xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ! อาณาจักรโรมันกับไทยไปมาถึงกันเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีก่อน! ตะเกียงดวงนี้ที่เมืองกาญจน์ยืนยัน!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ตะเกียงโรมันที่พงตึก
หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๗๐ พาดหัวว่า

“ชาวนาราชบุรีขุดพบโครงกระดูกใหญ่
ท่ามกลางพระพุทธรูปเงินและทอง”

ที่บอกว่า “ชาวนาราชบุรี” ก็เพราะตอนนั้นพงตึกยังขึ้นกับเมืองราชบุรีไม่ใช่กาญจนบุรีเหมือนขณะนี้

ตามข่าวกล่าวว่า ชาวนาไถนาไปพบหลุมเล็กๆ มีพระพุทธรูปทำด้วยทอง เงิน และทองเหลืองฝังอยู่ ใกล้ๆกันยังพบโครงกระดูกมนุษย์ ๑ โครง ซึ่งใหญ่กว่ามนุษย์ธรรมดาเกือบ ๒ เท่า หัวกระโลกกว้างเกือบ ๑ ฟุต ประชาชนทราบเรื่องต่างพากันขุดหาสมบัติ และทุบโครงกระดูกแบ่งกันไปคนละชิ้น ถือเป็นเครื่องลาง

ราชบัณฑิตยสถานไม่เชื่อข่าวนี้นัก แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีรับสั่งให้ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เลขานุการฝ่ายต่างประเทศของราชบัณฑิตยสภา ไปตรวจสอบ พบว่าเรื่องราวที่ นสพ.เดลิเมล์ลงไปนั้นเป็นเรื่องจริง และผู้ใหญ่บ้านยังบอกว่าครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เมื่อ ๓๐ ปีก่อนที่มีการสร้างศาลเจ้า ชาวจีนคนหนึ่งขุดพบพระพุทธรูปสำริด ๒ องค์ ต่อมาก็ร่ำรวยมั่งคั่ง และได้หอบสมบัติกลับไปเมืองจีนแล้วพร้อมกับพระพุทธรูปที่นำโชคดีมาให้ ผู้ใหญ่บ้านเองก็พบพระพุทธรูปสัมฤทธิ์องค์เล็กที่ริมตลิ่งน้ำเซาะ และนำมาอวดศาสตราจารย์เซเดส์ ปรากฏว่าเป็นพระพุทธรูปแบบยุคก่อนที่ขอมเรืองอำนาจเสียอีก และยังขุดได้ถ้วยดินเผาต่างๆด้วย
ศาสตราจารย์เซเดส์ไปตรวจดูบริเวณสวนกล้วยที่ชาวบ้านขุดหาของโบราณกัน ปรากฏว่าถูกขุดจนเละ แผ่นอิฐและศิลาแลงแตกกระจาย จากนั้นไปบ้านผู้ที่ได้พระพุทธรูปสัมฤทธิ์พร้อมวัตถุโบราณหลายชิ้น และขอดูตะเกียงโบราณที่ได้ข่าวว่าผู้นั้นครอบครองไว้ พอเห็นศาสตราจารย์เซเดส์ก็รู้ทันทีว่าเป็นตะเกียงน้ำมันแบบกรีก-โรมัน แต่ด้ามหายไป ศาสตราจารย์เซเดส์ได้ด้ามมาก่อนแล้วจากชาวบ้านคนหนึ่ง พอเอาออกมาต่อก็เข้ากันได้พอดี

ศาสตราจารย์เซเดส์รู้ว่าตะเกียงนี้เป็นของมีค่ามากสำหรับการศึกษายุคก่อนประวัติศาสตร์ หลังจากเจรจาอยู่นานและยอมจ่ายเงินให้ จึงได้ตะเกียงโรมันมา ทำให้ราชบัณฑิตยสภาตกลงที่จะสำรวจพงตึกต่อไป จนได้พบวัตถุโบราณและโครงสร้างของอาคารหลายแห่งซึ่งเป็นศาสนสถาน ฝังดอกบัว เต่า ดอกไม้ เป็นแผ่นทอง พร้อมด้วยตลับทองบรรจุหินมีค่าไว้ใต้ฐาน และยังเคยพบพลอยเม็ดหนึ่งในสวนกล้วย ซึ่งคนจีนเจ้าของสวนเก็บรักษาไว้

ผู้ครอบครองโบราณวัตถุทั้งหลายต่างนำมาถวายให้เข้าพิพิธภัณฑ์เกือบทั้งหมด แต่พลอยที่พบในสวนกล้วยเจ้าของไม่ยอมให้ แม้ผู้ตามเสด็จขอแลกด้วยแหวนเพชร ๗ กะรัตก็ไม่ยอม กรมพระยาดำรงฯก็ไม่ยึดคืน รับสั่งว่าพิพิธภัณฑ์ไม่ได้รวบรวมเพชรพลอย

