xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิสืบฯ เผย 6 เรื่องต้องรู้โรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จากกรณีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบให้เดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ และต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากคนท้องถิ่นและนักอนุรักษ์ จนต้องมาประท้วงอยู่ข้างทำเนียบรัฐบาล เกิดคำถามว่าคนเหล่านี้กลัวโรงไฟฟ้าถ่านหินทำไม จำเป็นต้องดิ้นรนต่อต้านคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินมากมายเพียงนี้เลยหรือ เว็บไซต์มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เคยนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน 6 ข้อ ไว้เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ดังนี้

1. ไฟฟ้าภาคใต้ไม่พอจริงหรือ?

ในความจริงภาคใต้ใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุด (จากตัวเลขปี 2556) 2,683 เมกะวัตต์ ซึ่งภาคใต้เองมีกำลังผลิตติดตั้ง 2,415.7 เมกะวัตต์ เมื่อรวมไฟฟ้าอีก 3 ระบบที่เข้ามาเสริม ได้แก่ สายส่งจากภาคกลาง 650 เมกะวัตต์ การแลกไฟฟ้ากับประเทศมาเลเซียอีก 300 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าใหม่จะนะ ชุดที่ 2 766 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าฉุกเฉินจังหวัดสุราษฎร์ธานี 234 เมกะวัตต์ เฉลี่ยแล้วรวมทั้งสิ้น 4,065.7 เมกะวัตต์ ทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองล้นเกินในปัจจุบันถึงปี 2571 สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงข้ออ้างจากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับพร้อมกันใน 14 จังหวัดภาคใต้นาน 6 ชั่วโมง เมื่อ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นความล้มเหลวของระบบการจ่ายไฟ ไม่เกี่ยวกับการที่กำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชน
ภาพแบบจำลองโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จังหวัดกระบี่(ภาพจากเว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร - www.seub.or.th)
2. ที่ตั้งโครงการอยู่บนแรมซาไซต์

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่มีความต้องการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ ซึ่งถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นหนึ่งในสิบของพื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ (Ramsar Convention) หรือ แรมซาไซต์ พื้นที่แห่งนี้ครอบคลุมสุสานหอย 45 ล้านปีทอดยาวสู่คลองตลิ่งชัน บ้ายแหลมหิน และเกาะศรีบอยา เป็นบ้านของนกกว่า 221 ชนิด ปลากว่า 50 ชนิด รวมทั้งสิ่งมีชีวิตกว่า 10 ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ พื้นที่ปากแม่น้ำกระบี่นี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการอยู่ร่วมกันของพื้นที่เขตเมืองและธรรมชาติ โดยป่าชายเลน หญ้าทะเล และแนวปะการัง เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ รวมถึงที่อนุบาลและวางไข่ของสิ่งมีชีวิตในทะเล
พื้นที่ชุ่มน้ำ (แรมซ่าไซต์) จังหวัดกระบี่ (ภาพจากเว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร - www.seub.or.th)
3. แล้วโรงไฟฟ้าถ่านหิน “สะอาด” จริงหรือ?

คำตอบคือ “ถ่านหินสะอาดไม่มีในโลก” งานวิจัยหลายเชื้อชาติได้ตอกย้ำผลกระทบจากมลพิษที่ปิดฝาโลงโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างชัดเจน และมีหลายประเทศออกมาประกาศหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว โดยมีข้อมูลจาก National Geographic เมษายน 2557 ว่า ปี 2012 ทั่วโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลทำสถิติสูงสุด คือ 64,500 ล้านตัน โดยมี “ถ่านหินเป็นตัวการใหญ่ที่สุด”

กลุ่มควันจากการเผาไหม้ถ่านหินก่อให้เกิด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักภาวะโลกร้อนและฝนกรดนั่นเอง

ตัวอย่างงานวิจัยสนับสนุนผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทางคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ของสหประชาชาติ ระบุชัดเจนว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะโลกร้อน

งานวิจัยในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ แหล่งน้ำ ทั้งสารอันตรายจากมลพิษถ่านหิน 80 ชนิด ร้อยละ 70 ของสารปรอทในน้ำฝนมาจากการเผาถ่านหิน สารปรอทจะสะสมในดิน น้ำ สัตว์น้ำ ส่งผลต่อมนุษย์ที่บริโภคสัตว์น้ำที่มีปรอทปนเปื้อน

งานวิจัยของมหาวิทยาลัย สตุทท์การ์ท (Stuttgart) ประเทศเยอรมนี ระบุว่า คนยุโรปอายุขัยสั้นลงประมาณ 11 ปี จากมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหิน 300 โรง และมียอดผู้เสียชีวิตจากโรคที่มีสาเหตุมาจากถ่านหิน ปีละ 20,000 ราย

รวมทั้งงานวิจัยในประเทศจีนระบุว่าจะก่อผลกระทบมหาศาลต่อชีวิต ยังไม่นับระบบนิเวศที่จะได้รับความเสียหายจากภาวะฝนกรด หรือการล่มของเรือที่บรรทุกถ่านหินมา

4. อย่างนี้ก็ทำลายระบบนิเวศ ทั้งหญ้าทะเล แนวปะการัง ป่าชายเลนก็ได้รับผลกระทบน่ะสิ

