“ไอ้เด็กวัด” คำที่ถูกเรียกจนคุ้นเคยสำหรับหนูน้อยตัวจิ๋วที่ผูกพันอยู่ในวัดมาตั้งแต่แบเบาะ เด็กชายจิรกรณ์ ศรสงคราม หรือ น้องกร วัดป่ามณีกาญจน์
เนื่องจากคุณแม่อยากให้ลูกเป็นเด็กดีและซึมซับกับพระพุทธศาสนา ซึ่งนั่นจึงทำให้น้องกรได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์อำนวย จิตฺตสํวโร เจ้าอาวาสวัดป่ามณีกาญจน์จนได้เข้ามาเป็นเด็กวัดและบวชสามเณร กระทั่งตอนนี้แม้ว่าน้องกรจะเข้าโรงเรียนแล้ว ก็ยังคงทำหน้าที่เด็กวัดได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
ล่าสุดน้องกรยังได้มีโอกาสเข้ากราบสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 อีกด้วย นับว่าเป็นบุญของหนูน้อยคนนี้ยิ่งนัก
• เห็นว่าเมื่อไม่นานมานี้โลกออนไลน์ได้แชร์ภาพของน้องกร วัดป่ามณีกาญจน์ ก้มกราบสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20
พระอาจารย์อำนวย จิตฺตสํวโร : ใช่ จริงๆ แล้วก่อนที่ท่านจะเป็นสมเด็จพระสังฆราชเสียด้วย ก่อนหน้านั้นเจ้ากรก็จะเข้ากราบท่านเป็นประจำอยู่แล้ว อย่างเมื่อวันที่ 14 มกราคม ที่ผ่านมา เป็นภาพกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งขณะนั้น สมเด็จพระสังฆราช ท่านยังเป็น สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ อยู่ พอต่อมาท่านได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช เจ้ากรก็ได้เข้าไปกราบท่านอีกครั้ง
สมเด็จพระสังฆราชท่านจะชอบลูบหัวเจ้ากรแล้วก็สอนเขาอยู่ตลอด ซึ่งสายตาของเจ้ากรก็ตั้งใจฟังท่านมากๆ เลย ท่านสอนอะไรก็ตอบแต่ครับๆ ซึ่งท่านมักจะสอนเสมอว่าให้รักษาความดีเอาไว้นะ เจ้ากรก็ตกปากรับคำว่า “ครับ”
อย่างเมื่อคราวที่แล้วท่านบอกให้เจ้ากรมานี่หน่อย ท่านจะเป่าคาถาถุยน้ำลายใส่ให้ ซึ่ง ได้ทีเจ้ากรก็วิ่งหนีใหญ่เลย (หัวเราะ) สมเด็จพระสังฆราชตรัสว่า เด็กคนนี้ดังไปทั่วโลกเลย เอาหัวมาถุยน้ำลายใส่หน่อย ทีนี้ล่ะเจ้ากรวิ่งหนี บอกแต่ว่า "ไม่ได้ๆ แม่บอกว่าน้ำลายสกปรก" (หัวเราะ) ซึ่งท่านก็รักและเมตตาเด็กมากๆ ไปทีไรท่านก็จะลูบหัวเจ้ากรตลอดทุกครั้ง
ตรงนี้พระอาจารย์จะบอกว่าคนเราสร้างบุญมาด้วยกัน เคยมาเจอกัน ก็จะต้องเจอกันตลอด ลองสังเกตดูสิ
น้องกร : ท่านจะทำแบบนั้นเหมือนวันที่ได้เข้าไปกราบเลยครับ ทำแบบวันนั้นบ่อย ทำเหมือนเดิมเลยครับ
