xs
xsm
sm
md
lg

ไทม์แมชชีนสู่วันวาน เปิด "บ้านบางเขน" ที่พักกายที่ต้องกดไลค์รัวๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดประตู สู่บ้านบางเขน ชายคาพักกายแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ เสพศิลป์กินดื่มในความคิดสร้างสรรค์ที่นำพาเราย้อนเวลาสู่บรรยากาศแห่งวันวาน อันชวนให้รู้สึกเบิกบานรื่นรมย์

เพราะภาพและความทรงจำในอดีตที่มีคุณค่าให้ได้หวนรำลึก และยิ่งด้วยเป็นสิ่งของต่างๆ ที่เราได้เติบโตมาพร้อมกับมัน ยิ่งทำให้ความถวิลหาและอารมณ์ “นอสทัลเจีย (Nostalgia)” ได้ทำหน้าที่ให้ความสุขกับเราในยามที่เราระลึกถึง จึงทำให้ สมพงษ์ พิศาลกิจวณิช หรือ เฮียกล้วย นักธุรกิจผู้มีงานอดิเรกคือสะสมของเก่าที่ตนเองได้เคยเติบโตมาด้วยกัน ได้ให้กำเนิด ‘บ้านบางเขน’ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้และสถานที่บริการทั้งอาหารและเครื่องดื่ม ที่เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง ขึ้น บนบริเวณพื้นที่กว่า 5 ไร่ ตรงข้ามกับกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ย่านบางเขน ที่พร้อมจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ และสามารถหวนรำลึกความหลังอันแสนหวานบนช่วงเวลาในปัจจุบันได้ในคราวเดียวกัน

• จุดเริ่มต้นของทางบ้านบางเขนมีที่มาที่ไปยังไงบ้างครับ

ผมเป็นคนที่ชอบสะสมของเก่า เก็บมาประมาณ 10 กว่าปีแล้ว แล้วเราก็เก็บมาเรื่อยๆ จนมันเยอะเต็มบ้านไปหมดแล้ว ถึงมีโกดังเก็บของก็ยังเต็ม แล้วอีกด้านหนึ่ง เราก็รู้สึกว่าอยากเปิดร้านขายกาแฟ ร้านขายขนมเค้ก ก็มีความคิดที่จะเปิดร้าน พร้อมกับมีของสะสมด้วย เราก็เลยมีความคิดว่า จะเอาของเหล่านี้ที่คนอื่นไม่เคยเห็นเนี่ย โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา ได้เข้ามาดูมาชม ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ก็จะมีเครื่องดื่มที่ว่ามา แต่จะไม่มีแอลกอฮอล์และบุหรี่นะ

คือเราดูแล้วรู้สึกว่า เรามีความสุขกับมันนะ ได้เห็นของเก่าๆ ไปซื้อของเก่ามา เราเดินทางไปซื้อของเก่าทั่วเลยนะ ทั่วจังหวัดทางภาคเหนือ ก็ล่องไปเรื่อย โดยเฉพาะ 3-4 ปีล่าสุดนี่คือเก็บหนักมาก คือวางแผนที่มาทำในลักษณะบ้านบางเขน มันม่ใช่ทำปุ๊บปั๊บง่ายๆ นะครับ คือถ้าสังเกตดีๆ จะเป็นของเก่าทั้งหมด รวมทั้งโต๊ะ หรือ เก้าอี้ต่างๆ ก็ต้องเก็บสะสมเอาไว้เยอะๆ หรือดูอย่างอาคารไม้เนี่ย อันนี้คือเศษไม้หมดเลยนะ นี่คือเศษไม้เก่าๆ ที่ไปซื้อมา จากจังหวัดแถวภาคกลาง หลังละ 2-3 แสน ซื้อมาก็กองๆ ไว้ แล้วก็ให้ช่างสร้างขึ้นมาให้มันเหมือนเป็นบ้าน 100 ปี ถ้าสังเกตดู แล้วขับรถเข้ามา มาถึงที่จอดรถ ก็จะมีความรู้สึกว่า ไม่ใช่อยู่ในกรุงเทพฯ เลย

