คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ
1.สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ “พระมหามุนีวงศ์” เจ้าอาวาสวัดราชบพิตรฯ เป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20 แล้ว!
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เผยถึงการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ว่า หลังจากได้ดำเนินการตามขั้นตอน พิจารณารายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 โดยทูลเกล้าฯ ขึ้นไป 5 รูปแล้ว ขณะนี้ได้รับแจ้งว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระมหามุนีวงศ์(อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ ประกอบพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ในวันที่ 12 ก.พ. เวลา 17.00 น. ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการได้พระสังฆราชองค์ใหม่ด้วยว่า “ขออย่าขัดแย้ง ไม่ใช่ว่ารูปอื่นดีหรือไม่ดี ซึ่งผมเคยบอกไปว่า ต้องดูเรื่องงานและเรื่องต่างๆ และเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยที่พระองค์ท่านทรงพิจารณาเอง”
ทั้งนี้ ต่อมา สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ให้ประชาชนทราบ ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชว่า วันที่ 12 ก.พ.จะมีการถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย จากพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามแบบการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ ไปถวายพระสุพรรณบัฏหรือชื่อสมเด็จพระสังฆราชที่จารึกลงบนแผ่นทอง ถวายพัดยศ เครื่องสมณบริขาร หรือเครื่องยศสมเด็จพระสังฆราช และอาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ถือเป็นอันเสร็จพิธี
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20 ด้วยว่า เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มีวัตรปฏิบัติเป็นที่เคารพนับถือ เลื่อมใส สมถะอย่างที่มีการพูดถึงกัน เป็นศิษย์ที่เลื่อมใสศรัทธามากของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ส่วนพระนามของสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 จะใช้พระนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ และต่อท้ายด้วยชื่อเดิม
อนึ่ง การสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 เป็นไปตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการแก้ไขโดยตัดอำนาจของมหาเถรสมาคมในการเสนอชื่อผู้เหมาะสมที่จะเป็นสมเด็จพระสังฆราชออก และให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ดังที่เคยปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 โดยระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”
สำหรับประวัติของสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ หรือ สมเด็จขาว ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20 เป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมและแม่กองงานพระธรรมทูต มีพระนามเดิมว่า “อัมพร ประสัตถพงศ์” เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2470 ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สิริอายุ 89 พรรษา 68 โยมบิดา-มารดาชื่อ นายนับ และนางตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย
บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ.2480 ขณะที่มีอายุได้ 10 ปี ณ วัดสัตตนารถปริวัตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี ต่อมา ย้ายไปจำพรรษาที่วัดตรีญาติ ต.พงสวาย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ต่อมา ปี พ.ศ.2490 ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และเข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2491 ณ มหาพัทธสีมาวัดราชบพิธฯ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก(วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์
ต่อมา สมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) จบศาสนศาสตร์บัณฑิต พ.ศ. 2500 ต่อมาปี พ.ศ.2509 ได้เข้าอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เอาใจใส่ในกิจการงานของพระอารามหลวงด้วยดีตลอดมา รวมทั้งได้สร้างคุณูปการแด่คณะสงฆ์อย่างมากมาย สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นศิษย์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่มีสมณศักดิ์สูงสุดในปัจจุบัน คือเป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะ เป็นพระธรรมทูตไปต่างประเทศรุ่นแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุต และเป็นหัวหน้านำพระพุทธศาสนาจากประเทศไทยไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยได้วางรากฐานพระพุทธศาสนาจนมั่นคง มีวัดและพระสงฆ์ไทยอยู่ประจำ ณ นครซิดนีย์ มาจนถึงปัจจุบัน และได้ขยายไปยังเมืองใหญ่อีกหลายเมือง เช่น กรุงแคนเบอร์รา นครเมลเบิร์น และเมืองดาร์วิน เป็นต้น
ทั้งนี้ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ถือเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายธรรมยุติ มีวัตรปฏิบัติที่เรียบง่าย สมถะ มีอาวุโสลำดับที่ 3 ในทำเนียบสมเด็จพระราชาคณะ รองจากสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร
2.โปรดเกล้าฯ วันที่ 5 ธ.ค. ของทุกปี เป็น “วันพ่อ-วันชาติ” ด้าน ครม.มีมติให้เป็นวันหยุดราชการ!
