xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 12-18 ก.พ.2560

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(บน) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏแด่สมเด็จพระสังฆราช ในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (ล่าง) สมเด็จพระสังฆราชประทานโอวาทแก่พุทธศาสนิกชนที่เข้าเฝ้าถวายสักการะ
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.สมเด็จพระสังฆราช ประทานโอวาทให้ประชาชนมีศีล-สมาธิ-ปัญญา ให้รัฐบาลมีสติ-ไม่ประมาท-ทำเพื่อชาติ!

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. เวลา 18.33 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ในพระบรมมหาราชวัง ในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ช่วงค่ำวันเดียวกัน หลังสมเด็จพระสังฆราชเดินทางกลับถึงวัดราชบพิตรฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้เฝ้าถวายเครื่องสักการะในนามพุทธบริษัท ตามด้วยข้าราชการ และศิษยานุศิษย์เฝ้าถวายเครื่องสักการะ จากนั้นได้อนุญาตให้คณะสงฆ์จากวัดต่างๆ เข้าสักการะตามคิวที่ลงทะเบียนไว้ รวมทั้งพุทธศาสนิกชนที่ลงทะเบียนไว้ก่อน ส่วนพุทธศาสนิกชนทั่วไป ทางวัดได้แจ้งให้เดินทางเข้าสักการะได้ในวันที่ 13-15 ก.พ.

ทั้งนี้ สมเด็จพระสังฆราช ได้ประทานโอวาทแก่พุทศาสนิกชนที่มาเฝ้าสักการะเมื่อวันที่ 13 ก.พ.สรุปความว่า ให้ทุกคนรักษาจิตใจที่เลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัยให้คงที่ และยึดหลักธรรมสำคัญ 3 ข้อที่พระพุทธองค์ทรงสอน คือ ศีล สมาธิ และปัญญา คือ ทำกาย วาจา ใจ ให้เป็นปกติ แล้วทุกคนจะมีความสุขใจ สมเด็จพระสังฆราชยังเผยด้วยว่า รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างวัดราชบพิตรฯ และในสมัยของพระองค์ มีธรรมภาษิตบทหนึ่ง ขอให้ทุกคนนึกถึงธรรมภาษิตบทนี้ คือ สัพเพสัง สังฆะภูตานัง สามัคคี วุฑฒิสาธิกา ความพร้อมเพรียงแห่งชนผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ ยังความเจริญวัฒนาถาวรให้สำเร็จ ขอให้ทุกคนรักษาคำนี้ไว้ ขณะนี้ประเทศกำลังต้องการการพัฒนา ความพร้อมเพรียงจะนำความเจริญรุ่งเรืองให้สำเร็จได้

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พร้อมด้วยนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา และ คสช. รวมถึงคณะรัฐมนตรี เฝ้าถวายสักการะสมเด็จพระสังฆราช ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิตรฯ ซึ่งในเวลาต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ เผยที่ทำเนียบรัฐบาลว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงให้กำลังใจรัฐบาลและ คสช.ในการทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติต่อไปด้วยความระมัดระวัง ไม่ตกอยู่ในความประมาท พร้อมมีพระดำรัสในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องศาสนา ทรงสอนเกี่ยวกับเรื่องการมีสติสัมปชัญญะ รู้คิด รู้ตัว รู้ปฏิบัติ ทุกคนคงเข้าใจอยู่แล้วว่า มีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ เพราะฉะนั้นอย่าไปผูกติดลุ่มหลงอยู่ตรงนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่แล้ว ตนไม่เคยคิดที่จะอยู่ไปตลอดนานเท่านาน ทุกอย่างถือเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องทำ