• ทำไมคุณถึงได้นำเสนอในลักษณะอย่างงี้ครับ

เราเป็นคนชอบของเก่า แล้วเราก็เป็นคนต่างจังหวัดด้วย ชอบของเก่า ชอบบ้านไม้ ชอบสิ่งเก่าๆ ก็ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ อีกอย่าง เราก็มีของเก่าที่เราซื้อเอาไว้ เรามีของที่เราเก็บเอาไว้ 10 กว่าปีแล้ว ซึ่งเรามีของ เราก็เอามาโชว์ แล้วเราก็เปิดร้านขนม กาแฟ แล้วเราก็เอาเด็กมานั่งอ่านหนังสือ ก่อนหน้านี้ เรามีการวางแผนที่จะเปิดที่นี่มาประมาณ 3 ปี แล้ว จนมาถึงช่วง 6-7 เดือน ก่อนเปิดบริการ เราก็มีการทำทำแปลน วางแผน เราก็พยายามไปเก็บรายละเอียดจากที่ต่างๆ ว่าร้านกาแฟที่เปิด 24 ชั่วโมง มีที่ไหนบ้าง เราก็พบว่ามันก็มีหลายที่ ซึ่งตอนแรกเราก็คิดว่าไม่มี แต่มันก็มีหลายๆ ที่ที่มันเปิด 24 ชั่วโมง คือผมสังเกตพฤติกรรมเด็กนักเรียน นักศึกษา ว่า หนึ่ง จะชอบไปอ่านหนังสือในห้าง แล้วก็มาเล่นไวไฟ อะไรกันในห้าง จนเวลา 4 ทุ่ม ก็ปิด แล้วบางทีเด็กสมัยนี้ พอ 5-6 โมง กลับไปนอนก่อน พอตื่นมาเที่ยงคืน ก็อยากอ่านหนังสือ อีกอย่างแถวนี้มีสถานศึกษาเยอะด้วย เราก็ได้เป้าหมายที่นี่ด้วย แล้วเราก็มีไวไฟ มีแอร์ และตัวเด็กก็ประหยัดไฟด้วย

• ทีนี้อยากให้คุณช่วยเล่าตั้งแต่เริ่มต้นของโปรเจกต์นี้หน่อยครับ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

โปรเจกต์นี้เราคิดมา 3 ปี จากนั้นก็เริ่มมาเก็บของ ตามปกติที่เราเก็บของเราอยู่แล้ว แต่พอมาเริ่มที่จะทำโปรเจกต์ ก็เริ่มเก็บของทุกวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ก็จะไปตามหาของต่างๆ แถวภาคเหนือ เช่นแถวเชียงใหม่บ้าน ไปกับรถกระบะ ก็ตระเวนเก็บไป เจอบ้านเก่าก็ซื้อ แล้วก็เอาไม้มา เก็บมาแล้วกองๆ เอาไว้ ก็วางแผนมานาน จนเรารู้สึกว่าของเริ่มเยอะแล้ว จนพอที่เราจะสร้างได้ ก็เลยสร้างขึ้นมา ส่วนในการเก็บของก็ได้เยอะจนพอที่จะสร้างได้แล้ว เลยสร้างขึ้นมา ซึ่งจากตอนที่สร้างมาแรกสุด อย่างแรกเลยเราก็ต้องหาร้านที่อร่อย เป็นฟู้ดคอร์ท คือเวลาที่เราไปซื้อของเก่ามา แล้วผ่านร้านอาหารต่างๆ เช่น อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ก็จะไปซื้อของจำพวกเครื่องทองเหลืองต่างๆ มา เสร็จแล้วก็ไปเจอร้านขายผัดไทยอร่อย เราก็ชวนเขามาขายที่นี่ ก็มีที่พักอะไรให้ คืออาหารที่นี่อาจจะไม่ใช่ร้านดังนะ แต่เป็นร้านที่ผมคิดว่ากินแล้วอร่อย เลยเอามาเปิดนะครับ ก็ไล่หาซื้อจากที่ต่างๆ เดินทางไปเก็บขอ

