“นายช่างปราโมทย์” หรือ “อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด” อดีตอธิบดีกรมชลประทาน อดีตนักเรียนทุนมูลนิธิอานันทมหิดลที่มาจากลูกชาวสวนชาวไร่ ก่อนจะศึกษาร่ำเรียนจนเชี่ยวชาญในศาสตร์ชลประทานและเข้ารับราชการจนได้ประจักษ์ชัดถึงการทรงงานที่หนักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 มาโดยตลอด กระทั่งซึมซับเป็นแรงบันดาลใจยิ่งใหญ่ในการดำเนินชีวิตและการเป็นข้าราชการ
ในวันนี้... วันที่ “พ่อหลวง” ของปวงชนชาวไทยเสด็จสู่สวรรคาลัย อาจารย์ปราโมท ไม้กลัด คือหนึ่งในบุคคลต้นทางที่ถ่ายทอดให้เรารับรู้และคงอยู่ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท...
จากลูกชาวสวน สู่นายช่างกรมชลฯ
ปฐมบทชีวิต ‘ฉันเกิดในรัชกาลที่ 9’
“ไม่มีใครที่จะมาแทนพระองค์ท่านได้อีกแล้ว ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผมได้ทำงานแบบใกล้ชิด และทั้งก่อนหน้านั้น พระองค์ไม่ทรงเคยละทิ้งประชาชน ซึ่งนับเป็นมงคลสูงสุดในชีวิต”
อดีตนายช่างใหญ่ผู้ทำงานสนองพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทางด้านชลประทาน โดยไม่คิดจะหันหลังจากความเหนื่อยยากลำบาก เริ่มต้นเล่าถึงความรู้สึกที่มีต่อพระองค์ตลอดระยะเวลาในวันวัยกว่า 77 ปี ณ ขณะนี้
“หนึ่งคือเป็นความภาคภูมิใจ ผมเป็นลูกชาวไร่ชาวสวนธรรมดา เรียนหนังสือตามลำดับขั้น ประถม มัธยม และระดับอุดมศึกษา แต่มีโอกาสได้รับทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ได้ไปศึกษาต่อเมืองนอก ได้เรียนรู้และเห็นโลกที่กว้าง โดยที่ไม่มีสัญญาผูกมัดใดๆ เป็นลายลักษณ์อักษรทั้งสิ้นว่าจะต้องกลับมาทำประโยชน์
“มีเพียงสัญญาใจต่อกันเท่านั้น เราก็ไม่คาดคิดว่าเราจะได้รับโอกาสตรงนี้”
อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด เป็นบุตรของครอบครัวชาวสวน จึงทำให้ได้คลุกคลีอยู่กับเรื่องแหล่งน้ำมาตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อบวกรวมกับความสนใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ ในชั้นระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ ก็วางแผนคิดมุ่งศึกษาต่อทางด้านงานวิศวกรรม
“เหตุที่เลือกเรียนสายวิศวกรรมชลประทาน ก็เพราะความถนัดส่วนตัว เราอยู่กับดินกับน้ำนี้ก็ส่วนหนึ่ง สอง เราชอบเรียนวิทยาศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ เราถนัดทางด้านนี้พอดี ระหว่างที่เรียนชั้นมัธยมก็เลยคิดวางแผนศึกษาว่าในระดับอุดมศึกษาเราจะเรียนต่อทางด้านไหน เนื่องจากสายแขนงนี้มีแตกแยกออกไปหลากหลาย
