xs
xsm
sm
md
lg

บัณฑิตคนสุดท้ายผู้ได้รับพระราชทานใบปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ ร.9 "ดร.โอบเอื้อ อิ่มวิทยา"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เปิดใจ... “ดร.โอบเอื้อ อิ่มวิทยา” บัณฑิตคนสุดท้ายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะบัณฑิตจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ กองผลิตภัณฑ์อุปโภคและเคมีภัณฑ์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

• อยากให้อาจารย์ช่วยเล่าย้อนกลับไปในช่วงที่เวลานั้นหน่อยครับ

หลังจากที่สอบปลายภาคเสร็จในเดือนมีนาคมแล้ว เราก็รับปริญญาในเดือนกรกฎาคมในปีเดียวกันเลย แล้วเราก็สมัครเรียนต่อในระดับปริญญาโทเลย เพราะว่าช่วงนั้นยังเป็นช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะฉะนั้นเพื่อนๆ ในภาคกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เลือกที่จะเรียนต่อในภาคบ้าง หรือภาคปิโตรเคมีบ้าง คือเพื่อนในภาครุ่นเรามี 26 คน แล้วได้ทำงานเลยก็ไม่เกิน 5 คน แต่ในช่วงก่อนหน้านั้นก็มีการซ้อมการรับปริญญาก่อน ซึ่งที่จริงความตั้งใจเดิม ก็อยากที่จะเรียนต่ออยู่แล้ว แต่ว่าเราก็อยากทำงานหาประสบการณ์ก่อน แต่งานที่เราอยากทำจริงๆ มันก็หายาก เลยตัดสินใจที่จะเรียนต่ออีก 2 ปี ซึ่งพอเวลาผ่านไป เศรษฐกิจบ้านเราก็เริ่มกลับมาปกติ เราก็เลยได้ทำงานที่เราอยากทำจริงๆ ซึ่งพอเราเรียนจบก็สมัครงานปกติ

• พอถึงช่วงวันรับปริญญา ตัวอาจารย์พอจะทราบมั้ยครับว่าในหลวง ร.9 เสด็จฯ พระราชทานด้วยตนเอง

ทราบค่ะ แต่ตอนนั้นก็ทราบตอนที่คณาจารย์ทางมหาลัยประกาศว่า พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร แต่ก่อนหน้านี้ก็ทราบข่าวว่าท่านทรงประชวร ซี่งตอนนั้นเราก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าท่านจะเสด็จฯ มาหรือเปล่า แต่ในที่สุดพระองค์ท่านก็มา ส่วนความรู้สึกส่วนตัว ก็รู้สึกดีใจค่ะ เพราะว่าก่อนหน้านี้สัก 2-3 ปีก่อน ทราบข่าวว่าพระองค์ท่านทรงประชวรแล้วไม่สามารถมาพระราชทานปริญญาบัตรได้ แล้วพี่ๆ รุ่นนั้น ก็รู้สึกมีความเสียใจที่ไม่ได้รับปริญญาบัตรจากพระองค์ท่าน เพราะว่ามีการเว้นวรรคอยู่ช่วงหนึ่ง ก็จะมีการรับจากพระบรมวงศานุวงศ์พระองศ์อื่นมาพระราชทานปริญญาบัตรแทน แต่พอในหลวง ร.9 กลับมาพระราชทานเหมือนเดิม นอกจากที่ตัวเองจะดีใจแล้ว เพื่อนๆ ร่วมรุ่นก็ดีใจมาก แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย เพราะเราก็คิดว่า เดี๋ยวปีหน้าพระองค์ท่านคงจะเสด็จฯ มาอีก เพราะช่วงที่รับปริญญา เราได้มองพระพักตร์พระองค์ท่านก็ยังรู้สึกว่าพระพลานามัยแข็งแรงดี