• เท่าที่ดูน้องกรก็ก้มกราบสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 ด้วยความนอบน้อม ไม่เขินอาย เหมือนว่าน้องกรจะผูกพันกับวัดและพระพุทธศาสนามากๆ
พระอาจารย์อำนวย จิตฺตสํวโร : เขามาอยู่ตั้งแต่ในท้องแม่เลย เห็นเขาตั้งแต่ผ้าอ้อม 3 เดือน ใส่ผ้าอ้อมมาอยู่ที่นี่ คุณแม่อาจจะมาก่อนนี้ที่อาจารย์ยังไม่เห็นก็มี ความเป็นแม่คน ตั้งแต่ตั้งท้อง จะทำยังไง ทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก ลูกคนแรก เรียกว่าเห่อใช่ไหม เห่อรึเปล่าก็ไม่รู้ แต่น่าจะมาจากความรักจริงที่มีให้กับลูกนี่แหละ พอมีลูกคนแรกก็นึกถึง จะทำยังไง มอบสิ่งดีๆ ให้กับลูกยังไงให้ได้มากที่สุด
บ้านเขาก็อยู่ตรงนี้ ใกล้ๆ วัดป่ามณีกาญจน์ แม่เขาก็เลยมา พอเข้ามาที่วัดป่า มาเห็นปฏิปทาของวัดป่า น่าจะเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดที่จะทำให้ลูกมีความสุข หรือเจริญได้ ก็เลยพาเข้ามา ตั้งแต่ 3 เดือน เลยล่ะ เรียกว่าตั้งแต่ใส่ผ้าห่อนั่นแหละ แม่เขาก็เอามาวาง หลวงปู่ก็ปล่อยไว้เลย ไล่แม่ไปทำงาน จัดกับข้าว ช่วยงานวัด ก็ปล่อยเด็กไว้นี่ แรกๆ แม่ก็ได้แต่ชะเง้อมองลูก ไอ้เราก็คอยดูอยู่เหมือนกัน โยมมาบางทีเห็นแต่กองผ้า จะเหยียบเอาจริงๆ นะ พอโยมเดินมา พระอาจารย์ก็ต้องบอกว่าเฮ้ย เดี๋ยวๆ เด็กอยู่ในนั้น เขาก็เบรก มองไม่เห็นเด็กเลยในนั้น มีแต่กองผ้า ถ้าเหยียบก็แบนแต๊ดแต๋หมด ก็ต้องบอกญาติโยมให้หยุดเดี๋ยวเหยียบเด็ก (หัวเราะ)
แต่ก่อนเขาก็ดิ้นๆ กรก็ร้องไห้ แม่ก็เฉย เพราะหลวงปู่ห้ามไว้ ไม่ให้มา พอมองดู แม่ไม่มา ก็เลิกร้อง ร้องไปทำไม เมื่อร้องแล้วไม่มีผล ใช่ไหม มองซ้าย มองขวา แม่ไม่มา ก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง เขาก็เริ่มหัดกระดึ๊บๆ แล้วออกมาจากผ้าได้ แต่ความเป็นห่วงของแม่ พอเขาคออ่อน จิ้มลงไปในผ้า ผ้าก็ปิดจมูก แม่เขาก็กลัว หลวงปู่ก็ได้แต่บอกสัตว์ในป่ายังไม่ตาย ยังไม่สูญพันเลย ปล่อยมัน เท่านั้นแหละ พออึดใจมันก็ลุกพรวดขึ้นมา มันจะช่วยเหลือตัวเอง แล้วก็เริ่มกระดึ๊บๆ คลานมาได้
พอคลานมาได้ มาถึงตรงนี้เขาก็หัดเกาะ หัดเดิน จนกระทั่งเดินได้ ทำอะไรต่อมิอะไรได้ ต้องขอบใจคุณแม่ด้วยนะ เพราะแม่เอามาทุกวัน เอามาเป็นประจำ