“ก็ศึกษาจนค้นพบว่าเป็นวิศวกรรมชลประทานที่เราอยากเรียน เพราะสมัยนั้นการสร้างตึกสร้างอะไรก็มีกันเยอะแยะแล้ว แต่ในเรื่องของการชลประทานบ้านเรายังมีความรู้ทางด้านนี้น้อย พ.ศ.2501-2503 มีเขื่อนเจ้าพระยา มีเขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดยักษ์แห่งแรกของประเทศไทยที่กำลังจะสร้างขึ้นเท่านั้น นั่นก็เลยทำให้มุ่งมาทางสายนี้”
เมื่อคิดได้ดังนั้น หมุดหมายเส้นทางอาชีพสายวิศวกรรม จึงตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยที่โดดเด่นที่สุดในขณะนั้นให้ได้ แต่ทว่าเหมือนโชคชะตาขีดเส้นกำหนดไว้ให้เป็นนายช่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงเป็นปลายทางด้านการศึกษาในที่สุด
“วิศวกรรมศาสตร์ เด่นๆ ก็คือจุฬาฯ มีที่เดียวในประเทศไทยสมัยนั้น เราก็ตั้งใจว่าจะเข้าให้ได้ แต่พอมาถึงใกล้ๆ จบ เพิ่งจะรู้ว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เขามีคณะวิศวกรรมเหมือนกัน ด้วยอายุในตอนนั้น 18-19 ปี ก็เลยสมัครเข้าไปสองที่เลย อันไหนประกาศก่อนก็เอาอันนั้น ทีนี้ที่เกษตรฯ ประกาศผลก่อน ก็เลยเรียนที่นั่น เพราะพอประกาศผลแล้วต้องลงทะเบียน เราลูกชาวสวนชาวนา สตางค์ก็ไม่ค่อยมี เงินลงทะเบียนไปแล้ว เสียไปแล้ว เรียนได้สองอาทิตย์ จุฬาฯ ประกาศผล สรุปว่าเราก็สอบติด ได้กรุ๊ปเอ ลำดับที่ 30 ใน 300 คนที่รับ
“ทำอย่างไรดี (ยิ้ม) ก็คิดไปคิดมา พรรคพวกที่เรียนอยู่ก็สละสิทธิ์ไปเข้าโน่นเยอะแยะ ไอ้เราจะตามไปกับเขาดีหรือเปล่า คือเงิน 610 บาท หอพักอะไรเสียไปแล้ว 1 ปี ถ้าสละสิทธิ์ 610 บาท สมันนั้นก็เยอะนะ ก็เลยตัดสินใจเรียนต่อ ไม่ย้าย โดยบอกกับตัวเองว่า ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ถ้าเราจัดการตัวเองได้ดี เหมาะสม ก็ใช้ได้ทั้งนั้น”
ซึ่งก็นับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะหลังจากจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีช่างชลประทานบัณฑิต คณะวิศวกรรมชลประทาน ม.เกษตรศาสตร์ “ปราโมทย์” คือหนึ่งในนิสิตที่ได้ผลการเรียนเกียรตินิยมและได้รับการทาบทามดึงตัวไปร่วมงานทันทีที่กรมชลประทาน เขตบางเขน เยื้องๆ มหาวิทยาลัย
“ตอนนั้นทุกคนจบมหาวิทยาลัยต้องทำราชการหมดเลย เราก็เป็นหนึ่งในนั้น ทำราชการ จบปุ๊บ เรียน 5 ปี ทำราชการก็ได้เงินเดือนมากกว่า จบจุฬาฯ 4 ปี เพราะเรียนมามากกว่า ที่แรกที่ทำก็กรมชลประทาน เขามาเอาตัวเราไปทันที แล้วก็ส่งไปทำงานสร้าง ไปเป็นนายช่างต่างจังหวัดอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี ที่เขื่อนแก่งกระจาน
“ก็เป็นนายช่างบ้านนอก พูดกันง่ายๆ น่ะนะ”
