เล่าไปเดี๋ยวก็จะหาว่าโม้ ปัจจุบันการสร้างอาวุธป้องกันประเทศนั้น ไทยเราดูจะไม่มีน้ำยา ต้องซื้อเขาลูกเดียว แต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปืนใหญ่ของสยามมีอิทธิฤทธิ์ลือลั่น ขนาดพระมหาจักรพรรดิญี่ปุ่นยังให้ส่งพระราชสาส์นมาอ้อนวอนขอ และยอมรับว่าดินปืนของไทยเป็นดินปืนชนิดดีอย่างประหลาด
ประชุมพงศาวดารเรื่องทางพระราชไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่นกล่าวว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ โชกุนอิเย ยัสสุ ได้มีอักษรสาส์นมาถวายขอเปิดสัมพันธไมตรี พร้อมกับกล่าวตอนหนึ่งว่า
“...ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะใคร่ได้ไม้หอมและปืนใหญ่อย่างดีในประเทศอันรุ่งเรืองของพระองค์ ถ้าพระองค์จะทรงรับสั่งให้จัดหาและส่งไปยังประเทศญี่ปุ่นได้ก็จะเป็นพระคุณอันล้นพ้น”
สาส์นฉบับนี้ลงวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๑๔๙ ต่อมาในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๑๕๑ ก็ได้มีหนังสือลงนามโดย ฮอนดา มัสสึสุมิ มาถึงออกญาพระคลังในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมอีกว่า
“บัดนี้มีรับสั่งในพระเจ้ากรุงญี่ปุ่นให้แจ้งมายังท่านว่า พระองค์ต้องพระประสงค์จะได้ปืนใหญ่ในประเทศอันมีเกียรติของท่านอย่างที่สุด ถ้าท่านช่วยนำความขึ้นกราบทูลพระเจ้ากรุงสยามให้ทรงทราบพระประสงค์ และโปรดประทานสักสองสามกระบอกในปีหน้านี้แล้ว พระองค์จะทรงยินดีและนับว่าเป็นเอกลาภอย่างยิ่ง ทั้งดินปืนในประเทศของท่านก็เป็นดินปืนชนิดที่ดีอย่างประหลาด ย่อมเป็นที่ทราบอยู่ว่ามีประเพณีไทยห้ามไม่ให้บรรทุกดินปืนออกนอกประเทศ แต่เฉพาะรายนี้ถ้าไม่เป็นการขัดข้องที่จะพระราชทานแล้ว ขอได้โปรดส่งถวายโดยทางเรือพร้อมกับปืนนั้นด้วย นับแต่บัดนี้ข้าพเจ้าจะตั้งใจคอยรับคำตอบอย่างละเอียดจากท่าน”
หลังจากนั้น โชกุนอิเย ยัสสุ ดีใจมากเมื่อได้ทราบว่าพระเจ้ากรุงสยามจะพระราชทานปืนใหญ่และดินปืนให้ตามประสงค์ แต่คงเกรงว่าจะลืม เลยมีหนังสือมากราบทูลย้ำว่า
“...ในฤดูคิมหันต์ ข้าพเจ้าได้รับสาส์นของพระองค์ซึ่งประทานไปทางสำเภาพ่อค้า กระทำให้รู้สึกเบิกบานใจประดุจได้พบเห็นพระองค์ต่อหน้า ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ทราบจากในศุภอักษรของออกญาพระคลังว่า พระองค์จะทรงพระกรุณาประทานปืนใหญ่และดินปืนที่ข้าพเจ้าอยากจะได้ไปให้โดยทางเรือในปีหน้า ตามที่ฮอนดา มัสสึสุมิคนของข้าพเจ้ามีศุภอักษรบอกมายังออกญาพระคลังเมื่อปีกลายนั้น ของสองสิ่งที่พระองค์จะประทานนี้ เป็นของที่ต้องประสงค์ยิ่งกว่าผ้ายกลายทอง...”
