ประชาชนจำนวนมาก เดินทางมารอเข้ากราบถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เบื้องหน้าพระบรมโกศ
วันนี้ (7 ก.พ.) สำหรับบรรยากาศการเข้ากราบถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งในวันนี้ดำเนินมาเป็นวันที่ 97 ตลอดทั้งวันยังคงมีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อาทิ จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดแพร่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดอุดรธานี ฯลฯ ต่างแต่งกายด้วยชุดดำเรียบร้อยจำนวนมาก เดินทางมาต่อแถวอย่างเป็นระเบียบเพื่อขึ้นสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยเจ้าหน้าที่ได้เปิดประตูให้ประชาชนเดินแถวเข้าตั้งแต่เวลา 04.50 น. ก่อนเปลี่ยนเข้าทางประตูมณีนพรัตน์ ถนนหน้าพระลาน เวลา 08.30 น. เพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทางประตูวิเศษไชยศรี
ด้าน นางอารีย์ รักษาสัตย์ วัย 67 ปี และ นางเพชรบุรี ศรีพิทักษ์ วัน 55 ปี ชาวจังหวัดอุทัยธานี และ ชาวจังหวัดนครราชสีมา ที่ได้ย้ายมาลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวอยู่ที่บางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการหลายสิบปีแล้ว ต่างกล่าวด้วยน้ำเสียงตื้นตันหลังจากที่กราบสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสร็จแล้วว่า รู้สึกเหมือนได้ขึ้นสวรรค์ เพราะในหลวง รัชกาลที่ ๙ นั้นทรงเปรียบเสมือนเทวดาที่สถิตย์อยู่บนฟากฟ้า ดังนั้น การได้ขึ้นไปกราบสักการะพระองค์บนพระที่นั่งดุสิตทหาปราสาทจึงเปรียบเสมือนว่าพวกตนได้ขึ้นไปเฝ้าแทวดาบนสรวงสวรรค์
โดย นางอารีย์ กล่าวว่า ตนมาสักการะพระบรมศพครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 แล้ว และตั้งใจจะมาอีกจนกว่าจะถึงวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ วินาทีแรกที่ได้กราบสักการะพระบรมศพรู้สึกปลาบปลื้มใจ ไม่เคยคิดว่าจะมีโอกาสได้กราบสักการะพระองค์ได้ใกล้ขนาดนี้ เวลากราบพระบรมศพได้ตั้งจิตอฐิษฐานพร้อมขอพรให้พระองค์ทรงปกปักคุ้มครองครอบของเราให้มีแต่ความสุขร่มเย็น
“สมัยที่ยังเป็นสาวอยู่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จฯพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ไปที่วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี ภาพแรกที่เราเห็นท่านคือท่านทรงพระสิริโฉมงดงามมาก ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา และทรงพระดำเนินทักทายพสกนิกรอย่างไม่ถือพระองค์ ระหว่างที่ท่านทรงพระดำเนินกับทางลาดพระบาท พวกชาวบ้านรวมทั้วตัวเราเองด้วย ได้นำผ้าเช็ดหน้ามารองพระบาทของพระองค์ เพื่อนำไปเก็บไว้เป็นสิริมงคลของชีวิตอย่างหาที่สุดมิได้ และจากผ้ารองพระบาทผืนนั้นได้เป็นสิ่งย้ำเตือนให้ตัวเราและครอบครัวเดินตามรอยของพระองค์ท่าน ด้วยการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ตลอดชีวิตนี้ของเราจึงไม่เคยมีหนี้สิน แม้แต่ตอนสร้างบ้านที่ จังหวัดสมุทรปราการ ก็ใช้เงินสดสร้าง มีเท่าไรก็สร้างเท่านั้น ไม่ใช้จ่ายเกินตัว เพียงเท่านี้ชีวิตก็มีความสุขอย่างยั่งยืนตามแนวทางของใหลวง รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงวางไว้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตชาวไทยทั้งประเทศแล้ว” นางอารีย์ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
