xs
xsm
sm
md
lg

พ่อพระในโลกสีหม่น “ครูอ๊อด สุรชัย” แห่งบ้านนกขมิ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากเด็กบ้านแตกสาแหรกขาด ถูกดูหมิ่นแคลนเป็นภาระตัวถ่วงเป็นเด็กเร่ร่อนปัญหาของสังคม ใครเล่าจะคิดว่าวันหนึ่งเขาจะคว้าใบปริญญาและทำหน้าที่ช่วยเหลือสังคมมากว่า 20 ปีและนับจากนี้ไปตลอดลมหายใจ

ท่ามกลางสังคมตัวใครตัวมัน การที่ใครสักคนหนึ่งจะกลายเป็นอะไรสักหนึ่งอย่างเพื่อคนอื่น ใครสักคนหนึ่งจะเอาชีวิตและอนาคตตัวเองที่ล้ำค่ามาช่วยเหลือเด็กๆ เร่ร่อน เด็กกำพร้า เด็กด้อยโอกาส คนชรา และผู้ติดยาเสพติด คงจะเป็นเพียงนิยายหรือไม่ก็คำเล่าคร่ำครึของบทภาพยนตร์ในจอ ซึ่งไม่ต่างจากชีวิตจริงๆ ของเด็กเร่ร่อน หมองหม่นไปด้วยอณูที่ไร้รูปจับต้องมองเห็น

แต่เรื่องราวเหล่านี้หลอมรวมอยู่ในตัวชายเพียงคนเดียว “อ๊อด-สุรชัย สุขเขียวอ่อน” หรือ “ครูอ๊อด” แห่งมูลนิธิบ้านนกขมิ้น ชายที่กว่า 30 ปีและอีก 40-50-60…ในอนาคต เข็มนาฬิกาชีวิตตีบอกเพียงหมุดหมายเดียวคือช่วยเหลือเปลี่ยนแปลงก่อร่างสร้างพื้นที่คอนกรีตบ้านสี่เหลี่ยมให้แข็งแรง อบอุ่น และเรียกคืนความสดใสด้วยความรักเสมือนครอบครัว…

เพียงโอกาส “ที่หยิบยื่น”
ก็สร้าง “หัวใจ” ดวงใหม่ที่เต็มไปด้วยความรัก

“เพราะเราทุกคนเป็นคนดี แต่สภาวะแวดล้อมทำให้เขามีปัญหา แต่ถ้าคุณหยิบยื่นโอกาสให้ที่ยืนในสังคมกับเขา เขาก็สามารถกลับตัวเป็นคนดีได้”
ครูอ๊อด หรือนายสุรชัย สุขเขียวอ่อน ประธานและผู้อำนวยการมูลนิธิบ้านนกขมิ้นคนปัจจุบัน เริ่มต้นบทสนทนาถึงวัตถุประสงค์การทำงานช่วยเหลือตั้งแต่เด็กเร่ร่อน เด็กกำพร้า กระทั่งคนแก่ชราภาพที่ไร้ผู้คนสนใจ เป็นระยะเวลาร่วม 30 ปี กระทั่งปัจจุบัน…

“เพราะเดิมที ผมก็ไม่ต่างจากพวกเขาเหล่านี้ ผมเป็นเด็กกำพร้าพ่อแม่แยกทางกัน ไม่รู้จักแม่จนกระทั่งอายุ 40 และเคยเป็นเด็กเร่ร่อนข้างถนนที่ตลาดคลองเตย ผมจึงเข้าใจความรู้สึกนั้นดี

“ความรู้สึกที่ถูกมองเป็นสิ่งไร้ค่า ความรู้สึกทางจิตใจที่ไม่มีใครรัก มันสะสมและกดดัน ก่อนจะผลักให้เราออกมาเผชิญโลกด้วยตัวเอง”

จะอยู่อย่างนี้จะไปอย่างไร?
เราจะเป็นอย่างไร?
ความคิดมันก็บอกเราว่าเราก็อยู่ของเราเองได้ ผลสุดท้ายคือการหนีออกจากบ้าน ซึ่งเป็นปัญหาหลักใหญ่ใจความต้นเหตุ

“ช่วงนั้นตอนเรียนประมาณ ป.4 อายุ 10-11 ขวบ สิ่งที่เราสะสมมันระเบิด คือสิ่งที่เราถูกมองว่าไร้ค่า ไม่มีใครรัก เนื่องจากพอคุณแม่กับคุณพ่อเลิกกัน ผมไปอยู่กับคุณพ่อ แล้วคุณพ่อก็มีแม่ใหม่ ลูกของแม่ใหม่ซึ่งอายุมากกว่า ก็ถากถางเรา คอยพูดตลอดว่าเราเป็นตัวภาระบ้าง ว่าพ่อเราเป็นตัวภาระบ้างเพราะเป็นแค่คนงาน บางทีก็ลามมาเรื่องเรียนที่เราไม่ค่อยฉลาด ว่าเราโง่บ้าง ปัญญาอ่อนบ้าง หนักสุดคือทำเหมือนเราเป็นส่วนเกิน คือมีไก่ชิ้นหนึ่งเขากินเสร็จแล้วเขาก็ให้เรา มันก็เหมือนกับหมาที่บ้าน เราก็นั่งมอง เราก็ไม่ต่างกับมัน ก็รู้สึกอย่างนั้น ขมขื่นอยู่ในใจ

