ภาพยนตร์เสียงในฟิล์มซึ่งฉายอยู่ในปัจจุบันนี้ ถือกำเนิดขึ้นที่ฮอลลีวูดใน พ.ศ.๒๔๗๐ และเข้ามาถึงเมืองไทยใน พ.ศ. ๒๔๗๑ ซึ่งขณะนั้นยังฉายหนังเงียบที่มีอักษรบรรยายแบบหนังชาลี แชปปลิน การเข้ามาของหนังเสียงทำให้แฟนหนังตื่นเต้นกันมาก เลยทำให้สถานการณ์ของหนังเงียบค่อนข้างจะคับขัน บางโรงหาทางสู้โดยให้คนถือ “โทรโข่ง”ออกไปยืนข้างจอ อ่านคำบรรยายให้คนดูฟังเข้าใจได้สะดวกขึ้น ซึ่งวิธีนี้เอาแบบอย่างมาจากการฉายหนังเงียบในประเทศญี่ปุ่น
ส่วนหนังเสียงในฟิล์มนั้นก็มีปัญหาเหมือนกัน เพราะมีไม่กี่คนที่ฟังภาษาอังกฤษรู้เรื่อง จึงดูแต่ท่าทางเดาๆกันไป ต่อมามีชาวอินเดียนำหนังแขกเรื่อง “รามเกียรติ์ตอนศึกไมยราพน์” มาเสนอโรงภาพยนตร์พัฒนากร ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ชั้นนำในตอนนั้น ผู้บริหารโรงเห็นว่า “รามเกียรติ์” เป็นเรื่องที่คนไทยรู้จักและสนใจกันอยู่แล้ว แต่ถ้าพูดแขกคงดูไม่รู้เรื่องแน่ จึงหาทางทำให้เกิดรสชาติขึ้นด้วยการพากย์แบบโขน และเห็นว่าคนที่จะพากย์ได้อย่างออกรส ก็คือ นายสิน สีบุญเรือง นักหนังสือพิมพ์เจ้าของนามปากกาดัง “ทิดเขียว” และเป็นบรรณาธิการนิตยสาร “ข่าวภาพยนตร์”
เมื่อรับงานพากย์หนัง“รามเกียรติ์” ทิดเขียวก็นุ่งผ้าม่วงใส่เสื้อราชปะแตนออกไปยืนถือโทรโข่งแบบการพากย์หนังเงียบ แต่พากย์เป็นกลอนแบบโขน โดยมี ขุนสุนทรภาษิต ผู้ใช้นามปากกาว่า “ทิดมุ่ย ณ ปากน้ำ” เป็นคนเขียนบทพากย์ “ทิดเขียว” เป็นคนสนุกและลวดลายแพรวพราวอยู่แล้ว เลยสอดใส่มุขฮาเพิ่มรสชาติเข้าไปอีก เป็นที่ชอบอกชอบใจของคนดู กล่าวขวัญกันต่อๆไปว่า “ทิดเขียว”มาพูดแทนแขก เลยแห่มาดูการพากย์ของ“ทิดเขียว” จนแน่นทุกรอบ
จากนั้นไม่ว่าหนังแขก หนังฝรั่ง ก็ต้องพากย์ทั้งหมด และต้องพากย์โดย “ทิดเขียว”ด้วย ซึ่งก็ยังคงใช้โทรโข่งยืนอยู่หน้าจอด้านข้างมาตลอด แต่พอมาเจอเรื่อง “อาบูหะซัน” ซึ่งมีตัวแสดงมาก ทั้งหลากรส รัก โศก หัวเราะ ร้องไห้ และดุดัน พอจบโปรแกรม “ทิดเขียว” ก็ล้มเจ็บต้องนอนพักฟื้นอยู่หลายวัน ต่อมาหนังเรื่องใหม่ที่เตรียมพากย์ คือ “รามเกียรติ์ตอนหนุมานเผาลงกา” ยิ่งหนักไปกว่า “อาบูหะซัน” เสียอีก ทั้งหนุมานและยักษ์ต่างคำรามเข้าใส่กัน หนุมานจะหาวเป็นดาวเป็นเดือนก็ต้องคำรามด้วย บางตอนก็รบกันทั้งม้วน ขืนให้คำรามแทนหนุมานแทนยักษ์คงต้องล้มก่อนหมดโปรแกรมแน่ “ทิดเขียว”เลยหาทางแก้ไขโดยเอาวงปี่พาทย์ มีทั้งกลอง ฉิ่งฉับกรับโหม่งมาร่วม