หลังจากทางวัดราชบพิตรฯ ได้ปิดการให้เข้าเฝ้าถวายสักการะสมเด็จพระสังฆราชอย่างเป็นทางการเมื่อเย็นวันที่ 15 ก.พ. พระพรหมมุนี(สุชิน อคฺคชิโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิตรฯ ในฐานะเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชฯ เผยว่า สมเด็จพระสังฆราชมีกำหนดการเสด็จไปยังพระอารามหลวง เพื่อถวายสักการะพระอัฐิอดีตสมเด็จพระสังฆราช 19 พระองค์และสักการะพระราชาคณะ ระหว่างวันที่ 18-20 ก.พ. โดยวันที่ 19 ก.พ. เวลา 17.00 น. สมเด็จพระสังฆราชจะเสด็จไปยังวัดปากน้ำภาษีเจริญ เพื่อถวายสักการะสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดฯ ด้วย

2.“บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 ให้ “วัดพระธรรมกาย” เป็นพื้นที่ควบคุม เปิดทางดีเอสไอ-ตำรวจตรวจค้นวัด แต่เหลว ไม่พบ “ธัมมชโย” !

(บน) เจ้าหน้าที่นำคีมตัดประตูเพื่อเข้าตรวจค้นวัดพระธรรมกาย (ล่าง) การตรวจค้นวัดพระธรรมกายไม่พบพระธัมมชโย พบแต่เตียงที่ทางวัดอ้างว่าเคยใช้รักษาอาการอาพาธของพระธัมมชโย โดยอยู่ในสภาพเหมือนจัดฉาก
เมื่อวันที่ 16 ก.พ. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ให้วัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุม เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นและจับกุมพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์วัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาตามหมายจับในข้อหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร ในคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

ทั้งนี้ เช้าวันเดียวกัน พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้เปิดแถลงร่วมกับ พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เกี่ยวกับการลงพื้นที่ปฏิบัติการตรวจค้นวัดพระธรรมกาย เพื่อจับกุมพระธัมมชโย โดยชี้แจงว่า เหตุที่ต้องเข้าตรวจค้น เนื่องจากพระธัมมชโยเป็น 1 ใน 5 ผู้ต้องหาคดีรับเงินที่เกิดจากการทุจริตของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯ คลองจั่น กว่า 1,400 ล้านบาท สร้างความเสียหายแก่ประชาชนที่ฝากเงินกับสหกรณ์ฯ คลองจั่นกว่า 5 หมื่นคน โดยนายศุภชัย ถูกจำคุกแล้ว มีผู้ต้องหามอบตัวแล้ว 2 คน ส่วน น.ส.ศศิธร โชคประสิทธิ์ หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ขณะที่พระธัมมชโย ไม่ยอมเข้ามอบตัว จึงนำเรื่องขึ้นสู่ศาลและมีการออกหมายจับ และว่า เมื่ออัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี พร้อมสั่งให้นำตัวพระธัมมชโยไปฟ้อง ดีเอสไอจึงต้องขอหมายค้น โดยครั้งแรกค้นเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2559 แต่ลูกศิษย์ขัดขวางไว้ส่วนหนึ่ง จึงดำเนินคดีกับผู้ขัดขวางแล้วส่วนหนึ่ง ต่อมา 13-16 ธ.ค.2559 ขอหมายค้นอีกครั้ง แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ “ดีเอสไอจึงรายงานให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทราบว่า จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษในการดำเนินคดีนี้ จึงเสนอว่า ขอใช้ประกาศหัวหน้า คสช.เพื่อใช้มาตรา 44 ในการดำเนินคดี”

พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวอีกว่า ปฏิบัติการตรวจค้นวัดพระธรรมกาย จะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก โดยขั้นตอนแรกจะเจรจาก่อน ใครขัดขืนหรือขัดขวางจะมีความผิดตามกฎหมาย อธิบดีดีเอสไอ เผยด้วยว่า นายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย ได้เข้ามอบตัวแล้วที่ สภ.คลองหลวง และกองบังคับการปราบปรามเมื่อคืนวันที่ 15 ก.พ. และได้ประกันตัวไปแล้ว โดยมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศและห้ามยุยงปลุกปั่น