“ทั้งที่จริงๆ เราไม่ได้อยากจะรบกวน แล้วเราก็ไม่คิดว่าเรากับเขาต่างกัน เราคิดว่าเป็นญาติเป็นพี่น้อง เราคิดถึงบุญคุณของพวกเขาตลอด ก็พยายามช่วยตัวเอง เราก็หางานหาอะไรทำ ไปเก็บพวกกระดาษเศษเหล็ก ไปซื้อกางเกง เราก็ใส่ไว้ที่ตู้เรา แต่แม่เลี้ยงก็เอาไปให้พี่ใส่ มันก็เป็นความรู้สึกที่มันกดดันไปเรื่อยๆ เราก็เลยหนีออกจากบ้าน”

ไม่ใช่เพราะคับที่ต้องนอนกลางบ้านไม่มีห้องหับหรือการไร้ซึ่งอภิสิทธิ์ในข้าวของเครื่องใช้บางประเภท อาทิ โทรทัศน์ที่ต้องเฝ้าคอยดูตามรายการเจ้าบ้านตามกฎหมาย แต่เพราะจิตใจที่โดนแทงทิ่มด้วยน้ำคำอยู่ทุกเช้าค่ำและการกระทำที่ต่างระดับเป็นประชาชนชั้นสองต่างหาก

“คับที่อยู่ได้ แต่คับใจอยู่ยาก” ครูอ๊อดเผยถึงความรู้สึกในช่วงเวลานั้น
“ก็หนีออกจากบ้าน แต่ก็ไม่ได้ไปไกลอยู่แถวตลาดคลองเตยคุณพ่อก็หาไม่เจอแล้ว เพราะหลายตรอกซอกซอย เราก็ได้เห็นชีวิตเด็ก ซึ่งพอดีตอนนั้นที่คลองเตยมีหนังไหว้เจ้าที่ศาล ก็นั่งดูนั่งนอนอยู่ที่นั่น แล้วกินที่ไหน ก็กินที่ตลาดโต้งรุ่ง ขอเขากินบ้าง แล้วก็ที่พวกเขาเข็นผักผลไม้ตกๆ เราก็กินได้ แต่ก็เริ่มที่จะลักขโมย แล้วก็ลองใช้ยาเสพติด เนื่องจากอยู่กลุ่มเขา ถ้าจะอยู่กับกลุ่มต้องอยู่ให้เป็น ก็ลองหมด กัญชา ทินเนอร์ เขาดมกันอย่างไรให้รู้สึกว่ามันลอย แต่เราคิดว่าเราไม่เหมาะ คือพอลองแล้วมันไอ สำลัก ลองหมด

“แล้วบังเอิญในระหว่างนั้น เพื่อนรุ่นพี่ถูกไล่ฟัน คงเพราะไปมีเรื่องมีราวกับแก๊งอื่น เรานึกเลยว่าเขาตายแน่ๆ แล้วถ้าเขาตายเราจะไปเหลืออะไร สักวันเราคงไม่รอด เราก็เลยเอาตัวรอดก่อนด้วยความกลัว ก็เลยคิดถึงปู่กับย่าที่ซอยเป๊ปซี่ ก็ใกล้ๆ ละแวกแถวนั้น ก็ไปอยู่กับท่าน

“แต่ตอนแรกที่ไม่ไปเพราะใจมันอยากจะมาเร่ร่อน คิดว่าไม่มีใครเอาเราแล้ว เพราะถ้าเขาสนใจ เขาก็คงเอาเราไปอยู่ก่อนแล้ว ในช่วงเวลานั้นที่เราคิด แต่ท่านก็แก่กันมากแล้ว ไม่ได้รู้ข่าวคราวว่าเรามีปัญหาอย่างนั้น เลยคิดว่าเราอยู่สบายกับพ่อกับบ้านใหม่ นั่นคือเหตุผล”

ครูอ๊อดกล่าวด้วยสีหน้ารอยยิ้มเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มเรื่อง นั่นเพราะเขาได้รับไออุ่นครั้งแรกที่สัมผัสได้ของทั้งความรู้สึกการมีบ้าน คนที่ไม่เคยมีปัญหาย่อมไม่มีวันเข้าใจ และผู้ชายอกสามศอกอย่างพ่อที่คาดและหวังดีให้เขามีชีวิตสดใสแม้ทำให้ตัวเองและลูกนั้นห่างเหิน

“พอพ่อรู้พ่อก็ไม่ได้ว่าอะไร พ่อก็ส่งเสียให้เรียนเหมือนเดิม แต่ผมเรียนไม่เก่ง แต่เรื่องที่ทำให้สะเทือนใจ ผมเรียนไม่เก่ง พ่อก็เขาตี แต่ทีนี้พอเขาตีเสร็จแล้วก็ไปหักไม้แล้วไปร้องไห้ เขาเป็นผู้ชายนะ เราเห็นก็รู้สึกว่าเขาไม่ได้อยากจะทอดทิ้งเรา แต่ที่เขาไม่มีเวลาให้เรานั้นเพราะรูปแบบชีวิตที่ต้องดิ้นรน เขาก็คาดหวังกับชีวิตเรา ก็เลยเริ่มอยากจะตั้งใจเรียน เป็นจุดพลิกตอน ป.4 หลังจากซ้ำชั้น

“ก็เริ่มจากพยายามอ่านให้ออก เพราะตอนแรกอ่านไม่ออกเลย เขียนไม่ได้เลย ก็พยายามอ่านจากกการฟังเพลง แล้วพอเริ่มอ่านได้ก็ทำเฉลยข้อสอบ จากที่สอบได้ที่ 41-42 ก็กระโดดมาที่ 20 กว่า ครึ่งๆ เลยๆ ในช่วง ป.5 ครูก็งงสงสัย คือเราก็อยากทำอะไรให้พ่อบ้าง แล้วก็อยากจะทำอะไรให้คนไม่ดูถูกเรา เพราะใครก็บอกว่าเราโง่ เราปัญญาอ่อน เราก็เริ่มตั้งใจเรียนมาเรื่อยๆ