นายช่างใหญ่เล่าถึงวันวานอย่างอารมณ์ดีและเปี่ยมความภาคภูมิ นั่นเพราะประสบการณ์ในครั้งนั้นมีส่วนที่บ่มเพาะเด็กจบใหม่วัยรุ่นอายุ 23 ย่าง 24 ปี ให้เกิดรู้ถึงประโยชน์การทำงานที่แท้จริง
“คือเราได้ทำงานสมศักดิ์ศรี ไม่ใช่ได้เงินนะ เราได้ใช้วิชาความรู้อย่างเต็มที่ อยู่ที่นั่นประมาณ 6-7 เดือน เพื่อนอยู่กรุงเทพฯ ก็วิทยุไปว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ท่านอธิการบดีให้เรียกตัวกลับกรุงเทพฯ หน่อย เพื่อนไม่ได้บอกรายละเอียด เพราะใบวิทยุมันเหมือนใบโทรเลขเมื่อก่อน
“เราก็ไม่รู้ว่าเรียกตัวเรามาเพราะอะไร แต่ก็คงจะไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร เราก็เดินทางกลับมาเข้าพบ ไปพบท่าน ท่านก็บอกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โปรดให้หาคนไปทูลเรื่องทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เพื่อศึกษาต่อทางด้านกรมชลประทาน
“เราก็โอ้...ตอนนั้นตื่นเต้นมาก ดีใจจนบอกไม่ถูก ที่ผู้หลักผู้ใหญ่พิจารณาตรวจสอบเรื่องคะแนน การเรียน การศึกษา ตรวจสอบเรื่องความประพฤติลูกเต้าเหล่าใครแล้วคัดเลือกเรา แต่ทีนี้เขามีให้สอบ สอบภาษาอังกฤษ เราก็ไม่รู้ตัว เอ้า สอบก็สอบ ไอ้เราก็ไปเป็นนายช่างบ้านนอก ภาษาอังกฤษมันก็ทิ้งไปหมด ไม่ได้สนใจ ปรากฏว่าครั้งแรกก็ไม่ผ่าน
“ก็ต้องกลับมาฟิต พอมีโอกาสแล้วเราไม่สามารถทำให้เป็นที่พอใจได้ ต่อไปจะทำอะไรกิน ก็ไปสมัครเข้าสถาบันภาษา AUA หลักสูตรระยะสั้น 6 เดือน ติวกับแหม่มทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 30 บาท เสียรวบยอดต่อเดือน จำได้เลย เบ็ดเสร็จเรียนไป 4-5 เดือน เงินเดือน 1,200 บาท ก็เกลี้ยงหมด ไหนจะค่ากินค่าอยู่”
นับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2506 เดือนพฤศจิกายน กระทั่งถึงเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.2507 จึงสอบผ่าน ได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวิศวกรรมชลประทาน ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย อเมริกา
“ตัวนี่ลอยเลยในตอนนั้นที่รู้ว่าสอบผ่านได้รับทุน แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือกระบวนการเข้าเฝ้า ก่อนหน้านั้น เราเคยได้มีโอกาสใกล้ชิดพระองค์ท่านเพียงแค่ตอนรับพระราชทานปริญญาบัตรเท่านั้น แต่ครั้งนี้ เราได้เข้าเฝ้าแทบพระบาทพระองค์ท่านตัวต่อตัว ความรู้สึกตอนนั้นยิ่งกว่าอะไรทั้งปวง เป็นนาทีที่สำคัญในชีวิต มีความภาคภูมิใจผสมๆ กัน