สำหรับตะเกียงโรมันนั้น ศาสตราจารย์เซเดส์กล่าวว่า เป็นตะเกียงน้ำมันหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ คล้ายกับบรรดาตะเกียงที่ขุดได้จากเมืองปอมเปอี มีรูปเป็นตะเกียงแบบกรีก -โรมัน มีจงอยสำหรับจุดไส้ ช่องกลมข้างบนเป็นที่ใส่น้ำมัน และด้ามสำหรับใช้แขวนด้วยโซ่เล็กๆ หรือจะตั้งบนสามขาเตี้ยๆ หรือบนเชิงเทียนแบบสูงก็ได้ ซึ่งตะเกียงพบที่พงตึกนี้น่าจะเป็นแบบหลัง เพราะมีรูเจาะอยู่ข้างใต้
รายละเอียดของเครื่องตกแต่ง ด้ามทำเป็นรูปลายใบปาล์มอยู่ระหว่างปลาโลมา ๒ ตัว ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นลายของกรีก -โรมัน ปลาโลมาเป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่อยู่ริมทะเล และเป็นพาหนะที่นำผู้ตายซึ่งพระเจ้าได้ประทานความเป็นอมตะให้ไปยังหมู่เกาะที่มีโชคหรือเกาะพรสวรรค์ ดังนั้นตะเกียงที่พงตึกอาจจะเป็นตะเกียงที่ใช้สำหรับงานศพก็ได้ นิยมใช้แขวนหลุมศพกันทั้งในประเทศกรีกและกรุงโรม
ต่อมาศาสตราจารย์ชาร์ลส์ ปิการ์ด ได้เขียนบทความเรื่อง “La LampeAlexandrine de P’ong Tuk” (Siam)ให้ความเห็นว่า ตะเกียงที่พงตึกนี้เป็นแบบที่ทำขึ้น ณ เมืองอเล็กซานเดรียในประเทศอียิปต์ สมัยปโตเลมี หรือในสมัยที่กรีกเข้าปกครองอียิปต์ตั้งแต่ พ.ศ.๒๒๐-๕๑๓ ซึ่งเป็นเวลาก่อนคริสตกาล และว่าคงไม่ใช่แบบที่ใช้แขวนในงานศพ เพราะแบบนั้นคงไม่เป็นสินค้าออกจนมาถึงประเทศไทย ศาสตราจารย์ชาร์ลส์ว่า สมัยปโตเลมีมีการค้าขายอย่างกว้างขวางจนถึงอาฟฆานิสถานและแหลมอินโดจีน มีเมืองอเล็กซานเดรียเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ตะเกียงนี้คงมาจากเมืองอเล็กซานเดรียในสมัยปโตเลมีนั่นเอง

นอกจากนี้ศาสตราจารย์เซเดส์ยังกล่าวอีกว่า

“...ขณะเดียวกันพระพักตร์ของพระพุทธรูปที่พงตึกนี้มีลักษณะแปลกประหลาด มีพระนาสิกแหลม ซึ่งข้าพเจ้าจะกล่าวไว้ว่าเป็นจมูกของกรีก เปรียบเทียบบรรดาพระพุทธรูปแบบทวาวดีที่ได้กล่าวมาแล้ว โดยท่าทางที่แข็งกระด้าง และจีวรที่ทำตามแบบกับท่าทางเคลื่อนไหวที่อ่อนนุ่ม และจีวรเป็นริ้วของพระพุทธรูปที่ค้นพบที่พงตึกนี้แล้ว เราก็ต้องยอมรับว่า พระพุทธรูปที่พงตึกนี้ใกล้กับประติมากรรมแบบกรีกรุ่นหลังมากกว่า...”

การเดินทางสมัยนั้น จากยุโรปมาอินเดียและต่อไปจีน นักเดินทางพยายามจะไม่อ้อมแหลมมลายูให้เสียเวลา พวกพ่อค้าจะใช้เดินทางบกข้ามแหลมมลายูตรงช่วงแคบๆ แม้ว่าพงตึกจะอยู่เหนือช่วงที่แคบขึ้นมามาก แต่ก็มีอีกเส้นทางหนึ่งที่ใช้กัน คือขึ้นบกที่ภาคใต้ของพม่าแล้วเดินผ่านช่องเขาที่ต่อมาเรียกกันว่าด่านเจดีย์สามองค์ มีจดหมายเหตุของราชวงศ์ฮั่นกล่าวไว้ว่า ใน พ.ศ.๖๖๓ มีพวกนักดนตรี นักกายกรรม และพวกจำอวดของกรีกหรือโรมัน เดินทางจากพม่าไปจีน แทนที่พวกนี้จะอ้อมแหลมมลายู เขาจะเดินทางบกเข้ามายังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ และเดินทางเรือตามลำแม่น้ำแม่กลองออกอ่าวไทย ไปต่อสำเภาอีกทอดจนถึงประเทศจีน

พงตึกอยู่ในชัยภูมิที่เป็นจุดศูนย์กลางของเมืองสำคัญในย่านนี้ คืออยู่ระหว่างนครปฐมกับเมืองสิงห์ที่กาญจนบุรี อยู่ระหว่างนครปฐมกับราชบุรี และอยู่ระหว่างกาญจนบุรีกับราชบุรีในระยะเดินทางเพียงวันเดียว เช่นเดียวกับบ้านโป่งมีความสำคัญอยู่ในปัจจุบัน พงตึกจึงเป็นแหล่งพักของคนเดินทางและเป็นท่าเรือของแม่น้ำแม่กลองที่จะออกไปต่อสำเภา

โลกในยุคโบราณแม้จะกว้าง แต่ก็ไม่กว้างเกินไปกว่าความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ ที่จะเดินทางไปให้สุดขอบฟ้า แม้จะเสี่ยงต่อการตกจากโลก แต่นักเดินทางผู้กล้าหาญเหล่านั้นก็ยอมเสี่ยงที่จะไปให้สุดทางฝัน
ป้ายของกรมศิลปากรที่พงตึก อำเภอท่ามะกา กาญจนบุรี
หินเจาะรูที่พงตึก สันนิษฐานว่าใช้เป็นสมอเรือยุคโบราณ
ร่องรอยโบราณสถานที่พงตึก
กำลังโหลดความคิดเห็น