“วัดรั้วเหล็ก” เป็นสมญานามที่ชาวบ้านเรียกวัดประยุรวงศาวาส ที่อยู่เชิงสะพานพุทธฝั่งธนบุรี เพราะมีรั้วแปลกกว่าทุกแห่ง เป็นเหล็กหล่อทาสีแดง ทั้งยังเป็น “รั้วสั่งนอก” เสียด้วย ทำเป็นรูปอาวุธโบราณ คือ หอก ดาบ และขวาน อันเป็นที่มาของสร้อยที่ชาวบ้านพูดให้คล้องจองกันว่า “ขวานสามหมื่น ปืนสามกระบอก หอกสามแสน”
ตามประวัติกล่าวว่า รั้วเหล็กเหล่านี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ซึ่งเรียกกันว่า “สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่” สั่งเข้ามาจากประเทศอังกฤษ ทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เผื่อทรงใช้ล้อมสถานที่ต่างๆในพระบรมมหาราชวัง โดยเอาน้ำตาลทรายซึ่งเป็นสินค้าไทยที่ยุโรปต้องการมากในสมัยนั้น ไปแลกมาด้วยอัตราน้ำหนักต่อน้ำหนัก และเป็นรั้วแบบที่กำลังได้รับความนิยมในกรุงลอนดอน แต่รัชกาลที่ ๓ ไม่ทรงโปรด ฉะนั้นเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่สร้างวัดขึ้นในปี ๒๓๗๑ จึงขอพระราชทานรั้วซึ่งไม่ทรงนิยมนี้มาถวายวัด และเมื่อถวายวัดเป็นพระอารามหลวงในปี ๒๓๗๕ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯได้พระราชทานนามให้ว่า “วัดประยุวงศาวาส”
ต่อมาในวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๓๗๙ มีงานเฉลิมฉลองวัดประยุรวงศ์ฯ มีมหรสพมากมาย ทางผู้จัดต้องการจะให้เป็นงานใหญ่สมกับเป็นงานของสมเด็จเจ้าพระยา จึงใช้ปืนใหญ่เป็นที่จุดไฟพะเนียง โดยเอาโคนกระบอกฝังลงดินให้ปลายชี้ขึ้น แล้วอัดดินปืนเข้าไปแน่นหวังจะให้เป็นไฟพะเนียงที่ยิ่งใหญ่ แต่พอจุดก็ได้เรื่อง แทนที่ไฟพะเนียงจะพุ่งออกมาทางปากกระบอก ดินปืนที่อัดแน่นเกินขนาด ทำให้กระบอกปืนใหญ่แตกเป็นเสี่ยง สะเก็ดกระบอกปืนปลิวว่อน บางชิ้นข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงฝั่งพระนคร คนที่อยู่ใกล้ตายทันที ๘ คน และยังมีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก หลายรายอยู่ในขั้นสาหัส หมอบรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้นำวิทยาการแพทย์แผนตะวันตกมาสู่ประเทศไทย และเปิดคลินิกอยู่ห่างที่เกิดเหตุราว ๒๕๐ เมตร ถูกตามตัวมาทันที ที่พอใส่ยาได้ก็ใส่ยาฝรั่งกันไป แต่ที่เป็นแผลฉกรรจ์ฉีกขาดยับเยิน หมอบรัดเลย์ว่าต้องตัดแขนหรือขาทิ้งสถานเดียว มิฉะนั้นแผลจะลามทำให้เสียชีวิต คนเจ็บส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า คนเราสามารถตัดอวัยวะบางส่วนของร่างกายออกได้โดยไม่ทำให้ตาย จึงถอยกันเป็นแถว แต่พระสงฆ์รูปหนึ่งใจเด็ด ยอมให้หมอบรัดเลย์ตัดแขนที่ถูกสะเก็ดกระบอกปืนจนกระดูกแตก ทั้งๆที่ตอนนั้นยังไม่มียาชาหรือยาสลบ แต่พระสงฆ์รูปนั้นก็ปลอดภัย แผลหายสนิทในเวลาไม่นาน ซึ่งถือว่าเป็นการผ่าตัดครั้งแรกของประเทศไทย
เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร) บุตรชายของสมเด็จเจ้าพระยา ได้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นที่ใกล้ภูเขาจำลองภายในวัด เพื่อไว้อาลัยผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ โดยมีปืนใหญ่ปักคว่ำไว้ ๓ กระบอก