“คำแรกๆ ที่พระองค์ท่านตรัส จำได้ไม่ลืม “นายปราโมทย์ ไม้กลัด ได้ผ่านการคัดเลือกมาแล้ว” (ยิ้ม) แล้วพระองค์ก็ตรัสรับสั่งทั่วๆ ไป แต่ที่เน้นย้ำคือ ไปเรียน ไปศึกษา ไปค้นคว้า หาประสบการณ์สิ่งใหม่ๆ เมืองนอกเขาทำชลประทานกันอย่างไร เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ แบบนี้ ไปหาประสบการณ์ ไม่ใช่ไปเรียนอย่างเดียวในห้อง ศึกษาให้หมดว่าอะไรเป็นอะไร
“เราก็ไปเรียนสองปี จบแล้วก็ไปสมัครทำงานกึ่งฝึกงานในหน่วยงานของอเมริกาทางด้านต่างๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวกับชลประทาน เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ ตั้งแต่เหนือรัฐวอชิงตัน จรดรัฐแอริโซนาภาคใต้ในแถบซีกตะวันตก”
เพื่อนำกลับมาพัฒนาตามคำตรัส เพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นอย่างหาที่สุดไม่ได้ และที่สำคัญคือการเป็น “ข้าราชการ” ที่ดีตามแบบอย่างพระองค์ท่านที่ทรงแสวงหาวิธีบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ประชาชนในทุกๆ เวลานาที
“คือเราเห็นพระจริยวัตรของพระองค์ท่านตลอดที่ทรงงานเพื่อประชาชนชาวไทยอย่างพวกเรา แล้วในเมื่อเรามีโอกาส เราก็ควรจะต้องทำให้ดี ทุ่มเทให้เต็มที่ ฝึกที่เดียวไม่พอ เพราะสภาพบ้านเรามีหลายภูมิประเทศ เราเลยต้องลองหมด และมันยังมีความต่างกันของสภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคมอีก เราก็ต้องไปเรียนรู้ เป็นองค์ความรู้ นอกเหนือจากที่เราเรียน เพื่อกลับมาสร้างประโยชน์ให้เกิดต่อสังคม
“และก็จริงดั่งที่คิด หลังจากกลับมาเข้าเฝ้า พระองค์ท่านก็ตรัสรับสั่งว่า “ไปร่ำเรียนมาก็ทำประโยชน์ให้สังคม บ้านเมือง ทุนของฉันไม่ใช่ทุนรัฐบาล ไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะต้องมาทำงานชดใช้ ขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่อยากจะขอฝากให้มาทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม” พูดกันง่ายๆ สัญญาใจมากกว่า ได้ยินพระราชดำรัสอย่างนั้น ในฐานะข้าราชการอยู่เดิมชลประทาน ก็ตั้งใจว่าจะต้องทำราชการอย่างเดียว ทำในเรื่องนี้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ยึดนำมาเป็นแบบอย่างชีวิต โดยไม่คิดจะหันหลังให้ข้าราชการเลยตั้งแต่อายุ 26-27 ปี จนถึงเกษียณ
“เพราะผมมีวันนี้ ก็เพราะพระองค์ท่านให้โอกาส พื้นฐานก็ไปเรียนทางด้านนี้ทุนก็ของท่าน งานก็ของท่าน ไม่เช่นนั้นผมก็เป็นแค่นายปราโมทย์ ไม้กลัด ธรรมดา ฉะนั้นจะไม่อุทิศตัวตลอดชีวิตของการทำงานได้อย่างไร”
พระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม
จักขอเป็น ‘ข้าราชการ’ ข้าของประชาชนตลอดไป
• หลังจากนั้น มาเริ่มทำงานสนองพระบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้อย่างไรครับ
