โลกโซเชียลแห่วิจารณ์ “เดอะเฟซ ไทยแลนด์ 3” หลังผู้เข้าประกวดวัย 16 ปี ระบุในใบสมัครว่า “กลัวกะเทย” แล้วเมนเทอร์วิจารณ์ยับ ระบุ ปล่อยคลิปให้สังคมถล่มย่ำยีจิตใจ ถูกตีตรา ซ้ำละเมิดสิทธิเด็ก
จากกรณีที่รายการเดอะเฟซไทยแลนด์ ซีซั่น 3 (The Face Thailand 3) ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ก่อนนำคลิปรายการลงในยูทูป ในรอบคัดเลือกพบเด็กหญิงวัย 16 ปีรายหนึ่ง ระบุในใบสมัคร ว่า กลัวกะเทย หรือ สาวประเภทสอง ซึ่งเมนเทอร์บางคนได้ตำหนิในรายการอย่างรุนแรง ว่า หากลัวกะเทย และไม่เปิดใจ จะทำงานในวงการบันเทิงไม่ได้ พร้อมกับแนะให้กลับไปทบทวนแล้วกลับมาใหม่ปีหน้า ก่อนที่จะตัดสินว่าไม่ผ่าน ทำให้รายการดังกล่าวเป็นที่วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถึงการละเมิดสิทธิเด็กของรายการ
โดยเฟซบุ๊ก Pongsathon Chankaew ระบุว่า หลังคลิปที่ถูกตัดต่อมาจากรายการถูกผู้คนในโลกออนไลน์แชร์กันอย่างมหาศาล มีทั้งเสียงก่นด่า ทับถม จิกกัด หัวเราะ แต่สิ่งที่ดีใจที่สุด คือ มีจำนวนไม่น้อยเลยที่ออกมาปกป้องสิทธิของเด็ก และออกมาตำหนิรายการ ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่ารายการทำผิดอะไร และทำไมเราต้องปกป้องสิทธิเด็ก ในฐานะคนที่ทำงานด้านเด็ก ชี้แจงว่า ผู้เข้าประกวดอายุ 16 ปี ยังเป็นเด็ก อายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
“เชื่อว่า รายการรู้อยู่เต็มอกว่าถ้านำคลิปวิดีโอตัวนี้ลงแล้ว มันจะต้องเป็นกระแส คนแห่แชร์คลิปนี้ถล่มทลาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นการแสวงประโยชน์จากการสูญเสียของน้อง เป็นต้นทุนมหาศาลที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ออกมาในรายการเพียงไม่กี่นาทีต้องแลกด้วยสภาพจิตใจ อารมณ์ สังคม และชื่อเสียง เกียรติคุณ ที่มันถูกทำร้ายจากการถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในโลกออนไลน์ ที่อาจจะลามไปยังพื้นที่ส่วนตัวของน้อง” เฟซบุ๊ก Pongsathon Chankaew ระบุ
ทั้งนี้ แม้เด็กจะเขียนลงในใบสมัครว่า กลัวกะเทย แต่เราไม่สามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาตัดสินทั้งชีวิตและภาพรวมความคิดและทัศนคติของเด็กได้ เพราะเราไม่รู้เลยว่าที่ผ่านมา เด็กผู้หญิงคนนี้เขาเคยมีประสบการณ์ด้านลบต่อกะเทยเป็นอย่างไร เราไม่รู้แน่ชัดเลยว่าการกลัวกะเทยในความหมายของเด็ก มีในมุมมองไหน หรือเขาเคยได้รับการสั่งสอน และอบรมให้มีทัศนคติต่อกะเทยแบบใด เพราะเราทุกคนต่างมีมุมมองต่อส่งรอบข้างผ่านประสบการณ์และการรับรู้ทางสังคมที่ผ่านมาของเรา
“ถ้าสมมติกะเทยเคยทำไม่ดีกับน้องเค้า และเค้ามองกะเทยเป็นแบบเหมารวม (Stereotype) และเกลียดกลัวไปทั้งหมด อันนี้มันก็สามารถเป็นไปได้ เพราะน้องเพิ่งอายุ 16 ทัศนคติ การเห็นโลก การถูกหลอมรวมและขัดเกลาให้เข้ากับสังคมของน้องเองยังผ่านมาไม่นาน น้องมีเวลาเรียนรู้และเปิดรับมุมมองด้านบวกกับสิ่งที่น้องเคยเกลียดกลัว และไม่ชอบอีกเยอะ อันนี้เป็นประเด็นแรกที่อยากให้ทุกคนได้คิดไปด้วยกัน” เฟซบุ๊ก Pongsathon Chankaew ระบุ
ประเด็นต่อมา การลงคลิปในสื่อดังกล่าวมันมีอันตรายและผลกระทบอย่างมหาศาลต่อเด็ก เพราะคลิปนี้จะคงอยู่ถาวรในโลกออนไลน์ และมีผลกระทบต่อตัวเด็กไปตลอดชีวิต โดยความตั้งใจหรือไม่ แต่คลิปนี้จะทำหน้าที่ตีตราและสร้างความเข้าใจว่าเด็กกลัวกะเทยตลอดไป แม้ว่าในวันข้างหน้าเด็กจะไม่ได้กลัวกะเทยแล้วก็ตาม เพราะแรงปะทะวันนี้มันอิมแพคมาก มากคนแชร์ล้นหลาม รับรู้กันไปแบบนั้นแล้ว แม้วันหนึ่งที่น้องเปลี่ยนความคิด คนที่เคยด่า เคยเกลียด เคยเชื่อว่าเด็กเป็นแบบนี้ จะไม่ได้มีโอกาสรับรู้ที่ความเปลี่ยนแปลงนี้ หรือได้รับรู้ความน่ารักของเด็กในมุมอื่นเท่ากับมุมมองด้านลบที่เด็กมีต่อกะเทยเพียงไม่กี่นาทีที่รายการฉายให้เราเห็น เด็กจะยังเป็นคนที่กลัวกะเทยตลอดไปสำหรับใครหลายๆ คน ก็เพราะคลิปตัวนี้ที่รายการตัดออกมาเพื่อเอาเรตติ้งและเรียกกระแส