ด้าน นางสาวญาสุมินทร์ ศิริชาติ อายุ 41 ปี อาชีพค้าขายตลาดบองมาเช่ ประชานิเวศน์ กรุงเทพฯ กล่าวว่า วันนี้พาแม่ คือนางคำ ศิริชาติ อายุ 77 ปี และน้า คือ นางวันดี อินปัญญา อายุ 70 ปี มากราบถวายบังคมพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ ๙ ซึ่งแม่กับน้าอยากมานานแล้ว แต่ต้องรอตนที่ติดขายของ ช่วงนี้พอจะปลีกตัวได้ จึงให้หลานเดินทางไปรับแม่ ซึ่งอยู่ที่ จังหวัดศรีสะเกษ เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ พร้อมกับน้าสาว และพามากราบในหลวง รัชกาลที่ ๙ ตามที่แม่ตั้งใจไว้ ส่วนตนได้เดินทางมากราบเป็นครั้งที่ 2 และวันที่ 22 ตุลาคม ก็มาร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีถวายในหลวง รัชกาลที่ ๙ ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงด้วย
“ถึงแม้จะเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ไม่เคยรับเสด็จฯพระองค์ท่าน แต่ก็เทิดทูนพระองค์ท่านมาก ท่านมีพระคุณต่อประเทศไทย ที่พวกเราอยู่ได้ทุกวันนี้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเพราะพระองค์ ทุกสิ่งอย่างที่พระองค์ทรงทำไว้ รวมถึงพระราชดำรัสของพระองค์เราก็สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้หลายอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องความประหยัด ขยันอดทน ไม่เกี่ยงงาน และรู้สึกซาบซึ้งในความรักความกตัญญูที่พระองค์มีต่อสมเด็จย่าซึ่งเราก็ซึมซับมา”
ส่วน นางคำ ศิริชาติ อายุ 77 ปี ชาวตำบลหนองฉลอง อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า อยากมากราบในหลวง รัชกาลที่ ๙ นานแล้วดีใจที่ลูกสาวและหลานชายพามา ในหลวงท่านเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดีมาก มีโครงการต่างๆ คอยช่วยเหลือราษฎรตลอดมา ที่ ตำบลหนองฉลอง ก็มีเขื่อนห้วยศาลา และมีโครงการขุดลอกคลอง เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง ช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำกินน้ำใช้ มีนำทำไรทำนา ทำการเกษตร ซึ่งที่บ้านก็ยึดหลักความพอเพียงปลูกมะพร้าว มะนาว และปลูกผักต่างๆ ไว้กินเองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
ส่วน นางสาวปิยวรรณ ศรีเสน อายุ 66 ปี ครูบำนาญ ชาวตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ กล่าวว่า เดินทางมาพร้อมกับเพื่อนครูทั้งหมด 8 คน โดยรถตู้ ซึ่งที่ผ่านมา ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เคยเสด็จฯ จังหวัดแพร่ 8 ครั้ง เพื่อทรงติดตามโครงการในพระราชดำริ การสร้างเขื่อนห้วยเปราะ การสร้างฝายและอ่างเก็บน้ำ รวมถึงเยี่ยมราษฎร์ ซึ่งในฐานะที่พวกเราเป็นครูก็ได้อบรมปลูกผังให้ลูกศิษย์มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และในวันสำคัญๆ ของในหลวง รัชกาลที่ ๙ ก็จะให้นักเรียนจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กได้ศึกษาหาความรู้และจัดประกวดคำขวัญวันพ่อ
“ส่วนครูเองในฐานะข้าราชการของพรองค์ก็ได้น้อมนำหลักคำสอนต่างๆ ของพระองค์มาปฏิบัติอยู่แล้วทั้งเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ความพอเพียงมาใช้กับตัวเองและสอนเด็กๆ ด้วย