หลังจากกลับมาทำงานที่กรมชลเหมือนเดิมประมาณ 9-10 ปี เพราะขยับเป็นนักวิชาการ ไม่ใช่ก่อสร้างแล้ว ทำงานอยู่ที่ส่วนกลาง สังกัดกองวิชาการ ผู้หลักผู้ใหญ่ผู้บังคับบัญชาก็มอบหมายงานเยอะแยะ จนกระทั่งอธิบดีสมัยนั้นนำตัวเราไปอยู่ในทีมงานตามเสด็จ เพราะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชท่านทรงงานหนักมากขึ้นตามลำดับ ผมจึงมีโอกาสเข้าไปร่วมในทีมงานเทคนิค ไปตามหลังผู้ใหญ่ มีหน้าที่รับฟังเรื่องราวที่พระองค์ท่านรับสั่งว่าจุดนั้นจุดนี้จะทำอะไรอย่างไร เป็นภาพกว้างๆ ในขณะที่ทรงงาน ซึ่งผมก็จะมีหน้าที่รับฟังจดบันทึกเสร็จแล้วก็กลับมาวางแผนทำรายงานให้สัมฤทธิผล เพื่อให้ท่านอธิบดีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
• แรกเริ่มทำงานเป็นอย่างไรบ้างครับ
ตอนแรกๆ ก็ยังไม่ได้ทำเต็มที่ มีออกไปทำหน้าที่เป็นครั้งคราวที่ภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคเหนือ เพราะงานหลักที่กรมชลประทานกรุงเทพฯ ก็ยังต้องเป็นหัวหน้าดูแลควบคุมเขื่อนต่างๆ มีงานตามแผนพัฒนา เราก็ต้องบัญชาการจัดการในส่วนนั้น จนกระทั่งเข้าปีที่ 6 ช่วงปี พ.ศ.2527 ผู้ใหญ่ที่ดูแลด้านนี้โดยตรงก็ขยับขยายตำแหน่งหน้าที่ อธิบดีกรมชลประธานสมัยนั้นก็แต่งตั้งให้ผมขึ้นเป็นหัวหน้าชุดตัวแทนกรมชลประทานที่จะรับงานทุกอย่างเบ็ดเสร็จเต็มรูปแบบในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ท่านก็ทรงคุ้นเคย เห็น เพ่งมองอยู่แล้ว
• หลังจากขยับขึ้นมารับผิดชอบทางด้านนี้อย่างเต็มที่หน้าที่หลักๆ ทำเกี่ยวกับอะไรบ้างครับ
บทบาทของเราก็ต้องรับผิดชอบทุกเรื่องของพระองค์ท่าน คำว่า “ทุกเรื่อง” หมายความว่า เรื่องเทคนิค เรื่องการจัดการอะไรต่างๆ ต้องบริหารจัดการในนามชลประทาน คือพระองค์ท่านมักมีพระราชประสงค์ว่าจะเสด็จไปจุดนั้นจุดนี้ ผมก็ต้องรับมือ ทั้งแบบหมายกำหนดการและฉุกเฉิน ซึ่งหลังจากไปแล้ว พอพระองค์ท่านรับสั่งมาแล้วจะทำงานออกมาเป็นอย่างไร ทุกครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ จะต้องมีรายงานผลิตออกมาให้พระองค์ท่านดู
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมัยนั้น ถึงแม้พระองค์ท่านจะไม่ได้ทรงเรียนทางด้านวิศวกรรมชลประทานอย่างลึกซึ้งก็จริง แต่พระองค์ทรงศึกษาเรื่องอุทกวิทยา ชลศาสตร์ การแปรแผนที่ออกมาเป็นข้อมูลทางด้านน้ำ พระองค์ท่านก็ทรงศึกษาวิเคราะห์เรื่องราวอะไรต่างๆ ทรงรู้กระจ่างต่างๆ ชัดเจนแล้ว พูดง่ายๆ คือทรงเก่งแล้ว ทรงเป็นผู้นำที่จะคิดอย่างนี้ๆ ผมเองอยู่ในฐานะที่เป็นนักวิชาการด้านนี้ ก็แค่คอยที่จะสนองพระราชดำริพระองค์ท่านที่ท่านรับสั่งควรจะอย่างไรๆ ทำอย่างไร ก็รับมาในนามของกรมชลประทาน แล้วก็นำมาขับเคลื่อนให้เกิดสิ่งก่อสร้าง เกิดอะไรให้เป็นรูปธรรม