“แต่ก็แอบมีเกเรนิดหน่อยๆ” ครูอ๊อดเผยถึงสภาพความกดดันและแรงผลักทางด้านลบที่ทำให้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามแรงขับเหล่านี้ก็ยังเกาะกุมหัวใจให้หมองหม่น

“เรื่องคำคนด้วย เรื่องของช่วงวัยด้วย เราก็เลยจะดีก็ยังไม่ดี พูดๆ ง่ายๆ ยังไม่ได้สมบูรณ์ เราเป็นเด็กมีปัญหา ที่ดีขึ้นมาเพราะคำดูถูก เพราะตอนมาเรียนชั้นมัธยมที่เรียนพระโขนงวิทยาลัย ที่เราเลือกมาสอบเข้าที่นี่ก็เพราะพวกเพื่อนๆ ที่ชอบว่าเราตอนประถมจนไม่ค่อยถูกกันไปเข้าอยู่โรงเรียนปทุมคงคา ซึ่งเป็นโรงเรียนคู่อริ สมัยก่อนนั้นตีกันประจำ เราเรียนที่นั่นจะได้ยกพวกมาตีกัน ก็เป็นแรงบันดาลใจจริงๆ ไม่มีอะไรมาก

“แต่ทว่าระหว่างที่เรียนๆ อยู่ ผมก็ไม่มีวิชาอะไรที่เก่งเลย แม้จะตั้งใจเรียนมากขึ้น แต่พื้นฐานเราช้ากว่าคนอื่น กว่าจะอ่านออกก็ ป.4 เข้าไปแล้ว จะมีอย่างเดียวก็คือเรื่องการวาดรูป ถามว่าทำไมก็คงอาจเพราะชีวิตผมได้แต่จินตนาการโน่นนี่นั่นมาตลอดเพื่อหลีกหนีชีวิตความเป็นจริงที่ขมขื่น แล้วส่วนมากผมจะชอบวาดรูปบ้าน ก็วาดๆ จนสวย ครูแนะแนวที่จะแนะแนวเรื่องการศึกษาต่อก็มาเห็น ก็บอกกับผมว่าผมสามารถเรียนพวกสถาปัตย์ดีกว่าเป็น ปวช. เราก็ยังถามว่าได้ไหม (ยิ้ม)

“ครูก็บอกว่าได้ ก็ไปเรียนไปสมัคร ตอนนั้นก็เป็นของเอกชน ก็มีปัญหาตีกันบ้างอะไรบ้างแต่น้อยลงเยอะ เพราะแม้เรื่องค่าเรียนตอนนั้นยังไม่แพงเท่าไหร่ พ่อพอส่งได้ เทอมหนึ่ง 2,000 กว่าบาท แต่เงินไปโรงเรียนไม่ค่อยมี เราก็พยายามจะทำอย่างไรให้พอ ก็ไปเก็บของเก่า เก็บเศษกระดาษเหมือนเดิม แต่บังเอิญจังหวะนั้นน้องชายร่วมพ่อแต่ต่างแม่อีกคนหนึ่งออกรถมอเตอร์ไซค์ ก็ไปปรึกษาหารือกันจ้างเอาไก่ไปส่งกับน้องชาย”

ทำควบคู่ไปกับศึกษาเล่าเรียนไป สามารถประคับประคองชีวิตให้เลือกและลิขิตได้ด้วยตัวเอง
“ชีวิตหลังจากนั้นก็ดีขึ้น ดีขนาดพ่อมีความคาดหวังอยากให้เป็นนายร้อยทหาร เราก็ทำให้ หลังเลิกเรียนก็ไปเรียนกวดวิชาที่วัดเสาชิงช้าภาคค่ำเพื่อไปสอบ แต่พอถึงเกณฑ์อายุผมเกิน พ่อก็ผิดหวัง แต่พ่อก็บอกให้ไปเรียนนิติศาสตร์ที่รามคำแหงแทน เพื่อที่จะสอบนายร้อยตำรวจ

“ซึ่งที่นี่เองที่เป็นจุดเปลี่ยน” ครูอ๊อดกล่าว ก่อนจะบอกเล่าเรื่องราวเส้นทางอันเป็นมหากาพย์หนึ่งของชีวิตที่คล้ายดั่งพระเจ้าที่นับถือเป็นผู้ลิขิตเส้นทาง ก่อนที่อดีตเด็กเร่ร่อนจะเติบใหญ่กลายเป็นพ่อคนของลูกในไส้และนอกไส้ หรือเป็นครูผู้ให้จากชีวิตที่เคยได้แต่รับ

“คือพอมาเรียนเราก็มีเพื่อน เพื่อนก็ชักชวนกันไปเข้าชมรม ชมรมแรกที่ผมเข้าก็คือชมรมปาฐกถาและโต้วาที ผมอยู่ได้สักพักก็มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก เราแปลกแยกก็เลยออกมาตั้งกลุ่มเอง ทีนี้พอชมรมก็ไม่มีขึ้น ซุ้มก็ไม่มีนั่ง ก็เลยไปดูที่ที่มันพอมีอยู่ว่างๆ ก็ไปเจอที่ใกล้ๆ หอประชุม AD1 เป็นหอประชุมแรกๆ ของมหาวิทยาลัยกับเพื่อนๆ ก็สร้างซุ้มของตัวเองซะเลย (หัวเราะ) ค่อยๆ เอาเศษไม้มาทำจนเป็นซุ้มชื่อ ‘ลานพ่อขุน’ เพราะเราไปเจอะเจอกันที่ลานพ่อขุน เป็นคนที่มาวิ่งแก้บนซะส่วนใหญ่ ก็รวมกลุ่มกันแต่ก็ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน มีวัตถุประสงค์เพื่อการใด

