การใช้เวทย์มนต์คาถาเพื่อทำร้ายผู้อื่นหรือชำระแค้นนั้น ในสมัยก่อนมีผู้เชื่อถือและนิยมใช้วิธีนี้กันมาก ซึ่งก็เป็นที่หวาดกลัวของคนทั่วไป เพราะผู้ตกเป็นเป้าหมายแม้จะมียศถาบรรดาศักดิ์เพียงใดก็ยากที่จะหาทางป้องกัน จะใช้หน่วยรักษาความปลอดภัยหรือมีมือปืนล้อมหน้าล้อมหลังแค่ไหน ก็ไม่อาจป้องกันเวทย์มนต์คาถาได้
เรื่องแบบนี้คนยุคใหม่คลายความเชื่อลงไปมาก ทั้งยังหาคนที่แก่กล้าคาถาอาคมได้ยาก แต่ในสมัยก่อนเชื่อกันว่าผู้มีวิชาสามารถใช้คาถาหรือมนต์ดำทำร้ายผู้อื่นได้ และมีคนบังอาจทำกับเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงอย่างเปิดเผย ซึ่งได้สร้างความระคายเคืองในพระราชหฤทัยพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ เพราะเชื้อพระวงศ์ที่ถูกปองร้ายเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงเคารพนับถืออย่างมาก
เหตุเกิดในปี พ.ศ.๒๔๑๙ เมื่อสามัญชนคนหนึ่งชื่อว่า นายเกษ พยายามจะปองร้าย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ผู้สำเร็จราชการสำนักพระราชวัง ด้วยสาเหตุใดไม่ปรากฏในบันทึก เพียงขั้นพยายามยังไม่ทันได้ลงมือ นายเกษก็ถูกจับไปคุมขังคุกทันที
แม้จะถูกจับเข้าคุกไปแล้ว แทนที่นายเกษจะเกิดความเกรงกลัวหรือสำนึกผิด กลับไปนั่งปั้นรูปสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลาในคุกอีก และทำพิธีเสกเป่าด้วยเวทย์มนต์คาถา หวังจะฆ่าด้วยอาคมให้ได้ โดยมีนักโทษที่ร่วมห้องขังหลงเชื่อให้ความสนับสนุนด้วยอีกคน
เรื่องนี้ถูกนำขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าหลวงทรงวิตกห่วงใยในความปลอดภัยของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลามาก จึงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยามหามนตรี (อ่ำ อมรานนท์) มีความว่า
“ถึง พระยามหามนตรี
ด้วยอ้ายเกษที่ไปจำไว้ ณ คุกนั้น กลับทำเล่ห์กลเวทย์มนต์ปั้นรูปสมเด็จเสกเป่าต่างๆ นั้น ได้สั่งให้พระพิเรนให้ไปชำระเอาความให้ได้ในเวลาพรุ่งนี้ แต่อ้ายคนนี้เห็นจะต้องตายเสียหรืออย่างไรให้สูญทีเดียว ถ้ายังอยู่ก็จะเป็นข้อพยาบาทสมเด็จต่อไปไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่บัดนี้มีความวิตกนัก ด้วยเกิดความขึ้นดังนี้ ไม่รู้ว่าพ่อแม่พวกพ้องมันจะคิดร้ายอย่างไรกับสมเด็จ ถ้ามีเหตุการณ์สมเด็จเป็นอย่างไรลงแล ข้าก็เหมือนแขนขาดตาบอดเป็นสิ้นตัว ให้พระยามหามนตรีคิดอ่านรักษาสมเด็จในเวลานี้อย่าให้มีอันตรายได้ แล้วให้ไปพร้อมด้วยพระพิเรนทรเทพชำระเอาต้นเหตุความคิดให้สิ้นเชิง ให้ได้เร็วในพรุ่งนี้มะรืนนี้จงได้ ให้พระยามหามนตรีมาเฝ้าท่าน วางการไว้ในเวลาค่ำวันนี้ให้เรียบร้อย ถ้ามีเหตุภายนอก พระยามหามนตรีจะต้องเป็นโทษ”
นอกจากนี้ ยังทรงมีพระราชหัตถเลขาไปทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ด้วยว่า
“ทูลท่านให้ทราบ ด้วยอ้ายคนนี้มันยังคิดทำการร้ายอยู่เสมอ เห็นจะเอาไว้ไม่ได้ต้องตายเสีย ได้สั่งให้พระยามหามนตรีกับพระพิเรนไปชำระความเอาความจริงให้ได้ในพรุ่งนี้ แต่หม่อมฉันมีความวิตกที่พระองค์ท่านมากนัก ด้วยมันคิดร้ายเวทย์มนต์ไม่สำเร็จจะเล่นตรงๆ ได้สั่งพระยามหามนตรีให้มาคิดระวัยระวัง แต่การภายในสำคัญมากนัก ขอให้ท่านรักษาพระองค์ให้จงมาก...”
ที่ทรงวิตกนั้น ก็ไม่ได้วิตกเรื่องคาถาอาคมที่อ้ายเกษนั่งเป่าอยู่ในคุก แต่ทรงเกรงว่าเมื่อใช้เวทย์มนต์ไม่ได้ผล ก็จะให้พรรคพวกพี่น้องเล่นตรงๆ มากกว่า
แม้ว่าพระองค์จะทรงพระราชอำนาจที่จะประหารชีวิตคนได้ และทรงเห็นว่าอ้ายเกษนั้นสมควรตาย แต่ในที่สุดก็ทรงวินิจฉัยลงโทษในคดีนี้ว่า
“...ซึ่งอ้ายเกษคบคิดกับอ้ายขุนคนโทษด้วยกัน ปั้นรูปสมเด็จกรมกระหม่อมจัน ให้อ้ายทรัพ อ้ายขำ เอาไปฝังป่าช้าทำเวทย์มนต์ต่างๆ ดังนี้ อ้ายเกษ อ้ายขุน อ้ายทรัพ อ้ายขำ ทาสผู้รู้เห็นมีความผิด ให้เฆี่ยนอ้ายเกษ อ้ายขุนคนละ ๖๐ ที แล้วจำคุกให้หมั้น อย่าให้เที่ยวไปมาได้ แลให้เฆี่ยนอ้ายทรัพ อ้ายขำ คนละ ๓๐ ที เอาตัวจำคุกไว้ปีหนึ่งจึงพ้นโทษ”
คดีร่ายเวทย์มนต์คาถาออกมาจากคุก ก็จบลงโดยจอมขมังเวทย์ไม่ถึงตาย แต่ติดคุกมีกำหนดแต่เพียงว่า “...แล้วจำคุกให้หมั้น อย่าให้เที่ยวไปมาได้...”
ก็คงแบบว่า ถ้าเลิกคิดใช้เวทย์มนต์คาถาเมื่อไหร่ ก็ให้ออกไปได้เมื่อนั้นนั่นแหละ.