ในรายการสิ่งของที่ญี่ปุ่นส่งมาเป็นบรรณาการให้ไทยพร้อมกับสาส์นนั้น นอกจากจะมีดาบญี่ปุ่นและเกราะแล้ว ยังมี “ปืนคาบศิลา”ส่งมาเป็นร้อยกระบอก ส่วนรายการที่ไทยส่งไปให้ญี่ปุ่นก็มี “ปืนยิงนก”รวมอยู่ด้วย ซึ่งไม่ทราบว่าปืนยิงนกนี้เป็นปืนประเภทไหน
นอกจากนี้ ครั้งสงครามไทย-พม่าใน พ.ศ.๒๑๒๑ ที่พระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตั้งค่ายล้อมกรุงศรีอยุธยา พงศาวดารยังกล่าวถึงฤทธิ์เดชของปืนใหญ่สยามที่ชื่อ “นารายณ์สังหาร” ซึ่งแรงกว่าที่พม่าคาดคิด พระเจ้ากรุงหงสาวดีเข้ามาตั้งค่ายหลวงที่ตำบลลุมพลี ซึ่งคิดว่าพ้นรัศมีปืนใหญ่จากป้อมรอบกรุงแล้ว แต่กลับถูกถล่มด้วยปืนนารายณ์สังหาร ช้างม้าไพร่พลล้มตายเป็นอันมาก “ผู้ชนะสิบทิศ” จึงต้องย้ายค่ายหลวงออกไปตั้งที่บ้านมหาพราหมณ์ ให้พ้นรัศมีปืนใหญ่ไทย และกองทัพพม่าต้องตั้งให้ห่างกรุงทั้งหมด
ปืนใหญ่โบราณเหล่านี้ หลังจากใช้ปกป้องประเทศมาแล้ว ปัจจุบันก็เป็นแค่ของประดับที่เพิ่มความสง่างามให้อาคารเท่านั้น และถูกรวบรวมมาไว้ที่หน้ากระทรวงกลาโหม เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่เปิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง ในการสำรวจเมื่อปี ๒๔๖๔ นั้น ปรากฏว่ามีอยู่ ๗๑ กระบอก แต่ตอนนี้เหลือเพียง ๔๐ กระบอก ส่วนอีก ๓๑ กระบอกที่ล่องหนไปนั้น บางส่วนก็ถูกนำไปประดับตามสถานที่ราชการ อย่างที่ทำเนียบรัฐบาลก็มีปืนใหญ่ในรายการที่หายไปนี้อยู่ที่หน้าตึกไทยคู่ฟ้าด้วย
ในจำนวนปืนใหญ่โบราณที่เหลืออยู่ในเวลานี้ “พญาตานี” ที่อยู่หน้ากระทรวงกลาโหม ถือว่าเป็นกระบอกใหญ่ที่สุด และยังมีประวัติสนุกที่สุดด้วย
ในพงศาวดารเมืองปัตตานีกล่าวว่า ผู้ที่บัญชาให้หล่อปืนนี้ขึ้นก็คือ นางพระยาปัตตานีศรีตวัน ซึ่งปกครองเมืองปัตตานีหลังจากที่สามีซึ่งเป็นเจ้าเมืองถึงแก่กรรม ได้ให้หล่อปืนใหญ่ทองเหลืองพร้อมกัน ๓ กระบอก ส่วนช่างที่หล่อนั้นเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน แซ่หลิม ชื่อเคียม อพยพมาอยู่ที่บ้านกะเสะ ได้ภรรยาเป็นอิสลามก็เลยเข้าศาสนาภรรยาด้วย เรียกกันว่า หลิมโต๊ะเคียม
เมื่อหลิมโต๊ะเคียมมาอยู่ปัตตานีและเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลามได้หลายปีแล้ว น้องสาวที่ชื่อ เก๊าเหนี่ยว รู้ข่าวก็มาตามพี่ชาย ขอให้เลิกนับถือศาสนาอิสลามกลับไปเมืองจีน แต่พี่ชายไม่ยอม เก๊าเหนี่ยวอ้อนวอนอยู่นานหลิมโต๊ะเคียมก็ไม่ยอมใจอ่อน เก๊าเหนี่ยวเลยเสียใจผูกคอตาย
นี่ก็เป็นตำนานของ “ศาลเจ้าลิ้มกอเหนี่ยว”ของเมืองปัตตานี