อย่างไรก็ตาม หลังเสร็จสิ้นการตรวจค้นวันแรก ปรากฏว่า ไม่พบตัวพระธัมมชโยแต่อย่างใด โดย พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกดีเอสไอ ได้เปิดแถลงร่วมกับ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในช่วงเย็นว่า การตรวจค้นครั้งนี้ มีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ตำรวจ และทหาร รวม 4,240 นาย เริ่มตรวจค้นตั้งแต่ 10.00 น. โดยคณะอธิบดีดีเอสไอได้เข้าเจรจากับตัวแทนวัดพระธรรมกาย และเริ่มเข้าตรวจค้น โดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 จุด คือ โซน A B และ C วันแรกเป็นการตรวจค้นโซนเอ พื้นที่ 196 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่เชื่อว่าพระธัมมชโยพักอาศัยอยู่ แต่ตรวจค้นแล้ว ไม่พบตัวพระธัมมชโยแต่อย่างใด ส่วนโซนบีเป็นพื้นที่ของมูลนิธิต่างๆ ของวัดพระธรรมกาย เช่น อาคาร 100 ปี อาคารอุบาสก และอาคารสงฆ์ เป็นต้น เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้เข้าตรวจค้น โดยจะตรวจค้นทั้งหมดในวันที่ 17 ก.พ. รวมถึงเข้าตรวจค้นพื้นที่โซนซีที่เหลือด้วย ซึ่งเป็นอาคารมหาธรรมกายเจดีย์และอาคารรัตนวิหารคต

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวด้วยว่า “การตรวจค้นวันแรก 19 จุด คิดเป็น 15-20% ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 80% จะต้องเข้าตรวจค้นให้ครบถ้วนทั้งหมด โดยไม่มีการระบุเวลาว่า จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อใด และไม่พบการกระทบกระทั่งหรือยุยงปลุกปั่น หรือขัดขวางเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติงาน ส่วนพระธัมมชโยยังอยู่ในวัดหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ จะต้องตรวจค้นให้แล้วเสร็จก่อน แต่จากการข่าวยังเชื่อว่า พระธัมมชโยยังอยู่ในวัด”

วันเดียวกัน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ประชุมร่วมกับพนักงานสอบสวนที่ สภ.คลองหลวง ก่อนเผยว่า จากการเข้าตรวจค้นวัดพระธรรมกายวันแรก พบว่ามีการกระทำความผิดเพิ่ม คือ การขุดบ่อบาดาลโดยไม่ได้รับอนุญาตในพื้นที่วัดพระธรรมกาย แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษแต่อย่างใด

เป็นที่น่าสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตรวจค้นวัดพระธรรมกายเป็นวันที่สองเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ก็ยังไม่พบพระธัมมชโยแต่อย่างใด พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกดีเอสไอ ได้แถลงสรุปผลการตรวจค้นในช่วงเย็นว่า ได้ตรวจค้นในพื้นที่โซน A B และ C ทุกอาคาร ทุกห้องแล้ว แต่ไม่พบพระธัมมชโย แต่ได้มีการอายัดอาคารไว้บางส่วน โดยเฉพาะอาคารดาวดึงส์ ที่อยู่บริเวณโซน A ไว้ เนื่องจากมีข้อสังเกตเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะเครื่อง “Hyperbaric Chamber” เพื่อตรวจสอบว่ามีความสอดคล้องกับอาการอาพาธของพระธัมมชโยหรือไม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการเรียกผู้เชี่ยวชาญอุปกรณ์ชนิดนี้เข้าตรวจสอบ ส่วนข้อสงสัยที่ว่าพระธัมมชโย มีอาการอาพาธหนัก จนไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ แต่จากการตรวจค้นห้องดังกล่าวเป็นที่ยืนยันได้ว่า พระธัมมชโยสามารถเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ได้ แต่จะอาพาธจริงหรือไม่ ยังไม่สามารถยืนยันได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นห้องที่วัดพระธรรมกายเคยอ้างว่าใช้รักษาพระธัมมชโยภายในอาคารดาวดึงส์ ปรากฏว่า มีหมอนและผ้าห่มจัดวางอยู่บนเตียง โดยวางในลักษณะเหมือนคนนอนอยู่บนเตียง และคลุมทับด้วยผ้าห่ม ซึ่งพระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผอ.ฝ่ายสื่อสารองค์กรวัดพระธรรมกาย ยืนยันว่า ไม่ใช่การจัดฉากแต่อย่างใด พร้อมอ้างว่า อาจมีพระลูกวัดนำผ้าห่มไปคลุมเพื่อกันฝุ่นเท่านั้น พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้พบพระธัมมชโยนานแล้ว เพราะไม่ได้มีหน้าที่ติดต่อพระธัมมชโย

