xs
xsm
sm
md
lg

แปลกแต่จริง!หนังไทยเรื่องแรกสร้างโดยบริษัทยูนิเวอร์แซล!เข้าใจผิดจะมาถ่ายป่า เจอสิ่งดีกว่าเลยเขียนสคริปท์สด!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ดาวดวงแรกของหนังไทยที่สร้างโดยฮอลลีวูด
ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจารึกไว้ว่า “นางสาวสุวรรณ” เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๖๖ สมัยรัชกาลที่ ๖ แต่ก็แปลก แม้จะเป็นหนังไทย แสดงโดยคนไทยทั้งหมด ถ่ายทำในประเทศไทย ล้างฟิล์ม ตัดต่อ พิมพ์ฟิล์มในเมืองไทย แต่ผู้สร้างกลับเป็นบริษัทยูนิเวอร์แซลแห่งฮอลลีวูด และใช้ทีมงานอเมริกันทั้งหมด

ผู้ที่สร้างประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยขึ้นนี้ มีชื่อว่า นายเฮนรี่ เอ แมคเร ซึ่งเป็นผู้สร้างในสังกัดบริษัทยูนิเวอร์แซล ได้ยกกองถ่ายพร้อมด้วยทีมงานและอุปกรณ์การถ่ายทำหนักถึง ๑๒ ตัน มีเครื่องทำไฟพร้อม มาถึงกรุงเทพฯในปลายปี ๒๔๖๕

ที่มุ่งมาเมืองไทย นายแมคเรไม่ได้มีแผนจะมาถ่ายทำหนังเรื่องยาวแต่อย่างใด แต่ได้ข้อมูลผิดๆมาว่าสยามเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ มีแต่ป่าดงพงไพรที่บรรยากาศแตกต่างไปจากอาฟริกา จึงมุ่งเข้ามาเพื่อจะถ่ายทำภาพยนตร์สารคดี แต่พอมาเห็นว่าไม่ได้เป็นอย่างที่คิด กลับเป็นประเทศที่มีความเจริญพอควร มีโรงภาพยนตร์กระจายอยู่ทั่วราชอาณาจักร และมีศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่งดงาม นายแมคเรเลยเปลี่ยนแผนไปเป็นถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องยาว

เนื้อเรื่องที่จะถ่ายทำนั้น นายแมคเรต้องการจะโชว์ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของไทย โดยวางพล็อตเรื่องขึ้นมาสดๆ เริ่มเรื่องให้พระเอกเป็นข้าราชการเล็กๆ ยากจน ไปเจอนางเอกลูกคนมีเงินตกน้ำอยู่แถวหน้าวัดราชาธิวาส สามเสน เลยโดดลงไปช่วย แต่แทนที่พ่อนางเอกจะขอบใจที่ช่วยชีวิตลูกสาวไว้ กลับไม่พอใจที่เห็นพระเอกกอดลูกสาวไว้แนบอก

จากการสัมผัสกันในสายน้ำครั้งนั้น พระเอกก็เฝ้าแต่คิดถึงนางเอก จนได้มีโอกาสไปพบกันอีกในงานวัดพระแก้ว แต่ผู้ร้ายซึ่งหมายปองนางเอกอยู่ร่วมกับพ่อนางเอกต่างกีดกัน ทั้งยังดูถูกต่างๆนานา พ่อบุญธรรมของพระเอกเลยเปิดเผยความจริงให้พระเอกรู้ว่า แท้จริงแล้วพระเอกเป็นลูกผู้ดีมีตระกูลของเมืองเหนือ พ่อแม่พามาเที่ยวกรุงเทพฯตอนเป็นเด็ก แต่พ่อแม่เกิดตายกะทันหัน ตนจึงเก็บพระเอกมาเลี้ยง