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันสำคัญของชาติไทย ความว่า ตามที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ต.ค.2559 ยังความเศร้าสลดอย่างยิ่งใหญ่มาสู่พสกนิกรชาวไทย และด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานต่อประเทศชาติและประชาชนเสมอมา ปวงชนชาวไทยทั้งปวงจึงน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และตระหนักถึงความสำคัญของวันที่ 5 ธ.ค. เป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดว่า วันที่ 5 ธ.ค.ของทุกปีเป็นวันสำคัญของชาติไทย ดังนี้
1.เป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 2.เป็นวันชาติ 3.เป็นวันพ่อแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.2560 เป็นต้นไป นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังได้มีมติให้วันที่ 5 ธ.ค.ของทุกปีเป็นวันหยุดราชการด้วย
3.ศาล ปค.ยกคำร้อง “บุญทรง” กับพวก หลังขอศาลเบรกคำสั่ง ก.พาณิชย์ให้ชดใช้กรณีระบายข้าวจีทูจี 2 หมื่นล้าน เหตุยังไม่เข้าเงื่อนไขกฎหมาย!
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ศาลปกครองกลางได้นัดฟังคำสั่งกรณีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ขอให้ศาลปกครองสั่งทุเลาการบังคับใช้คำสั่งกระทรวงพาณิชย์ที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ชดใช้ค่าเสียหายจากการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) รวมมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ฟ้องทั้งห้า โดยให้เหตุผลว่า การที่ศาลจะมีอำนาจออกคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทในระหว่างพิจารณาคดีได้นั้น ต้องครบเงื่อนไขตามกฎหมายทั้ง 3 ประการ คือ 1. คำสั่งพิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2. การให้คำสั่งพิพาทมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง และ 3. การทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในชั้นไต่สวนคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาแล้ว เห็นว่า ภายหลังจากนายกรัฐมนตรีกับพวกรวม 4 คน ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน นายกรัฐมนตรี มีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เสร็จสิ้นใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งห้า และผู้แทนฝ่ายของนายกรัฐมนตรีให้ถ้อยคำต่อศาลรับกันว่า นอกจากหนังสือแจ้งเตือนดังกล่าวแล้ว ฝ่ายของนายกรัฐมนตรีผู้ถูกฟ้องคดียังไม่มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง โดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า และขายทอดตลาดเพื่อชำระค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด ในชั้นนี้จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า คำสั่งพิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าอ้างว่า คำสั่งพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการนั้น เป็นประเด็นในเนื้อหาของคดีที่ศาลจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป และเมื่อนายกรัฐมนตรีผู้ถูกฟ้องคดียังไม่มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ในชั้นนี้จึงรับฟังไม่ได้ว่า หากศาลไม่มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำพิพากษา จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงจากผู้ฟ้องคดีทั้งห้าที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างในการขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสิ่งพิพาทของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าจึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ศาลจึงมีคำสั่งยกคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า
เป็นที่น่าสังเกตว่า ฝ่ายผู้ฟ้องคดีทั้งห้ารายไม่ได้เดินทางมาศาลเพื่อฟังคำสั่งแต่อย่างใด แต่ส่งตัวแทนมา โดยตัวแทนผู้ฟ้องคดีระบุว่า สาเหตุที่ศาลยกคำขอเนื่องจากเห็นว่า การบังคับคดียังไม่เกิดขึ้นจริง เป็นเพียงแต่มีการแจ้งเตือนจากกระทรวงพาณิชย์ว่ามีคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ส่วนกระบวนการบังคับคดีเป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์กับกรมบังคับคดีต้องไปดำเนินการ อย่างไรก็ตาม หากมีการบังคับคดีเกิดขึ้นจริง ผู้ฟ้องคดีฯ ทั้งหมดก็จะยื่นต่อศาลปกครองอีกครั้งเพื่อขอทุเลาการบังคับใช้คำสั่งกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าว ส่วนคดีหลักที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ให้ชดใช้สินไหมทดแทนในกรณีดังกล่าวขณะนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาล
ด้าน น.ส.รื่นฤดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ชี้แจงถึงขั้นตอนการบังคับคดีว่า ขณะนี้กรมบังคับคดียังไม่ได้รับเรื่องนี้จากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่ถือว่าเป็นผู้เสียหาย จึงยังไม่ได้ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์ใดๆ ทั้งสิ้น โดยต้องรอให้กรมการค้าต่างประเทศตั้งเรื่องมาว่า มีทรัพย์สินใดบ้างที่ต้องการให้กรมบังคับคดีดำเนินการ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมการค้าต่างประเทศที่ต้องไปสืบหาทรัพย์สินแล้วแจ้งต่อกรมบังคับคดี หลังจากนั้นกรมบังคับคดีจึงจะปฏิบัติตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง คือไปดำเนินการยึดอายัดทรัพย์ตามคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ต่อไป
ขณะที่นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ได้ส่งหนังสือให้กรมบังคับคดีไปตามขั้นตอนแล้ว แต่รายละเอียดยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้านี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยชี้แจงถึงขั้นตอนการบังคับคดีเพื่อนำทรัพย์มาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ว่าจะต้องดำเนินการภายใน 45 วันนับแต่วันที่กระทรวงพาณิชย์ออกคำสั่ง แต่จนถึงขณะนี้ พ้นระยะเวลาดังกล่าวมาหลายเดือนแล้ว แต่การบังคับคดีก็ยังไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
สำหรับผู้ฟ้องทั้งห้ารายถูกเรียกค่าเสียหายให้ชดใช้รวมมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยแยกเป็น นายบุญทรง ต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,770 ล้านบาท, นายภูมิ 2,300 ล้านบาท, นายมนัส นายทิฆัมพร และนายอัครพงศ์ รายละ 4,000 ล้านบาท ส่วน พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ ที่ถูกเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 4,000 ล้านบาทเช่นเดียวกันนั้น ยังไม่พบว่าได้มีการยื่นฟ้องคดีแต่อย่างใด
4.ขสมก.ยกเลิกสัญญารถเมล์ NGV มีผล 9 ก.พ. หลังกรมศุลากรยันบริษัทนำเข้าสำแดงถิ่นกำเนิดเท็จ ด้าน “เบสท์ริน” ฟ้องศาลเอาผิดศุลกากร!
ความคืบหน้าปัญหารถเมล์ NGV 489 คัน ที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ส่อยกเลิกสัญญากับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป หลังกรมศุลกากรตรวจสอบพบว่า มีการสำแดงถิ่นกำเนิดเท็จ เนื่องจากรถเมล์ NGV ดังกล่าวผลิตในจีน ไม่ใช่ผลิตที่มาเลเซียตามที่บริษัทกล่าวอ้าง ขณะที่บริษัท เบสท์ริน ยืนยัน ผลิตในมาเลเซียนั้น
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร ได้เปิดแถลงข่าวกรณีบริษัทเบสท์ริน ยื่นหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อขอให้ตรวสอบการทำหน้าที่ของกรมศุลกากร และอ้างว่า กรมศุลกากรไม่เคยแสดงหลักฐานที่อ้างว่า บริษัทนำเข้ารถเมล์ NGV จากจีนว่า หลักฐานที่กรมศุลกากรมี คือ รูปถ่ายที่ยืนยันว่า สินค้าหรือรถโดยสารที่บริษัทซุปเปอร์ซ่าร่า ยืนยันว่า นำเข้าจากมาเลเซียนั้น กรมศุลากรมีภาพช่วงเวลาที่เรือ GLOVIS เทียบท่าที่มาเลเซีย รถโดยสารล็อตดังกล่าววิ่งลงมาทั้งคัน ไม่ได้เป็นรถเมล์ที่มาประกอบที่มาเลเซีย แต่มาจากจีนและประกอบเสร็จเเล้วทั้งคัน "เราไม่ได้มั่ว เราไม่ได้มโน เรามีหลักฐาน แต่ยังไม่สามารถเผยแพร่ได้หมด เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อรูปคดีหากกระบวนการฟ้องร้องถึงชั้นศาล" ส่วน ขสมก.จะยกเลิกสัญญาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ขสมก.กรมศุลกากรไม่สามารถตอบแทนได้