ส่วนข้อสงสัยเกี่ยวกับอุโมงค์ลับภายใต้น้ำตก อาคารภาวนา 60 ปี ที่สามารถเชื่อมไปยังด้านนอกได้นั้น พ.ต.ต.วรณัน เผยว่า สื่อมวลชนได้เข้าไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าเป็นเพียงบ่อกักเก็บน้ำที่จะเวียนขึ้นไปใช้ยังน้ำตก และทางเข้าออกมีทางเดียว ไม่มีทางเชื่อมต่ออื่น

พ.ต.ต.วรณัน ยืนยันด้วยว่า การค้นภายในวัด เจ้าหน้าที่สามารถค้นได้ทุกจุดตามหมายค้น แต่ไม่พบพระธัมมชโย จึงยุติการค้นหาภายในวัด แต่ยังคงวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้โดยรอบ พร้อมกับประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อกำหนดแนวทางต่อไป อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการตรวจค้นในวัดจะยุติ แต่การข่าวยังคงหาความเคลื่อนไหวทั้งในและนอกประเทศ หากการข่าวพบว่า พระธัมมชโย กลับเข้ามาที่วัด ก็สามารถใช้อำนาจพิเศษในการกลับเข้าไปตรวจค้นได้ทุกเมื่อ ทั้งนี้ หากผู้ใดพบเบาะแสความเคลื่อนไหวของพระธัมมชโย บุคคลตามหมายจับ ขอให้แจ้งข้อมูลมายังดีเอสไอ ทางสายด่วน 1202 โทร.ฟรีทั่วประเทศ

3.“บิ๊กตู่” เมินเสียงต้าน เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขณะที่ภาค ปชช.เตรียมยกระดับค้าน ด้าน “อภิสิทธิ์” ชี้ รัฐบาลตัดสินใจพลาด!

(บน) การชุมนุมของกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่หน้าทำเนียบฯ (ล่างซ้าย) เจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งมาคุมสถานการณ์ (ล่างขวา) เด็กน้อยจากเกาะลันตาร้องไห้พร้อมครอบครัวที่ข้างทำเนียบฯ หลังรู้ว่านายกฯ ไม่หยุดสร้างโรงไฟฟ้า
สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายฝ่ายจับตาว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธาน ในวันที่ 17 ก.พ.จะมีมติอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ หรือไม่ ท่ามกลางกระแสคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ แต่ก็มีนักวิชาการบางคนออกมาสนับสนุนให้สร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว

สำหรับนักวิชาการที่สนับสนุนให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ คือ นายภิญโญ มีชำนะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แกนนำเครือข่ายนักวิชาการสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ซึ่งได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่เมื่อวันที่ 16 ก.พ. โดยระบุว่า ตนในฐานะคณะกรรมการเพื่อศึกษาโครงการฯ ตามที่นายกฯ ลงนามแต่งตั้งได้เดินทางไปดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหิน เทคโนโลยีสะอาดมาแล้วหลายประเทศทั่วโลก และไม่เคยได้รับข้อมูลความเจ็บป่วยร้ายแรง หรือสูญเสียชีวิตจากมลพิษที่ปล่อยจากโรงไฟฟ้าฯ อีกทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีที่ตั้งอยู่ริมทะเลเช่นเดียวกับโครงการนี้ ได้ผลิตไฟฟ้าต่อเนื่องมา 10 ปีแล้ว แต่ไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ว่าเกิดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และปัญหาด้านสุขภาพประชาชนในพื้นที่ ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ต่างก็มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกหลายร้อยโครงการ