อีกอย่างเด็กเขามีนิสัยทางนี้ด้วย ดูความรู้สึกของเด็ก ถ้าเด็กมาวัดแล้วแฮปปี้ มีความสุข เขาอยู่บ้านก็เริ่มงอแงบ้าง อะไรบ้าง ถ้าเขามาวัดแล้วไม่งอแง เด็กมันมีนิสัยมาทางนี้
แม่น้องกร : จุดประสงค์ง่ายๆ ก็อย่างที่พระอาจารย์บอกเลยค่ะ คือพ่อแม่ยังไงก็อยากให้ลูกเป็นคนดี วิธีการที่จะทำให้เด็กเป็นคนดีจริงๆ ก็มีหลายวิธีแต่เราเลือกใช้วิธีคือการให้ลูกมาที่วัดเพราะว่าจะได้ซึมซับค่ะ
• เพราะเหตุนี้ก็เลยได้มาเป็นเด็กวัด วัดป่ามณีกาญจน์ตั้งแต่ยังเล็กใช่ไหมคะ
แม่น้องกร : ด้วยความที่เขายังเล็กมาก เขาก็ไม่สามารถจะโต้เถียงอะไรเราได้อยู่แล้ว เราก็เลยจะพามา แรกๆ เราก็ไม่ได้คิดอะไร พอถึงเวลาก็กลับบ้าน แต่พอหลังๆ พระอาจารย์ก็จะให้ปล่อยเขาทิ้งไว้ในเปล ให้เราไปทำอย่างอื่น ช่วยงานวัดแทนบ้าง ก็เลยได้ทำแบบนี้ตั้งแต่เขายังอายุ 4 เดือน จนพอโตเขาก็ได้มีโอกาสมาช่วยงานในวัด จนพระอาจารย์เรียกเขาว่า “ไอ้เด็กวัด” ซึ่งเราเป็นแม่ก็รู้สึกดีนะคะ คิดว่าทำไมมันอิ่มจัง มันน่ารักจัง ที่พระอาจารย์มองว่าลูกเราเป็นเด็กวัด
จริงๆ แม่ก็คิดไว้ตั้งแต่ทีแรกอยู่แล้วว่า เราจะพาเขาเข้าวัดเพื่อให้ซึมซับ แต่ว่ายิ่งเขาโตขึ้นมาเรื่อยๆ เขามองเห็น เขาเลยอยากทำตรงนี้ อาจด้วยเพราะเห็นพี่ชายซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน เขาก็จะเดินช่วยพระอาจารย์ถือของเหมือนกัน กรก็เลยอยากจะทำบ้าง ทุกวันนี้กรก็ยังคงทำหน้าที่เป็นประจำอยู่เรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกันคือพี่ชายลูกพี่ลูกน้องของเขาไม่ได้ทำแล้ว
พระอาจารย์อำนวย จิตฺตสํวโร : ก็จนกระทั่งเจ้ากร 1 ขวบ 3 เดือน หรือ 2 เดือนเนี่ยแหละ เขาก็เริ่มเดินได้เตาะแตะ เขาพูดเอง ยังพูดไม่ชัด เขาขอไปบิณฑบาตด้วย พระอาจารย์ก็บอกว่าเออ เขามองดูๆ เป็นประจำก็คงอยากจะไป แล้วช่วงนั้นพี่ชายเขาก็เคยมาบวชเณร เขาจ้องที่จะไปอยู่แล้วไง มีความอยากในใจ เขาพูดยังไม่ค่อยชัดเลย เขาเลยบอกว่า "ไปด้วยสิ" พระอาจารย์ก็บอกว่า "ไป" แม่เขาบอก "แน่ใจเหรอพระอาจารย์" พระอาจารย์ก็เลยบอกไปว่าถ้าไม่ไหวก็เดี๋ยวให้คนขับรถอุ้มกลับก็ได้ ก็ใส่หน้ารถไปเลย นั่นแหละวันแรกของเขา
วันแรกก็โชว์ผลงานได้ดีมาก เขาก็ดีใจ เดินเตาะแตะๆ เด็กเพิ่งจะหัดเดิน พอเขาเอากับข้าวมาใส่ พระอาจารย์ก็ให้เขาหิ้ว ยิ่งดีใจใหญ่เลย เหมือนได้ช่วยครูบาอาจารย์ ผ่านได้ เดินรอบตลาด พอวันที่ 2 เอาไป 2 ถุง เขาดีใจ ตอนถือถุงหันตัวเร็วไปหน่อย กับข้าวก็เลยเหวี่ยงเขาล้ม