คำที่ชาวบ้านพูดกันว่า “ขวานสามหมื่น ปืนสามกระบอก หอกสามแสน” จึงหมายถึงปืนที่อนุสาวรีย์ปืนใหญ่ระเบิดนั่นด้วย
ส่วนน้ำหนักของรั้วซึ่งเป็นน้ำหนักของน้ำตาลทรายที่นำไปแลก และจำนวนหอก ดาบ ขวานที่ปรากฏอยู่บนรั้ว ไม่มีการบันทึกไว้ แต่ก็น่าจะเป็นไปได้ที่ว่ามีหอกถึงสามแสน เพราะซี่รั้วเป็นรูปหอกทั้งหมด ทั้งยังมีหอกสั้นที่คั่นให้ถี่ขึ้นในช่วงล่างด้วย
แต่ก่อนนี้รั้วเหล็กจะอยู่เพียงภายในวัด ทอดยาวจากประตูวัดด้านเชิงสะพานพุทธฯไปถึงพระบรมธาตุมหาเจดีย์ ปัจจุบันคนที่ผ่านไปมาจะรู้สึกแปลกตาว่า มีรั้วเหล็กแบบเดียวกับที่สั่งนอกเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๓ มาล้อมสวนหย่อมของ กทม.ที่อยู่หน้าวัดติดกับทางขึ้นสะพานพุทธด้วย ปรากฏว่ารั้วนี้เมดอินไทยแลนด์ กทม.ได้ขอแบบจากวัดไปหล่อเอง แต่คนขี้สงสัยแถวสะพานพุทธฯเล่าให้ฟังว่า ถึงแม้หน้าตาจะเหมือนกับรั้วของวัดประยุวงศ์ฯ แต่เนื้อเหล็กต่างกันมาก เคยเอาค้อนปอนด์ทุบรั้วของวัดดูแล้ว ปรากฏว่าค้อนเด้ง รั้วยังเฉย แต่รั้วของ กทม.ค้อนไม่เด้ง เพราะรั้วหัก – อะไรจะขี้สงสัยกันถึงปานนั้น แบบนี้สมบัติสาธารณะจะไปเหลืออะไร
นอกจากวัดประยุรวงศาวาสจะมีรั้วเหล็กเป็นเอกลักษณ์ จนเป็นฉายาของวัดแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ในวัดนี้อีกหลายอย่าง จนจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานครด้วย เช่น
“พระบรมธาตุมหาเจดีย์” เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ สูง ๖๐.๕๒๕ เมตร ซึ่งเป็นเจดีย์สูงที่สุดในกรุงเทพมหานคร สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุวงศ์ เริ่มสร้างเจดีย์องค์นี้แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จก็ถึงพิราลัยไปเสียก่อน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) บุตรชายของท่านได้สร้างต่อจนเสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลที่ ๔
เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ พระปรากรมมุนี (เปลี่ยน) เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๐ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานไว้บนองค์พระเจดีย์ และจารึกกำกับไว้ว่า
“พระสมุหปุ่น ได้จารึกพระธรรมประจุพระเจดีย์ ณ วันศุกร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ปีมะแม ๑๒๖๙ พระพุทธศาสนา ๒๔๕๐ เป็นส่วนอดีต ๒๕๔๙ ส่วนอนาคตขอให้เป็นปัจจัยแด่ พระวิริยาโพธิญาณในอนาคตเทอญ”
จึงรู้กันว่าพระบรมธาตุมหาเจดีย์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แต่ทว่าไม่รู้ว่าบรรจุไว้ที่ไหน จนกระทั่งมีการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ครั้งใหญ่ในปี ๒๕๔๙ พระธรรมโกศาจารย์ เจ้าอาวาส ได้ค้นพบพระบรมสารริกธาตุนี้เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ นำมาประดิษฐานไว้ที่พระวิหารให้ประชาชนสักการะบูชา