• แล้วทางโครงสร้างของสถานที่แห่งนี้ละครับ

บริเวณตรงข้างหน้าเป็นฟู้ดคอร์ท ซึ่งเป็นแหล่งรวมร้านอร่อยๆ มา ที่ราคาที่นักเรียนนักศึกษาเข้าถึง แล้วเข้ามาปุ๊บ ตอนแรกส่วนบ้านโค้กเราก็คิดว่าจะเป็นร้านขายชาบู แล้วตรงบ้านพ่อหลวง เดิมจะอยู่ด้านใน กะว่าจะเป็นร้านขายไก่ย่าง ก็เหมือนเป็นร้านอาหาร แต่เวลาที่เราเดินทางไปบ่อยๆ สมมุติว่าเราไปสามชุก พาช่างไปดูบ้านไม้เก่า เขาพาช่างไปดูบ้านไม้เก่า ก็จะดูว่าเป็นอย่างงี้ๆ นะ คือรูปแบบว่าเป็นไทยๆ หมดใช่มั้ยครับ เราก็ไปดู ก็ไปเจอบ้านโค้ก เราก็ชอบ เพราะมันสวยดี น่าสนใจ ก็ไปขอซื้อมา บวกกับเราก็เก็บเองด้วย แต่ยังเก็บไม่นานเท่าไหร่ แบ่งของเขามา ซื้อเขามา แล้วก็ถามเขาว่า ถ้าจะซื้อโค้กเยอะๆ ต้องไปที่ไหน เขาก็บอกว่าต้องไปแอตแลนต้าเลย เราก็เลยเริ่มเก็บ

จากนั้น พอเพื่อนฝูงรู้ว่าเราชอบเก็บของเก่า ก็เอามาให้บ้าง แล้วก็เอามาโชว์ ซึ่งจากเดิมเป็นร้านส้มตำและร้านชาบู ก็มาเป็นบ้านโค้กและบ้านพ่อหลวงตามลำดับ แต่อย่างบ้านพ่อหลวงก็มีผู้ใหญ่มาบอกว่า ทำแล้วให้สง่าผ่าเผยหน่อย ก็เปลี่ยนจากร้านอาหารเป็นบ้านพ่อหลวงแทน ถัดมาก็จะเป็นร้านรวงบรรยากาศเก่าๆ ก็จะมีร้านขายของเก่า ร้านตัดผม ร้านขายยา ห้องเรียน แล้วก็ร้านโชห่วย แล้วต่อมาก็มีลานแสดงออก ให้นักเรียนนักศึกษาหรือบุคคลทั่วไป สามารถมาทำกิจกรรมได้ แล้วถัดมาก็เป็น ห้องเรียนรู้และอ่านหนังสือ ให้เด็กๆ ได้มาเรียนรู้โดยจุได้ 200 กว่าคน ซึ่งเปิด 24 ชั่วโมง มีไวไฟให้ ถัดไปก็เป็น COFFEE SHOP บริการอาหารและเครื่องดื่มขาย 24 ชั่วโมง ซึ่งไม่มีแอลกอฮอล์ มีอาหารตามสั่ง ซึ่งเปิดถึงตี 4

• อย่างในแต่ละห้องต่างๆ ที่ออกแบบมา มันเริ่มมาจาก การได้ไปเห็นมา บวกกับความทรงจำส่วนตัวด้วยประมาณนั้นมั้ย

มันก็เหมือนตอนเด็กๆ ที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัด เราโตมามันก็เป็นแบบนี้ แบบเราอยู่ต่างจังหวัด ร้านโชห่วยก็เป็นอย่างงี้ ร้านขายยาก็เป็นอย่างงี้ เราก็ให้ช่างทำอย่างงี้ บวกกับความทรงจำของเราก็เป็นอย่างงี้ เลยเอามาผสมกัน แบบร้านตัดผมที่ตอนเด็กๆ เราเจอมา ก็เป็นลักษณะอย่างงี้ เราก็ทำจากความทรงจำจากช่วงในวัยเด็กของเรา อีกอย่างเราต้องดูของเราด้วยว่าของเรามีอะไร อย่างแรกคือ ร้านโชห่วยเรามีแน่ๆ แล้ว คือเราสะสมไว้นานไง สะสมมากองๆ ไว้ จนเราคิดว่าเรามีอะไรบ้าง แล้วมาดูว่าของที่เรามีนั้น จะพอกับห้องที่เรานำเสนอหรือเปล่า ซึ่งห้องลักษณะนี้ เราก็เคยเห็นนะ แต่ก็ไม่เยอะเท่านี้ คือตามต่างจังหวัดก็มีร้านลักษณะนี้อยู่บ้าง

