MGR Online - เปิดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 แบบคำต่อคำ ยกฟ้อง “ครูจอมทรัพย์” แพะคดีกระบะชนคนขับจักรยานตายที่สกลนคร ตั้งแต่ปี 2548 ทว่า ในที่สุดศาลฎีกากลับตัดสินให้จำคุกตามศาลชั้นต้น 3 ปี 2 เดือน
กรณี นางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อดีตครูโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.สกลนคร วัย 54 ปี ผู้รับราชการครูมา 31 ปี ถูกศาลตัดสินจำคุก 3 ปี 2 เดือน ในคดีขับรถโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2548 ทั้งๆ ที่วันเกิดเหตุ เจ้าตัวกำลังพักผ่อนนอนดูทีวีอยู่กับครอบครัว และรถจอดอยู่ที่บ้าน ก่อนที่ในเวลาต่อมาเธอจะถูกศาลฎีกาตัดสินถูกจำคุก เมื่อปี 2556 และได้รับอภัยโทษออกมาเมื่อปี 2558 รวมเวลาอยู่ในคุก 1 ปี 6 เดือน
สำหรับคดีดังกล่าว แม้เจ้าตัวจะพยายามสู้คดี โดยปฏิเสธมาตลอด พร้อมชี้ว่ารถที่ชนคนปั่นจักรยานตายเป็นรถสีเขียว แต่รถของตัวเองเป็นสีน้ำตาลบรอนซ์ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังยืนยันให้ครูไปต่อสู้คดีในชั้นศาล โดยศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกครูจอมทรัพย์ 3 ปี 2 เดือน โดยไม่รอลงอาญา เมื่อครูยื่นอุทธรณ์สู้ ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง แต่ญาติผู้ถูกรถชนเสียชีวิตปักใจเชื่อว่า ครูเป็นคนขับรถชน ญาติผู้เสียชีวิตจึงไม่ยอม จึงฟ้องต่อ กระทั่งศาลฎีกามีคำสั่งยึดตามศาลชั้นต้น ครูต้องติดคุก 3 ปี 2 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
ทีมข่าว MGR Online ขอนำคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มาเผยแพร่ดังนี้
โจทก์ (พนักงานอัยการจังหวัดนครพนม) ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บค 56 สกลนคร ไปตามทางเดินรถถนนสายธาตุน้อย - นาเหนือ จากทางบ้านธาตุน้อย มุ่งหน้าไปทางบ้านนาเหนือ ถึงที่เกิดเหตุบริเวณบ้านสร้างเม็ก ซึ่งมีเครื่องหมายจราจรแบ่งทางเดินรถออกเป็นสองทาง สำหรับรถเดินขึ้นทางหนึ่งล่องทางหนึ่ง ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ กล่าวคือ ขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน ซึ่งทัศนวิสัยในการขับขี่ไม่ดีมองเห็นได้ในระยะใกล้กันเท่านั้น จำเลยต้องไม่ขับรถคันดังกล่าวด้วยความเร็วสูงเกินสมควร จนไม่สามารถหยุดรถได้ทัน หรือควรชะลอความเร็วของรถให้ช้าลงพอที่จะขับรถหลบหลีกไม่ชนรถคันอื่น หรือสิ่งอื่นที่กีดขวางอยู่ข้างหน้าได้ทัน และในการที่จำเลยจะขับรถแซงขึ้นหน้ารถจักรยานยนต์ ซึ่งผู้มีชื่อขับขี่แล่นอยู่ข้างหน้าในช่องทางเดินรถเดียวกับจำเลย จำเลยควรใช้ความระมัดระวังในการขับรถดังกล่าวด้วยการชะลอความเร็วของรถให้ช้าลง และเมื่อเห็นว่าทางเดินรถข้างหน้าปลอดภัยเพียงพอและไม่มีรถอื่นสวนทางมา จึงค่อยขับรถแซงขึ้นหน้าไป ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและเดือดร้อนของผู้อื่น ซึ่งจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จำเลยกลับขับรถคันดังกล่าวด้วยความเร็วสูงเกินสมควร โดยไม่ชะลอความเร็วของรถให้ช้าลงพอที่จะหยุดรถได้ทัน หรือขับหลบหลีกไม่ให้ชนรถคันอื่นได้ และได้ขับรถแซงขึ้นหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้มีชื่อ ซึ่งแล่นอยู่ข้างหน้าทางเดินรถของจำเลยล้ำเส้นแบ่งครึ่งของถนนเข้าไปในช่องทางเดินรถสวนกัน ซึ่งขณะนั้นมี นายเหลือ พ่อบำรุง ขี่รถจักรยานสองล้อสวนมาในช่องทางเดินรถสวนเป็นเหตุให้รถคันที่จำเลยขับชนรถจักรยานสองล้อคันที่นายเหลือขี่สวนทางมา ทำให้รถจักรยานสองล้อดังกล่าวได้รับความเสียหาย และเป็นเหตุให้นายเหลือถึงแก่ความตาย เมื่อจำเลยขับรถยนต์กระบะคันดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของบุคคลอื่นแล้ว จำเลยไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร และไม่ไปแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที เหตุเกิดที่ตำบลท่าลาด อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 47, 78, 157 และ 160