นายภิญโญ กล่าวอีกว่า ปัญหาจากการคัดค้านของคนบางกลุ่มทำให้โครงการฯ ล่าช้าจากแผนเดิมไป 4 ปี และความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่จะมีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น จึงอาจมีความเสี่ยงที่ไฟฟ้าจะไม่พอใช้ในภาคใต้ขั้นรุนแรงจนอาจเกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง เช่นที่เคยเกิดมาแล้วใน 14 จังหวัดภาคใต้เมื่อหลายปีก่อน จึงขอให้นายกฯ พิจารณาอนุมัติให้โครงการดังกล่าวเดินหน้าต่อไปด้วย

ขณะที่นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) และเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เรื่อง “การยกระดับการเคลื่อนไหว หากรัฐบาลตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและกระบี่” โดยมีเนื้อหาสรุปว่า นโยบายการผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย ทั้งที่กระบี่ และเทพา รวมถึงที่อื่นๆ นับเป็นนโยบายที่ไม่สอดคล้องต่อกระแสการพัฒนาเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และไม่ใช่ความต้องการของประชาชน แต่เป็นนโยบายที่เกิดจากความต้องการพัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรมหนัก และมีแนวโน้มที่การผลักดันดังกล่าวจะมีผลระโยชน์ทับซ้อน และการคอร์รัปชันครั้งใหญ่อยู่เบื้องหลัง เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่มทุนใหญ่ได้ไปซื้อ หรือลงทุนเหมืองถ่านหินในต่างประเทศ เช่น ที่อินโดนีเซีย ไว้แล้ว

นายดิเรก กล่าวอีกว่า “หากรัฐบาลอนุมัติให้มีการเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงใดโรงหนึ่ง ทางเครือข่ายฯ จะยกระดับการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านความไม่เป็นธรรม และหายนภัยที่จะมากระทำต่อพื้นที่อย่างถึงที่สุด... หากทางรัฐบาลอนุมัติโครงการ ทางเครือข่ายจะนัดหมายให้มีการชุมนุมใหญ่ที่มัสยิดกลาง จ.ปัตตานี ภายในหนึ่งสัปดาห์ เพื่อประกาศถึงความไม่เป็นธรรมให้สาธารณชนได้รับทราบ และร่วมกันกำหนดการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องชายแดนใต้ และอันดามันต่อไป”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ได้มีเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และนักเคลื่อนไหวด้านพลังงานที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และ จ.สงขลา ประมาณ 300 คน นำโดยนายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้เดินทางไปชูป้ายคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อรอฟังผลการประชุม กพช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ว่าจะเดินหน้าหรือยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ซึ่งในที่สุด กระแสคัดค้านก็ไม่สามารถทัดทานที่ประชุม กพช.ได้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ แถลงหลังประชุมว่า ที่ประชุม กพช.อนุมัติให้ดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดที่ จ.กระบี่ ตามขั้นตอนของกฎหมาย เพราะโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2550 เราได้พิจารณาจากหลักการและเหตุผลที่เทคโนโลยีปัจจุบันมีอยู่ และเห็นว่ามีความคุ้มค่า ปลอดภัย และจากการศึกษาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลก็ได้ใช้มาตรการที่เหมาะสม ในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ไปแล้ว ซึ่งเสียเวลาไป 2 ปีแล้ว ขั้นตอนต่อไป จึงเป็นการปลดล็อคให้สามารถดำเนินการได้ แต่จะสร้างได้เมื่อไหร่อย่างไร ค่อยว่ากันต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ ฝากถึงผู้ที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ ด้วยว่า “ขอว่ากลุ่มที่มาต่อต้านอย่าสร้างความขัดแย้งกันอีกเลย ผมทราบว่ามีคนมาประท้วงก็จะขอดูว่าเขามาด้วยเหตุผลอะไร โดยจะให้กระทรวงพลังงานจัดเจ้าหน้าที่ไปชี้แจง อีกส่วนผมอยากให้สื่อมวลชนช่วยชี้แจง และทำความเข้าใจว่าอะไรคือหลักการและเหตุผลในการที่จะต้องเข้าไปดูแลความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า ถือเป็นสิ่งสำคัญ วันนี้ไฟฟ้าเราอาจจะเพียงพอ แต่ปัญหาของภาคใต้คือ มีอัตราการเจริญเติบโต การใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นกว่าทุกภาค แต่แหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้ามีน้อยกว่าทุกภาค ทำให้ไม่เพียงพอ จึงต้องสร้างเพิ่ม ด้วยหลักการและเหตุผลของความคุ้มค่า ความปลอดภัย และเป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ ยืนยันว่าทุกอย่างมีคำตอบให้ จึงขอให้ฟังเหตุผลของรัฐบาล อย่าฟังอะไรที่ไม่มีข้อเท็จจริง"