ตอนหนุมานรบกับยักษ์ก็ให้ปี่พาทย์เชิดแบบลิเก ตอนหนุมานหาวเป็นดาวเป็นเดือนก็ทั้งเชิดทั้งรัว แถมตอนแขกร้องเพลงยังเอาพิณพาทย์คลอเสียอีก ต่อมาบางเรื่องที่เป็นหนังชีวิตซึ้งๆ ก็ใช้เครื่องสายมาแทนวงปี่พาทย์ คนดูก็ได้รสชาติขึ้น “ทิดเขียว” ก็ได้ทุ่นคอ ซึ่งค่าพากย์ตอนนั้นได้คืนละ ๖ บาท ขณะที่ข้าราชการขั้นต่ำได้เดือนละ ๓๐ บาท ชั้นสูงสุดได้ ๒๐๐ บาท
ต่อมาเครื่องขยายเสียงเริ่มเข้ามาในเมืองไทย “ทิดเขียว” จึงเสนอผู้บริหารโรงพัฒนากรว่าควรจะพัฒนาการพากย์เอาเครื่องขยายเสียงมาใช้บ้าง และเมื่อนำมาทดลองก็ได้ผลดีกว่ามาก การพากย์ด้วยโทรโข่งจึงหมดไป คนพากย์ไม่ต้องไปยืนหน้าจอ นั่งพากย์ในห้องได้เลย
ไมโครโฟนที่ใช้พากย์ในตอนนั้นหนักกว่าไม่โครโฟนสมัยนี้มาก เรียกว่า “ไมโครโฟนคาร์บอน” เพราะใช้ถ่านเป็นตัวรับเสียง พอน้ำลายกระเซ็นทำให้ถ่านชื้น รับเสียงไม่ดี นักพากย์ต้องตะเบ็งเสียงเข้าไปอีก ยิ่งเป็นหนังบู๊ ไมโครโฟนมักชุ่มไปด้วยน้ำลาย ต้องเอาออกตากแดดทุกวันให้ถ่านแห้ง
เมื่อมีการใช้ไมโครโฟนแทนโทรโข่ง การพากย์หนังก็มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ นักพากย์จะต้องรับหน้าที่ทำเสียงประกอบให้หนังด้วย ทุกคนจึงต้องมีอุปกรณ์ประจำตัว เช่น “ช้อนส้อม” เอาไว้ทำเสียงประกอบฟันดาบ “ถั่วเขียวและถาด” เอาไว้ทำเสียงฝนตก “กล่องไม้ขีดเจาะรู” ไว้เป่าทำเสียงปืน ต่อมาไมโครโฟนรุ่นใหม่ใช้ปากเป่าเป็นเสียงปืนได้เลย และต้องมี “ม้วนกระดาษ”ไว้ทำเสียงชกต่อย
ต่อมามีนักพากย์เกิดขึ้นตามมาอีกหลายคน เช่น เพ็ญ ปัญญาพล, ม.ล.รุจิรา อิศรางกูร, เสน่ห์ โกมารชุน รวมทั้ง “พันคำ” หรือ พร้อมสิน สีบุญเรือง ลูกชายของ “ทิดเขียว” จนถึง สมพงษ์ วงศ์รักไทย นายกสมาคมนักพากย์ ซึ่งทุกคนก็ถือว่า “ทิดเขียว” เป็นบรมครูที่ให้กำเนิดอาชีพนี้ ทั้ง“ทิดเขียว”ก็ไม่ได้หวงวิชา ใครอยากพากย์หนังก็ยินดีถ่ายทอดวิชาให้ เพราะทุกโรงก็ต้องการนักพากย์ทั้งนั้น บางคนไม่ได้เป็นลูกศิษย์โดยตรง แค่ติดตามดูวิธีพากย์ก็เก็บเอาวิชาไปหากินได้
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งอยู่ในยุคฝืดเคืองขัดสน แม้ความบันเทิงจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของชีวิต แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะขาดเสียเลย ในยามนั้นไม่สามารถลงทุนสูงๆในด้านความบันเทิงได้ จึงคิดสร้างความบันเทิงในรูปแบบใหม่มาดูกันหลังจากจำเจกับละครเวทีมาตลอดช่วงสงคราม นั่นก็คือนำฟิล์มขนาด ๑๖ มม.มาถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ฉายในโรง โดยถ่ายแล้วล้างฟิล์มนำมาตัดต่อออกฉายได้เลย ใช้วิธีพากย์สด ใส่แบคกราวด์มิวสิคและเสียงประกอบกันสดๆ นับเป็นวิธีการสร้างภาพยนตร์แบบฉบับของคนไทยโดยเฉพาะ เป็นภูมิปัญญาของนักสร้างหนังไทยในอดีต
การสร้างภาพยนตร์ในระบบนี้อย่าคิดว่า“กระจอก”หรือ“ขี้ไก่”นะครับ เคยไปเขย่างานประกวดภาพยนตร์นานาชาติที่นครซานฟรานซิสโก จนตะลึงกันทั้งงานมาแล้ว ผู้สร้างฮอลลีวูดต่างยอมรับว่าเป็นความมหัศจรรย์ของโลกภาพยนตร์ และส่งเสียงชมกันสนั่น ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ
ทั้งนี้เมื่อปี ๒๕๐๕ คณะกรรมการจัดงานมหกรรมภาพยนตร์นานาชาติที่นครซานฟรานซิสโก ได้ส่งหนังสือมาถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการ หรือที่เรียกกันว่า “พระองค์ชายเล็ก” ว่าในงานที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๐๕ นั้น นอกจากจะเชิญหนังไทยให้ร่วมประกวดแล้ว ยังขอให้ช่วยจัดรายการนำหนังไทยในระบบ ๑๖ มม. ที่สร้างเป็นหนังเข้าฉายในโรงแบบพากย์สด ไปแสดงในงานเป็นรายการพิเศษด้วย
ในปีนั้น หนังไทยที่สร้างในระบบ ๓๕ มม.เสียงในฟิล์ม มีเพียงปีละแค่ ๒-๓ เรื่องเท่านั้น และไม่มีเรื่องไหนพอจะเอาไปอวดเขาได้ มีแต่รายการที่ ๒ ที่จะนำหนังเสียงนอกฟิล์มที่เขาอยากดูไปแสดงให้ดู “พระองค์ชายเล็ก” จึงบอกกล่าวไปยังบรรดาผู้สร้างหนังไทยว่าใครสนใจจะส่งหนัง ๑๖ มม.ไปฉายโชว์ที่อเมริกาบ้าง เพื่อสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติและหนังไทย แต่บรรดาผู้สร้างหนังไทยไม่เชื่อว่างานใหญ่ระดับนานาชาติขนาดนี้จะเอาหนังไทย ๑๖ มม.ไปฉายโชว์ บางคนคิดเลยเถิดไปว่า เขาอาจจะเอาไปเยาะเย้ยให้เห็นเป็นเรื่องตลกก็ได้ เลยไม่มีใครสนใจจะไป
ในที่สุด “พระองค์ชายเล็ก” จึงได้เลือกเอาเรื่อง “อ้อมอกสวรรค์” นำแสดงโดย มิตร-เพชรา กำกับการแสดงโดย ศิริ ศิริจินดา ให้ ม.ล.รุจิรา อิศรางกูร ณ อยุธยา ยอดนักพากย์ของไทยซึ่งมีฉายา “มนุษย์ ๖ เสียง” พร้อมด้วย มารศรี อิศรางกูร คู่พากย์ ไปพากย์โชว์ตามคำขอ
ในรายการนี้ นอกจาก รุจิรา - มารศรี จะพากย์ “อ้อมอกสวรรค์” พร้อมกับวางแผ่นเสียงทำดนตรีประกอบ และทำเสียงเอฟเฝคเสร็จสรรพเพียง ๒ คนแล้ว เจ้าภาพยังนำหนังอเมริกันรุ่นหนังเงียบมาให้พากย์โชว์อีกเรื่องหนึ่งด้วย โดยให้ทั้ง ๒ นั่งพากย์อยู่กลางห้องโถงล้อมรอบด้วยผู้ชม ให้เห็นกันทั่วว่าผู้พากย์ทำอะไรบ้าง