ผู้ร้ายกลัวจะสูญเสียคนที่หมายปอง จึงวางแผนให้คนชวนพระเอกกับพ่อบุญธรรมไปทำงานที่เชียงใหม่ แล้วให้ลูกน้องฆ่าเสีย แต่เกิดฆ่าผิดตัวเลยโยนความผิดให้พระเอกจนถูกจับ พ่อบุญธรรมรีบเอาข่าวร้ายนี้มาบอกนางเอกซึ่งกำลังไปตากอากาศที่หัวหิน นางเอกเลยรีบบินไปช่วย พร้อมพ่อบุญธรรมมอบเสมาทองคำที่พระเอกห้อยคอตั้งแต่เด็กไปด้วย เศรษฐีเชียงใหม่คนหนึ่งเห็นเสมาทองคำก็รู้ว่าพระเอกคือหลานชายของตัว ทั้งฆาตกรตัวจริงก็รับสารภาพ ผู้ร้ายผู้วางแผนเลยโดนจับ พ่อนางเอกตามขึ้นไปรู้ความจริง ก็เลยยอมยกลูกสาวให้พระเอก เรื่องเลยแฮปปี้เอนดิ้ง

ดูเนื้อเรื่องแล้วจะเห็นว่า นายแมคเรศึกษาวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมของคนไทยได้รวดเร็วมาก และไม่เพียงแต่สร้างประวัติศาสตร์ทำหนังเรื่องแรกของไทยไว้เท่านั้น ยังสร้างแบบฉบับ“หนังน้ำเน่า” ให้หนังไทยในยุคต่อมาด้วย

นายแมคเรตั้งชื่อหนังเรื่องนี้ตอนถ่ายทำว่า “The Gold of Siam” แต่ตอนฉายในอเมริกาได้เปลี่ยนเป็น “Kingdom of Heaven” ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในนาม “Suvarna of Siam” หรือ “นางสาวสุวรรณ”

เมื่อได้ยื่นขออนุญาตถ่ายทำ โดยอ้างว่าเพื่อนำวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี และศิลปวัตถุอันงดงามไปเผยแพร่ ก็ได้รับพระบรมราชานุญาต ทั้งยังโปรดให้กรมรถไฟหลวงซึ่งมีแผนกภาพยนตร์ และกรมมหรสพหลวง ร่วมงานกับนายแมคเรด้วย

นายแมคเรได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ตีพิมพ์อยู่ใน “Film Year Book” ฉบับปี ๑๙๒๔ (พ.ศ.๒๔๖๗) มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“...ข้าพเจ้ารู้สึกว่าพระเจ้าแผ่นดินคงจะทรงสนพระทัยในภาพยนตร์ และหลังจากมีการตรวจพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ที่สุดข้าพเจ้าก็ได้เข้าเฝ้าฯ ซึ่งมีผลให้บริษัทของเราได้รับการอุดหนุน ได้รับอนุญาตให้ใช้รถยนต์ ๕๒ คันของพระเจ้าแผ่นดินโดยไม่ต้องเสียเงิน ใช้ม้าแข่ง ๖๐๐ ตัวของพระองค์ ใช้กองเรือ ใช้พระราชวังหลวง ใช้กรมรถไฟหลวง ใช้โรงสีข้าว ใช้ทุ่งนานับพันๆไมล์ สวนมะพร้าว คลอง และช้าง รวมทั้งช้างเผือกด้วย...”

เมื่อได้รับพระมหากรุณาธิคุณถึงเพียงนี้ สำหรับทีมผู้แสดงนายแมคเรจึงเล็งไปที่กรมมหรสพหลวง ซึ่งมีนักแสดงพรั่งพร้อมด้วยคุณสมบัติอยู่แล้ว และได้บันทึกไว้ว่า