ด้านนายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน แถลงหลังทราบผลประชุมของ กพช.ที่ให้เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ว่า แกนนำตัดสินใจจะปักหลักชุมนุมเช่นเดิม เพื่อรอดูว่ารัฐบาลจะทนได้นานเพียงใดกับการที่ประชาชนมารวมตัวหน้าทำเนียบรัฐบาลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะชุมนุมจนกว่ารัฐบาลจะสั่งยุติโครงสร้างก่อสร้าง และว่า หลังจากนี้ แกนนำจะหารือกำหนดการเคลื่อนไหวอีกครั้ง แต่จะไม่ตั้งเวที ยืนยันว่าไม่กลับบ้านแน่นอน และว่า การตัดสินใจของรัฐบาลครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชน แต่เอื้อกลุ่มทุนมาโดยตลอด

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินว่า เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดไม่สอดคล้องกับทิศทางของพลังงานในอนาคตที่มีทางเลือกที่ดีกว่า และสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายต่อพื้นที่การท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งถือว่าเป็นทุนที่มีค่าสำหรับพื้นที่นั้น และกังวลว่าความขัดแย้งจะไม่ยุติ ส่วนที่ชาวบ้านมาชุมนุมกันนั้น เห็นว่าทุกคนต้องเคารพกฎหมาย และว่า ความจริงมีทางเลือกที่ดีกว่านี้และไม่กระทบความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งพรรคได้นำเสนอไปแล้ว แต่เสียดายรัฐบาลไม่ดูทางเลือกให้ครบถ้วนในการวางรากฐานสำหรับอนาคต

ล่าสุด 18 ก.พ. เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัว 3 แกนนำที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ จากที่ชุมนุมข้างทำเนียบรัฐบาล ประกอบด้วย นายประสิทธิชัย หนูนวล, นายอัครเดช ฉากจินดา และหม่อมหลวงรุ่งคุณ กิตติยากร ไปยังมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ฐานขัดคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน จากนั้นได้ปิดล้อมให้ผู้ชุมนุมที่เหลืออยู่แต่ภายในสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) พร้อมตัดการส่งน้ำและอาหารให้แก่ผู้ชุมนุม และเปิดเพลงกลบเสียงต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของผู้ชุมนุม โดยมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่อาจนำตัวผู้ชุมนุมไปทำประวัติและส่งกลับภูมิลำเนาต่อไป

4.“ไอลอว์” เผย 7 สนช.ส่อขาดสมาชิกภาพ เหตุขาดประชุมเกินกำหนด มีชื่อ “พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา” ด้วย!

