วันที่ ๖ กุมภาพันธ์นี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้กำหนดให้เป็นวัน “มวยไทย” มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ โดยถือเอาวันขึ้นเสวยราชยสมบัติของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในพระนาม “พระเจ้าเสือ” เป็นวันสำคัญนี้ เนื่องจากมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏชัดว่า พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงสนพระทัยในเรื่องหมัดมวยเป็นพิเศษ และเป็นกษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่ปลอมพระองค์ออกไปประลองฝีมือกับชาวบ้าน ทั้งยังทรงคิดท่าแม่ไม้มวยไทยขึ้นเป็นแบบฉบับของพระองค์เอง เรียกกันว่า “มวยไทยตำรับพระเจ้าเสือ” และได้รับการถ่ายทอดเป็นตำรามวยไทยมาจนทุกวันนี้
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ระบุไว้ในหนังสือ “ศิลปะมวยไทย” ว่า พระเจ้าเสือได้ปลอมพระองค์เป็นสามัญชน ออกไปชกมวยกับนักมวยฝีมือดีของอำเภอวิเศษไชยชาญ และสามารถชกชนะนักมวยเอกถึง ๓ คน ได้แก่ นายกลาง หมัดตาย นายใหญ่ หมัดเหล็ก และนายเล็ก หมัดหนัก โดยทั้ง ๓ คนได้รับความพ่ายแพ้อย่างบอบช้ำ
เมื่อพระมหากษัตริย์โปรดการชกมวยเช่นนี้ ทำให้มีการฝึกมวยกันแพร่หลายในราชสำนัก และขยายไปสู่บ้านและวัด โดยเฉพาะวัดถือเป็นแหล่งประสิทธิประสาทวิชามวยไทยเป็นอย่างดี เพราะขุนศึกเมื่อมีอายุมากมักบวชเป็นพระ และสอนวิชาการต่อสู้ให้ลูกศิษย์ โดยเฉพาะนักมวยเด่นในยุคหลังๆมักเกิดจากการฝึกฝนกับพระภิกษุในวัดแทบทั้งสิ้น
นักมวยไทยที่ปรากฏชื่อโด่งดังอยู่ในประวัติศาสตร์อีกคน ก็คือ นายขนมต้ม
นายขนมต้ม เป็นคนบางบาล กรุงศรีอยุธยา พ่อแม่และพี่สาวถูกพม่าฆ่าตาย เหลือตัวคนเดียวจึงต้องไปอาศัยอยู่ในวัดตั้งแต่เด็ก ได้ฝึกฝนการต่อสู้แม่ไม้มวยไทยจนมีชื่อเสียงเลืองลือ แต่ก็ถูกพม่ากวาดต้อนไปเป็นเชลยในคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ พงศาวดารว่า
“เมื่อพระเจ้ามังระโปรดให้ปฏิสังขรณ์และก่อเสริมพระเจดีย์ชเวดากองในเมืองย่างกุ้งเป็นการใหญ่นั้น ครั้นงานสำเร็จลงในปี พ.ศ. ๒๓๑๗ พอถึงวันฤกษ์งามยามดี คือวันที่ ๑๗ มีนาคม จึงโปรดให้ทำพิธียกฉัตรใหญ่ขึ้นไว้บนยอดเป็นปฐมฤกษ์ แล้วได้ทรงเปิดงานมหกรรมฉลองอย่างมโหฬาร ขุนนางพม่ากราบทูลว่า “นักมวยไทยมีฝีมือดียิ่งนัก” พระเจ้ามังระจึงตรัสสั่งให้เอาตัวนายขนมต้ม นักมวยดีมีฝีมือตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามาถวาย พระเจ้ามังระได้ให้จัดมวยพม่าเข้ามาเปรียบกับนายขนมต้ม โดยจัดให้ชกต่อหน้าพระที่นั่ง ปรากฏว่านายขนมต้มชกพม่าไม่ทันถึงยกก็แพ้ ถึงเก้าคนสิบคนก็สู้ไม่ได้ พระเจ้ามังระทอดพระเนตรยกพระหัตถ์ตบพระอุระตรัสสรรเสริญนายขนมต้มว่า
“คนไทยนี้มีพิษสงรอบตัว แม้มือเปล่ายังเอาชนะคนได้ถึงเก้าคนสิบคน นี่หากว่ามีเจ้านายดี มีความสามัคคีกัน ไม่ขัดขากันเอง และไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัวและโคตรตระกูลแล้ว ไฉนเลยกรุงศรีอยุธยาจะเสียทีแก่ข้าศึก ดั่งที่เห็นอยู่ทุกวันนี้”
หลังจากที่นายขนมต้มเอาชนะนักมวยพม่าได้แล้ว พระเจ้ามังระจะปูนบำเหน็จให้เป็นข้ารับใช้ในกรุงอังวะ แต่นายขนมต้มปฏิเสธ และขอให้ปล่อยตนกับเชลยไทยทั้งหมดเป็นอิสระ พระเจ้ามังระก็ยอมทำตามคำขอ
ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ประวัติศาสตร์ได้จารึกนักมวยไทยที่มีฝีมือยอดเยี่ยมไว้อีกคน คือ นายทองดี หรือ จ้อย ชาวเมืองพิชัย ซึ่งมีฉายาว่า “นายทองดีฟันขาว” ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองพิชัย เจ้าของฉายา “พระยาพิชัยดาบหัก” ทหารเอกของพระเจ้าตากสิน
นายทองดีเป็นคนใฝ่ใจในเรื่องหมัดมวยมาแต่เด็ก เมื่อไปมีเรื่องกับลูกชายเจ้าเมืองที่มารังแก เลยปราบเสียหมอบ ต้องหนีอำนาจเจ้าเมืองเตลิดออกจากบ้าน ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ครูมวยต่างเมืองที่ได้ยินชื่อเสียง ต่อมาได้มีโอกาสแสดงฝีมือล้มครูมวยที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้นถึง ๒ คนต่อหน้าเจ้าเมืองตาก จากนั้นก็ถูกชวนให้เข้ารับราชการ และติดตามเจ้าเมืองตากด้วยความซื่อสัตย์ภักดี จนพระยาตากขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี นับเป็นนักมวยในประวัติศาสตร์อีกคนหนึ่งที่มีโอกาสได้ทำงานสำคัญรับใช้ชาติจากฝีมือมวยไทย
มวยไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน ปรากฏในประวัติศาสตร์และพงศาวดารทุกยุคสมัย เป็นการใช้อวัยวะของร่างกาย ๙ อย่างเป็นอาวุธ ได้แก่ มือ ๒ เท้า ๒ เข่า ๒ ศอก ๒ และศีรษะ ๑ นับเป็นศิลปะการต่อสู้ที่เก่าแก่ประเภทหนึ่งของโลก เป็นทั้งการต่อสู้ป้องกันตัวและการกีฬา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเกิดขึ้นมาแต่สมัยใด แต่ถือว่ามวยไทยเป็นการต่อสู้ของไทย เช่นเดียวกับ “กังฟู” ของจีน “ยูโด” และ “คาราเต้” ของญี่ปุ่นและ “เทควันโด” ของเกาหลี
สำหรับคนไทย มวยไทยนั้นอยู่สายเลือด แม้จะไม่ได้เรียนรู้ฝึกฝนกับครูมวย ก็สามารถเตะหรือใช้ศอกเข่าเป็นอาวุธได้คล่องกว่าคนทุกชาติ สมัยก่อนเด็กๆก็ซ้อมมือซ้อมเท้ากับต้นกล้วยแทนกระสอบทรายกันเป็นประจำ และคงจะเป็นสาเหตุที่มั่นใจในมวยไทยนี้ ทำให้คนไทยมักไม่ยอมที่จะให้ใครข่มเหงรังแก เมื่อรู้สึกว่าถูกรังแกแล้ว ให้ใหญ่กว่าแค่ไหนก็ไม่เกี่ยง อย่างที่ว่าเห็นช้างเท่าหมู
