xs
xsm
sm
md
lg

“เชฟรอน” โดนแน่ คลังเตรียมเรียกเงินภาษีคืนกว่า 3 พันล้าน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการออนไลน์ - คลังเตรียมสั่งสรรพาสามิต - สรรพากร ประเมินทันที หลังได้รับผลตีความเป็นทางการจากกรมศุลกากร เชฟรอนต้องจ่ายย้อนหลังกว่า 3,000 ล้านบาท

สำนักข่าวอิศรา รายงานวันนี้ (12 ม.ค.) ว่า จากกรณี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รับลูกข้อมูล ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอเกี่ยวกับ เบื้องหลังค่าโง่ภาษี 3,000 ล้านบาท ที่รัฐอาจจะต้องสูญเสียไป จากกรณีการยกเว้นการเก็บภาษีสรรพสามิต จำนวน 3,000 ล้านบาท ให้กับ บริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) จำกัด ภายหลังจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ได้ตีความว่า น้ำมันสำเร็จรูปที่ส่งไปใช้ยังแท่นขุดเจาะของบริษัท เชฟรอน ในพื้นที่ไหล่ทวีป ถือเป็นการส่งน้ำมันในราชอาณาจักร ต้องปฏิบัติพิธีการว่าด้วยการค้าชายฝั่ง ทำให้บริษัท เชฟรอน ต้องเสียภาษี แต่กรมศุลกากร กลับไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาทันที กลับส่งเรื่องไปที่กระทรวงการคลังให้พิจารณาแทน

ต่อมาในต้นเดือนตุลาคม 2559 สตง. ได้นำส่งหนังสือ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า การส่งน้ำมันเชื้อเพลิงกรณี บริษัท เชฟรอน ไม่ถือเป็นการส่งออกไปราชอาณาจักร แต่ถือเป็นการค้าชายฝั่งซึ่งจะต้องเสียภาษีอากร ตามความเห็นที่ประชุม 3 ฝ่าย ระหว่าง กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งให้กรมสรรพากร และกรมสรรพสามิต เรียกเก็บภาษีอากร พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มและเรียกเงินภาษีที่มีการคืนให้บริษัท เชฟรอน กลับคืน รวมทั้งให้สอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งทางอาญาแพ่งและวินัยด้วย

อย่างไรก็ตาม นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้แต่งตั้ง นายประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง ขึ้นมาพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง โดยมีการเรียกประชุมฝ่ายต่างๆ และมีความเห็นว่า แม้ว่ากระทรวงการคลังจะได้รับแจ้งจาก สตง. ว่า ให้เรียกเก็บภาษีจากบริษัท เชฟรอน แต่เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานที่มีความชัดแจ้งและเป็นธรรมต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และเพื่อให้เกิดความชัดเจนแน่นอนในการบังคับใช้กฎหมาย จึงให้กรมศุลกากรทำหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้สรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย แนวคำพิพากษาศาลฎีกา และแนวทางตามหนังสือตอบข้อหารือของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษได้พิจารณาขอหารือของกรมศุลกากรเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา (เรื่องเสร็จที่ 1886/2559) สรุปว่า การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากชายฝั่งในราชอาณาจักรไปยังแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตไหล่ทวีปนอกอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล จึงต้องถือตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ กล่าวคือ ถือว่าการขนของไปใช้ในการสำรวจและการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวเป้นการขนของไปใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในราชอาณาจักร หากมีภาระภาษีใดๆ เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการดังกล่าว ก็ต้องมีการจัดเก็บภาษีเช่นเดียวกับการประกอบกิจการในราชอาณาจักรด้วย

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า การขนส่งน้ำมันไปยังแท่นขุดเจาะน้ำมันเป็นการค้าชายฝั่ง หรือในราชอาณาจักรต้องเสียภาษี เมื่อได้รับรายงานผลการตีความจากกรมศุลกากรอย่างเป็นทางการแล้ว จะสั่งการให้กรมสรรพสามิตประเมินภาษีส่วนที่ไม่ได้เก็บจากบริษัท เชฟรอน มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท และกรมสรรพากรต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนที่ขาดไป เนื่องจากฐานราคาในการคิดภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำเนื่องจากยังไม่ได้บวกภาษีสรรพสามิต

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับการดำเนินการทางอาญาและวินัยกับข้าราชการที่เกี่ยวข้องในการตีความกฎหมายยกเว้นภาษีให้กับเชฟรอนนั้น ต้องขึ้นกับคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่มี นายลวรณ แสงสนิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นประธานว่า ข้าราชการที่เกี่ยวข้องตีความกฎหมายดังกล่าวผิดโดยสุจริตหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น