“กระทั่งเพื่อนคนหนึ่งที่เขามาจากอ่างทอง เขาก็บอกว่าที่บ้านเขามีเด็กกำพร้า ในใจเราก็โดนกับเรื่องตรงนี้อยู่แล้ว เขาบอกว่าทำอะไรกันไหมเพื่อที่จะเอาเงินไปช่วยซื้อข้าวสาร ซื้อของให้เด็กขาดโอกาสเล่านี้ นั่นคือจุดเริ่มต้น ซึ่งพอคิดอย่างนั้นเราก็คิดว่าเราจะทำอะไรกันดี ก็จัดกิจกรรมในห้องประชุม ทำคล้าย น้ำอัดลมโบราณ ทำเก๊กฮวย น้ำสมุนไพร ก็ขายหน้ารามเพื่อรวบรวมเงินเอาไปช่วยเด็ก

การขอเพื่อปากท้องตัวเองในอดีตเพื่อความอยู่รอดจึงแปรเปลี่ยนค่าเพิ่มมากขึ้นเป็นการส่งต่อให้กับคนอื่นโดยที่เขาขาดโอกาสและกำลังประสบปัญหามากกว่าตัวเอง

“คือแม้ว่าตัวเราเองยังไม่รอด ถ้าถามว่าทำไมถึงต้องไปช่วย จริงๆ มันเป็นกำแพง ที่คนบอกว่าต้องรวยก่อนถึงจะช่วยได้ แต่คนเรามันต้องรู้จักแบ่งปันก่อน ในยามที่เราไม่มีเราก็ต้องช่วยเหลือ ในหลวงท่านยังทรงมีพระราชดำรัสเรื่องนี้ว่าคนเราจะรับอย่างเดียวก็ไม่ได้ เราต้องรับและให้ด้วย สังคมถึงจะอยู่ได้ และผมอยู่กับชีวิตที่ต้องต่อสู้ ชีวิตที่ไม่มีเงินแล้วจะอยู่ไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ผมเคยไปขอของกิน เขาก็ให้ เรื่องตรงนี้ทำให้มันเป็นแรงผลักดันว่าเราทำได้ แต่เพื่อนไม่ได้มาแบบเราเลยคิดว่าทำไม่ได้ หลายคนในสังคมที่อยากจะช่วยเหลือคนอื่น แต่เขาจะคิดว่าไม่มีเงิน ถ้าเอาเงินมาเป็นตัวตั้ง สังคมการช่วยเหลือก็จะไม่มี เราคิดว่าเราหาไม่ได้ ถ้าจะทำอะไรแล้วคิดว่าไม่มีเงินแล้วทำไม่ได้ ก็จบ ทุกอย่างจบหมดเลย

“ด้วยเราตอนนั้นเราอยู่ได้ ไม่มีอะไรยังรอด เรากลับมาได้ มาเป็นคนเต็มคนถึงวันนี้ได้”

ครูข้างถนน ห้องเรียนริมทาง
แสงส่องชีวิตในวันมืดมน

“ผมไม่เคยคิดว่าในชีวิตจะยังมีคนที่รักและห่วงใยผมอีก เพราะในวันที่พ่อแม่ทอดทิ้งผม คือวันที่โลกนี้มืดมิดตลอดมา” ถ้อยคำบางคำของเด็กเร่ร่อนคนหนึ่งที่รับการช่วยเหลือและสามารถประคับประคองนาวีชีวิตกลับมาประสบความสำเร็จเป็นคนดีสู่สังคม ทำให้เมื่อนึกย้อนว่าเหตุใดหลังจากได้สัมผัสถึงการให้ “ความสุข” “รอยยิ้ม” ได้รับกลับมาจึงคล้ายถูกเติมเต็มชีวิตที่ขาดแหว่ง หมุดหมายของชีวิตสุรชัยในขณะนั้นจึงอุทิศเพื่อเด็กๆ ด้อยโอกาส ขาดความรักความอบอุ่นและการเอาใจใส่ในฐานะเพื่อน-พี่-น้อง และพ่อ จนกลายเป็นภาพชินตาทั้งสองฟากฝั่งถนนย่านนั้น

“คือถึงเราไม่มีเงินช่วยเหลือแต่เราได้ช่วยเหลือ ได้ใช้กำลังที่เรามี แล้วเขาสามารถลุกขึ้นมายืนได้ เราก็ดีใจแล้ว เราก็เลยช่วยเรื่อยมา เพราะสมัยก่อนเด็กๆ เร่ร่อนเยอะมากแถวนี้ ไม่มีที่นอน มาขอนอนที่ซุ้ม เราก็ให้เขานอน ก็พยายามหาทุนช่วยเหลือคนเร่ร่อน ครอบครัวเร่ร่อน