ด้าน พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงปัญหารถเมล์ NGV ว่า “ในเมื่อกรมศุลกากรสรุปแล้ว ก็ต้องเคารพ หากมีการสำแดงเท็จ ก็ต้องไปสอบสวนกระบวนความ เป็นเรื่องกระบวนการสอบ หาใหม่ และให้ไปว่ากันมาอีกที เป็นปัญหาบ้านเรา ถ้าทุกคนบอกว่า กระบวนการมีการเรียกรับผลประโยชน์ ทำแล้วจ่ายเงินให้ใครบ้างต้องหาคนฟ้องและมีหลักฐานจับหรือไม่ ซึ่งหากผิดที่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ก็ปรับแก้ วันนี้เรายังไม่ได้แก้ 100% ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ หลายอย่างพอกมานาน ซับซ้อน"
ขณะที่นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายสมควร นาสนม ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ 1 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจรับรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน ว่า ได้ทำหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาไปยังบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป แล้วตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยจะมีผลในวันที่ 9 ก.พ. ซึ่งเป็นการแจ้งล่วงหน้า 30 วันตามกระบวนการ เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถส่งมอบรถให้ได้ตามสัญญา
ด้านนายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า เมื่อ ขสมก.ทำหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญากับเบสท์รินฯ ในวันที่ 9 ก.พ. การยกเลิกจะมีผลทันที เนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ขสมก.ได้มีหนังสือแจ้งไปยังเบสท์รินฯ แล้วครั้งหนึ่งเพื่อให้เร่งรัดส่งมอบรถเมล์ NGV ตามสัญญา พร้อมให้ทำแผนการส่งมอบให้ครบภายใน 30 วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 9 ก.พ. และว่า ขสมก.ใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญา และได้บอกกล่าวล่วงหน้ากับบริษัทแล้ว ขณะที่เบสท์รินฯ ก็มีสิทธิ์โต้แย้งได้เช่นกัน ทั้งนี้ หลังยกเลิกแล้วจะต้องนำอุปกรณ์ GPS ที่เป็นทรัพย์สิน ขสมก.ออกจากรถ NGV ที่ก่อนหน้านี้มีการนำไปติดตั้งเพื่อประกอบการจดทะเบียนตามเงื่อนไขทีโออาร์ ซึ่งหลังจากนี้ ขสมก.จะเดินหน้าจัดซื้อรถเมล์ NGV ใหม่ โดยจะนำหารือต่อคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ขสมก.ในช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้ “ขสมก.ทำหน้าที่ผู้ซื้อ เมื่อผู้ขายส่งมอบรถไม่ได้ตามเงื่อนไขสัญญาก็ต้องยกเลิกตามขั้นตอน ขณะที่ยังคงต้องการหนังสือเอกสารจากกรมศุลกากรเพื่อความชัดเจนเรื่องแหล่งกำเนิดรถว่าเป็นจีน หรือมาเลเซีย แต่ยอมรับว่าถึงวันนี้รอไม่ไหวแล้ว จึงต้องยกเลิกสัญญา”
ขณะที่นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ได้เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ขอให้ตรวจสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา ทำให้บริษัทได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้นายคณิสสร์ยังได้เปิดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ว่า บริษัทได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลอาญาจังหวัดพัทยา กรณีที่เจ้าพนักงานกรมศุลกากรจำนวน 7 คน ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และปลอมแปลงเอกสาร เพิ่มข้อความระบุว่ารถเมล์ที่นำเข้ามีข้อสงสัยเรื่องแหล่งกำเนิดที่มาจากจีน ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ซึ่งศาลได้ประทับรับฟ้องแล้ว และนัดไต่สวนนัดแรกในวันที่ 24 เม.ย.นี้ เวลา 09.00 น.