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4) (8), 47, 78, 157, 160 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถโดยประมาทอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย หรือเดือดร้อนของบุคคลอื่น ขับขี่รถแซงรถอื่นล้ำเข้าไปในเส้นกึ่งกลางของทางเดินรถในขณะมีรถอื่นสวนทางมา และประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อันเป็นบทที่มีอัตราโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ฐานไม่หยุดและให้ความช่วยเหลือตามสมควร และไม่ไปแสดงตัวกับแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 2 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า วันที่ 11 มีนาคม 2548 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา นางทัศนีย์ หาญพยัคฆ์ ขับรถจักรยานยนต์ไปตามถนนสายธาตุน้อย - นาเหนือ มุ่งหน้าไปทางบ้านนาเหนือเพื่อกลับบ้าน มีรถยนต์กระบะขับแซงรถจักรยานยนต์ของนางทัศนีย์ล้ำเข้าไปในช่องทางรถสวนชนกับรถจักรยานที่ นายเหลือ พ่อบำรุง ผู้ตายขับขี่มาเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย พนักงานสอบสวนสืบสวนจนทราบว่า นายประพัฒน์ แสนเมืองโคตร เป็นเจ้าของรถยนต์กระบะ นายประพัฒน์ นำรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บค 56 สกลนคร มาให้ตรวจสอบ และแจ้งว่า ในวันเกิดเหตุได้ซื้อรถยนต์จากจำเลย แต่จำเลยยืมรถไปใช้ทำธุระต่อแล้วนำมาคืนให้ในวันรุ่งขึ้น พนักงานสอบสวนเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด จึงเรียกจำเลยมาแจ้งข้อกล่าวหาว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายกับทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายและไม่หยุดแจ้งเหตุ แสดงตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำเลยให้การปฏิเสธ
จำเลยนำสืบว่า วันที่ 11 มีนาคม 2548 จำเลยขายรถยนต์ให้ นายประพัฒน์ แต่จำเลยยืมรถไปใช้ทำธุระต่อ และจะนำไปคืนให้ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน จากนั้นจำเลยและนางยุพินเดินทางไปติดต่อซื้อรถคันใหม่แล้วไปที่ร้านเสริมความงาม ศูนย์การค้าและตลาด จำเลยกลับถึงบ้านเวลาประมาณ 20 นาฬิกา แล้วจำเลยให้สามีนำรถยนต์ไปคืนนายประพัฒน์ ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้กัน สามีจำเลยบอกว่ามารดานายประพัฒน์แจ้งว่าเลยฤกษ์รับรถแล้วจะมารับรถในวันรุ่งขึ้น วันที่ 12 มีนาคม 2548 นายประพัฒน์เดินทางมารับรถยนต์ไป รอยครูดและรอยถลอกบริเวณฝากระโปรงรถเป็นรอยเก่าที่สามีจำเลยขับไปเฉี่ยวชนรั้วลวดหนามเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2546
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีผู้ขับรถยนต์ชนจักรยานที่นายเหลือ พ่อบำรุง ขับขี่เป็นเหตุให้นายเหลือถึงแก่ความตาย และรถจักรยานได้รับความเสียหาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์ชนรถจักรยานที่ผู้ตายขับขี่หรือไม่ โจทก์มี นางทัศนีย์ หาญพยัคฆ์ เบิกความว่า รถยนต์กระบะแล่นแซงรถจักรยานยนต์ที่พยานขับขี่ล้ำเข้าไปชนกับรถจักรยานที่ผู้ตายขับขี่สวนมา แล้วคนขับรถยนต์กระบะหยุดรถ พยานหันหน้ารถจักรยานยนต์เพื่อให้ไฟหน้ารถส่องไปบริเวณที่เกิดเหตุพบว่า รถยนต์กระบะมีหมายเลขทะเบียน บค 56 สกลนคร และเห็นคนขับรถเป็นผู้ชายเปิดประตูรถลงมาไปดูผู้ตาย พยานก็ขับขี่รถจักรยานยนต์ออกไป นายทวีเลิศ ท่อนทอง เบิกความว่า มีผู้มาเล่าให้ฟังว่ารถยนต์กระบะทะเบียน บค 56 สกลนคร ขับแซงรถจักรยานยนต์ไปชนรถจักรยานที่ผู้ตายขับขี่ วันรุ่งขึ้นนางทัศนีย์มาเล่าเหตุการณ์ให้พยานฟัง และบอกว่า เห็นผู้ชายลงมาจากรถยนต์กระบะ พันตำรวจตรี ทนงศักดิ์ โพธิ์โหน่ง เบิกความว่า ตรวจสอบหมายเลขทะเบียนรถยนต์กระบะ ทราบว่า นายประพัฒน์ แสนเมืองโคตร เป็นเจ้าของ จึงแจ้งให้นำรถยนต์มาตรวจสอบ นายประพัฒน์ แจ้งว่า ซื้อรถยนต์ดังกล่าวมาจากจำเลยในวันเกิดเหตุ แต่จำเลยยืมรถยนต์ไปใช้แล้วไม่นำมาคืน นายประพัฒน์ไปรับรถในวันรุ่งขึ้นพบรอยครูดใหม่บริเวณใกล้โคมไฟหน้าด้านซ้าย ร้อยตำรวจเอก ทศพล ธรรมวงศ์ เบิกความว่า พยานตรวจพิสูจน์ร่องรอยการเฉี่ยวชนรถยนต์กระบะดังกล่าว พบรอยครูดเก่า และรอยครูดใหม่จากด้านหน้าลากไปถึงกระจกมองข้างด้านซ้าย บริเวณใกล้ไฟหน้าด้านซ้ายพบรอยกระทบด้วยวัตถุที่มีน้ำหนักและอ่อนนุ่มคล้ายส่วนใดส่วนหนึ่งของมนุษย์ซึ่งมีเส้นใย และมีรอยประทับของเส้นใยที่ฝากระโปรงด้านหน้ารถ พบสีเขียวติดอยู่ที่ตะเกียบหน้าซ้ายของรถจักรยานและที่บังโคลนหน้า พยานมีความเห็นว่ารถจักรยานกระทบกับรถยนต์กระบะบริเวณด้านหน้าข้างซ้ายบริเวณแผ่นป้ายทะเบียนของรถยนต์ แต่ไม่พบร่องรอยการบุบของแผ่นป้ายทะเบียน เห็นว่า นางทัศนีย์ ประจักษ์พยานเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าไม่ได้บอกเพื่อนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ตามหลังมาว่า รถยนต์กระบะคันที่ชนยี่ห้ออะไร หมายเลขทะเบียนอะไร และไม่ได้บอกญาติผู้ตายด้วยทำให้น่าสงสัยว่าพยานจะเห็นหมายเลขทะเบียนรถยนต์กระบะดังกล่าวและจดจำได้หรือไม่ เพราะว่าถ้าพยานเห็นหมายเลขทะเบียนรถยนต์กระบะดังกล่าวและจดจำได้ พยานก็น่าจะต้องรีบบอกเพื่อนที่ขับรถจักรยานยนต์ตามมาทันทีว่าจำหมายเลขทะเบียนรถยนต์คันที่ชนผู้ตายได้เพื่อเป็นหลักฐานในการติดตามผู้ขับรถยนต์ชนผู้ตาย และที่นางทัศนีย์เบิกความว่า คนขับรถยนต์กระบะเป็นผู้ชายก็ไม่ตรงกับจำเลยซึ่งเป็นผู้หญิง ส่วนรถยนต์กระบะที่จำเลยขายให้นายประพัฒน์ และยืมไปในวันเกิดเหตุมีรอยครูดบริเวณด้านหน้าซ้ายนั้น เห็นว่า หากรถยนต์กระบะแล่นแซงรถจักรยานยนต์ที่นางทัศนีย์ขับขี่ล้ำเข้าไปชนกับรถจักรยานที่ผู้ตายขับขี่สวนทางมา รถยนต์กระบะต้องแซงออกไปทางด้านขวาของรถจักรยานยนต์ที่นางทัศนีย์ขับขี่ และน่าจะเฉี่ยวชนกับรถจักรยานทางด้านขวาของรถยนต์กระบะ ดังนั้น รอยครูดที่ปรากฏทางด้านซ้ายของรถยนต์กระบะ จึงไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดจากการเฉี่ยวชนกับรถจักรยานที่ผู้ตายขับขี่ และที่มีสีเขียวของแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ติดอยู่ที่ตะเกียบหน้าซ้ายและบังโคลนหน้าของรถจักรยานนั้น แสดงว่า รถจักรยานถูกชนบริเวณแผ่นป้ายทะเบียน ซึ่งน่าจะทำให้แผ่นป้ายทะเบียนมีร่องรอยการถูกชน แต่กลับได้ความจากร้อยตำรวจเอก ทศพล ว่า แผ่นป้ายทะเบียนของรถยนต์กระบะดังกล่าวไม่มีรอยบุบ พยานหลักฐานโจทก์ยังมีเหตุอันควรสงสัยว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์กระบะชนรถจักรยานที่ผู้ตายขับขี่หรือไม่ ซึ่งจำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดมาจึงเห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ภาค 4 อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยไว้ระหว่างฎีกา