แล้วของพวกนี้นะ พวกกล่องสินค้าต่างๆ ที่เราสะสมไว้ ทุกคนอาจจะอยู่ในบ้าน แต่ถ้าไม่ดูแลให้ดี มันอาจจะเป็นขยะเลยนะ แต่พอเอามันมารวมกันอยู่ในตู้เนี่ย มันก็จะดูสวยและมีค่าขึ้นมาทันที แต่ของเก่าจริงๆ มันก็มีค่าจริงๆ นะ พวกผงซักฟอกที่เมื่อก่อนราคาประมาณ 30 บาท แต่ตอนนี้กลายเป็นหลักพันบาทแล้วนะ กระป๋องฮอลล์ หรืออะไรต่างๆ ที่เมื่อก่อนอาจจะหลักร้อย 200 แต่ปัจจุบันนี้ ขึ้นไปถึง 1500 ถึง 2000 บาท

• แสดงว่า การเก็บของเก่าในลักษณะนี้ ถือว่าเป็นการเก็บช่วงเวลาทั้งของเราเอง หรือ สำหรับบางคนในทางอ้อมด้วยมั้ย

สิ่งที่ผมเก็บมา มันคือของที่ไม่มีแล้ว มันหายาก แล้วมันสามารถเก็บถึงรุ่นหลังจากเราได้ ไม่เหมือนกับ ที่เราไปทำร้านอาหารร้านนึง เราไปจ้างเขาทำหลายๆ ล้านบาท เมื่อเราเลิก มันก็หมดค่าแล้ว เป็นกระจก เป็นเศษต่างๆ มันก็ไม่มีค่าแล้ว คือตอนแต่งมันสวยงาม แต่ถ้าเลิกไป มันก็เป็นเศษซึ่งไม่มีค่าเลย แต่ส่วนพวกนี้ เราใส่ตู้ แล้วเอามาตั้งโชว์ มันก็สามารถเอาไปต่อยอดเป็นแบบต่างๆ ได้ เพื่อดึงคนเข้ามาดูก่อน แล้วเราก็ได้ขายอาหารและเครื่องดื่ม ตรงนี้คือสิ่งที่ผมคิดอันนึงตรงที่มีร้านกาแฟ ร้านเค้ก ขายข้าว มันมีทั่วไปอยู่แล้ว ซึ่งในห้างก็มี แอร์ก็เย็นกว่า แล้วมันก็มีทุกที่ แต่ตัวนี้มันคิดว่า มาดึงในบ้านบางเขนได้กว่า แล้วก็มาใช้จ่ายในที่แห่งนี้ เราก็มาบริการ แต่ตอนนี้เปิดใหม่ คนมาเยอะ อาจจะบริการไม่ทันก็ขออภัยด้วย

• แล้วในแง่ของการมาเปิดที่ตรงนี้ ถือว่ามีส่วนด้วยมั้ย

คือให้เป็นแหล่งเรียนรู้ แล้วขายกาแฟ ขายเครื่องดื่ม ขายอาหาร แล้วก็ให้เด็กมาเรียนรู้ของที่เราสะสมไว้ ผมคิดว่าของที่เราสะสมมาคงเป็นแรงดึง ซึ่งถ้าเปิดแค่ร้านกาแฟปกติ คงไม่มีคนขนาดนี้หรอกครับ คือถ้าไม่มีปัจจัยที่เรานำเสนอมา มันก็มีเหมือนทั่วๆ ไป แต่การนำเสนอของเก่ามาให้เห็นมันไม่มี อย่างบางที่เขาก็มีการทำลักษณะแบบเก่าๆ คลาสสิก แต่ก็ไม่มีการโชว์ของเก่าที่ใกล้ชิดขนาดนี้นะส่วนมากเอาแค่กลิ่นมา แล้วเช่าพื้นที่ อย่างสมมุติว่าไปที่ๆ หนึ่ง ก็เจอแต่บ้านเก่า แต่ถามว่า เราสามารถสัมผัสและเข้าถึงตรงนี้แบบนี้มั้ย ก็ไม่ขนาดนี้นะ แต่นี่เปิดมาสามารถเข้าถึงได้ แต่ก็ขอให้ช่วยกันรักษาตรงนี้ เพราะว่าเราก็เข้าใจว่าของพวกนี้ก็อาจที่จะเสียหายง่าย อยู่มา 50-60 ปี แค่ไปสัมผัสหน่อยนึงก็อาจจะผุพังง่าย แต่เราก็มีความรู้สึกว่า ให้คนได้เข้ามาใกล้ชิดเลย ถ้าสังเกตตามร้านอื่นๆ มีมั้ย ส่วนมากจะเป็นแบบบรรยากาศเก่าๆ แล้วก็เอาร้านค้าต่างๆ มาเช่า แล้วก็มาเปิดร้านอาหาร แต่เราจะเป็นการขายอาหารเอง เพื่อให้เช่าพื้นที่ขายของ