เนื่องจากกระบี่มีหญ้าทะเลที่สมบูรณ์ และมีพื้นที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ที่อาศัยตามแนวป่าชายเลนริมคลองออกสู่อันดามัน หากโรงไฟฟ้าถ่านหินก่อสร้างได้สำเร็จ สารปรอท ตะกั่ว แมงกานีส ซึ่งเป็นโลหะเป็นพิษหนักจากเถ้าถ่านหิน สร้างสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม ไหลลงสู่แหล่งน้ำทางทะเล ก็จะทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรม ถือเป็นการทำลายหญ้าทะเล 17,000 ไร่ และทำลายพื้นที่ป่าชายเลน 200,000 ไร่ รวมไปถึงแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ผลพวงนี้กระทบไปถึงสัตว์น้ำที่อาศัยตามพื้นที่ดังกล่าวย่อมติดร่างแหไปด้วยอย่างแน่นอน ทั้งพะยูน และปลา เป็นต้น

ด้านสภาพแวดล้อม น้ำทะเลบริเวณใกล้โรงไฟฟ้าถ่านหินก็ไม่น้อยหน้า น้ำทะเลมีลักษณะเป็นสีดำหรือน้ำตาล โดยมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงให้เห็นแล้วจากผลการพัฒนาที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ที่น้ำทะเลและตะกอนดินเลนเป็นสีดำ รวมทั้งมีสารพิษก่อมะเร็งปนเปื้อน ซึ่งกรมควบคุมมลพิษพยายามหาทางกำจัด ด้านต่างประเทศเกิดที่บริเวณท่าเรือขนถ่านหิน เมืองกลาดสโตน ใกล้แนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลก เกรตแบร์ริเออร์ (Great Barrier Reef) ประเทศออสเตรเลีย ที่น้ำทะเลมีลักษณะเป็นสีน้ำตาล
บริเวณท่าเรือขนถ่านหิน เมืองกลาดสโตน(ภาพจากเว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร - www.seub.or.th)
5. กระทบแค่ระบบนิเวศหรือ?

ไม่เพียงแค่ระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อมเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ มนุษย์ยังได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการมีโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกด้วย นั่นเหมารวมถึงประชาชนในพื้นที่และผู้ที่บริโภคสัตว์น้ำเช่นปลาเป็นอาหาร เพราะสารปรอทที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเมื่อปนเปื้อนกับแหล่งน้ำหรือน้ำทะเลแล้ว ปลาที่อาศัยจะได้รับสารพิษปนเปื้อนไปด้วย ยิ่งสตรีมีครรภ์ควรระมัดระวังเนื่องจากเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงแรก หากสตรีมีครรภ์บริโภคปลาที่มีสารปรอทปนเปื้อน จะส่งผลไปถึงระบบประสาททารกในครรภ์ สติปัญญาต่ำ พัฒนาการเรียนรู้ช้า เป็นต้น ยังไม่นับมลพิษจากควันและเถ้าถ่าน ที่คร่าชีวิตผู้คนจนกลายเป็นบทเรียนราคาแพง ทั้งโรคหัวใจ มะเร็ง โรคระบบหายใจส่วนล่าง โรคสมองขาดเลือด ที่ยกตัวอย่างโรคดังกล่าวคือ 4 โรคจากมลพิษถ่านหินที่ทำให้คนอเมริกาตายมากที่สุดตามรายงานองค์กร "แพทย์เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม" (Physicians for Social Responsibilty)

6. ทั่วโลกมองโรงไฟฟ้าถ่านหินว่าอย่างไร?

ด้วยเหตุผลทั้งหลายเหล่านี้ทำให้ทั่วโลกจึงพากันถอนทุนและปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นจำนวนมาก เมื่อปีที่แล้วประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินไปแล้ว 94 โรง โดยมีประธานาธิบดีบารัก โอบามา กล่าว (เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2556) ว่า ขอให้เลิกการใช้งบประมาณของรัฐในการสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างประเทศ และขอให้รัฐบาลของประเทศอื่นๆ ดำเนินการเช่นเดียวกัน และจะยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน 150 โรงภายใน 4 ปี แล้วทดแทนด้วยพลังงานหมุนเวียนและใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ

ประเทศเพื่อนบ้านสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) รัฐบาลได้ประกาศว่าจะปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินและยกเลิกโครงการถ่านหินทวาย ประเทศมาเลเซีย เวียดนาม เองก็ประกาศไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ต้องพูดถึงประเทศทางยุโรปซึ่งประกาศไปนานแล้ว ด้านประชาชนอินโดนีเซียและจีนเองก็ได้รวมตัวกันคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ประเทศไทยคงเป็นหนึ่งเดียวที่ประกาศจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเป็นหนึ่งเดียวในเอเชียหรือหนึ่งเดียวในโลกที่ประกาศสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ เพราะแม้กระทั้งในประเทศญี่ปุ่นเองที่เป็นบริษัทที่สร้างถ่านหินก็เริ่มหันมาทำพลังงานทางเลือกมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะไม่ให้ก่อเกิดมลพิษที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและประชากรต่อประเทศของเขา

กระบี่สีเขียว หรือ Krabi Gose Green จะมีทางออกให้ประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่ หนทางการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะตอบสนองกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประเทศไทย ได้พูดบนเวทีว่า ต้องการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างนั้นหรือ หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินคือคำตอบหนึ่งเดียวของพลังงาน?
14 พื้นที่ ที่หน่วยงานของภาครัฐกำลังเข้าไปสำรวจสำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและเหมืองถ่านหิน(ภาพจากเว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร - www.seub.or.th)
กำลังโหลดความคิดเห็น