4 ใน 7 สนช.ที่ไอลอว์ระบุว่า ขาดประชุมบ่อยจนอาจขาดสมาชิกสภาพ (บนซ้าย) พล.อ.ปรีชา  จันทร์โอชา (บนขวา) นายดิสทัต โหตระกิตย์ (ล่างซ้าย) พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง (ล่างขวา) พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ
เมื่อวันที่ 14 ก.พ. โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน(ไอลอว์) ได้เผยผลการตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์ เกี่ยวกับการเข้าประชุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ว่า ตามข้อบังคับกำหนดให้สมาชิกต้องมาลงมติอย่างน้อย 1 ใน 3 ของทุกรอบ 90 วัน แต่จากการตรวจสอบพบว่า มีสมาชิกอย่างน้อย 7 คน ที่ขาดประชุมเป็นประจำ จนอาจเป็นเหตุให้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิก สนช. เว้นแต่ได้ยื่นใบลาต่อประธานสภา แต่เมื่อขอข้อมูลการยื่นใบลา กลับพบว่า “ข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับ”

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของไอลอว์ พบว่า สมาชิก สนช.7 คนดังกล่าว ประกอบด้วย พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ อดีตเสนาธิการทหารเรือ, นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช., พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ

ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.กล่าวถึงกรณีไอลอว์เผยผลตรวจสอบการขาดประชุมของสมาชิก สนช.7 คนจนอาจขาดสมาชิกภาพ โดยยืนยันว่า สนช.ทั้ง 7 คนไม่ได้มีปัญหาเรื่องสมาชิกภาพแต่อย่างใด เพราะได้ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาตรวจสอบแล้วพบว่า มีการลาประชุมถูกต้องตามข้อบังคับ

ขณะที่สมาชิก สนช.ที่มีชื่อเป็น 1 ใน 7 ตามที่ไอลอว์ระบุ ได้ทยอยออกมายืนยันว่า การขาดประชุม ได้ทำหนังสือลาตามระเบียบทุกครั้ง เช่น นายสุพันธุ์ มงคลสุธี และนายดิสทัต โหตระกิตย์

อย่างไรก็ตาม นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ได้ยื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เมื่อวันที่ 16 ก.พ. เพื่อให้ไต่สวนและลงโทษสมาชิก สนช.ทั้ง 7 คน ที่ขาดประชุมตามที่ไอลอว์ระบุ เพราะพฤติกรรมของ สนช.ทั้ง 7 ส่อเข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 9 (5) กรณีไม่มาแสดงตนในการลงมติประชุม สนช.ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย การที่ประธาน สนช.ระบุว่า ตรวจสอบแล้วพบว่า สนช.7 คน ยื่นใบลาอย่างถูกต้องนั้น ไม่แน่ใจว่าเป็นการทำหนังสือย้อนหลังหรือไม่

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า ไม่ใช่แค่ สนช.7 คนเท่านั้นที่มีปัญหา หากตรวจสอบ สนช.คนอื่นๆ อาจพบว่ามีพฤติการณ์ไม่ต่างกัน ดังนั้น หากใครไม่เข้าร่วมประชุมในการลงมติ ขอให้ยื่นใบลาออกจาก สนช.เพราะเป็นการกินเงินภาษีของประชาชน ยังมีคนมีความรู้ความสามารถ พร้อมเข้ามาทำหน้าที่แทนมากมาย อยากให้ สนช.7 คนแสดงสปิริตลาออก หากไม่มาทำงาน และคืนเงินเดือนให้ประชาชน ส่วนข้ออ้างที่ว่ามีภารกิจมากจนมาลงมติไม่ได้นั้น นายศรีสุวรรณ ชี้ว่า ฟังไม่ขึ้น อย่ามาสวมหมวกหลายใบ ถ้าขาดประชุม 1-2 ครั้งยอมรับได้ แต่ไม่ใช่ขาดมากมายหลายครั้ง ไม่รู้ว่าบางคนแอบไปทำธุระส่วนตัวหรือไม่ และว่า หากประธาน สนช.ยังยอมรับว่าการลาของ สนช.ทั้ง 7 มีความถูกต้อง ตนจะไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบนายพรเพชร ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในสัปดาห์หน้า