ส่วนตัวพระอาจารย์ก็เคยอยู่ในกะเหรี่ยงมา เห็นกะเหรี่ยงเขาฝึกลูก ทำไมเด็กกะเหรี่ยงถึงได้เข้มแข็ง อาจารย์เคยอยู่ในนั้น อาจารย์ก็เลยเอาตรงนั้นมาสอน พอเขาล้มไป เขายกมือขึ้นมา หันไปดู ยกมือ รู้แล้วว่าอ้อน ในกะเหรี่ยงเขาไปเลยนะ แต่นี่อาจารย์เดินเข้าไปหา เขายกมือ พระอาจารย์มองแล้วก็บอกว่า ล้มเองก็ลุกเอง พระอาจารย์จะรีบกลับวัด
พระอาจารย์จะใช้วิธีกะเหรี่ยงเลย พอหันกลับมา เดินไปเลย สังเกต เขาวิ่งตาม เดินเตาะแตะๆ วิ่งตาม ตรงนี้เป็นการให้เขาช่วยเหลือตัวเอง เขาจะได้เข้มแข็ง จนกระทั่งปัจจุบันช่วยเหลือตัวเองได้เกือบทุกอย่างเลย
• เป็นเด็กวัดมาตั้งแต่ยังเล็ก แบบนี้มีหน้าที่อะไรบ้างคะ
น้องกร : หน้าที่หลักเลยคือไปหิ้วกับข้าวครับ แต่กรจะชอบหน้าที่บิณฑบาตครับผม เพราะว่ากรชอบมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว
พระอาจารย์อำนวย จิตฺตสํวโร : หน้าที่นี้จะทำทุกวัน ทำมาหลายปีแล้วนะ อันนี้เด่นมาก เป็นที่ยอมรับ ก็อันนี้แหละ เขาจะมาช่วย มานั่งอยู่ข้างพระอาจารย์ เวลาใครจะประเคน ถวายสังฆทาน เขาจะช่วยยกข้าวยกของ มีนิสัยแบบนี้มาตั้งแต่เล็กๆ ภาพที่เขานั่งหลับน่ะแหละ ตอนนั้นรู้สึกจะมีงานเททอง หล่อพระ คนเขาเอาทองมาถวาย เจ้ากรก็นั่งหลับอยู่ เขาเหน็ดเหนื่อย แต่เขาก็ยังลุกขึ้นมานั่ง หยิบนู่นหยิบนี่ต่อ กรนี่แหละเป็นคนไปหยิบมาทั้งวัน
• เห็นว่าตอนนี้น้องกรเข้าโรงเรียนแล้ว แล้วหน้าที่ตอนนี้ยังเหมือนเดิมไหมคะ
น้องกร : หนูต้องมาทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ จะมานอนวัดคืนวันศุกร์กับคืนวันเสาร์ครับ
พระอาจารย์อำนวย จิตฺตสํวโร : ตอนนี้เขาเข้าโรงเรียนแล้วเขาก็จะมาวัด ทุกเย็นวันศุกร์ คุณแม่เขาจะพามาส่ง เขาจะมานอนวัดคืนวันศุกร์กับคืนวันเสาร์ มาอยู่กับพระอาจารย์ ถือศีล 8 กินข้าวมื้อเดียวเลย เพราะว่าเขาเคยบวชเณรแล้ว
แม่น้องกร : ตอนที่เราพามาวัดทุกวันเขาก็จะเต็มใจมาเลย มันเหมือนเป็นหน้าที่ คำว่าเป็นหน้าที่คือเขาจะรู้ว่าทุกเช้าเขาต้องมาวัดเพื่ออะไร ทำอะไร ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์น้องกรจะถือศีล 8 เป็นประจำ น้องจะทำด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องบอกเลยว่าจะให้ทำอะไร อย่างวันศุกร์เขาต้องนอนวัดเขาก็จะถามเราว่าแม่วันนี้ วันอะไร เขาจะถามตลอด
