไป จากนี้ไปมีเพียงสิ่งเดียวที่ตนจะทำได้ในฐานะลูกที่ดีของพ่อหลวง คือ การดำเนินชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท อย่างอาชีพสาวโรงงานอาชีพมีความไม่แน่นอน ดังนั้น ตอนนี้จึงกันเงินเดือนส่วนหนึ่งฝากธนาคารไว้เพื่อที่จะไว้ใช้ในยามที่อายุมากขึ้น เพราะไม่ต้องการเป็นภาระให้กับลูกหลานในอนาคต
นางสาวณิชชยาภรณ์ จิรฐาสืบสกุล อายุ 49 ปี ซึ่งเดินทางมาสักการะพระบรมศพพร้อมลูกสาว ด.ญ.สุพิชฌาย์ มะโนแก้ว เป็นครั้งแรกจาก อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า มากับเพื่อนทั้งหมด 5 คน ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม ก่อนจะเข้าคิวเมื่อเช้าตรู่ เมื่อได้ขึ้นไปกราบก็รู้สึกตื่นเต้น ประทับใจ รู้สึกได้เลยว่าคนไทยทุกคนมีหัวใจเดียวกันที่อยากมากราบพระบรมศพ ด้วยความรักที่มีต่อพระองค์ เพราะทรงเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งการวางพระองค์ การดูแลครอบครัวของพระองค์ รักเดียวใจเดียว ทั้งทรงเป็นผู้นำในส่วนต่างๆ ด้วยพระราชหฤทัยที่บริสุทธิ์ โดยเฉพาะเมื่อทรงศึกษาเรื่องใดจะทรงศึกษาถึงแก่นแท้จริงๆ โครงการพระราชดำริต่างๆ ของพระองค์จึงส่งผลต่อคนไทยได้ดี โดยเฉพาะเกษตรกร ที่มีทั้งฝนหลวง โครงการแกล้งดินมาช่วยในการเพาะปลูก ที่ผ่านมาจึงยึดหลักความดี มีจิตใจเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ตามหลักของพระองค์ รวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และการปลูกพืชผักสวนครัวมาใช้ในชีวิตประจำวัน
นางกฤษณา พระสุนิน อายุ 45 ปี อาชีพพนักงานร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคอย พร้อมน้องสาว น.ส.มดจรี ภูน้ำเย็น อายุ 28 ปี กล่าวภายหลังเข้าสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ ๙ เป็นครั้งแรก ว่า แม้ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เสด็จสวรรคตร่วม 4 เดือนแล้ว แต่ยังมีความโศกเศร้าเสียใจอยู่ทุกครั้งที่คิดถึงพระองค์ ส่วนตัวเป็นคนต่างจังหวัดได้ดูข่าวทางโทรทัศน์ เห็นพระองค์เสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรอย่างใกล้ชิด ไม่มีสักครั้งเลยที่จะถือพระองค์ทำให้ยิ่งประทับใจมาก เมื่อได้เข้ากราบสักการะพระบรมศพได้ตั้งจิตอธิษฐานเกิดชาติหน้าฉันใด ขอเกิดมาเป็นลูกของพ่อทุกชาติไป
ด้าน น.ส.มดจรี กล่าวเสริมว่า ที่จังหวัดหนองคายมีโครงการพระราชดำริหลายอย่าง ที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงมาพัฒนาเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวบ้าน แต่ครอบครัวเกษตรกรของเราได้รับประโยชน์จากการสร้างฝายชะลอน้ำไว้ เพื่อทำการประปาและนำมาใช้ในการเกษตร ทำให้ผลผลิตของพืชผักสวนครัวงอกงามดี โดยส่วนหนึ่งเก็บเกี่ยวเพื่อนำไปขาย ยังแบ่งอีกส่วนหนึ่งไว้แจกจ่ายเพื่อนบ้าน
นางสาวนิพาดา สมุทรรีรัมย์ อายุ 36 ปี ชาว อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว กล่าวว่า ตนและเพื่อนที่ทำงานเดียวกันจาก บริษัท ไทยโยกิเคง อมตะนคร จ.ชลบุรี รวม 13 คน ได้เช่ารถตู้เดินทางมากราบสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ ๙ เป็นครั้งแรก โดยออกเดินทางมาตั้งแต่ตี 4 และมาถึงตี 5 กว่าๆ รู้สึกตื้นตันใจมากจนอธิบายไม่ถูกที่ได้มาเห็นและอยู่ในบรรยากาศงานของพระมหากษัตริย์ที่เรารักมากที่สุด ขณะกราบพระองค์ก็รู้สึกใจหายปนกับความซาบซึ้งใจ เนื่องจากสมัยที่ตนยังเด็ก ย่าเคยเล่าให้ฟังว่าในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำริ ให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยชัน และอ่างเก็บน้ำพระปรง ซึ่งอยู่ใน อ.วัฒนานคร และต่อมาก็ให้พัฒนาเป็นเขื่อนห้วยชัน และเขื่อนพระปรง และพระองค์เคยเสด็จฯ มาทอดพระเนตรเขื่อนห้วยชันด้วย เพื่อใช้กักเก็บน้ำในการอุปโภค บริโภคและการเกษตร โดยมีคลองชลประทานส่งต่อน้ำไปให้ประชาชนได้ใช้อย่างทั่วถึง ทำให้สามารถแก้ปัญหาภัยแล้งให้แก่ชาวบ้านที่ประสบปัญหามาทุกปีด้วย และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้าน
“ช่วงที่อยู่บ้านใน จ.สระแก้ว ก็มีอาชีพทำสวน ทำไร่ และทำนา ก็ได้ใช้น้ำในโครงการพระราชดำริของพระองค์ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ท่านสอนไว้ และเมื่อเดินทางมาทำงานอยู่ที่ จ.ชลบุรี คำสอนของพระองค์ก็ยังนำมาใช้ได้ โดยเฉพาะเรื่องความพอเพียง ความขยันอดทน และการประหยัดอดออม” น.ส.นิพาดา กล่าวด้วยน้ำตาคลอเบ้า