“...พระเจ้าแผ่นดินทรงสำเร็จการศึกษาจากอ๊อกซ์ฟอร์ด อังกฤษ และทรงเชื่อว่าพระองค์เป็นเช็คส์เปียร์ที่ ๒ คือ เช็คส์เปียร์แห่งสยาม พระองค์ทรงใช้เวลาเป็นอันมากไปในการแปลงานของเช็คส์เปียร์เป็นภาษาของชาวสยาม ทรงอำนวยการสร้างละครและหัสนาฏกรรมจากบทละครเหล่านั้นโดยใช้คณะผู้แสดงของพระองค์เอง ที่เรียกว่า กรมมหรสพหลวง นักแสดงเหล่านี้ไม่ว่าชายหรือหญิงจะถูกรับตัวเข้ามาตั้งแต่ยังเด็กๆ และจะมีงานไปตลอดชีวิต พวกเขาจะได้เงินเดือนที่พอใจ ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆในการดำรงชีพ จะได้รับชื่อประจำตำแหน่งหลังจากที่มีอายุทำงานไปได้ระยะหนึ่ง...”

สำหรับนางเอกของ “นางสาวสุวรรณ” นายแมคเรเล็งไปที่นักแสดงของกรมมหรสพหลวงเช่นกัน โดยพอใจ นางสาวเสงี่ยม นาวีเสถียร ในวัย ๑๘ ปี ซึ่งก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้มาเป็นนักแสดงเกียรติยศ โดยไม่รับค่าจ้าง เช่นเดียวกับนักแสดงจากกรมมหรสพหลวงทั้งหมด แต่นายแมคเรก็จ่ายเป็นค่าเสื้อผ้าให้นางสาวเสงี่ยมเป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งจ่ายเบี้ยเลี้ยงในวันถ่ายทำให้อีกวันละ ๕ บาท ซึ่งก็เป็นเงินจำนวนมากสำหรับในสมัยนั้น

ถึงแม้ข้อเขียนใน “Film Year Book” ของนายแมคเรจะไม่ได้วิจารณ์นางสาวเสงี่ยมโดยตรง แต่ก็กล่าวถึงผู้หญิงไทยโดยทั่วไปไว้ว่า

“สตรีสยามนี้ออกจะน่าดูไม่น้อย บางนางก็สะดุดตามาก ส่วนมากจะสะอาดสะอ้าน ทั้งในการแต่งเนื้อตัวและท่าที”

ส่วนพระเอกที่เลือกไว้ พอถึงวันเปิดกล้องเกิดแสดงไม่ได้ พอดี ขุนรามภรตศาสตร์ ตัวโขนพระรามของกรมมหรสพหลวงไปยืนดู นายแมคเรเลยจับเข้ามาเป็นพระเอกแทน และพอเห็นหน้าหลวงภรตกรรมโกศล สมุหบัญชีกรมมหรสพหลวง ที่ไปยืนดูอยู่ด้วย เลยจับเข้ามาเป็นผู้ร้ายอีกคน เอาผู้ร้ายที่เลือกไว้แล้วเปลี่ยนไปรับบทพ่อนางเอกแทน

ผู้แสดงทุกคนไม่มีใครพูดถึงค่าตัวกันเลย ต่างดีใจที่จะได้มีโอกาสเผยแพร่ให้โลกรู้จักประเทศสยาม ส่วนนายแมคเรก็ไม่พูดถึงเรื่องค่าตัวเหมือนกัน จ่ายแค่เบี้ยเลี้ยงในระหว่างการถ่ายทำวันละ ๕ บาท และจ่ายค่าเสื้อผ้าให้

การถ่ายทำเกิดมีปัญหากันบ้างในเรื่องขนบธรรมเนียมที่นายแมคเรยังไม่ลึกซึ้ง นางเอกนั้นเป็นกุลสตรีจากราชสำนัก และมีคุณท้าวจากกรมมหรสพหลวงมาดูแลอย่างใกล้ชิด เธอยอมให้พระเอกจับได้แค่มือ ไม่ยอมให้ถูกเนื้อต้องตัว ตอนหนึ่งกำลังถ่าย ผมเธอย้อยลงมาบังหน้า นายแมคเรผู้กำกับเลยเข้าไปเสยให้ เท่านั้นเองก็ได้เรื่อง เธอก็ร้องไห้เสียจนหน้าที่แต่งไว้เลอะ จนต้องหยุดการถ่ายทำ และว่า

“นี่เรามาเล่นหนังหรือมาเป็นบ่าวฝรั่งกันแน่ มันถึงทำอะไรตามใจมันนัก”

นายแมคเรยังเขียนถึงการทำงานร่วมกับนักแสดงไทยไว้ใน “Film Year Book” อีกตอนหนึ่งว่า

“...เรื่องราวที่น่าสนใจอย่างหนึ่งในการถ่ายทำภาพยนตร์กับบรรดาศิลปินของหลวงก็คือ คนพวกนี้จะตั้งอกตั้งใจทำงานมาก แต่ถ้าหากมีอะไรมาดึงดูดความสนใจละก็ พวกเขาก็สามารถหายหัวกันไปหมด มีอยู่คราวหนึ่ง ข้าพเจ้ากำลังจะถ่ายฉากใหญ่ฉากหนึ่ง ซึ่งเสียเวลาซักซ้อมกันอย่างยืดยาว พอจะเริ่มลงมือถ่าย ปรากฏว่าตัวแสดงสำคัญฝ่ายชายซึ่งจะต้องเข้าแสดงในฉากนี้ได้หายไปไหนไม่รู้ ข้าพเจ้ามาทราบภายหลังว่าเขาไปอาบน้ำ”

“นางสาวสุวรรณ” ใช้เวลาถ่ายทำ ๓ เดือน ในระบบ ๓๕ มม.ขาว-ดำ และยังอยู่ในยุคหนังเงียบ ล้างฟิล์ม ตัดต่อ พิมพ์ฟิล์ม ทำคำบรรยายอักษรไทย ที่กองภาพยนตร์ของกรมรถไฟหลวง โดยบริษัทยูนิเวอร์แซลมอบลิขสิทธิ์ในประเทศสยามให้เป็นการตอบแทนความร่วมมือ ซึ่งกรมรถไฟหลวงได้นำออกฉายเป็นครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร โรงภาพยนตร์บางลำพู และโรงภาพยนตร์ฮ่องกงในวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๖๖ เก็บเงินบำรุงกาชาดสยามได้ ๑,๕๔๒.๙๑ บาท และได้รับคำสรรเสริญเยินยอจากผู้ชมว่าเป็นภาพยนตร์ที่สวยงาม สนุกสนาน มากกว่าหนังทุกชาติที่เคยฉายในเมืองไทย จะมีที่ติกันก็ตรงที่นายแมคเรแกเกิดติดใจท่าไหว้ของคนไทย เลยให้ไหว้กันพร่ำเพรื่อจนน่ารำคาญ

นายเฮนรี เอ แมคเร อยู่ชื่นชมกับความสำเร็จในการสร้างประวัติศาสตร์ให้หนังไทยจนเข้าฉายในโรงแล้ว ก็พาคณะเดินทางกลับ นำ“นางสาวสุวรรณ” ไปเผยแพร่ในนาม “Kingdom of Heaven” ซึ่งก็ได้รับความสำเร็จอย่างสูงในอเมริกา มีข่าวว่าเก็บค่าดูชั้นต่ำถึง ๕ เหรียญ

จ่ายค่าตัวพระเอกนางเอกได้ตั้งหลายวัน
นางสาวเสงี่ยม นาวีเสถียร
ฉากรักของขุนรามภรตศาสตร์ กับเสงี่ยม นาวีเสถียร ถ่ายทำในบริเวณวัดพระแก้ว
นางสาวสุวรรณขึ้นเครื่องบินไปเชียงใหม่
นิตยสารข่าวบันเทิงรายงานข่าวนางสาวสุวรรณ
กำลังโหลดความคิดเห็น