น้องเปลี่ยนไปไหมตั้งแต่เป็นเด็กวัด แม่ว่าทุกอย่างมันก็เปลี่ยนไปตามวัยของเขา อย่างคำว่าหน้าที่ อะไรที่เขาจับเขาทำได้เขาก็จะไปช่วยพระอาจารย์ทำ ปัดกวาดบ้าง ไปช่วยบิณฑบาต นู่นนี่นั่นบ้าง
• ถือศีล 8 ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์เลยเหรอคะ
พระอาจารย์อำนวย จิตฺตสํวโร : ปกติหมดนะ ถ้าใครมาวัดป่าจะเหมือนกันทั้งผู้หญิงผู้ชายเลย ซึ่งถ้าใครมานอนวัด จะต้องถือศีล 8 เหมือนกันหมด มื้อเดียวเหมือนกัน นอนเสื่อเหมือนๆ กัน ซึ่งเจ้ากรก็เป็นแบบนั้นถามว่าเขาเหนื่อยไหม เขาก็ไม่เคยบ่นนะ ไม่งอแง พูดคำเดียวรู้เรื่องเลยแต่ตอนเด็กๆ ก็มีหลายคำ ตอนนี้คำเดียว มีหลายคนพูดเหมือนกันนะว่ากรถูกพระอาจารย์บังคับมาหรือเปล่า ไหนกรบอกเขาหน่อยซิ (หัวเราะ)
น้องกร : กรไม่เหนื่อยครับ ไม่ถูกบังคับด้วย ไม่เคยเบื่อเลยครับ
• แล้วพระอาจารย์สอนอะไรน้องกรบ้างคะ น้องกรเชื่อฟังและทำตามแต่โดยดีเลยใช่ไหมคะ
พระอาจารย์อำนวย จิตฺตสํวโร : ก็สอนทุกอย่างนะ ทำทุกอย่าง เหมือนพ่อกับลูก แม่กับลูกนั่นแหละ ไอ้ที่เราใกล้ชิดกับเขาเนี่ย มันไม่มีในตำราหรอก มันออกมาจากความรู้สึก ที่ว่าเขา ห้ามเขาบ้าง อะไรเขาบ้าง มันจะออกมาเองเลย บางทีลงโทษบ้าง บางทีให้รางวัลบ้าง ออกมาจากใจของเรา
ยกตัวอย่างเช่น พระอาจารย์จะสอนให้เขามีน้ำใจ รู้จักไหม น้ำใจมันแห้ง มันไม่ดีใช่ไหม มีน้ำใจมันดี มีน้ำใจต่อกัน อยู่ด้วยกัน เรารู้เองควรจะทำอะไร จิตสำนึกของแต่ละคน เรียกว่าวิสัยหรือนิสัยก็ได้ที่สร้างสมมา แต่ละคนเด่นไปทางไหน ชอบทางไหน แล้วก็สอนเรื่องศีลเขา ให้เขานั่งสมาธิ ภาวนา การเลือกเฟ้นเอาเรื่องที่ได้ยิน ได้ฟังมาใคร่ครวญคิดพิจารณา แจกแจง และเรื่องอะไรต่อมิอะไร
ตอนนี้เขาก็จะเริ่มรู้แล้วว่า อะไรดี อะไรไม่ดี อะไรถูก อะไรผิด แต่บางครั้งก็จะเตือนให้เขาต้องระวัง ต้องสอนต่ออีก
อย่างเรื่องสถานการณ์หรือสถานที่ก็จะบอกให้เขาดูด้วย พูดเก่งแต่จะเอาไปใช้ทุกที่ไม่ได้ อย่างเมื่อเช้าไปตลาดมาเจ้ากรไปบอกแม่ค้าว่าฆ่าปลาไม่ดีนะ แล้วแม่ค้าเขาก็กำลังทุบหัวปลาอยู่ พระอาจารย์รีบดึงมือมาเลยเพราะแม่ค้าบอกว่าเดี๋ยวจะเอามีดฟันปากคน (หัวเราะ) พระอาจารย์เลยรีบดึงบอกไปๆ กรกลับเถอะ ไปพูดอะไรในตลาดตอนนี้ล่ะ แม่ค้าเขาขายปลาไปบอกแม่ค้าว่าฆ่าปลาไม่ดีนะ รีบกลับวัดด่วนเลย ซึ่งเราก็บอกให้มาพูดที่วัด ไปพูดตรงนั้นไม่ได้เขากำลังค้าขายของเขาอยู่ อันนี้ก็เป็นธรรมะ เราต้องรู้จักสถานที่ในการพูด ในการจา นี่พระพุทธเจ้าสอนเลยนะ กาลเวลา สถานที่ บุคคล สามารถเอาไปใช้ได้จริงๆ เลย
เราก็จะเน้นเขาตรงนั้นว่าเราต้องรู้จักสถานที่ในการพูด ไม่ได้จะสามารถพูดมั่วไปได้เรื่อยๆ เราพูดถูกก็จริงแต่มันไม่ถูกสถานที่เดี๋ยวเขาจะเอามีดฟันปาก (หัวเราะ) แบบนี้เป็นต้น มันไม่มีในตำราหรอกแต่เราต้องอาศัยความใกล้ชิด มีอะไรจะสอนก็สอนกันเลย พ่อแม่กับลูกใกล้ชิดก็สอนกันอยู่ตลอด เราก็จะพยายามสอน
• เห็นอะไรในตัวลูกศิษย์คนนี้บ้างคะ ตั้งแต่อายุ 3 เดือน จนถึงปัจจุบันนี้ การเข้าหาธรรมะทำให้น้องเปลี่ยนไปบ้างไหมคะ
น้องกร : ไม่มี ดีอยู่ตลอด
พระอาจารย์อำนวย จิตฺตสํวโร : ความเปลี่ยนแปลงของเขาก็มี เริ่มเรียนรู้ รับผิดชอบอะไรๆ มากขึ้น พระอาจารย์ก็คิดว่าตรงนี้นะ อยากให้ทุกคนมีเวลาให้ลูกให้หลาน การเปลี่ยนแปลงตรงนี้เหมือนกับว่า เราเอาลูกเข้ามาซึมซับ เขาไปอยู่ตรงไหนนานๆ มันจะต้องซึมซับแน่นอน อยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ทำยังไง เขาจะดูนะ
อย่างเมื่อสองสามวันก่อนที่แม่เขาถ่ายคลิปไว้ ที่เณรไปไม่ทัน พระไปหน้าวัด เณรก็รีบไป กรก็จะบอกว่านี่เณรอย่าวิ่ง เขาซึมซับ ได้ยินครูบาอาจารย์พูด เขาเห็นกริยาครูบาอาจารย์ เขาก็พูดออกมาเลย คือการซึมซับ เขาห้ามเณร ไม่ให้เณรวิ่งนะ ไม่สวยนะ ไม่ได้นะ อะไรประมาณนี้
อันนี้พระอาจารย์จะใช้คำว่าซึมซับเพราะว่าจะรณรงค์ให้เด็กๆ ทางบ้านหรือพ่อแม่ทางบ้านได้รู้ว่าที่ไหนควรไป หรือไม่ควรไป อะไรควรทำ หรือไม่ควรทำ ลูกหลานจะได้ซึมซับสิ่งต่างๆ ไป
• ตอนนี้เข้าโรงเรียนแล้วแบบนี้ชอบไปโรงเรียน หรือชอบมาอยู่ที่วัดมากกว่ากันคะ
น้องกร : อยู่โรงเรียนครับ สนุกกว่า แต่กรจะมาวัดเพราะว่ากรอยากมาทำหน้าที่ของตัวเองให้เสร็จก่อน บางทีกรไม่อยากรอพระอาจารย์ กรอยากไปบิณฑบาตเองเลย