นายคณิสสร์ ยังย้ำด้วยว่า รถเมล์เอ็นจีวีทั้งหมดมีการผลิตและประกอบจากประเทศมาเลเซีย ตามเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือฟอร์มดีจากประเทศผู้ผลิต ถ้าทางกรมศุลกากรต้องการถอนสิทธิฟอร์มดี จะต้องมีการแจ้งให้เลขาธิการอาเซียนทราบ เพราะหากไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่ประเทศสมาชิกได้ร่วมกันไว้ อาจก่อให้เกิดความบาดหมางระหว่างประเทศได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรมศุลกากรนำภาพถ่ายว่ารถเมล์ NGV ส่งจากจีนสำเร็จรูปมาแสดง เหตุใดทางบริษัทฯ ไม่นำภาพถ่ายกระบวนการผลิตและประกอบรถที่โรงงานมาเลเซียมายืนยันเพื่อให้เกิดความขัดเจน และยุติปัญหาข้อสงสัย นายนายคณิสสร์กล่าวว่า ขอยกตัวอย่าง ถ้าคุณซื้อรถจากโตโยต้า คุณเข้าไปถ่ายภาพในโรงงานโตโยต้าได้หรือไม่ ดังนั้นจะทำตามขั้นตอนกฎหมาย พร้อมยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือบอกยกเลิกสัญญาจาก ขสมก. หากมีการยกเลิกสัญญาต้องดูว่าใช้เหตุผลใดเป็นข้ออ้าง เพราะข้อสงสัยที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ ไม่ยุติธรรมต่อผู้นำเข้า ซึ่งจะประเมินผลกระทบอีกครั้ง ถ้ายกเลิกสัญญาเพราะความผิดของบริษัทก็ยอมรับ แต่ถ้าผู้ซื้อผิดไม่ทำตามสัญญา บริษัทฯ ต้องเรียกร้องตามสิทธิ
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดเลือกบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า เป็นผู้นำเข้า นายคณิสสร์กล่าวว่า ไม่ได้เลือก ซุปเปอร์ซาร่ามีหน้าที่นำเข้า ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า มีการตรวจสอบที่ตั้งบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า และพบว่าเป็นบริษัทร้าง นายคณิสสร์ตอบว่า บริษัทไม่ได้ทำงานตลอด 24 ชม.ไม่มีงานต่อเนื่อง อาจไม่จำเป็นต้องตั้งตลอดเวลาก็ได้
5.ศาลฎีกา พิพากษากลับยกฟ้อง “สนธิ” กรณีนำคำพูดหมิ่นสถาบันของ “ดา ตอร์ปิโด” มาพูดซ้ำบนเวทีพันธมิตรฯ ชี้ไม่มีเจตนาหมิ่น!
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 70 ปี อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 8 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2551 จำเลยได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ด้วยเครื่องขยายเสียง ท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และทางอินเทอร์เน็ต โดยผ่านทางเว็บไซต์ของเอเอสทีวีให้ประชาชนทั้งคนไทยและต่างชาติได้รับชมและรับฟังทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ มีข้อความซึ่งจำเลยนำเอาคำปราศรัยของ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล ที่พูดบนเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวง อันเป็นการพูดที่มีถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์มาพูดซ้ำ อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ขอให้ลงโทษจำเลยตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 8 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ
ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า การที่จำเลยนำคำพูดบางตอนของ น.ส.ดารณี มาสรุปให้ประชาชนฟังบนเวทีปราศรัย เพื่อเรียกร้องให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขณะนั้นดำเนินคดี น.ส.ดารณี เมื่อฟังโดยรวมแล้วเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะเรียกร้องให้มีการดำเนินคดี น.ส.ดารณี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการขยายคำพูดของ น.ส.ดารณี ที่มีเจตนาโดยตรงเพื่อหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และพระราชินี การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