ปรากฏว่ารายการนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากคนหลายชาติที่มาร่วมงาน เมื่อรายการเริ่มขึ้น ต่างก็ฮือฮาเมื่อได้ยินรุจิราเปลี่ยนเสียงเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ ทั้งยังทำเสียงผู้หญิงได้อย่างแนบเนียน เมื่อรายการจบลง สปอร์ตไลท์ก็พุ่งมาที่รุจิรา-มารศรีซึ่งลุกขึ้นยืนโค้งไปรอบๆ ผู้ชมต่างปรบมือให้อย่างกึกก้องและยาวนาน ต่างชมว่ารายการนี้เป็นรายการวิเศษที่สุดของงาน และยกย่องให้รุจิราเป็นมนุษย์มหัศจรรย์ นักสร้างฮอลลีวูดบางคนยังพูดว่า ถ้าฮอลลีวูดรู้ว่าทำหนังแบบนี้ได้มาก่อน ระบบของฮอลลีวูดที่ทำกันอยู่ปัจจุบันอาจจะไม่ได้เกิดก็เป็นได้
การพูดเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องเสียดสีหรือเย้ยหยันอย่างแน่นอน เพราะหนังสือพิมพ์ชั้นนำของอเมริกาต่างขานรับชมเชยกันเกรียวกราว เช่น
“โลกภาพยนตร์ทั้งหมด อยู่ที่บุคคลทั้งสอง”
“สองมนุษย์ประหลาดที่สร้างความตื่นเต้น สามารถทำให้ภาพยนตร์อื่นเงียบเหงา”
บ๊อบ โทมัส นักเขียนเรื่องเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์และทีวีของเอพี กล่าวว่า ประเทศไทยได้ค้นพบวิธีการใหม่ในการสร้างภาพยนตร์โดยลดต้นทุนในการสร้างให้ต่ำ แต่เป็นที่น่าสงสัยว่า บรรดาวงการภาพยนตร์ต่างประเทศจะยอมรับวิธีการนี้หรือไม่ จากภาพยนตร์ไทยเรื่อง “อ้อมอกสวรรค์” ซึ่งได้เข้าร่วมแสดงในงานประกวดภาพยนตร์นานาชาติที่นครซานฟรานซิสโก เป็นภาพยนตร์ ๑๖ มม. เสียงนอกฟิล์ม โดยใช้เสียงของ ๒ นักพากย์ไทย ให้เสียงพูดแก่ดาราแสดง ทั้งเด็ก คนหนุ่มคนสาว กระทั่งคนแก่ โดยการให้เสียงเพลงประกอบเป็นแบคกราวด์ พระองค์เจ้าอนุสรณ์ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทยเปิดเผยว่า ดาราไทยส่วนมากแสดงภาพยนตร์ประเภทเงียบ และมีภาพยนตร์ต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมากที่เข้ามาฉายในเมืองไทย ก็ใช้วิธีการนี้ตามโรงต่างๆปีละหลายเรื่อง
พอล สปีเกิล นักสร้างผู้ยิ่งใหญ่ เขียนลงใน “ซานฟรานซิสโก นิวส์” กล่าวว่า