ต่อมาในวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุกลับขึ้นไปประดิษฐานบนองค์พระเจดีย์ตามเดิม
อีกอย่างที่น่าสนใจคือ “เขามอ” หรือ “เขาเต่า” สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ได้รับพระราชทานหยดน้ำตาเทียน ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงจุดในห้องสรงมาเป็นเวลาหลายปี จนน้ำตาเทียนก่อตัวเป็นรูปภูเขา จึงได้แนวคิดนี้มาสร้างเป็นภูเขาจำลองพร้อมกับการสถาปนาวัด เพื่อให้เป็นรมณียสถาน โดยก่อด้วยศิลาตั้งอยู่กลางสระน้ำ รอบสระมีศาลารายเป็นที่นั่งพักบ้าง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปบ้าง ภูเขาจำลองนี้มีถ้ำและเพิงผา เป็นทางน้ำเดินลอดเขาเข้าไปได้ ต่อมามีประชาชนนำเต่าและตะพาบน้ำมาปล่อยในสระรอบเขามอ จึงถูกเรียกกันว่า “เขาเต่า” กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเขามอไว้ในฐานะโบราณสถานที่สำคัญของชาติเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๒
“พระอุโบสถ” เป็นสถาปัตยกรรมแบบทรงไทย ก่ออิฐถือปูน กว้าง ๑๘.๒๔ เมตร ยาว ๒๕.๒๐ เมตร หน้าบันเป็นลายดอกพุดตานสวยงามมาก ภายในมีภาพจิตรกรรฝาผนังเรื่องพุทธประวัติอยู่ด้านหลังพระประธาน ส่วนภาพจิตกรรมฝาผนังรอบพระอุโบสถ เดิมเป็นภาพชาดก ถูกทำลายคราวที่หลังคาโบสถ์ถูกระเบิดลูกหลงจากสะพานพุทธในสงครามโลกครั้งที่ ๒ พระอุโบสถนี้ได้รับการซ่อมแซมครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาพระราชทานกฐิน ได้มีพระราชดำรัสว่า เสาภายในพระอุโบสถห่างกันมากจนน่ากลัวเป็นอันตราย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จึงก่อเสารายเพิ่มอีกข้างละ ๒ ต้น จากเดิมที่เคยมีเสารายข้างละ ๔ ต้น รวมเป็นข้างละ ๖ ต้น มีระยะห่างกันต้นละ ๓ ศอกเศษ
นอกจากนี้ยังมี “พรินทรปริยัติธรรมศาลา” ซึ่งเจ้าพระยาภาสกรวงศ์สร้างอุทิศส่วนกุศลให้บิดามารดาในปี ๒๔๒๘ เดิมใช้เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรม ต่อมาในปี ๒๔๕๙ กระทรวงธรรมการได้ใช้เป็นห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชน ซึ่งนับเป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์พระ “ประยูรภัณฑาคาร” จัดแสดงพระพุทธรูปและพระเครื่องที่ค้นพบจากกรุในพระบรมธาตุเจดีย์นับพันองค์ รวมทั้งพระพุทธรูปทองคำ ๓ องค์ สร้างในสมัยศรีวิชัย อายุกว่าพันปี มีน้ำหนักทองคำรวมกัน ๑.๒ กิโลกรัม
ที่น่าแปลกใจอีกอย่างก็คือ สถานที่สร้างวัดประยุรวงศ์ฯนี้ เดิมเป็นสวนกาแฟของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ เช่นเดียวกับวัดอนงคารามและวัดพิชยญาติการาม ที่วงเวียนเล็ก ซึ่งเดิมเป็นสวนกาแฟของสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) แสดงว่ากาแฟซึ่งเป็นสินค้าออกของไทยในขณะนี้ ทรงส่งเสริมให้ปลูกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ แล้ว และสวนกาแฟส่วนพระองค์ก็คือบริเวณวังสราญรมย์และวัดราชประดิษฐ์สถิตย์มหาสีมารามในปัจจุบัน
“วัดรั้วเหล็ก” ยังเล่าเรื่องเก่าให้เราสนุกได้อีก ถ้าจะแวะไปชมกันซักครั้ง