“มีครอบครัวหนึ่งชื่อ ‘บึง’ เขาก็ไม่มีที่อยู่ เป็นเด็กเร่ร่อน เราก็ไปสร้างบ้านด้วยเศษวัสดุที่หาได้ที่ย่านชุมชนแถวหลังบริษัท โอสถสภา มีเด็กชื่อวินัย เป็นเด็กเร่ร่อนแถวหน้ารามฯ เขาก็อยากจะเก็บของเหมือนเราเหมือนกัน แต่ไปเดินเก็บมันก็ลำบาก แม่เขาก็ไม่ค่อยแข็งแรง เราก็ทำกิจกรรมซื้อรถซาเล้งให้ ตอนนั้นก็ไม่เท่าไหร่คันหนึ่ง 2,000 กว่าบาท

“คือช่วยเท่าที่ช่วยได้ หาที่นอน หาอะไรที่เป็นอาชีพบ้าง ทั้งแบบใช้เงินบ้าง ไม่ใช้เงินบ้าง ก็ทำอย่างนั้นจนกระทั่งวันหนึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าหรือเปล่า เพื่อนชวนไปกินข้าวฟรีที่งานงานหนึ่งที่เขาจัดขึ้นแล้วก็ไม่บอกว่าเป็นงานอะไร ทีนี้พอไปถึงเป็นงานคล้ายงานคริสต์มาสของฝรั่ง ระหว่างที่เรากินๆ ฟรีอยู่นั้น เขาก็ประกาศว่าใครที่กำลังมีปัญหาชีวิตให้ยกมือขึ้นแล้วออกมาข้างนอก เราก็ยก เพื่อนเราก็ยก เขาก็บอกว่าจะอธิษฐานให้พระเจ้าช่วยคุณ ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่ได้เปลี่ยนศาสนาก็ยังไม่สนใจอะไร

“แต่ทว่า…หลังจากนั้นมาเหมือนเป็นปาฏิหาริย์อยู่ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่ที่เขาทำงานที่ มูลนิธิเกี่ยวกับเด็กเร่ร่อน อยากจะมาช่วยให้เราเป็นครูข้างถนน มีเงินเดือนให้เดือนละ 1,200 บาท คืออาจะน้อย ตกวันละ 40 บาท แต่มันคือสิ่งที่ผมกำลังรู้สึกอยากจะช่วยเหลือ อยากจะทำตรงนี้ให้เต็มที่ พอได้ตรงนี้มันก็ทำให้ผมมีเวลามากขึ้นในการช่วยเหลือ เก็บของน้อยลง หางานน้อยลง เพื่อไปช่วยในสิ่งที่เราอยากช่วยมากขึ้น แม้จะมีงบให้ปีเดียว แต่เราก็ขอทำ เพราะอย่างน้อยๆ เวลา 365 วันที่เราไปพูดคุย ไปเป็นเพื่อนเขา จะช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้น สักวันหนึ่ง เพิ่มจาก 2 เป็น 3-4 ชั่วโมงหรือ 1 วันเต็มๆ ก็ยังดี”

และจากคืนวันเดือนปีก่อกำเนิดเป็นความผูกพันแห่งสายใย ปัญหาของเด็กๆ กลายมาเป็นโจทย์ชีวิตที่ตกคิดหาทางออกช่วยเหลือในฐานะผู้มีประสบการณ์และความรู้เข้าใจโลกมากกว่า

“คือด้วยความที่ต้นทุนเราเป็นอย่างนั้นมาก่อนด้วยอยู่แล้ว พอมาทำตรงนี้ ได้ยินเรื่องราวของเขา พ่อแม่ทิ้ง โดนพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงตี พ่อมีภรรยาใหม่ แม่มีสามีใหม่ ไม่มีใครดูแลเขา ฯลฯ มันก็ยิ่งบวกๆๆ เรายังโชคดีกลับไปแล้วกลับได้ แต่บางคนกลับไปแล้วโดนที่บ้านไล่กลับมาแบบไม่เกรงใจเลยว่าเราเอาเขากลับมาส่ง เราก็นึกแล้วเขาจะมีชีวิตอย่างไรต่อไป ชีวิตเขาจะเป็นอย่างไร

“ในช่วงนั้นก็เลยกลายเป็นคล้ายๆ หัวหน้าแก๊งขอทานโดยปริยาย (ยิ้ม) ตำรวจก็เรียกจะจับปล่อยครั้ง เพราะเด็กๆ กว่า 20 คน จากที่ต่างๆ ตั้งแต่ บางกะปิ หน้ารามฯ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สนามหลวง ที่เราไปพูดคุย ไปพยายามสอบถามเรื่องปัญหาและสาเหตุการออกจากบ้านของเขาติดพันอยู่กับเรา

“ก็อยู่กันแบบแบ่งกันกินแบ่งกันอดมื้อ เราก็คิดว่าจะทำอย่างไร พยายามคิดจนในที่สุดก็มีคนบอกว่ามีฝรั่งคนหนึ่งเขาทำบ้านเด็กกำพร้าอยู่แถวๆ บึงกุ่ม ซอยเสรีไทย 17 (ที่ตั้งมูลนิธิบ้านนกขมิ้นในปัจจุบัน) ก็รีบเดินทางไปพบเพราะเด็กๆ ยิ่งเสียเวลามากเท่าไหร่ โอกาสก็ยิ่งน้อยตามวันและเวลาด้วย ก็ไปพบคุณพ่อ คุณเออร์วิน กรอบลี่ เขาเพิ่งเปิดบ้านรับมีเด็กแค่ 5 คน มีกำลังในการดูแลแต่ไม่ใช่คนพื้นถิ่นทำให้ยากต่อการเข้าถึง ผมก็ไปบอกว่าผมมีเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือกว่า 20 คน ก็เหมือนเป็นจิ๊กซอว์ตัวเดียวกันที่เชื่อมต่อทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน”

ก่อเกิดเป็น ‘บ้านนกขมิ้น’ อาคารสีเหลี่ยมคอนกรีตที่แม้ขนาดเล็กแต่เต็มไปด้วยความอบอุ่นไม่ต่างจากเพลง นกขมิ้น บทเพลงอมตะในอดีต ยามนภาคล้ำไปใกล้ค่ำ ยินเสียงร่ำคำบอก เจ้าช่อไม้ดอกเอ๋ย เจ้าดอกขจร นกขมิ้นเหลืองอ่อน ค่ำแล้วจะนอนไหนเอย เล่านกเอย... ในราวปี 2536 ถัดจากเหตุการณ์วันนั้น 4 ปี ซึ่งครูอ๊อดจะเข้ามาช่วยเหลือในฐานะนักศึกษาจิตอาสากระทั่งจบเข้าทำงานในฐานะนักสังคมสงเคราะห์แทนการเป็นนายร้อยตำรวจอย่างที่วาดหวังไว้

“คือพอได้ทำ พอได้ให้ ชีวิตช่วงนั้นกลายเป็นว่าชีวิตผมมันเหมาะกับการเป็นนักสังคมสงเคราะห์มากกว่า การจะไปสอบเป็นตำรวจนายร้อย เพราะเราเรียนไปตามใจพ่อ แต่พอเรารู้ใจเรา เรามีความสุขในการที่ได้ช่วยคนอื่น จากที่เราเคยรับ เราเป็นผู้ให้ เห็นชีวิตที่ดีขึ้น เหมือนกับเราปลูกต้นไม้ ดอกไม้ ก็พรวนดินอะไรก็เหนื่อย แต่เห็นดอกไม้มันบานก็ชื่นใจ เป็นดอกไม้แห่งชีวิต มันมีความสุขอย่างบอกไม่ถูก


“หลายคนก็มีคำถามว่าเด็กๆ เหล่านี้จะเปลี่ยนได้เหรอ ก็เปลี่ยนได้ มีหลายๆ คนเด็กเร่ร่อนจากนครปฐม โดนแม่ตีเพราะว่าไปขายดอกไม้แล้วทำเงินหายหรือเอาไปใช้ ก็ไม่อยากกลับบ้านชักชวนเพื่อนมากรุงเทพฯ แล้วก็กลายเป็นเด็กเร่ร่อน ผมไปเจอเขาขอทานอยู่ที่อนุสาวรีชัยสมรภูมิ หลังจากนั้นมาเรียนหนังสือจนจบ ปวช. แล้วก็มาเป็นสตาฟฟ์ช่วยงานควบคู่กับเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

“บางคนจบปริญญาโท บางคนแต่งงานสร้างครอบครัวมีชีวิตที่อบอุ่นแล้วก็กลับมาช่วยเหลือส่งเสริมไปต่อยอดช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่มูลนิธิอื่นๆ อย่างบ้านเด็กผู้ใหญ่ ทั้งหมดล้วนมาจากเด็กที่เคยถูกปฏิเสธเวลาผมพาไปทานข้าวเพราะพวกเขามอมแมมสกปรก แต่นั่นมันแค่ทางร่างกาย ไม่ใช่จิตใจเขา คือเราทุกคนเป็นคนดี แต่ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมอย่างที่บอก แต่เพียงแค่เราให้โอกาสและเราหยิบยื่นโอกาสให้ มันก็เกิดเป็นการจุดประกายไฟต่อไปเพื่อสังคมเราจะได้ดีขึ้น ซึ่งเขาเหล่านี้ก็คือตัวแทนของเราในอนาคต คือผู้รับช่วงต่อเราทุกคนอย่างที่ในหลวงท่านทรงบอก เด็กทุกคนจึงควรจะมีความหวัง เด็กควรมีพื้นฐานชีวิตที่มีอนาคต ณ วันนี้ถ้าคุณมีโอกาสช่วยเขาก็ช่วยเถอะ เขาได้รับการช่วยเหลือเป็นคนดีของสังคมต่อไป สังคมในภายภาคหน้าก็จะเกิดการแบ่งปันช่วยเหลือ เพราะเขาเคยได้รับจากคุณ”

หนุนส่งจนกว่า...สองปีกแกร่งกล้า
โบยบินได้ด้วยตน

“ก็รู้สึกดีใจ รู้สึกภูมิใจ ที่เขาเหล่านั้นประสบความสำเร็จในชีวิตและเป็นคนดีของสังคม เราก็รู้สึกว่าเราได้ส่งต่อความภูมิใจตรงนี้ไปให้เขา มันเป็นการจุดประกายไฟต่อไปเพื่อสังคมเราจะได้ดีขึ้นอย่างที่บอก

“ในฐานะทั้งหมดที่เป็นอยู่ ผมชอบฐานะพ่อและครูมากที่สุด” ครูอ๊อดเผยด้วยรอยยิ้มเต็มดวงหน้า เพราะถึงแม้จะไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไขคลานตามกันมา แต่กระนั้นเส้นสายของความสัมพันธ์กลับไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

“เราคิดถึงกันตลอดเวลา เราเป็นครอบครัวอย่างที่บอก บางทีเป็นวันหยุดเขาก็มา วันสำคัญๆ ครบรอบอะไรก็มา บางทีก็ติดต่อทางไลน์ เรามีไลน์กลุ่ม เราไม่ได้ทิ้งกัน คนที่ไม่ประสบความสำเร็จเราก็ช่วยเหลือกัน พี่น้องพ่อแม่พยายามช่วยกันดึงเขากลับมา พาไปฟื้นฟู กลับมาเรียนหรือทำงาน ให้พ้นจากสภาวะใช้ยา หรือถ้าไม่รอดก็ไม่ยอม ตามไปอีก จนพ้นจากตรงนั้น ตรงนี้ก็มีที่ไปเรียนต่อได้จนจบรับปริญญาในคุก ออกมาได้ทำงานอย่างที่หวัง

