xs
xsm
sm
md
lg

ชื่อฝรั่งที่คนไทยเรียกให้สะดวกลิ้น! เจ้าของชื่อยังต้องจำว่านี่คือชื่อของไอเอง!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

เรือต่างประเทศเข้ามากในสมัย ร.๔
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา ชาวตะวันตกหลายชาติหลายภาษาได้กลับเข้ามาติดต่อค้าขายอีกกับเมืองไทยอีก หลังจากขาดหายความสัมพันธ์ไปกว่า ๑๕๐ ปีตั้งแต่สิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

การติดต่อกับชาวตะวันตกเหล่านี้ ภาษานับเป็นปัญหาสำคัญ แค่การเรียกชื่อก็เป็นเรื่องลำบาก เพราะสำเนียงฝรั่งกับสำเนียงไทยนั้นไกลกัน จะให้คนไทยยุคนั้นกระดกลิ้นไปตามฝรั่งเป็นเรื่องไม่ง่าย ยิ่งไทยเราถือคติ “ทำตามใจคือไทยแท้” ด้วยแล้ว จึงเรียกชื่อฝรั่งกันอย่างสะดวกลิ้น จนเจ้าของชื่อก็ไม่คุ้นหูว่าเป็นชื่อของตัวเอง แต่ก็ต้องจำไว้ว่า นี่แหละชื่อของไอที่คนไทยเขาเรียก อย่างเช่น

เซอร์เจมส์ บรูค ราชทูตอังกฤษที่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๓ เรียกกันว่า เยม สับรุก บางคนก็เรียกเป็น เยม สัปบุรุษ ไปเลย

ราชทูตอังกฤษอีกคน คือ จอห์น ครอฟอร์ด เป็น จอน การะฝัด

กัปตันเฮนรี่ บาร์นีย์ ผู้ถือหนังสือของ มาร์ควิส เฮสติ้ง ผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษเข้ามาในรัชกาลที่ ๓ เรียกกันว่า กะปิตันหันตรี บารนี ส่วนท่านผู้สำเร็จราชการนั้น เรียกกันว่า มารเกศ หัสตึ่ง

มิสเตอร์ริดซัน ผู้แทนบริษัทอิสต์อินเดีย ที่เข้ามาขอซื้อช้างในรัชกาลที่ ๓ เรียกกันว่า นายฤทธิ์ชอน

โรเบิร์ท ฮันเตอร์ พ่อค้าอังกฤษที่เข้ามาเปิดห้างเป็นแห่งแรกที่หน้าวัดประยุรวงศาวาส เป็น นายหันแตร

ส่วน เจมส์ เฮย์ พ่อค้าอีกคนก็เรียกยากนัก แต่ยิ้มเก่ง ก็เลยเรียกกันว่า เสมียนยิ้ม

มาดามแอนนา เลียวโนเวล ที่รัชกาลที่ ๔ ทรงจ้างมาสอนภาษาพระราชโอรสพระราชธิดา และเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มอื้อฉาว “แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม” เรียกกันว่า แมมเนวละเวน

หมอบรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกัน เป็น หมอปลัดเล

หมอชานเลอร์ มิชชันนารีอีกคน เป็น หมอจันทเล

หมอมัททูน มิชชันนารีที่เป็นกงสุลอเริกันคนแรกประจำประเทศสยาม เรียกกันว่า หมอมะตูน

เปรซิเดนท์ ยอร์ช วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา เรียก ปริไสเดนท์ ยอด วัดชิงตัน

ส่วนชื่อสถานที่และสิ่งของ ก็เรียกกันสนุกไป เช่น

ยูไนเตดสเตทอเมริกา ดูจะใกล้เคียงหน่อย เป็น ยูไนติสเตศอะเมริกา

แต่ อิงแลนด์ ไม่รู้ว่าเป็น วิลาศ ได้ยังไง

เบงกอล เป็น มังกล่า

ปาเล็มบัง เป็น กุดัง

สะมารัง เป็น สำปะหลัง

เฟิร์สคลาส เป็น เปิ๊ดสะก๊าด

เทเลกร๊าฟ เป็น ตะแล็บแก็บ

ฟอสฟอรัส เป็น ฝาศุภเรศ

พระราชสาร์นตราตั้ง ฝรั่งเรียก เครเดนเชี่ยน ไทยเราเรียก กระแดนแถน

อย่างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดอนญ่า กีมาร์ ท่านผู้หญิงของเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ ยังเป็น ทองกีบม้า ไปได้

ไม่แต่ไทยเรา คนจีนวันนี้ก็มีสำเนียงฝรั่งสนุกเหมือนกัน อย่าง
เวอร์ซาเช่ เป็น ฟ้านซือเจ๋อ

หลุยส์ วิตตอง เป็น ลูอี้เว่ยเติง

ลัมโบกินี เป็น หลานโป๋จีหนี

ส่วนฝรั่งนั้น ถ้าจะให้กระดกลิ้นตามสำเนียงไทย ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน มีเรื่องเล่ากันว่า ในยุคที่ฝรั่งเข้ามาเมืองไทยแรกๆ ได้ไปเดินชมตลาด และเกิดติดใจรสชาติของผลไม้ลูกดำๆที่วางขายในกระจาด จึงถามแม่ค้าว่าลูกอะไร แม่ค้าก็บอกให้ว่า

“มังคุด”

แต่ฝรั่งรู้จักแต่ “แมงโก” ที่มีอยู่มากในอินเดีย จึงคิดว่าเป็นมะม่วงพันธุ์หนึ่ง จึงถามย้ำว่า

“แมงโก?”

“ม่ายช่าย...มังคุด” แม่ค้าพยายามย้ำให้ชัดๆ

“แมงโก?”

ฝรั่งก็ย้ำแต่แมงโก ๆ ๆ จนแม่ค้าอารมณ์เสีย เลยตวาดไปอย่างหงุดหงิดว่า

“เออ แมงโกส้นตีน”

เท่านั้นเองฝรั่งก็ถึงบางอ้อ ยิ้มอย่างเข้าใจและร้องว่า

“โอ แมงโกสตีน”

จากนั้นเป็นต้นมา ก็เป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่ฝรั่งว่า ไอ้ลูกดำๆที่รสชาติชื่นใจนั้น เขาเรียกกันว่า Mangosteen เรื่องนี้จะเป็นตำนานของชื่อมังคุด หรือเป็นเพียงมุก ก็เชิญพิจารณากันตามอัธยาศัย
กำลังโหลดความคิดเห็น