• อยากให้อาจารย์ช่วยเล่าในช่วงของวันรับปริญญาหน่อยครับ ว่าเป็นยังไงบ้างครับ

คือไม่แน่ใจว่าจะเหมือนในปัจจุบันมั้ย แต่ก็จะมีการประดับประดาและมีการเตรียมพร้อม ทางคณาจารย์ก็จะมีการบอกนิสิตว่าพระองค์ท่านจะเสด็จฯ มาช่วงไหน แล้วก็มีนิสิตมารับเสด็จฯ ซึ่งจะมีสถานที่ได้ตรงทางเดินที่จะไปหอประชุมจุฬาฯ อาจจะมีน้องๆนิสิต ที่รับเสด็จฯ ไปตลอดทาง ก็จะมีการเตรียมการแล้วก็พวกเราก็ซ้อมรับปริญญา 2 ครั้ง อยู่แล้ว แล้วก็จะมีการเตรียมการอย่างดี ซึ่งเราก็เตรียมความพร้อมปกติ ทุกอย่างราบรื่น ส่วนตัวเราเองก็ตื่นเช้าตั้งแต่ ตี 4 ตี 5 แล้วก็มาที่มหาวิทยาลัยก็ถ่ายรูปกับคณาจารย์และเพื่อนๆ นิสิต บัณฑิต หลังจากนั้นก็ต้องเข้าหอประชุมก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จฯ มา ต้องเตรียมการมานาน ถ้าจำไม่ผิดก็น่าจะ 2-3 ชั่วโมง แล้วบางทีก็มีนิสิตที่ติดภารกิจ ติดถ่ายรูป หรือว่า อาจจะมาไม่ทัน หรือบางคนก็ไม่ได้เข้าเหมือนกัน ก็ทราบจากคนข้างนอกตอนเวลาออกไปน่ะค่ะ ว่านิสิตบางคนก็เข้ามาไม่ทัน ก็เสียดายแทนเขาเหมือนกัน แต่ว่าทุกอย่างก็ต้องตามลำดับขั้นตอน แล้วก็มีการตรวจทุกอย่างเลย ในเรื่องความปลอดภัย พอหลังจากที่นิสิตเข้าไป อาจารย์ก็จะพูดถึงกำหนดการ แล้วเราก็จะมีหมายอยู่แล้วว่า คณะไหนจะรับก่อน ในช่วงวันนั้นน่ะคะ เพราะทางจุฬาฯ จะรับปริญญาทั้งหมด 3 วัน คณะวิทยาศาสตร์ก็เป็นคณะสุดท้ายของปีนั้น ของระดับปริญญาตรี ส่วนระดับสูงกว่านั้น เขาจะรับในวันถัดไป แต่เข้ารับพระราชทานกับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านแทน

• พอมาถึงช่วงวินาทีของตัวอาจารย์เอง อยากให้ช่วยเล่าถึงความรู้สึกในตอนนั้นหน่อยครับ

ก็ตื่นเต้นค่ะ เพราะว่าเป็นคนสุดท้ายแล้วไม่มีคนต่อ แล้วถ้าเราทำอะไรผิดพลาดเนี่ย คนอื่นก็จะสังเกตเห็นได้ง่าย แล้วเนื่องจากว่าซ้อมมาอย่างดี ก็ไม่มีอะไรผิดพลาด แต่ทุกคนก็ตื่นเต้นที่ได้เข้าเฝ้าฯ และรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของพระองค์ท่าน ส่วนช่วงที่รับนี่คือก็ไม่ได้มอง เพราะจุดสนใจจะอยู่ที่ว่า ต้องรับให้ถูก แล้วการที่เราจะรับสิ่งของจากพระมหากษัตริย์ เราก็ต้องรับให้ถูกใช่มั้ยคะ จะไม่ได้มองพระพักตร์พระองค์ท่าน แต่พอถึงช่วงที่ถอยออกมา ก็มองพระพักตร์ แล้วก่อนหน้าถึงคิวเรา เราก็มองมาเรื่อยๆ ค่ะ แล้วในตอนนั้น เราก็รู้สึกว่าพระองค์ท่านมีพระพลานามัยดี ไม่มีอาการประชวรมาก แต่เราก็ไม่รู้ว่าพระองค์ท่านประชวรลักษณะไหน แล้วพอหลังจากที่พระราชทานปริญญาบัตรแล้ว พระองค์ท่านก็ทรงให้พระบรมราโชวาทแก่นิสิต ซึ่งวันก่อนหน้านี้ จะเป็นพระบรมราโชวาทที่เกี่ยวกับการประมาณตน ส่วนวันที่รับ เป็นพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการประมาณสถานการณ์

หลังจากที่เราเสร็จเรียบร้อย ก็เหมือนกับได้ทำภารกิจที่แบบเหมือนจะยิ่งใหญ่แล้ว ที่เราไม่ได้ทำอะไรผิดพลาดแล้ว เราสบายใจแล้ว ที่เราเรียนมา 4 ปี และได้ปริญญาบัตรจากในหลวง เราก็ปลื้มปีติแล้ว แต่ ณ ตอนนั้น เราก็ไม่ทราบว่าเป็นคนสุดท้ายของมหา'ลัยนะคะ เพราะคิดว่าปีถัดไป พระองค์ท่านก็คงจะเสด็จฯ มาอีก แต่รู้ว่าเป็นคนสุดท้ายของคณะ เพราะว่ามีรหัสอยู่ เราก็จำเลขเราได้ว่าเป็นคนที่ 365 แต่เนื่องจากพระชนมายุของพระองค์ท่านที่มากแล้ว แล้วทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ไม่อยากรบกวนพระองค์ท่านอีก

• หลังจากนั้น อาจารย์ก็กลับไปเรียน และทำงานในเวลาต่อมา

ใช่ค่ะ พอหลังจากเรียนจบปริญญาโท ก็มาทำงานที่กรมวิทยาศาสตร์บริการเลย ก็ทำงานที่นี่อยู่ 5 ปี ซึ่งเมื่อก่อนจะชื่อว่ากองเคมี แต่เดี๋ยวนี้ชื่อว่ากองเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อุปโภค ทำที่นี่มา 5 ปี ทำด้านวิทย์เคมีวิเคราะห์ วิเคราะห์สารอินทรีย์ จากผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าส่งมา วิเคราะห์โครงสร้าง วิเคราะห์สมบัติ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ก็ทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย ส่วนมากจะเป็นงานวิเคราะห์ตรวจสอบ แล้วอาจจะมีการจัดแสดงโชว์ เหมือนกับวิทยากรให้นักเรียน เวลามีนิทรรศการวิทยาศาสตร์ต่างๆ ก็จะเป็นการสาธิตทางด้านวิทยาศาสตร์ ส่วนมากจะเป็นทางด้านปฎิบัติการมากกว่า ยังไม่ได้ทำโครงการวิจัย หลังจากนั้นก็ได้ทุนพัฒนาข้าราชการของกระทรวง ให้ไปเรียน ปริญญาโทอีกใบ จนถึงระดับ ปริญญาเอก ที่สหรัฐอเมริกา พอเรียนจบกลับมา ก็มาทำงานที่นี่จนถึงปัจจุบัน

• อาจารย์มองพระองค์ท่านในด้านวิทยาศาสตร์ ยังไงบ้างครับ
 
พระองค์ท่านทรงเป็นเหมือนทั้งวิศวกร เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ ทั้งนักประดิษฐ์ คิดว่าท่านทรงมีพระอัจฉริยภาพมากในหลายด้าน ทั้งดนตรี กีฬา หรือทางด้านสังคมศาสตร์ คือถ้าพระองค์ท่านทรงสนใจอะไรก็จะทรงทำได้หมด โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เท่าที่ศึกษาพระราชประวัติของพระองค์ท่าน ทราบว่าพระองค์ท่านทรงเคยเรียนทางด้านวิศวกรรมมาก่อน จนกระทั่งตอนที่พระองค์ท่านเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ท่านเลยเปลี่ยนไปเรียนทางรัฐศาสตร์ การปกครอง ซึ่งพระองค์ท่านมีแนวทางด้านวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว พระองค์ท่านเลยเอาความรู้ทางด้านนี้มาพัฒนาประเทศ ดังที่ได้เห็นจากโครงการต่างๆ เช่น โครงการฝนหลวง ซึ่งไม่ทราบว่าประเทศอื่นมีมั้ย แต่ว่ากว่าจะได้อย่างงั้นต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ก็เหมือนกับการทำงานวิจัย ไม่ใช่แค่ปี 2 ปี 3 ปี แล้วจะได้ แต่ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ มันต้องเตรียมข้อมูลอะไรเยอะค่ะ เราก็เคยอ่านพระราชประวัติพระองค์ท่านว่า อย่างเรื่องแก้มลิง หรือว่าการจัดการน้ำ เหมือนกับคนไทยที่ไปคุยกับต่างประเทศว่า ในหลวง ร.9 ทรงมีโครงการอย่างงี้ แล้วชาวต่างชาติก็ชื่นชมว่าเยี่ยมมาก ทรงมีพระอัจฉริยภาพมาก ทั้งๆ ที่คนไทยสมัยนั้นยังไม่คิดได้ขนาดนี้

โดยเฉพาะโครงการฝนหลวง เพราะหลังจากที่พระองค์ท่านเสด็จสวรรคต เราก็ได้ดูเรื่องราวต่างๆ จากที่สื่อมวลชนได้จัดทำจากพระราชประวัติในแง่ต่างๆ เราก็ได้ดูเรื่องฝนหลวงด้วย ซึ่งกว่าจะมีวันนี้ได้ ทุกคนหรือผู้เกี่ยวข้องกับการทำฝนหลวง ก็ต้องทำงานด้วยความยากลำบาก กว่าจะให้ชาวบ้านไม่ย้ายถิ่นฐาน รวมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย ทั้งในเรื่องชลประทาน ก็ได้ฟังข้าราชการผู้ใหญ่ที่ทำงานใกล้ชิด ว่าพระองค์ท่านทรงวางนโยบายยังไง เกี่ยวกับการกักเก็บน้ำการสร้างเขื่อน หรือว่าการรักษาป่า รวมทั้งเกี่ยวกับเกษตรกรรม ที่สามารถพลิกฟื้นไร่ฝิ่นทางภาคเหนือได้