หรือบางอย่างที่ควรจะต้องเพิ่มเติมเสริม ก็กราบบังคมทูลเสนอแนะ พระองค์ท่านทรงถามความเห็นก็ทูลเกล้าฯ ซึ่งพระองค์ท่านก็ทรงรับฟัง ไม่ใช่ “พระพุทธเจ้าข้า” อย่างเดียว เราต้องศึกษาวิเคราะห์ว่าที่พระองค์ท่านรับสั่ง เราจะไปตามต่อยอด สนองพระองค์ท่านอย่างไร เราก็ต้องมีหน้าที่ที่จะรับงานไปจัดการ ฉะนั้น เราก็ต้องมีความชัดเจนในการทำงาน
• จากตอนแรกที่ไม่คาดคิดว่าจะมีโอกาสรับใช้พระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด จนถึง ณ ขณะนั้นที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานเพื่อสังคมส่วนตัวรู้สึกอย่างไรบ้างครับ
เช่นเดียวกับชีวิตที่มาถึงตรงนี้ คือความภูมิใจมันเกิดขึ้นเป็นลำดับขั้นตอน ทำงานแล้วไม่มีความรู้สึกว่าเหนื่อยเลย ตรงกันข้ามตื่นเต้นตลอดเวลา เพราะเราต้องจัดการตัวเอง พิจารณาตัวเอง ทำให้เป็นบทเรียนเราด้วย พัฒนาตัวเอง เป็นผู้รู้ รู้ในเรื่องราวเทคนิครู้ในเรื่องราวของการปฏิบัติการจัดการ ขับเคลื่อน แม้บางครั้งจะเคร่งเครียด ก็เคร่งเครียดปนสนุก 6-7 เดือน พระองค์ท่านทรงพาลุยป่าไปโน่นนี่ อีก 5 เดือนกลับมาประทับกรุงเทพฯ ก็จริง แต่ก็ทรงงานตามปริมณฑลตลอด ไปจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี เพชรบุรี ไม่ได้หยุดพัก แต่พระองค์ท่านไม่เคยเอาอุปสรรค เอาความยากลำบากที่พบเจอมาเป็นพระอารมณ์ ท่านมีวิธีผ่อนคลายเครียดด้วยการถ่ายรูป แล้วก็เรียกพวกเรานายช่างมา ให้ทหารเอาปืนมาไขว้กล้องวางพาดถ่าย
• ในฐานะที่ถวายงานการรับใช้อย่างใกล้ชิด พระองค์ท่านทรงห่วงความทุกข์ยากของประชาชนทางด้านไหนมากที่สุด
ทุกเรื่อง และทุกพื้นที่ พระองค์ทรงมีความมุ่งมั่นตั้งพระราชหฤทัยในการขจัดความทุกข์ยากของผู้คน ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม และเมื่อใดที่พระองค์ท่านทรงรับรู้ความทุกข์ยาก โดยอย่างยิ่งเรื่องปากท้อง จะทรงเป็นห่วงเป็นใย ครุ่นคิดหาวิธีแก้ไขให้สำเร็จอย่างไม่ย่อท้อ และมักจะเดินทางออกไปดูความลำบากด้วยตัวพระองค์เอง
• นั่นจึงก่อให้เกิดความผูกพันในการทำงานทางด้านนี้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง
ครับ…พูดง่ายๆ ผมโตขึ้นเรื่อยๆ ไปๆ มาๆ เราก็ตื่นเต้น เราจะจัดการอย่างไร มันก็สร้างความรู้สึก ความคิดพัฒนา เราได้เรียนเพิ่มเป็นขั้นๆ ตลอดชีวิต จนกระทั่งผมเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ขั้นอธิบดี แล้วก็เกิดความผูกพันกับพระองค์ ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงช่วยเหลือพสกนิกรของท่านโดยไม่เลือกสถานะ ไม่เคยทรงบ่นถึงความยากลำบาก เราก็มีความภาคภูมิใจ เรามีความสามารถพอที่ทำให้พระประสงค์ของพระองค์ท่านลุล่วง ผลงานหลักๆ ที่ขับเคลื่อนก็คือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล ทุกอย่างที่เราพอทำประโยชน์ต่อบ้านเมือง ประเทศชาติและแผ่นดินได้ ก็ดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาท
ขอเป็นข้ารองพระบาท ‘พ่อหลวง’ ทุกชาติไป
“ไม่มีใครเทียบเท่าพระองค์ท่านได้ ซึ่งถึงแม้ว่าวันนี้พระองค์ท่านได้จากไปแล้ว พูดกันง่ายๆ แต่ยังอยู่ในใจเราเสมอ”
นายช่างใหญ่เปิดเผยความรู้สึกจากพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่ได้รับตลอดระยะเวลาที่หายใจ
“เราเห็นพระองค์ท่านมาตลอด พระอัจฉริยภาพ พระจริยวัตร พระองค์มีพระราชอิริยาบถแบบนี้ ความขยันก็ดี ความมุ่งมั่นก็ดี ความตั้งพระทัยที่จะทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนมีอย่างมาก ความยากลำบากอุปสรรค พระองค์ท่านไม่เอามาเป็นพระอารมณ์เลย เสด็จไปทุกเหตุการณ์เรื่องนี้เรื่องนั้นด้วยความสมัครพระทัยเพื่อแก้ไข ตลอดระยะเวลากว่าสิบๆ ปี ประทับใจพระองค์ท่านไม่เสื่อมคลาย
“ฉะนั้น เราก็เกิดความรู้สึกว่าเราจะต้องจัดการตัวเอง มีหน้าที่ ต้องทำงานอย่างเต็มที่ทุ่มเท ถวายพระองค์ท่าน แล้วก็ต้องซื่อตรง เพื่อราชการ คำสั่งสอนอะไรต่างๆ ก็มีนัยยะแฝงอยู่ตลอดเวลา ทรงสั่งคิดให้ดี คิดให้ละเอียด คิดให้รอบคอบ ทำแล้วตอบโจทย์ได้ให้ทำ ทำแล้วคุ้ม คำว่าคุ้มในความหมายที่นี้ก็คือ ทำแล้วเกิดประโยชน์ สามารถแก้ไขความลำบากทุกข์ยากออกไปได้ นั่นคือคุ้ม ไม่ใช่หมายถึงเป็นเรื่องเงิน เพราะถ้าประชาชนมีน้ำ หน้าแล้งเพาะปลูกได้ เขามีความสุข พืชผลดีขึ้น คือตอบโจทย์ คือคุ้ม ทรงรับสั่งเป็นระยะๆ”
และนอกเหนือไปกว่าในเรื่องของการทำงานหน้าที่ต่างๆ ที่ทรงเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติที่ดีแล้ว ยังทรงห่วงใยถึงความรู้สึกนึกคิด เรื่องการใช้ชีวิต ประหนึ่ง “พ่อ” สอนลูก พระองค์ทรงไม่เคยเว้นวรรคฐานะพ่อหลวงของปวงประชา ซึ่งนายช่างใหญ่ยังคงจดจำได้และน้อมนำมาปฏิบัติจนกระทั่งถึงตอนนี้
“คือพระองค์ท่านก็ทำให้ได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ ภาพของพระองค์ท่านที่ทรงปฏิบัติ ไม่รู้ล่ะคนอื่นอาจจะอยู่ไกลๆ ผมอยู่ใกล้ชิดได้เห็นตลอด มีรูปเยอะกว่าเพื่อน เราก็ซาบซึ้ง เพราะว่าพระองค์ท่านทรงเป็นอย่างนั้นตลอด ไม่ได้เป็นชั่วครั้งคราว ตั้งแต่ผมเข้าไปทำงานแบบตามหลังผู้ใหญ่แรกๆ