ขณะที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ลงโทษจำคุกนายสนธิ เป็นเวลา 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี เนื่องจากเห็นว่า จำเลยนำคำพูดของ น.ส.ดารณี ที่พูดพาดพิงสถาบันเบื้องสูง มาปราศรัยที่เวทีพันธมิตรฯ เป็นการนำคำพูดมาหมิ่นประมาทซ้ำ ซึ่งจำเลยไม่มีความจำเป็นต้องเอาเนื้อหามาถ่ายทอดพูดซ้ำในที่สาธารณะ เพราะประชาชนบางส่วนไม่ทราบว่า น.ส.ดารณี พูดอย่างไร ก็มาทราบจากการที่จำเลยพูด ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ส่งผลกระทบต่อสถาบัน อันเป็นการกระทำที่ไม่ระมัดระวังอย่างเพียงพอ การกระทำเป็นการครบองค์ประกอบความผิดแล้ว ต่อมา นายสนธิ จำเลย ยื่นฎีกาขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ด้านศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลใดจะต้องรับผิดในทางอาญา ก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยประมาท” สำหรับคดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทำโดยไม่เจตนา และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวปราศรัยในที่ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นการกล่าวอ้างถึงคำปราศรัยของ น.ส.ดารณี เป็นการสรุปเอาเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญจากคำปราศรัยของ น.ส.ดารณี ที่จะชี้ให้เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ดังกล่าว โดยมิได้กล่าวข้อความอื่นใดที่จะส่อให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาหมิ่นเบื้องสูงแต่อย่างใด
แต่จำเลยยังเรียกร้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินคดี น.ส.ดารณี เนื่องจากเชื่อว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินคดี น.ส.ดารณี เพราะเหตุที่ น.ส.ดารณีอยู่ในกลุ่มมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลในขณะนั้น โดยมีเจตนาปกป้องและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ มิให้บุคคลใดก้าวล่วงหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ซึ่งเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 70 การกระทำของจำเลยย่อมขาดองค์ประกอบความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคแรก การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
หลังฟังคำพิพากษา นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ กล่าวว่า ศาลเห็นว่าการกระทำของนายสนธิ ลิ้มทองกุล นั้นขาดเจตนา โดยนายสนธิมีเจตนาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจับกุมดำเนินคดี น.ส.ดารณี หรือ “ดา ตอร์ปิโด” เพราะเห็นว่าขณะนั้น น.ส.ดารณีได้มีการพูดปราศรัยที่ท้องสนามหลวงมาแล้ว 2-3 วัน ดังนั้นการกระทำจึงเป็นคนละเจตนากัน
6.คณะกรรมการฯ สรุป “สุภัฒ” ผิดวินัยร้ายแรงกรณีขโมยภาพเขียนของโรงแรมที่ญี่ปุ่น เรียกเจ้าตัวรับทราบข้อกล่าวหา 15 ก.พ.นี้!
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาความผิดทางวินัยนายสุภัฒ สงวนดีกุล อดีตรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กรณีก่อเหตุขโมยภาพเขียน 3 รูปในโรงแรมที่พักแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นว่า ที่ประชุมเห็นควรเรียกนายสุภัฒมารับทราบข้อกล่าวหาผิดวินัยร้ายแรงในวันที่ 15 ก.พ.นี้ เวลา 13.00 น. ที่กระทรวงพาณิชย์
พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวว่า “ที่ประชุมทุกคนเห็นว่า การลักทรัพย์เป็นพฤติการณ์เสื่อมเสียเกียรติและกระทบต่อภาพลักษณ์ชื่อเสียงของประเทศ รวมถึงหลักฐานที่ได้รับจากคณะกรรมการสอบสวนเพียงพอ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหานายสุภัฒว่าผิดวินัยร้ายแรง แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการลักทรัพย์มีเจตนาหรือไม่ ต้องรอให้นายสุภัฒมาชี้แจงกับคณะกรรมการก่อน โดยนายสุภัฒสามารถยื่นขอชี้แจงได้ทุกเรื่อง รวมถึงการนำเอาคุณงามความดีที่ปรากฏมาให้คณะกรรมการได้ประกอบการพิจารณา เพื่อขอลดหย่อนโทษได้”
ส่วนกรณีที่มีการระบุว่านายสุภัฒมีอาการมึนเมาหรือป่วยขณะก่อเหตุนั้น พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการยังไม่ได้รับใบรับรองแพทย์ว่านายสุภัฒมีอาการดังกล่าวหรือไม่ เรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนที่นายสุภัฒจะนำมาชี้แจงต่อคณะกรรมการ ทั้งนี้ เมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหา จะให้เวลานายสุภัฒมาชี้แจง แต่หากยังไม่มา ก็จะแจ้งกรอบระยะเวลาให้ทราบ โดยกระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน