xs
xsm
sm
md
lg

ควายสวัสดีได้ เคยเห็นยัง? ไปดูที่ร้อยเอ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป พัดพาให้วิถีชีวิตของผู้คนทั้งในเมืองและในชนบทได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยเฉพาะผู้คนที่อยู่อาศัยในชนบท การทำเกษตรกรรม มีการเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่ทันสมัยขึ้น จากที่เคยใช้ควายไถนาก็มีการนำเครื่องจักรมาใช้ในการทำการเกษตรมากขึ้น เพื่อรองรับกับความสะดวกสบายและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป จนรูปแบบการทำเกษตรกรรมแบบเก่าๆ เริ่มหาดูได้ยากลงทุกที แม้กระทั่งในชนบท และเริ่มจะลางเลือนหายไปจนอาจสูญหายไปจากวิถีชีวิตของคนไทย
“กลุ่มอนุรักษ์ควายไทย” จังหวัดร้อยเอ็ด จึงเกิดขึ้น และเป็นสถานที่รวบรวมเรื่องราวของควายไทย ที่เคยอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยในชนบทและกำลังจะเลือนหายไป ให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้งในปัจจุบัน

“กลุ่มอนุรักษ์ควายไทย” ตั้งอยู่ที่ 87 ม.5 บ้านคางฮูง ต.ธวัชบุรี อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาด หากมีโอกาสได้เดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอาชีพหลักคือการเกษตรกรรมเป็นหลัก ก็แวะมาเยี่ยมชม “ควาย” ของ “กลุ่มอนุรักษ์ควายไทย” ได้ ที่นี่มีควายไทยลักษณะดี และชนะการประกวดควายงามมาแล้ว

นายเกรียงไกร ประจัญพล ประธาน “กลุ่มอนุรักษ์ควายไทย” จังหวัดร้อยเอ็ด เล่าให้ฟังว่า กลุ่มนี้เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจจากควายที่ตัวเองเคยเลี้ยงและรัก และอยากอนุรักษ์เอาไว้ให้ลูกหลานได้ดู ซึ่งนับวันก็จะเห็นควายได้น้อยลง แม้กระทั่งในชนบท เพราะชาวนาในปัจจุบันเลิกใช้แรงงานควายในการทำนาและหันมาใช้ “ควายเหล็ก” หรือรถไถนาในการทำนาแทน


ด้วยเหตุนี้จึงรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ที่เลี้ยงควายและรักควายมีจุดมุ่งหมายเดียวกันที่อยากอนุรักษ์ควายไทยเอาไว้ โดยจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ ที่เน้นการทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งสถานที่ราชการ และที่ต่างๆ ที่ได้รับเชิญ ตอนนี้ “กลุ่มอนุรักษ์ควายไทย” ได้จัดตั้งขึ้นมาครบ 5 ปีแล้ว โดยมีสมาชิกในกลุ่มประมาณ 200 คน

“ควายที่กลุ่มเราเลี้ยงได้รับการสนับสนุนจากหน่วยราชการและกรมปศุสัตว์มาคอยช่วยเหลือดูแลและบำรุงในด้านต่างๆ ทั้งสุขภาพและอนามัยของควายให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอ อีกทั้งควายที่นี่ก็มีลักษณะงดงามเคยประกวดและชนะเลิศมาแล้ว ในงานเกษตรแฟร์ของจังหวัดขอนแก่นทุกปี อย่างเจ้าควายที่ชื่อ “เพ็ชรร่องคำ” เป็นควายที่ประกวดและชนะเลิศมาเมื่อไม่นานมานี้”

ลักษณะควายงามที่ดีนั้น เกรียงไกรเล่าให้ฟังว่า ต้องมีลักษณะหนังบางและตึง จมูกกว้าง มีเหงื่อชื้นอยู่เสมอ กระดูกตรง ไม่คดไปทางซ้ายหรือขวา นัยน์ตาแจ่มใส แต่ไม่ใช่ตาตื่น โคนเขาเล็กเรียวไปตลอด ปลายเขาโค้งเข้าหากันไม่กางเกะกะ เนื้อเขาละเอียดคล้ายสีผึ้ง คอหนาปานกลาง หลังตรง ลำตัวลึกและกว้าง ส่วนท้ายใหญ่ ตะโพกใหญ่มนที่เรียกกันว่า “ก้นมะนาวตัด” โคนหางใหญ่ ซอกที่โคนหางมีเนื้อเต็มแน่น หางยาวลงไปถึงครึ่งหน้าแข้ง พู่หางเป็นพวง หน้าอกกว้าง ขาหน้าทั้งสองติดแนบชิดกับลำตัว ขาตรงไม่สอบเข้าหรือแบะออก ขาหลังตรงกีบใหญ่ กีบทั้งสองชิดกัน ดูเป็นวงกลมท่าทางประเปรียว

สำหรับควายที่ “กลุ่มอนุรักษ์ควายไทย” จังหวัดร้อยเอ็ด ได้เลี้ยงไว้สามารถทักทายด้วยการสวัสดีได้ ซึ่งเราเคยได้ยินการเปรียบเปรยว่าควายเป็นสัตว์ที่โง่ และมักนำไปว่ากล่าวกันให้ได้ยินอยู่เสมอว่าว่า “โง่เหมือนควาย” แท้จริงแล้วควายสอนได้และไม่ได้โง่สามารถฝึกได้แถมยังน่ารัก และเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณกับเรามาตั้งแต่โบราณกาลอีกด้วย เพราะช่วยทำนาปลูกข้าวให้เรากิน


นายอุดร จันทร์เรศน์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของ “กลุ่มอนุรักษ์ควายไทย” และเป็นสมาชิกของกลุ่มได้เป็นผู้ฝึกให้ควายในกลุ่มสามารถสวัสดีได้ นายอุดรบอกว่า ควายฝึกไม่ยาก ใช้เวลาฝึกไม่นาน ตามอายุของควาย ถ้าควายอายุน้อยก็จะฝึกง่ายหน่อย เหมือนสุภาษิตที่ว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” ควายก็เช่นกัน

“ถ้าควายเด็ก ก็จะฝึกง่ายหน่อย แต่ถ้าควายแก่แล้วก็คงต้องใช้เวลา อย่างน้อย 3-4 เดือนครับ”

จุดมุ่งหมายของ “กลุ่มอนุรักษ์ควายไทย” จังหวัดร้อยเอ็ด นายเกรียงไกร ประจัญพล กล่าวว่า ในการเลี้ยงควายก็จะเน้นด้านการอนุรักษ์ควายไทยและควายพันธุ์ดีเป็นหลัก และอีกอย่าง ควายสามารถเปลี่ยนเป็นสัตว์เศรษฐกิจได้ด้วย เพราะคุณค่าและราคาของควายที่เลี้ยงสามารถนำมาขายแลกเปลี่ยนสำหรับคนที่ชื่นชอบและนิยมในการเลี้ยงควายเพื่อเป็นสัตว์สวยงามและสะสมในราคาที่สูงได้อีกด้วย

“ควายเคยเป็นสัตว์ที่จำเป็นสำหรับชาวนาไทยตั้งแต่บรรพบุรุษ เพราะควายเป็นเสมือนเพื่อนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนไทยมาช้านาน แม้กระทั่งมีศึกสงครามในสมัยโบราณ ควายก็ยังถูกใช้งานไปออกศึกสู้รบกับศัตรูได้อย่างเข้มแข็ง ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับควาย ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการใช้เครื่องจักรมาทำงานแทนควายกันอย่างแพร่หลายแล้วก็ตาม แต่ก็ควรอนุรักษ์ควายเอาไว้และควรออกกฎหมายคุ้มครองไว้เช่นเดียวกับสัตว์อีกหลายชนิดเช่นกัน” นายเกรียงไกร กล่าว

เรื่อง / ภาพ : อรวรรณ เหม่นแหลม
(ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.silpathai.net/ลักษณะของควายที่ดี/)

กำลังโหลดความคิดเห็น