ขณะเดียวกัน สำหรับกระทรวงวิทย์ จะเห็นได้ว่า ประมาณ 10 กว่าปี มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในการตั้งหน่วยงาน ซึ่งเมื่อก่อนจะเป็นกระทรวง ทบวงกรม จะเป็นในลักษณะแบบราชการ แต่กระทรวงวิทย์ จะเห็นได้ว่าเป็นหน่วยงานองค์กรมหาชน องค์กรในกำกับของรัฐ มีองค์กรที่แตกต่างออกไป ให้การทำงานคล่องตัว โดยเฉพาะ สวทช. จะมีนักวิจัยจำนวนเยอะมากเลย ซึ่งตรงนี้คิดว่าน่าจะเกิดมาจากพระราชดำริในด้านการพัฒนากำลังพลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งรัฐบาลก็สนองนโยบายของพระองค์ท่าน คือจะเห็นได้ว่า ในแต่ละปีจะมีการให้ทุนทางด้านวิทยาศาสตร์จำนวนเยอะมาก ซึ่งเราคิดว่าเป็นการเตรียมกำลังคนด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์น่ะค่ะ

• ในพระราชดำรัสของในหลวง ร.9 บทไหนที่นำมาประยุกต์ใช้กับเราได้ครับ

ที่จำได้ขึ้นใจเลยนะคะ คือพระองค์ท่านเคยทรงตรัสว่า การที่เราจะปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขได้ ไม่ใช่จะให้คนทุกคนเป็นคนดี แต่การที่ทำให้บ้านเมืองสงบสุขก็คือการให้คนดีมาปกครองบ้านเมือง มาควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มาก่อนความวุ่นวาย อันนี้มันประยุกต์ใช้ได้กับการบริหารทุกหน่วยงาน เพราฉะนั้น ในการจัดสรรบุคคลที่ขึ้นมาทำงานก็แล้วแต่ เราก็ต้องเลือกคนให้เหมาะกับงาน เหมือนเราจะทำงานกับใคร เราก็ต้องเลือกผู้ร่วมงานที่มีความรับผิดชอบ และมีความสนใจในเรื่องเดียวกัน เหมือนกับพระราชดำรัสน่ะค่ะ คือการที่เราอาจจะไม่ได้ปกครองบ้านเมืองหรอก แต่เราอาจจะทำงานเกี่ยวกับงานวิจัย ถ้าเราจะทำงานซักชิ้น เราก็ต้องเลือกคนที่มาทำงานให้เหมาะกับเรา เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายไปด้วยกัน

• อาจารย์ซึ่งเป็นนักวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์ จุดมุ่งหมายที่จะสืบสานพระราชปณิธานของในหลวง ร.9 นี้จะเป็นยังไงต่อครับ

ในส่วนตัวเราก็คิดว่า จะตั้งใจทำงานให้มากที่สุด เนื่องจากที่นี่ นอกจากจะมีในเรื่องวิจัยแล้ว ยังมีการบริการวิเคราะห์ทดสอบด้วย บางทีให้คำปรึกษา เพราะบางทีก็มีประชาชน หรือองค์กรต่างๆ เขาส่งงานวิเคราะห์ตรวจสอบมา ต้องการความช่วยเหลือ และเราก็ให้ความช่วยเหลือ เราก็ให้ความปรึกษาแก่เขา รวมทั้งมีการติดต่อจากภาคประชาชนด้วย ตรงนี้บางทีเราก็พยายามช่วย บางครั้งก็มีนิสิตนักศึกษาโทร.มาปรึกษาว่าทางกรมจะรับให้การทดสอบทางวิทยาศาสตร์มั้ย แต่เราก็ไม่สามารถรับการทดสอบได้ทุกอย่าง เราก็อยากจะให้คำแนะนำเขา

เนื่องจากบางทีเราก็มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์พอสมควรน่ะค่ะ ว่าควรจะไปติดต่อด้านนี้นะ หรือควรจะไปค้นคว้าข้อมูลด้านนี้นะ ก็พยายามจะช่วยเท่าที่ช่วยได้ ส่วนในเรื่องงานวิจัย งานที่มันจะสำเร็จ เคยมีคนบอกว่า จะต้องมุ่งไปที่ส่วนรวมไม่ใช่มุ่งไปที่ตัวเอง ไม่ใช่แค่ว่าเอาไปเลื่อนขั้นอย่างเดียว เราต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ด้วย ว่าใครจะเอางานใจเราไปใช้ประโยชน์ ใช้ประโยชน์ได้จริงมั้ย เพราะว่ามันเป็นเงินภาษีประชาชน เงินงบประมาณแผ่นดิน ไม่ใช่เราเอามาตอบแค่ความต้องการของเรา ยังไงก็ต้องมุ่งผลลัพธ์ในภาครวมมากที่สุด

เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ

กำลังโหลดความคิดเห็น