พระอาจารย์อำนวย จิตฺตสํวโร : เขาคงเข้าใจผิดว่าถ้าพระอาจารย์ไม่อยู่ก็ไม่เป็นไรเขาจะไปบิณฑบาตเองเลย เขาจะไม่คอยพระอาจารย์ (หัวเราะ) คืออย่างพระอาจารย์มีงาน เขาก็ยังมาวัดอยู่ โดยที่เขาสามารถไปบิณฑบาตกับพระรูปอื่นก็ได้ เพราะเขาถือว่าการหิ้วกระเป๋าคือหน้าที่ของเขา เขาจะเน้นตรงนี้
อย่างบางครั้งเขาเป็นหวัด ไม่สบาย หรือบางครั้งฝนตกแต่เขาก็จะมา แม่เขาก็จะสงสารเขานะ บางทีเขาไม่ไหวจริงๆ นะ ตาแดงไปหมดเลยนะ แต่เขารู้หน้าที่ เขาจะเน้นหน้าที่ของตัวเอง
• แล้วพระพุทธศาสนาช่วยอะไรในการเรียนหนังสือบ้างไหมคะ ทำให้เรียนเก่งขึ้นไหม หรือทำให้เรียนมีสมาธิขึ้นไหม
น้องกร : ยังไม่ดีขึ้นเลย ต้องนั่งสมาธิให้เยอะขึ้นกว่าเก่าครับ
พระอาจารย์อำนวย จิตฺตสํวโร : การนั่งสมาธิมันเกี่ยวเนื่องกันอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องจิตใจของคน คนเราที่เรียนหนังสือดี ไม่ดี มันเกี่ยวกับเรื่องสมาธิว่าของใครมีมากหรือน้อยกว่ากัน การจดจ้อง จดจ่อ บางคนท่าทางเหมือนตั้งใจเรียนแต่ใจคิดอะไรอยู่ก็ไม่รู้ มันก็ไม่รู้เรื่องหรอก บางทีครูสะกิดพูดอะไร ถามอะไร ยังไม่รู้เรื่องเลย เหมือนว่าตั้งใจฟังแต่ใจคิดไปถึงไหนต่อไหน ตาลอยไปซะแล้ว แบบนี้คือไม่มีสมาธิ ไม่ได้อยู่ในสิ่งนั้นๆ เราก็จะฝึกเขาเรื่องนี้ ทั้งเด็กคนอื่นๆ ที่อยู่ที่วัดนี้แล้วก็ทั้งญาติโยมด้วยให้ฝึกเรื่องสมาธิ ภาวนา
แม่น้องกร : ถ้าอย่างการเรียนอยู่โรงเรียนเราก็ไม่ได้ไปเห็นตลอด แล้วอีกอย่างเรามองว่าเรื่องวิชาการเป็นเรื่องรอง แต่ว่าเราจะชอบวิธีการใช้ชีวิตมากกว่าเพราะว่าถ้าเขาใช้ชีวิตด้วยตัวเขาเองโดยการช่วยเหลือตัวเองได้ อันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขา แล้วก็เท่าที่ดูที่เขาอยู่กับพระอาจารย์ ซึ่งเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ค่อนข้างเยอะ พัฒนาการทางด้านนี้เขาดีขึ้นมาก
• อยากฝากให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจในพระพุทธศาสนากันอย่างไรบ้างคะ
พระอาจารย์อำนวย จิตฺตสํวโร : เด็กรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหนๆ แต่รุ่นใหม่นี่น่าเป็นห่วงมาก รุ่นโลกาภิวัตน์แบบนี้เราต้องฝากไปที่พ่อแม่ว่าให้ความสำคัญว่าที่เราเหนื่อยในการทำการ ทำงานก็เพื่ออะไร เพื่อครอบครัวลูกๆ นี่เป็นหัวใจสำคัญเลย แล้วเด็กๆ เหนื่อยในการร่ำเรียนไปเพื่ออะไร เหนื่อยไปก็เพื่อจะได้ไปทำการ ทำงาน มีอาชีพ การงานที่ดีจะได้มีเงิน มีทองมา มาเพื่อปัจจัย 4 มาเพื่อดูแลครอบครัวกันบ้าง เคยมีคำถามว่าการสร้างครอบครัวให้อบอุ่นสร้างกันยังไงมันไม่ใช่เรื่องเงินทองอย่างเดียวนะ ก็เลยอยากให้ทุกคนได้มีเวลาให้กับครอบครัวกันบ้างโดยเฉพาะเด็กๆ