“เพราะเราเชื่อว่าทุกคนเป็นคนดี และเราสามารถกลับมาเป็นคนดีได้” ครูอ๊อดกล่าวยืนยัน

“อุดมการณ์ของผมคือคืนคนดีสู่สังคม สร้างเด็กให้มีอนาคตที่ดี เปลี่ยนคนที่มีปัญหาให้กลับสู่สังคมได้ ประเทศไทยเราถึงจะรอด แล้วสร้างสังคมแห่งการให้ เรารับมาเราต้องรู้จักให้ แล้วเราก็สอนให้สังคมรู้ว่า เราต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม เด็กๆ ก็ต้องตระหนักว่าเขาควรมีส่วนรับผิดชอบต่อบ้านเมืองตรงนี้อย่างไร ไม่ใช่เอาแต่ตัวรอดอย่างเดียว และเด็กที่อยู่กับเราก็ไม่ได้รับอย่างเดียว คนที่อยู่ในภาวะที่ยากลำบากก็ควรจะแสดงน้ำใจเช่นกัน เรารับอย่างเดียวไม่ได้ต้องให้ด้วย ถ้ารับอย่างเดียวกลายเป็นเห็นแก่ตัว

“ก็อยากจะให้สังคมมองว่า มันเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน คือว่าถ้าเรามัวแต่คิดว่าเด็กไม่ดี ครอบครัวไม่ดี เราเลยไม่ช่วย เราก็ลืมไปว่าเรามีหน้าที่ต้องช่วยเหลือกัน ใช่ไหม ครอบครัวไม่ดี เด็กไม่ดี แต่คุณสามารถช่วยเขาได้นะคุณจะให้โอกาสกับเขาได้ไหม อย่างในโฆษณาบางอย่างที่เด็กไปขอข้าวแกงกินแล้วคนนั้นให้ จนในที่สุดกลายเป็นหมอแล้วมาช่วยเขา ชีวิตจริงก็มีและชีวิตจริงๆ อีกด้านก็มี คือถ้าลองคิดอีกด้านหนึ่ง เหมือนภาพยนตร์เรื่อง สไปเดอร์แมน ที่พอโจรวิ่งผ่านพระเอก แล้วเขาก็ไม่สนใจ จนในที่สุดไปขโมยรถและยิงปู่เขาตาย เหมือนกัน ถ้าวันนี้สังคมบอกว่าไม่เกี่ยว เด็กมันไม่ดีเอง พ่อ แม่ไม่ดีเอง ไม่ใช่ญาติผม แต่พอเขาโตขึ้นเขาหลงผิดแล้วเขากลับมาทำร้ายคุณหรือคนที่คุณรักคุณจะรู้สึกอย่างไร เมื่อในวันนั้นคุณมีโอกาสที่จะช่วยเขา แต่คุณไม่ช่วย เพราะคุณบอกว่ามันไม่ใช่หน้าที่ แต่จริงๆ มันคือความรับผิดชอบต่อสังคม


“เราจึงควรสร้างสังคมแห่งการให้ เพราะการให้ไม่มีที่สิ้นสุด เพียงแค่ทำลายกำแพงเรื่องเงิน แล้วเริ่มจากเล็กๆ น้อยๆ แรงกาย ของเหลือใช้ อาทิ เสื้อผ้าที่ใช้แล้ว เครื่องไฟฟ้ามือสอง ฯลฯ คือการเริ่ม เราต้องเริ่มต้น คุณจะเริ่มต้นช่วยเหลือสังคมเมื่อไหร่ นั่นคือคำถามของผม ต้องรอให้พร้อมมีความสุขหรือรวยก่อน แล้วเมื่อไหร่ถึงจะรวยมีความสุข รอถูกหวยเมื่อไหร่จะถูก ใช่ไหม ถ้าคุณรอ แต่ถ้าคุณช่วยคุณเปิดใจคุณได้รับทันที