• จุดที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง คือ ‘บ้านพ่อหลวง’ อยากให้คุณช่วยอธิบายถึงตรงนี้หน่อยครับ

ในส่วนของบ้านพ่อหลวง เริ่มจากเมื่อช่วงปีก่อน คือใจเราอยากจะทำตั้งแต่ช่วงก่อนวันสวรรณคตอยู่แล้ว ตอนนั้นไปเดินที่ตลาดนัดแห่งหนึ่ง ไปเจอห้องเล็กๆ ประมาณ 3 คูณ 4 เมตร คือห้องนั้นมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านเต็มไปหมดเลย พอเข้าไปแล้วทำไมรู้สึกว่าขนลุกเฉยเลย เป็นภาพเก่าๆ ภาพขาวดำหมดเลย เราเลยถามเจ้าของภาพ รู้สึกว่าจะมีทั้งหมด 69 ภาพได้ มีทั้งภาพเล็ก ภาพใหญ่ แต่แขวนเต็มไปหมดเลย ก็ถามเขาว่า ถ้าเหมาซื้อ จะคิดเท่าไหร่ ก็สรุปว่าเป็นเลข 7 หลัก เราก็ต่อเขาอีก ต่อไปเรื่อยๆ จนได้ประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าเราก็ยังไม่ได้เริ่มเก็บเท่าไหร่ แต่ในที่สุดเขาก็ไม่ขาย เราก็ไม่เป็นไร ตั้งแต่วันนั้นมา เวลาเราไปซื้อของ ถ้าเป็นรูปเก่าๆ ของในหลวงติดอยู่ หรือของทุกอย่างที่เกี่ยวกับพระองค์ท่านก็ตามเก็บ เก็บมาปีกว่าก็ได้ของมา ซึ่งถ้าเวลาไปที่ไหนก็ตาม ที่เจอของเกี่ยวกับพระองค์ท่าน ก็ซื้อๆ มา ซื้อที่เป็นฟิล์มนะ เพราะว่า มีราคาตั้งแต่หลักร้อยถึงหมื่นเลย อย่างเหรียญหรือธนบัตร แสตมป์ ก็ซื้อเก็บมา ไปเหมามา ซึ่งเราไปซื้อก่อนช่วงนี้ เพราะปัจจุบันราคาก็ถีบสูงขึ้นไปอีก ก็โชคดีที่ได้มาโชว์ แล้วเราไม่ได้ทำในเชิงการค้านะ เราแค่ทำภายในเอง ทำให้ผู้เยี่ยมชมได้ดูได้เห็น ไม่ได้เก็บเงิน ผมก็ถามเหมือนกันนะ ว่า ถ้าตราที่ว่าอยู่ภายนอกมันไม่ได้ แต่นี่เราไว้ในภายในบ้าน อย่างน้อยก็เป็นสถานที่รำลึก ซึ่งถ้ามีการเก็บเงินนี่คือไม่ได้เลย เพราะจะเป็นเชิงในการค้าทันที และเป็นห้องเดียวที่คนเข้าไปดูเยอะสุดนะ ซึ่งเข้าไปก็ไปกราบไปไหว้ ก็มีการถ่ายรูป วึ่งคนที่เข้าไปเขาบอกเลยว่า ขนลุกทุกคน

• การที่นำเสนอบรรยากาศแบบนี้แล้วนำมาผสมกับวิธีชีวิตในปัจจุบัน ถือว่าเป็นโจทย์ยากหรือเปล่า