วัดป่ามณีกาญจน์ก็เลยจะรณรงค์เสาร์ อาทิตย์เป็นวันครอบครัว ก็จะเห็นวันเสาร์ อาทิตย์จะมีเด็กๆ มาเป็นแถวยาวเลย จะรณรงค์ให้หยุดการ หยุดงานบ้าง หยุดเรียนบ้าง พร้อมหน้าพร้อมตากันมาทำบุญ ทำทานพร้อมกัน มันประสบความสำเร็จในชีวิตนะ การงานของพ่อแม่ก็ดีขึ้น การเรียนของลูกก็ดีขึ้น นี่แหละทางศาสนาสอนอย่างนี้ว่าตรงใจ สำเร็จแล้วที่ใจ เมื่อใจของเราดีอะไรๆ ก็จะดีตาม อย่าไปผิดพลาดกันตรงนี้ บางคนทำเพื่อครอบครัวจนกระทั่งไม่มีเวลาเพราะทำงานอยู่ตลอด หันมาดูครอบครัวไปไหนหมดแล้วก็ไม่รู้มาร้องไห้กับอาจารย์บวชยาวเลยก็มี เงินเอาอยู่แต่หัวใจสำคัญคือต้องมีเวลาให้ซึ่งกันและกัน ก็อยากฝากไปว่าให้มีวันครอบครัวจะได้มีเวลาให้กับครอบครัวบ้าง
แม่น้องกร : ต้องให้เวลาค่ะ คืออย่างสมมุติถ้าเราพาเด็กมาวัด 1 วัน หายไป 1 สัปดาห์ มาอีก 1 วัน หายไป 2 สัปดาห์ มาอีก 1 วัน มันไม่เกิดความสม่ำเสมอแต่ถ้าเกิดเราตั้งใจ ซึ่งเราอาจจะไม่ได้มีเวลาเยอะขนาดนั้น แต่เราวางแผน เราตั้งเกณฑ์ไว้เลยว่าวันอาทิตย์เราจะต้องมาวัด ถ้าวันอาทิตย์เราจะต้องมาวัด เหมือนกร ทุกวัน ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์จะต้องอยู่วัดเขาก็จะรู้หน้าที่ว่า ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์เขาจะต้องอยู่วัด เด็กทุกคนถ้าเราสร้าง เริ่มต้นว่าวันอาทิตย์เราจะมาวัด ทำทุกอาทิตย์ เกิดความสม่ำเสมอเด็กจะไม่มีการโดดไปทำอย่างอื่น
เท่าที่เราสังเกตดูเวลาที่กรมาอยู่วัดเขาก็จะวิ่งเล่นของเขาตามปกติ มีอะไรเขาก็จะทำ คนอาจจะมองว่าเขาซน แต่คือด้วยความที่เขาเป็นเด็ก พลังงานเขาเยอะก็จะวิ่งเล่นไปเรื่อย ถามว่าเรียกร้องหาเพื่อนไหมก็ไม่เลยค่ะ เขาจะเล่นปกติ เจอหนังสือเขาก็จะหยิบอ่าน เจอกิ่งไม้ เจอขี้ดินก็จะเล่น ไปทำงานกับพระอาจารย์เขาก็จะสังเกต จะดู พอกลับไปบ้านเขาก็จะหยิบจับดูแล้วก็ถาม อนาคตแม่ก็จะให้มาวัดอยู่ ถ้าเขายังมาและไม่ปฏิเสธเราก็จะทำต่อไปเรื่อยๆ ค่ะ
เรื่อง : วรัญญา งามขำ
ภาพ : วชิร สายจำปา และ FB PAGE : น้องกร วัดป่ามณีกาญจน์