ประเด็นต่อมาคือ สิ่งสำคัญตอนนี้ เราจะทำอย่างไรไม่ให้ตัวเราที่รู้สึกไม่ชอบกับคนที่รังเกียจและเกลียดกลัวคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่กลายเป็นผู้กระทำซ้ำและเสริมทับการกระทำที่ละเมิดสิทธิเด็กอันนี้ เราเข้าใจทุกคนที่หัวร้อนดีว่ารู้สึกยังไง แต่ขอให้ใจเย็น ถ้าหัวร้อน วีนแหลก จบทันที เพราะว่า เราจำเป็นอย่างมากที่ต้องสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร และมอบบทเรียนทางประสบการณ์แบบใหม่ให้กับคนที่เกลียดกลัวเรารู้ว่า ไม่ว่าจะเกลียดกลัวเราขนาดไหน แต่เราเข้าใจ เราจะไม่เกลียดกลัว และเราจะยินดีให้เข้ามาทำความรู้จักพวกเรามากขึ้น รู้จักเราในมุมมองใหม่ๆ แล้วจะเห็นว่า เราคือมนุษย์เฉกเช่นเดียวกัน ตัดเพศออกไป พวกเราดีเลว ต่ำช้า เหมือนกันหมด ซึ่งถ้าเราวีนเหวี่ยง บรรยากาศแห่งการทำความเข้าใจและให้โอกาสมันจะไม่เกิดขึ้น และเราจะกันคนกลุ่มที่มีทัศนคติด้านลบต่อเราออกห่างจากเราไปเรื่อยๆ
“เราอยากให้ทุกคนจดจำน้องใหม่ จากน้องที่กลัวกะเทย เป็นน้องที่ถูกละเมิด เพราะถ้าเรามองน้องแบบแรกเราจะตำหนิและมองไม่เห็นบาดแผลที่น้องได้รับจากผลกระทบครั้งนี้ แต่ถ้ามองแบบที่สองเราจะเห็นว่าน้องกำลังถูกสื่อและพวกเรารุมทึ้งเด็กหญิงอายุ 16 ปี คนนี้มากขนาดไหน และเราเองจะได้ไม่ลืมว่าเด็กทุกคน รวมทั้งเด็กผู้หญิงคนนี้กำลังเรียนรู้และเติบโตขึ้นมาในสังคม และเขาจำเป็นต้องได้รับการต้อนรับเข้าสู่โลกนี้อย่างอบอุ่น และถูกชี้แนะอย่างเข้าอกเข้าใจ จากผู้ใหญ่อย่างเราๆ เราเลยอยากชักชวนทุกคนลุกขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่น่ารัก มองน้องอย่างเข้าใจและให้โอกาส เพราะมันหมายถึงการเปิดโอกาสให้เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่น่ารักขึ้นเช่นกัน เป็นอีกครั้งที่สังคมถามหาจรรยาบรรณสื่อ แม้สื่อเองจะยังไม่ละเอียดอ่อนต่อประเด็นสิทธิเพียงพอ แต่เราเริ่มเห็นผู้คนละเอียดอ่อนกับเรื่องนี้มากขึ้น เราดีใจ” เฟซบุ๊ก Pongsathon Chankaew ระบุ
ด้านเฟซบุ๊ก Drama-addict ได้วิจารณเรื่องนี้ไว้เช่นกันว่า ฟังจากเด็กที่คุยกับเพื่อน เขาอธิบายว่า กลัวในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเกลียด หรือกลัวเพศที่สาม แต่หมายถึงกลัวสวยสู้กะเทยไม่ได้ แต่ประเด็นคือ เด็กคนนี้ยังเป็นผู้เยาว์ ซึ่งควรได้รับความคุ้มครองสวัสดิภาพในชีวิต การที่พอรายการออกเทปนี้ สังคมรุมกระทืบน้องเขาทันทีนั้น เร็วเกินไป ต่อให้ความหมายของคำว่า กลัวกะเทย ของเด็กเหมือนที่เมนเทอร์ และคนดูส่วนมากเข้าใจ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องรุมกระทืบเขาตรงนั้น แต่เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขความเข้าใจกัน ให้เข้าใจว่าเพศทางเลือกที่แตกต่าง และรสนิยมทางเพศที่แหลกหลายเป็นยังไง และคุณค่าความเป็นคนของเราไม่ได้ต่างกันเพราะเพศสภาพ ซึ่งจะช่วยให้คนที่มีแนวคิดกลัว หรือไม่ชอบเพศที่สาม มีความเข้าใจมากขึ้นได้ แต่การรุมทึ้งเด็กในลักษณะที่เป็นอยู่นี้ นอกจากจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว อาจจะย้ำให้ปมนี้ยิ่งหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