“พระองค์ท่านทรงรับสั่งข้าราชการว่าต้องทำงานแบบปิดทองหลังพระนะ พระองค์ท่านสั่งจากพระโอษฐ์โดยตรง นักพัฒนาต้องทำงานแบบปิดทองหลังพระ ไม่ใช่เป็นคำที่พระองค์ท่านรับสั่งทั่วไปนะ รับสั่งตัวต่อตัว คือเรียกเข้าเฝ้าแล้วก็พระราชทาน อยู่สองคนสององค์ กับอดีตผู้ที่ทำงานสนองพระบาทสมัยก่อน สมัยคุณเล็ก จินดาสงวน ที่ทำงานถวายพระองค์ท่านก่อนหน้าผม แล้วผมก็เข้าไปแทนท่าน เรียกเข้าเฝ้ามอบหมายงานที่สวนจิตรลดา ทรงถือกระป๋องรูปทรงแบนๆ มา เปิดมามีพระสององค์ ครบตามจำนวน
“พระองค์ท่านทรงรับสั่งว่า ‘นายปราโมทย์ คุณเล็ก ก่อนจะพูดเรื่องงาน เอาพระไปคนละองค์ และก่อนจะเอาพระไปใส่กรอบเลี่ยมเอาทอง ไปปิดหลังพระซะนะ นักพัฒนาต้องทำงานแบบปิดทองหลังพระ’ เราก็เป็นนักพัฒนา เป็นข้าราชการ ต้องทำงานแบบปิดทองหลังพระ นี้ล่ะพระราชดำรัสแบบนี้ ก็รับสั่งตรงๆ นั่งใกล้ๆ นี้ล่ะคำพูดนี้จำอยู่ในใจไม่รู้ลืม แล้วเราก็มาจัดการตัวเอง นอกเหนือจากคิดให้ดี คิดให้ละเอียด คิดให้รอบคอบ ทำแล้วตอบโจทย์ได้ ให้ทำ ตอบโจทย์เพื่อสังคม
“คือพระองค์ท่านสั่งสอนให้เราทำอะไรต่างๆ ด้วยความจริงจัง พูดง่ายๆ ภาษาสามัญคือ อย่าชุ่ยนะ ใช้หลักวิชาการคิดให้ดี คิดให้ละเอียด คิดให้รอบคอบ นี้ก็เป็นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน”
นายช่างใหญ่กล่าวภาพความหลังที่ยังคงตราตรึงไม่รางเลือน
“ถ้าสมมติว่าเป็นเยาวชนระดับต่ำกว่าอายุ 20 คงจะไม่เข้าใจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงงาน ทรงห่วงใยประเทศชาติอย่างมาก คนอายุ 20 ขึ้นไปถึงจะรู้ พระองค์ท่านทรงทุ่มเทแก้ปัญหาให้กับผู้คนในชนบทมากมายขนาดไหน ทุกเวลา ทุกปี รวมไปถึงอนาคต ทรงเผื่ออนาคตให้เราสามารถนำมาปฏิบัติทำได้ในทุกวันนี้
“ท่านทำให้กับเราประชาชนคนไทยอย่างล้นเหลือในพระมหากรุณาธิคุณ ก็อยากฝากเอาไว้ อยากให้เด็กและเยาวชนได้ตามรอยพระยุคลบาท พระราชจริยวัตร และพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรียนรู้ เข้าใจ ทำตาม ทุกวันนี้เวลานี้ สังคมทำงานเพื่อตนเองเพื่อครอบครัว แต่เราต้องไม่ลืมทำงานเพื่อส่วนรวมสังคมด้วย
“คือไม่มีใครเทียบเท่าพระองค์ท่านได้ ถึงแม้ว่าวันนี้พระองค์ท่านได้จากไปแล้ว แต่ยังอยู่ในใจเราเสมอ และสิ่งต่างๆ ที่ท่านทำยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ก็อยากให้คนรุ่นใหม่น้อมนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อตอบแทนพระคุณท่านที่มีต่อปวงชนชาวไทย ไม่เสื่อมคลาย”
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช