หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นต้นมา ประชาธิปไตยเมืองไทยก็ลุ่มๆดอนๆ ล้มลุกคลุกคลานกันตลอดมา อาจจะเป็นเพราะใช้กันไม่ค่อยเป็น หรือไม่ถูกกับนิสัย ถนัดแต่ระบบอุปถัมภ์และเห็นแก่พวกพ้อง ขนาด “วัด” สังคมของคนที่มีธรรมะและวินัยอย่างเคร่งครัด รัฐบาลอยากจะให้เป็นประชาธิปไตยตัวอย่าง ก็ยังไปไม่เป็น
ตามปกติสงฆ์ไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ฝ่ายธรรมยุตกับมหานิกายจะแยกวัดกัน ต่างฝ่ายต่างอยู่ ไม่ร่วมสังฆกรรมกัน รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยจึงอยากให้มีวัดเป็นตัวอย่างของความสมานฉันท์ ให้ฝ่ายธรรมยุตกับมหานิกายอยู่ร่วมวัดกันเป็นหนึ่งเดียว แล้วตั้งชื่อวัดนั้นเลยว่า “วัดประชาธิปไตย”
แล้ววัดนี้อยู่ที่ไหน...คงไม่เคยได้ยินชื่อกัน
ที่เจดีย์ใหญ่หน้าวัดซึ่งสูง ๓๘ เมตร มีป้ายหินอ่อนสลักข้อความไว้ว่า
“เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๘๓ เวลา ๐๙.๓๐ น. นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเรื่องสร้างวัดประชาธิปไตยว่า ข้าพเจ้าอยากจะขออนุมัติเงินสักแสนบาทเพื่อสร้างวัดสักวัดหนึ่งในสมัยประชาธิปไตย และใคร่จะให้แล้วเสร็จทันในงานวันชาติ ๒๔ มิถุนายน ศกนี้ และสถานที่ที่จะสร้างนั้นอยากจะสร้างใกล้อนุสาวรีย์หลวงอำนวยสงคราม ตำบลหลักสี่ ที่ประชุมตกลงเห็นชอบด้วย”
รัฐบาลได้อนุมัติเงินให้ ๑ แสนบาท แต่งบประมาณที่สร้างวัดนี้ตั้งแต่ค่าซื้อที่ดิน ๕๐ ไร่ ค่าถมที่ ค่าสร้างมหาเจดีย์ สร้างโบสถ์ ศาลาการเปรียญ กุฏิ เมรุเผาศพ ฯลฯ และสำรองเผื่อขาดไว้อีก ๓๙,๐๐๐ บาท สูงขึ้นไปถึง ๓๗๕,๐๐๐ บาท เงินที่เหลือรัฐบาลจึงเรี่ยไรจากประชาชนทั่วประเทศเพื่อให้มีส่วนร่วม ปรากฏว่าได้เงินมาอย่างน่าตกใจถึง ๓๐,๐๙๔,๓๔๑.๓๔ บาท ซึ่งมากมายมหาศาลสำหรับยุคนั้น
เมื่อลงมือสร้าง วัดนี้ก็มีชื่อว่า“วัดประชาธิปไตย” แต่ระหว่างที่สร้างอยู่นั้น รัฐบาลอินเดียได้มอบพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดค้นพบ ณ มหาสถูปธรรมราชิกะ และเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติมาให้ พร้อมด้วยดินจากสังเวชนียสถานที่ ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา ปรินิพพาน ทั้งยังได้ตอนกิ่งพระศรีมหาโพธิ์จากต้นที่สืบเนื่องมาแต่ต้นเดิมที่ประทับตรัสรู้มาให้ ๕ กิ่ง พลตรีหลวงพิบูลสงคราม จึงทำพิธีปลูกไว้ที่วัดนี้ ๒ กิ่ง ส่งไปปลูกที่วัดพระธาตุพนม นครพนม ๑ กิ่ง ปลูกที่วัดมหาธาตุ นครศรีธรรมราช ๑ กิ่ง ปลูกที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่ ๑ กิ่ง และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพร้อมดินจากสังเวชนียสถานบรรจุไว้ในมหาเจดีย์ แล้วเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ให้เป็นสิริมงคลตามต้นพระศรีมหาโพธิ์กับพระบรมสารีริกธาตุว่า “วัดพระศรีมหาธาตุ”
ซึ่งก็คือวัดที่อยู่สี่แยกหลักสี่ ใกล้อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ที่สร้างเป็นอนุสรณ์ถึง พ.ท.หลวงอำนวยสงคราม ซึ่งเสียชีวิตตรงนั้นตอบปราบ “กบฏบวรเดช”
เจตนาของนายกรัฐมนตรีที่สร้างวัดนี้ นอกจากต้องการให้เป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังมีเจตนาที่ไม่ได้เอ่ยออกมาทางวาจา แต่ทว่าเป็นการกระทำ ก็คือต้องการให้วงการสงฆ์ไทยเลิกการแบ่งแยกเป็นธรรมยุตและมหานิกายกันเสียที รวมกันเป็นนิกายเดียว เพราะต่างก็นับถือพระพุทธเจ้า ถือศีล ๒๒๗ ข้อเหมือนกัน
ด้วยเหตุนี้ ในวันทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๔ จึงได้มีการแห่พระพุทธสิหิงค์ จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถ พร้อมกับแห่พระภิกษุสงฆ์ ๒๔ รูป ที่อาราธนาจากวัดฝ่ายมหานิกาย ๑๒ รูป และจากวัดธรรมยุต ๑๒ รูป มาร่วมจำพรรษาที่วัดพระศรีมหาธาตุเป็นสงฆ์ชุดแรก
ซึ่งนับเป็นวัดแรกและวัดเดียวที่มีพระฝ่ายธรรมยุตและมหานิกาย จำพรรษาอยู่ร่วมวัดกัน ไม่มีการแบ่งแยกนิกาย
แต่ทว่า สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ที่เข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์แรก มาจากวัดบรมนิวาส ซึ่งเป็นวัดฝ่ายธรรมยุต ในที่สุดพระฝ่ายมหานิกายก็หายไปทีละองค์สององค์ จนกลายเป็นวัดฝ่ายธรรมยุตในทุกวันนี้
ประเทศนี้ก็ต้องเป็นแบบนี้แหละ แม้แต่ประชาธิปไตยในวงการสงฆ์ ก็ยังไปไม่เป็น...