เมื่อนางพระยาปัตตานีศรีตวันประสงค์จะหล่อปืนใหญ่ขึ้น ๓ กระบอก หลิมโต๊ะเคียมมีฝีมือทางด้านนี้เลยรับอาสา การหล่อปืน ๒ กระบอกแรกสำเร็จไปด้วยดีไม่มีปัญหา แต่กระบอกที่ ๓ นั้นเททองสำริดลงไปอย่าง ๒กระบอกแรก กลับไม่ยอมลง แม้จะเซ่นบวงสรวงอย่างไรก็ไม่ลงอยู่ดี หลิมโต๊ะเคียมเกิดอารมณ์จึงกล่าวปฏิญาณว่าถ้าเทลงจะเอาชีวิตตัวเองเซ่นถวาย ปรากฏว่าเมื่อปฏิญาณไปแล้วกลับเทลงได้อย่างราบรื่น
หลังจากตกแต่งปืนทั้ง ๓ กระบอกเรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว หลิมโต๊ะเคียมก็ให้ทดลองยิง ซึ่ง ๒ กระบอกแรกเรียบร้อยดี ฉะนั้นพอจะยิงกระบอกที่ ๓ ซึ่งเป็นกระบอกเจ้าปัญหา หลิมโต๊ะเคียมได้เข้าไปยืนอยู่หน้ากระบอกปืนตามคำปฏิญาณ แล้วสั่งให้จุดชนวน พอเสียงปืนคำรามร่างของหลิมโต๊ะเคียมก็ลอยลิ่วตามแรงปืนหายไปในทะเล
นางพระยาปัตตานีศรีตวันได้ตั้งชื่อปืนใหญ่กระบอกแรกว่า นางปัตตานี กระบอกที่ ๒ ว่า ศรีนครี ส่วนกระบอกที่ ๓ ชื่อ มหาหล่าหลอ
ต่อมาในปี ๒๓๒๙ เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ ๑ ทรงยกทัพไปขับไล่พม่าที่ยกเข้ามาทางภาคใต้ในสงคราม ๙ ทัพ ทรงเห็นว่าหัวเมืองภาคใต้พากันตั้งตัวเป็นอิสระมาตั้งแต่เสียกรุงครั้งที่ ๒ จึงมีรับสั่งให้กลับมาอ่อนน้อมตามเดิม หลายเมืองยอมแต่โดยดี แต่เจ้าเมืองปัตตานีขัดขืน จึงทรงยกทัพไปปราบ แม่ทัพไทยได้นำปืนใหญ่ของเมืองปัตตานี ๒ กระบอกมาถวายขณะประทับอยู่ในเรือที่ปากอ่าวเมืองปัตตานี
หลังจากเคลื่อนย้ายนางปัตตานีลงเรือได้เรียบร้อยแล้ว ขณะกำลังขนปืนที่ชื่อศรีนครีออกจากฝั่ง ได้เกิดพายุพัดเรือที่ขนปืนล่มลง ปืนศรีนครีจมหายไป ส่วนกระบอกที่ ๓ มหาหล่าหลอ กล่าวกันว่าเกิดแตกขณะยิงกองทัพไทยครั้งนั้นเอง ได้แต่นางปัตตานีกระบอกเดียวมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
พงศาวดารรัชกาลที่ ๑ กล่าวว่า โปรดให้แก้ไขตกแต่งลวดลายท้ายสังข์เสียใหม่ และพระราชทานนามจารึกไว้ที่กระบอกปืนว่า “พญาตานี” พร้อมกันนั้น โปรดเกล้าฯให้หล่อปืนขึ้นอีกกระบอกหนึ่งคู่กับพญาตานี พระราชทานนามปืนที่หล่อใหม่นี้ว่า “นารายณ์สังหาร” เหมือนชื่อที่ใช้ถล่ม “ผู้ชนะสิบทิศ”ครั้งกรุงศรีอยุธยา
พญาตานี มีความยาว ๖.๘๒เมตร วัดเส้นผ่าศูนย์กลางกระบอกได้ ๒๔ เซนติเมตร และปากกระบอกลำกล้องหนา ๑๐ เซนติเมตร
ส่วนนารายณ์สังหาร ยาวเพียง ๓๖๐ เซนติเมตร แต่เส้นผ่าศูนย์กลางกระบอกกว้าง ๒๙.๕เซนติเมตร และความหนาของปากกระบอก ๑๖.๕ เซนติเมตร
นี่ก็เป็นเรื่องราวของปืนใหญ่โบราณที่ไทยเราเคยมีชื่อเสียง แต่ได้กลายเป็นตำนานความเก่งไป ไม่เหลือแม้ร่องรอยในปัจจุบัน