xs
xsm
sm
md
lg

“ด่านเจดีย์สามองค์” มีความสำคัญมาตลอดตั้งแต่ ๒,๐๐๐ ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน! แต่ใครสร้าง สร้างไว้ทำไม!!

เผยแพร่:   โดย: โรมบุนนาค

เจดีย์สามองค์ เห็นธงอยู่ในเขตพม่า
เชื่อได้ว่าทุกคนแม้ไม่เคยไปก็ต้องรู้จัก “ด่านเจดีย์สามองค์” สถานที่นี้มีความสำคัญที่มีบันทึกกล่าวถึงมาตั้งแต่ ๒,๐๐๐ ปีก่อน คนที่เริ่มเรียนประวัติศาสตร์ก็ต้องรู้จักด่านเจดีย์สามองค์แล้ว เพราะทั้งกองทัพไทยและพม่าเดินเข้าออกกันจนท่องไม่ไหว ในวันนี้ก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ในวันหยุดลองวีคเอนด์ แค่จะเข้าห้องน้ำยังต้องต่อคิวยาว

มีจดหมายเหตุของจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นบันทึกไว้ว่า ใน พ.ศ.๖๖๓ มีนักเดินทางจากกรีกและโรมันที่เดินทางมาจีน เมื่อออกจากอินเดียแล้วแทนที่จะอ้อมแหลมมลายู กลับมาทางลัดโดยขึ้นบกที่ทางใต้ของพม่า แล้วเดินทางผ่านช่องเขาที่ต่อมาเรียกกันว่าด่านเจดีย์สามองค์ มาลงเรือที่แม่น้ำแม่กลอง ต่อสำเภาไปจีนที่ปากอ่าว อย่างที่เคยเล่าไว้ในเรื่องตะเกียงโรมันที่พงตึก

ด่านเจดีย์สามองค์จึงมีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคนั้น

ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ไทยกับพม่าเริ่มทำสงครามกัน กองทัพทั้งสองประเทศก็เดินทางเข้าออกด่านเจดีย์สามองค์จนนับครั้งไม่ถ้วน แม้จะมีทางเข้าออกกันหลายด่าน แต่ด่านเจดีย์สามองค์ก็ถูกใช้มากที่สุด

เซอร์โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ กงสุลอังกฤษคนดังในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตอนเป็นร้อยเอกตกงานในอินเดีย ก็เดินเท้าเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์เพื่อหางานทำในเมืองไทย จนได้เป็นท่านเซอร์

แต่ก็แปลก ไม่มีใครรู้ว่าเจดีย์สามองค์นี้ใครเป็นผู้สร้าง สร้างมาแต่เมื่อใด และสร้างไว้ทำไม

ไม่มีตำราเล่มไหนบอกเรื่องนี้ไว้ แต่ที่ด่านเจดีย์สามองค์ มีป้ายสีขาวแผ่นใหญ่ป้ายหนึ่งตั้งไว้เด่น มีข้อความว่า

“พระเจดีย์สามองค์
พระเจดีย์สามองค์นี้ ตั้งอยู่ในตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย เดิมเรียกว่า หินสามกอง เป็นสถานที่สักการะของคนไทยโดยทั่วไป ก่อนจะเดินทางออกจากเขตประเทศไทยเข้าสู่เขตแดนพม่าแต่ครั้งโบราณกาล ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๒ พระศรีสุวรรณคีรี เจ้าเมืองสังขละบุรีของไทย ได้เป็นผู้นำชาวบ้านก่อสร้างเป็นเจดีย์สมบูรณ์ ดังที่อยู่ในปัจจุบัน”

แต่ใครเป็นคนกองหินสามกองนั้นไว้ กองมาตั้งแต่เมื่อไร และกองไว้ทำไม ก็ยังเป็นปัญหาที่ต้องหาคำตอบกัน

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” ก็ยังหาคำตอบที่แน่ชัดไม่ได้ นอกจากทรงสันนิษฐานจากหลักฐานที่มีทางด้านอื่นๆ นำมาเปรียบเทียบกับเรื่องของเจดีย์สามองค์ไว้ว่า

เมื่อตอนที่สมเด็จพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี กองทัพในกระบวนตามเสด็จไม่ทันหลายกอง สมเด็จพระนเรศวรจะทรงลงโทษนายทัพเหล่านั้นด้วยการประหารชีวิต แต่สมเด็จพระวันรัตทูลขอชีวิตไว้ จึงโปรดให้คนที่มีความผิดสมควรถูกประหารไปตีเมืองทวายและตะนาวศรีไถ่โทษ พระยาจักรีไปตีได้เมืองทวาย ส่วนพระยาพระคลังตีได้เมืองตะนาวศรี เมื่อกองทัพพระยาจักรีกลับจากเมืองทวายเข้ามาทางด่านขะมองส่วย พงศาวดารได้บันทึกไว้ว่า

“....ถึงตำบลเขาสูงช่องแคบแดนพระนครศรีอยุธยากับเมืองทวายต่อกัน หาที่สำคัญมิได้ จึงให้เอาปูนในเต้าไพร่พลทั้งปวงมาประสมกันเข้าเป็นใบสอ ก่อพระเจดีย์ฐานสูง ๖ ศอก พอหุงอาหารสุกก็สำเร็จ แล้วยกเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยา”