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.กล่าวถึงกรณีมีชื่อ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย เป็น 1 ใน 7 สนช.ที่ขาดประชุมเกินกว่าที่ข้อบังคับกำหนดว่า ไม่เป็นไร กติกาว่าอย่างไร ก็เป็นไปตามนั้น ก็ไปตรวจสอบกันมา ถ้าไม่ครบจริง ต้องตัดชื่อออกและต้องพ้นหน้าที่ไป ก็เท่านั้นเอง ที่ผ่านมา ไม่ใช่ พล.อ.ปรีชา ไม่มาประชุม สนช.เลย ไปตรวจสอบกันมา ซึ่งจะครบหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของการตรวจสอบ

ขณะที่ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา สมาขิก สนช.กล่าวกรณีมีชื่อเป็น 1 ใน 7 สนช.ที่ขาดประชุมเกินกว่าข้อบังคับกำหนดว่า เรื่องนี้ ทุกอย่างได้ชี้แจงไปหมดแล้ว ทั้งเรื่องใบลาและรายละเอียด ได้พูดคุยกับนายพรเพชรแล้ว ส่วนตัวเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่มีปัญหาอะไร เพราะได้แสดงหลักฐานการลาและการร่วมประชุมชัดเจนหมดแล้ว ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามว่า จะออกมาแถลงข่าวชี้แจงอย่างเป็นทางการด้วยตัวเองหรือไม่ พล.อ.ปรีชา กล่าวสั้นๆ ว่า “ตอนนี้พี่เกษียณแล้ว ขออยู่อย่างสงบเถอะ จะมาเอาอะไรกับพี่นักหนา”

5. “สุภัฒ” เข้ารับทราบข้อกล่าวหาผิดวินัยร้ายแรงขโมยภาพเขียนที่ญี่ปุ่น เตรียมส่งเอกสารชี้แจง 20 ก.พ. ลุ้นโทษ ปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ!

นายสุภัฒ สงวนดีกุล อดีตรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. นายสุภัฒ สงวนดีกุล อดีตรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาความผิดทางวินัย ที่กระทรวงยุติธรรม เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาผิดวินัยร้ายแรงกรณีนายสุภัฒขโมยภาพเขียน 3 รูป ในโรงแรมที่พักแห่งหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่น

หลังการเข้าพบ พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวว่า คณะกรรมการได้แจ้งให้นายสุภัฒมารับทราบข้อกล่าวหาผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งนายสุภัฒขอทำเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นลายลักษณ์อักษรให้คณะกรรมการภายใน 5 วัน โดยจะส่งกลับมาให้คณะกรรมการในวันที่ 20 ก.พ.นี้ และหลังจากได้เอกสารชี้แจงแล้ว คณะกรรมการจะพิจารณาก่อนสรุปผล คาดว่าไม่เกินต้นเดือน มี.ค.นี้

พ.ต.อ.ดุษฎี เผยด้วยว่า “ในการพิจารณาคดีผิดวินัยร้ายแรง จะนำกรณีตัวอย่างที่ข้าราชการระดับสูงกระทรวงพาณิชย์เคยกระทำผิดนำสินค้าเข้าประเทศเกาหลี มาเทียบเคียงใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดี โดยต้องดูว่ากระทบชื่อเสียงกระทรวงพาณิชย์มากน้อยแค่ไหน อีกทั้งต้องพิจารณาคุณงามความดีที่ท่านได้เคยสั่งสมมาร่วมพิจารณาด้วย”

พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวอีกว่า เบื้องต้นในการตัดสินผิดวินัย จะมีโทษ 2 ลักษณะ คือ 1.โทษเบาสุดคือปลดออก และ 2.หนักสุดคือการไล่ออกจากราชการ อย่างไรก็ตาม หลังจากรวบรวมผลสอบเสร็จหมดแล้ว ทางคณะกรรมการพิจารณาจะนำผลทั้งหมดส่งให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(อ.ก.พ.) กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาอีกครั้งตามขั้นตอนต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังใช้เวลาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาประมาณ 20 นาที นายสุภัฒได้เดินทางกลับทันทีโดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น