การที่ใครจะทำอย่างงี้ ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ นะ คือการที่จะมาทำตรงนี้ได้ ต้องรักการสะสมของเก่าด้วย แล้วต้องไปเดินทางซื้อของเองด้วยนะ ต้องเป็นคนลุย ซึ่งของเก่านี่มีราคาสูง ไม่ใช่ราคาถูกๆ นะ เป็นราคาที่ค่อนข้างสูง แล้วจะต้องลุยไปเก็บเอง มันไม่เหมือนกับของที่มีแบบแล้วเราสามารถจ้างมาทำเอง แล้วก็ทำๆ แล้วก็เสร็จ แต่นี่ไม่ใช่ นี่คือซื้อเอง เดินทางเอง ซึ่งมันก็ไม่ง่ายนะ ต้องไปเดินตลาดนัดเอง ต้องไปซื้อของแบกของลากมา ไปสะสมมา เก็บมา ต้องเป็นคนที่ชอบเรื่องนี้ แล้วก็ต้องเป็นคนที่ลุยนิดนึง ซึ่งไม่ใช่ว่าต้องไปซื้อตามห้างแล้วสั่งของเลย ไม่ใช่นะ แต่จะเป็นแบบว่า มีหนึ่งชิ้น ก็ซื้อแค่นั้น ก็ค่อยๆ เก็บ สะสมมา ส่วนการตอบโจทย์ ผมคิดว่ามันโดนนะ สังเกตจากตามสื่อ อย่างร้านอาหาร เขาจะทำเป็นย้อนยุค โดยการใช้โปสเตอร์บ้าง หรือทำเป็นไวนิล แล้วเอาสังกะสีมาแปะๆ เป็นของเก่า ให้คนได้แค่กลิ่น แต่ไม่ได้สัมผัส แต่อันนี้คือจริงหมด มาจากที่เราสะสมเองหมด แล้วก็เดินเข้ามา ถ้าสังเกต จะมีตั้งแต่เสาไฟ มีมิเตอร์ไฟ เสาไฟ ตู้ไปรษณีย์ โคมไฟ คือเวลาที่ผมไปในแหล่งรับซื้อ นี่ รู้จักหมดแหละ

• ในแง่ของวัฒนธรรมร่วมสมัย คุณมองยังไงกับในเชิงแง่ที่ว่า การรำลึกความหลังที่มันยังรู้สึกดีอยู่เสมอ

ในความรู้สึกตัวเอง เราอยู่ในที่แห่งนี้ในท่ามกลางบรรยากาศเก่าๆ เรารู้สึกว่าเรามีความสุข ได้อยู่ในบ้านพ่อหลวง แล้วเรารู้สึกสบาย ในท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ ในขณะเดียวกัน ผมจะคิดด้วยว่า ถ้าเรามีความสุขแล้ว ผู้เข้าชมก็ต้องมีความสุขด้วย ซึ่งถ้าเขาไม่ชอบ เราก็ไม่ทำ เหมือนเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็มีหลายๆ คนเหมือนกันที่เดินเข้ามาแล้วก็เดินออกไป ไม่ได้ใช้จ่ายอะไรเลย เราก็ไม่ว่าอะไร แค่ทุกคนมีความสุขแค่นั้นพอ

อีกอย่างก็ให้นักเรียนนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ที่ไม่ทันในบรรยากาศลักษณะอย่างงี้ ส่วนมากจะเป็นลักษณะว่า พอมาครั้งแรก ครั้งต่อมาก็จะพาพ่อแม่มาแล้ว แล้วก็จะพาที่บ้านมา แล้วก็มารำลึกเกี่ยวกีบสิ่งของต่างๆ ให้ลูกๆ ดู าก็ได้เห็นความสุขของแต่ละครอบครัวน่ะ ให้รำลึกถึงในช่วงอดีตกัน แล้วก็ให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่ด้วย ถือว่าเป็นการพัฒนาการของสินค้าของสมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน อย่างบริษัทใหญ่ๆ จากอดีตที่มีพนักงานมากมาย แต่ก็ล้มได้ในเวลาต่อมา ซึ่งจะเป็นชุดความคิดที่ว่า ใครมีพนักงานเยอะๆ ก็จะเป็นบริษัทที่มั่งคั่ง แต่ตอนนี้ ไม่ใช่แล้ว แล้วก็ได้เรียนรู้ว่า การผลิตผงซักฟอก ยาสีฟันเป็นยังไง พัฒนาการของแต่ละอย่างเป็นอย่างงี้ๆ ก็ให้เรียนรู้กันไป
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : พลภัทร วรรณดี

กำลังโหลดความคิดเห็น