มีเรื่องสนุกเรื่องหนึ่งที่น่าเล่า เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕-๖ คนไทยไปเรียนวิชาทหารที่เยอรมันกันหลายคน รุ่นหนึ่งมี แฮร์มัน เกอริง รวมอยู่ด้วย ต่อมาเขาก็คือ จอมพลเกอริง จอมเผด็จการอันดับ ๒ รองจากฮิตเลอร์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒
เกอริงเป็นคนตัวใหญ่และชอบแกล้งเพื่อน เช่นชอบเอาถุงเท้าไปซ่อน ทำให้เพื่อนแต่งตัวไม่ทัน หรือแกล้งเอาถุงเท้าไปชุบน้ำให้ชื้น เอาไปใส่ตอนอากาศหนาวจะเป็นยังไงก็เดาเอา ถือว่าตัวใหญ่แกล้งใครก็แกล้งได้ แต่พอไปแกล้งเพื่อนไทยที่ไม่เกี่ยงเรื่องตัวใหญ่อยู่แล้วเลยได้เรื่อง ปล่อยหมัดตรงเข้าหน้าด้วยแรงโมโห ผลปรากฏว่าคนชกได้แผลแหวะที่โคนนิ้วกลาง ส่วนคนถูกชก ฟันหัก
คนที่ชกก็คือ ขเด็ท หรือนักเรียนนายร้อย น้อม ศรีรัตน์ ซึ่งต่อมาก็คือ พลตรีพระศักดาพลรักษ์ ส่วนคนที่เล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “นักเรียนนายร้อยไทยในเยอรมันยุคไกเซอร์” ก็คือ สรศัลย์ แพ่งสภา ลูกชายคนโตของ ขเด็ทสะอาด แพ่งสภา หรือ พันเอกพระอินท์สรศัลย์ นักเรียนนายร้อยเยอรมันรุ่นนั้น
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็เป็นแค่เพื่อนหยอกกันแรง ส่วนความสัมพันธ์ของคนที่กินนอนอยู่ด้วยกันเป็นปีๆก็ยังคงเดิม เมื่อเกอริงเป็นใหญ่ในกองทัพเยอรมันแล้ว ยังเขียนจดหมายมาถามทุกข์สุขของเพื่อนทางเมืองไทย โดยผ่านสถานทูตเยอรมันในกรุงเทพฯ
ยังมีเกล็ดประวัติศาสตร์อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือหลังที่ไทยได้ตกลงทำสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่นแล้ว แต่ความสัมพันธ์ก็ไม่ค่อยราบรื่นนัก ในปี ๒๔๘๕ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จึงได้ส่งพลเอกพหลพลพยุหเสนา หรือ ขเด็ทพจน์ เป็นทูตพิเศษไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับญี่ปุ่น เพื่อคลี่คลายความตึงเครียดของสองประเทศ ซึ่งขณะนั้น ขเด็ทฮิเดกิ โตโจ มียศพลเอกเป็นนายกรัฐมนตรี พลตรีพระยาศักดาพลรักษ์ เจ้าของหมัดเด็ด เป็นทูตไทยประจำกรุงโตเกียว ซึ่งทั้ง ๓ ท่านเป็นนักเรียนนายร้อยเยอรมันรุ่นเดียวกัน และอยู่ในกลุ่มเดียวกันเสียด้วย สัมพันธไมตรีไทย-ญี่ปุ่นจึงราบรื่นด้วยภาษาเยอรมัน ดีที่จอมพลเกอริงผู้กำลังใหญ่คับโลกในเวลานั้น และอยู่ในกลุ่มนี้ ไม่ได้มาร่วมด้วยอีกคน
นี่ก็เป็นเกล็ดเล็กๆน้อยๆ ที่ถือโอกาสนำมาเล่าในวันมวยไทย ที่อุตส่าห์เกี่ยวพันกันจนได้ด้วยประการฉะนี้