เรื่องนี้แม้ไม่เกี่ยวกับเจดีย์สามองค์ แต่ก็ทำให้ทราบประเพณีของแม่ทัพนายกองสมัยก่อนว่า เมื่อไปตีข้าศึกได้ชัยชนะ ตอนกลับเข้ามาถึงเขตแดนไทย ก็จะสร้างเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์แสดงความยินดีที่ได้ชัยชนะ หรือยินดีที่กลับมาได้ปลอดภัย หรืออาจจะสร้างเจดีย์เป็นการแก้บนก็ได้

นอกจากนี้ กรมพระยาดำรงฯยังทรงพบอีกว่า ที่เมืองฮอด ซึ่งอยู่ชายแดนเมืองเชียงใหม่กับเมืองตาก ก็มีเจดีย์โบราณขนาดใหญ่สร้างไว้อย่างประณีตเรียงรายอยู่หลายองค์ ซึ่งไม่น่าจะมีใครศรัทธาไปสร้างเจดีย์ไว้ในที่เปล่าเปลี่ยวห่างไกลเมืองเช่นนั้น และเมื่อข้ามเขาเข้ามาในเขตเมืองตาก ก็พบว่ามีวัดร้างแห่งหนึ่งอยู่ที่ดอยแก้ว ใกล้กับจวนของพระเจ้าตากสินเมื่อครั้งเป็นพระยาตาก ประตูหน้าต่างทำซุ้มจรนำแบบวัดหลวง จึงทรงทราบว่าพระเจ้าตากสินมาสร้างใหม่เมื่อเสวยราชย์แล้ว ไม่ใช่โบสถ์เดิม

นอกจากนี้ตามไหล่ดอยแก้วยังมีวัดเก่าอีก ๓ วัดตั้งเรียงราย วัดหนึ่งที่กำแพงมีที่ตั้งตามประทีปเหมือนอย่างพระราชวังลพบุรี ทำให้เชื่อว่าเป็นวัดที่สร้างสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนอีก ๒ วัดก็มีลักษณะเป็นวัดหลวงเช่นกัน

เมื่อสอบในพงศาวดารก็พบว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ ๓ ครั้ง คือในสมัยพระชัยราชาธิราช ซึ่งเป็นเหตุการณ์อยู่ในหนังเรื่อง “สุริโยไท” ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรก็ทรงให้สมเด็จพระเอกาทศรถขึ้นไปตี กับในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอีกครั้ง เท่ากับจำนวนวัดบนไหล่เขาแก้วพอดี คงเช่นเดียวกับที่พระเจ้าเชียงใหม่ยกทัพข้ามมาตีได้เมืองทางใต้ แล้วกลับไปสร้างเจดีย์ฉลองชัยไว้ที่เมืองฮอด

ถ้าพระเจ้าแผ่นดินยกทัพไปเองก็จะมีเวลาสร้างพระเจดีย์หรือสร้างวัดได้อย่างสมบูรณ์ แต่ถ้าแม่ทัพนายกองธรรมดาก็ไม่อาจหยุดกองทัพได้นาน มีเวลาแค่หุงข้าวอย่างกองทัพพระยาจักรี ก็ทำได้แค่กองหิน ไม่มีเวลาตกแต่งให้เป็นเจดีย์

ด้วยหลักฐานแวดล้อมเหล่านี้ กรมพระยาดำรงฯจึงทรงสันนิษฐานว่า เจดีย์สามองค์ หรือหินสามกอง ก็คงเป็นแม่ทัพไทยที่ยกไปตีเมืองพม่าได้ชัยชนะกลับมา ๓ กองทัพ กองทัพหนึ่งกลับมาถึงก่อนสร้างไว้องค์หนึ่ง กองทัพที่ตามมาอีก ๒ กองก็สร้างไว้ใกล้ๆ แบบเดียวกัน

ส่วนที่เจดีย์ทั้ง ๓ มีลักษณะฐานกว้าง รูปทรงเป็นแบบมอญนั้น อาจเป็นธรรมดาของการกองหินก่อพระเจดีย์ ต้องทำฐานให้กว้างจึงก่อได้ หรือตอนสงครามเก้าทัพ พม่าอาจจะรื้อเจดีย์เก่าออก แต่มอญที่รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ทรงให้ไปตั้งกองอยู่แถวนั้นถึง ๗ เมือง อาจจะสร้างเจดีย์ขึ้นใหม่ ก็เลยเป็นทรงมอญไป

การศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์หรือโบราณสถาน ก็ต้องสันนิษฐานไปตามหลักฐานที่พบแบบนี้ เพราะไม่อาจไปถามคนที่เห็นเหตุการณ์จริงได้ สมัยหนึ่งอาจจะเชื่อกันอย่างหนึ่ง แต่ต่อมาเมื่อค้นพบหลักฐานใหม่ก็อาจจะเปลี่ยนความเชื่อไปอีกตามหลักฐานล่าสุดที่พบ เรื่องเก่าๆ ก็เป็นแบบนี้แหละ ใครจะรู้จริงได้

แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันด่านเจดีย์สามองค์วันนี้เปิดเป็นด่านถาวร (ตราบที่พม่ายังไม่เปลี่ยนใจ) ให้เข้าออกไปมาหากันได้ และเป็นจุดท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวไทยเข้าไปเที่ยวตลาดพญาตองซูในเขตพม่ากันไม่น้อย โดยเฉพาะในวันหยุด
กำลังโหลดความคิดเห็น