“รายการแสดงของศิลปินผัวเมียจากประเทศไทยในงานมหกรรมครั้งนี้ นับเป็นรายการที่น่าสนใจที่สุด ข้าพเจ้าเฝ้ามองเขาทั้ง ๒ ด้วยความชื่นชม รุจิราผู้ได้รับสมญาจากประชาชนของเขาว่ามนุษย์ ๖ เสียง เพราะเขาสามารถจะเลียนเสียงมนุษย์ได้ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง คนหนุ่ม คนแก่ ส่วนมารศรี ภรรยา สามารถให้ความร่วมมือในการประกอบบทพากย์ได้อย่างดี ซึ่งได้ประจักษ์แก่ท่านทั้งหลายมาแล้ว ข้าพเจ้าอยากจะพูดคำหนึ่งว่า ผู้มีความสามารถเหนือมนุษย์แล้ว ก็ต้องเป็นความวิเศษที่ไม่มีใครเหมือน”
ซานฟรานซิสโก ครอนิเกิล กล่าวว่า
“นับเป็นครั้งแรกที่เราต้อนรับอาคันตุกะศิลปินจากประเทศไทย ที่มาสร้างความตื่นเต้นให้แก่พวกเรา ด้วยการโชว์ศิลปะในการชุบชีวิตหนังเงียบให้กลายเป็นที่นิยมอย่างน่าชื่นชม สามีภรรยาทั้ง ๒ นี้คือ รุจิรา - มาศรี อดีตดาราภาพยนตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของไทย หนังเงียบที่เคยมีแค่เสียงเปียโนประกอบสมัยโน้น ได้มีชีวิตขึ้นมาอีก ณ เวทีแห่งงานมหกรรม”
โอคแลนด์ ตรีบูรส์ กล่าวว่า
“คู่สามีภรรยาผู้ทำให้คนอเมริกันตื่นเต้นเหลือที่จะกล่าว ด้วยการแสดงรายการของเขาที่พูดแทนดาราหญิงอเมริกันในภาพยนตร์เรื่อง “My Parling Clementine” ทุกคนพากันฉงนและสนใจเมื่อ วอลเตอร์ เบรนแนน และ เฮนรี่ ฟอนดา พูดออกมาเป็นภาษาไทย อดีตที่เคยเห็นว่าพ้นสมัยได้กลับมาหาเราให้ตื่นเต้นด้วยวิธีการที่แปลก บรรดานักสร้างของฮอลลีวูดต่างพากันสนใจในรายการ รุจิรา – มารศรีอย่างมากมาย”
ส่วน ม.ล.รุจิราได้กล่าวว่า
“ผมไม่อาจจะลืมเหตุการณ์ในงานประกวดภาพยนตร์ครั้งนี้ได้เลยในชีวิต มีผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ทั่วโลกที่มาชุมนุมกันแน่นขนัด ปรบมือให้เป็นเวลานานเกือบ ๑๕ นาทีเมื่อผมโชว์การพากย์จบ ที่เขาปรบมือให้ ไม่ใช่ผมกับมารศรีเท่านั้น แต่เป็นการปรบมือให้คนไทยทั้งประเทศเลย”
การสร้างหนังไทยในระบบ ๑๖ มม.ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ซึ่งได้ไปสร้างความตื่นตะลึงให้วงการภาพยนตร์โลกนี้ แม้จะเป็นระบบที่ไม่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป หรือแม้แต่นักสร้างภาพยนตร์ของไทยเราเองในเวลาต่อมา แต่ก็นับว่าเป็นระบบที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งเราต้องฝืดเคืองขัดสน ไม่สามารถลงทุนสูงๆในด้านความบันเทิงได้ จึงคิดสร้างความบันเทิงในรูปแบบใหม่มาดูกัน การสร้างหนังในระบบ ๑๖ มม.จึงนับเป็นภูมิปัญญาของคนไทย และเป็นความสามารถของคนไทยโดยเฉพาะ ซึ่งวงการภาพยนตร์โลกก็ยอมรับว่าเป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของการสร้างภาพยนตร์