“ที่สำคัญเป็นความสุขที่ยั่งยืน สัมผัสได้ทันที และในอนาคต เมื่อเกิดสังคมแห่งการให้เราจะอยู่กันอย่างมีความสุข ก็อยากจะบอกสังคมว่าบ้านนกขมิ้นไม่ใช่ของผม แต่เป็นของคุณทุกคน ที่เราจะร่วมกันในการแก้ไขปัญหาสังคมจากจุดเล็กๆ ที่คุณทำได้ ทำตามกำลังของคุณ เพื่อให้บ้านเมืองไทยมีสังคมแห่งการให้แล้วก็อยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุข”
ปัจจุบันครอบครัวบ้านนกขมิ้นมีทั้งหมด 7 สาขา ตามภาคต่างๆ ของประเทศไทย (บ้านนกขมิ้นกรุงเทพฯ : เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่มูลนิธิฯและบ้านเด็กชาย 3 ครอบครัว บ้านเด็กหญิง 1 ครอบครัว บ้านพักนักศึกษา,ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ, บ้านนกขมิ้นอุทัยธานี : เป็นที่ตั้งโครงการบ้านในสวน เกษตรวิถีชีวิตพอเพียงตามแนวพระราชดำริฯ มีบ้านเด็กชาย 1 ครอบครัว, บ้านนกขมิ้นสุโขทัย : เป็นที่ตั้งบ้านเด็กชาย 4 ครอบครัว, บ้านนกขมิ้นเชียงใหม่ : เป็นที่ตั้งบ้านเด็กหญิง 3 ครอบครัว, บ้านนกขมิ้นเชียงราย : โครงการบำบัดผู้ติดเสพติด, บ้านนกขมิ้นประจวบฯ : เป็นที่ตั้งค่ายอบรมจริยธรรมฯและบ้านพักนักศึกษาและบ้านนกขมิ้นสงขลา : โครงการปลูกข้าวและบ้านเด็กชาย 1 ครอบครัว)โดยให้การอุปการะดูแลเด็กๆ จำนวนกว่า 250 ชีวิต นอกจากนี้ยังขยายไปจนถึงต้นตอของการเกิดปัญหาเด็กเร่ร่อน โดยร่วมกับเครือข่ายคริสตจักรสอดส่องดูพฤติกรรมเด็กที่กำลังจะก้าวออกมาใช้ชีวิตข้างถนนในนาม “บ้านเด็กกำพร้า” ช่วยเหลือเด็กที่แปลกแตกแยกจากสังคมกรณีการติดสารเสพติด “บ้านฟื้นฟู” ช่วยเหลือเด็กชายขอบชายแดน กระทั่งบ้านผู้ชราภาพสำหรับผู้สูงอายุ และเนิร์สเซอรีสำหรับครอบครัวคุณพ่อคุณแม่ใบเลี้ยงเดี่ยว โดยปณิธานที่ว่า จะดูแลและพัฒนาชีวิตจนกว่าเด็กๆ จะสามารถออกบินได้ด้วยปีกของตนเอง”


อดีตเด็กเร่รอนจากจังหวัดอุดรธานี ถูกพ่อเลี้ยงหลอกและบังคับให้มาเป็นเด็กขอทานกระทั่งกลายเป็นเด็กที่ก้าวร้าว รุนแรง มีแนวโน้มทิศทางในอนาคตที่จับต้องไม่ได้ ไม่รู้แม้กระทั่งบ้านของตัวเองตั้งอยู่ที่ไหน ไม่ไม่มีหลักฐานการเกิด ไม่มีการศึกษา กระทั่งได้พบเจอกับครูอ๊อดทวีก็เปลี่ยนไปในระยะเวลา 3 เดือน ปัจจุบันทวีจบปริญญาตรีทางด้านศาสนาศาสตร์ศึกษา และนำความรู้ความสามารถ เสริมสร้างจริยธรรม มาช่วยพัฒนาชีวิตและจิตใจพี่ๆ น้องๆ ผู้ด้อยโอกาสที่กำลังตกอยู่ในสภาวะเยี่ยงตัวเองในอดีตในที่ต่างๆ และบ้านนกขมิ้น

หนุ่มกำพร้าจากจังหวัดพัทลุง พ่อแม่เสียชีวิตตังแต่เด็กๆ โดยอยู่กับน้องสองคน ไม่มีใครดูแล ต้องไปอาศัยทำงานรับจ้างต่างๆ เท่าที่ร่างกายทำได้ กระทั่งนานวันความยากไร้ผลักไสให้เป็นเด็กลักเล็กขโมยน้อย วังวนชีวิตกำลังเข้าสู่วงจรโลกด้านมืดทุกขณะนาที กระทั่งเจ้าที่หน้าศูนย์สาขาบ้านนกขมิ้นจังหวัดพัทลุงไปพบและติดต่อมายังครูอ๊อดทันที ปัจจุบันดำเรียนจบปริญญาโทด้านสังคมสงเคราะห์ แต่งงานมีบุตรแล้ว 2 คน ในบ้านหลังน้อยอย่างมีความสุข และนำความรู้ความสามารถนั้นมาช่วยเหลือผู้คนทั้งในและนอกบ้านนกขมิ้น

เกิดจากครอบคนจร เร่รอนอยู่ที่จังหวัดนครปฐม อาศัยขายดอกไม้แลกเงินประทั่งชีพตามสวนร้านอาหารก่อนจะหนีมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ในวัย 9 ขวบโดยลำพังแถวย่าน สนามหลวง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และรามคำแหง ภายหลังได้รับการช่วยเหลือจากบ้านนกขมิ้น ปัจจุบันสไปรท์กำลังศึกษาอยู่ระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงควบคู่กับการทำงานอาสาสมัครคอยดูแลน้องๆ ที่ด้อยโอกาสในบ้านนกขมิ้น และนอกจากนี้ยังเป็นจิตอาสาช่วยเหลือผู้คนตามปณิธานแห่งบ้านนกขมิ้น









สนใจติดต่อร่วมสนับสนุนมอบโอกาสได้ทั้งปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต อาทิข้าวสารอาหารแห้ง อาหารสด ทุนการศึกษา สิ่งของเหลือใช้ที่นำมารีไซเคิล เสื้อผ้ามือสอง และกล่องรับบริจาคได้ที่ มูลนิธิบ้านนกขมิ้น เลขที่ 89 ซอยเสรีไทย 17 ถนนเสรีไทย แขวงคลองบึงกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 10240 เบอร์โทรศัพท์ : 0-2375-6497, 08-7054-0202 Fax : 0-2375-6497 กด 11 หรือ E-mail : baannokkamin1-1@hotmail.com, baannokkamin57@gmail.com หรือ www. Baannokkamin.net
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พลภัทร วรรณดี

กำลังโหลดความคิดเห็น