พสกนิกรจำนวนมาก ทั้งในพื้นที่ กทม. และต่างจังหวัด เดินทางเข้ากราบสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เบื้องหน้าพระบรมโกศ อย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (6 ม.ค.) สำหรับบรรยากาศการเข้ากราบถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งในวันนี้ดำเนินมาเป็นวันที่ 67 ของการพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เจ้าหน้าที่เปิดให้ประชาชนเข้าทางประตูวิเศษไชยศรี ในเวลา 04.50 น. ก่อนเปลี่ยนเข้าทางประตูมณีนพรัตน์ ถนนหน้าพระลาน เวลา 08.30 น. เพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทางประตูวิเศษไชยศรี
ทั้งนี้ พสกนิกรที่มากราบสักการะพระบรมศพทุกคนยังคงอยู่ในความโศกเศร้าเสียใจ หลายคนกอดพระบรมฉายาลักษณ์ที่นำมาด้วยไว้แนบอกตลอดเวลา ด้วยความเศร้าอาดูร ต่อการสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ ๙ ผู้เป็นที่รักและเคารพยิ่งในชีวิต และเมื่อได้เข้ากราบถวายสักการะพระบรมศพแล้ว สำนักพระราชวังแจกภาพพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พิมพ์ 4 สี ขนาด 5 คูณ 7 นิ้ว ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ประชาชนเป็นที่ระลึก
ด้าน นางสาวสุนิสา พารหาร อายุ 28 ปี พร้อมด้วย นางสาวชลิตวรรณ อุปะเก อายุ 24 ปี สองพยาบาลจากโรงพยาบาลมหาสารคาม เดินทางมาพร้อมคณะชาวบ้านที่เดินทางเข้ามาสักการะพระบรมศพ 7 คันรถบัส เผยว่า วันนี้มีหน้าที่ดูแลชาวบ้านส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ โดยนั่งรถกันมานานส่วนมากจะมีอาการหน้ามืด วิงเวียนเล็กน้อย แต่ไม่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง เพราะส่วนมากเตรียมตัวกันมาพร้อมรอเข้ากราบสักการะพระบรมศพอย่างดี โดยวันนี้ถือว่าโชคดีที่อากาศดี และรอไม่นานมาก
“วันนี้ถือโอกาสมาเข้ากราบสักการะพระบรมศพด้วย รู้สึกปลื้มใจมากๆ ในฐานะคนไทยเราได้มากราบพระองค์ท่านสักครั้งในชีวิต ทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายที่ทำให้ประชาชนอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่ท้อแท้ ตัวเองเป็นคนมหาสารคามตั้งแต่กำเนิด เมื่อก่อนเป็นพื้นที่แห้งแล้งมาก พระองค์ก็มาทำฝนเทียมให้อุดมสมบูรณ์ สอนพสกนิกรทำการเกษตรพอเพียง ให้มีความสุขอย่างยั่งยืน เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่มหาสารคามมักจะบอกเล่าให้ลูกหลานฟังถึงพระมหากรุณาธิคุณ กันรุ่นต่อรุ่น” นางสาวสุนิสา กล่าว
ด้าน นางสาวชลิตวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวเองทำหน้าที่เป็นพยาบาล เวลาปฏิบัติงานจะนึกถึงเรื่องที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงทำงานด้วยความเอาใจใส่ทุกอย่าง ทุกเรื่องทรงมีความตั้งใจทำเพื่อประชาชน ซึ่งตัวเองก็นำมาปรับใช้เริ่มจากรู้จักหน้าที่ของตัวเอง รับผิดชอบ และทำด้วยความตั้งใจ ใส่ใจ มีความอดทน เพื่อประโยชน์แก่ผู้ป่วยอย่างถึงที่สุด
ด้าน นายเวียน วงศา อายุ 73 ปี พสกนิกรจากจังหวัดสุรินทร์ เดินทางมาโดยรถโดยสารประจำทางพร้อมลูกสาวและหลานสาวทั้งหมด 6 คน เปิดเผยว่า ตนมีอาชีพเป็นเกษตรกร ทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ แบบไม่ใช้สารเคมี เพราะดำเนินชีวิตอาชีพตามแนวพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ ๙ ให้พอมีพอกิน ทำเองใช้เอง มีเหลือแจกจ่ายให้ญาติพี่น้อง เลี้ยงลูกจนจบปริญญาทั้ง 8 คน ชีวิตมีความสุขดี เราโชคดีที่มีพระองค์ท่านเป็นแบบอย่างให้ดำเนินรอยตาม พระองค์เต็มเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพอย่างยิ่ง
นายเวียน เล่าให้ฟังถึงความประทับใจที่ได้เข้ากราบสักการะพระบรมศพ ว่า เมื่อก้าวเข้าสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ตนมีความตื้นตันใจอย่างมาก เมื่อได้ก้มกราบศีรษะแตะที่พื้น ขนที่หัวก็ลุกขึ้นทันที เพราะสิ่งที่พระองค์ทำมาตลอดชีวิตเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นใครทำมาก่อน พระองค์ทำเพื่อปวงชนชาวไทย ไม่แบ่งแยก อาชีพเกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย ทรงทำให้พวกเรายังคงมีอาชีพของตนเองตราบชั่วลูกชั่วหลาน ส่วนตัวสมัยหนุ่มๆ เคยเฝ้ารับเสด็จฯ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาที่ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ และอำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ตนอยู่ห่างเพียง 1 เมตร ได้ก้มกราบทั้ง 2 พระองค์ ยังเป็นความรู้สึกตื้นตันใจมาจนถึงทุกวันนี้
ขณะที่ นางวรรยา บุญขวาง คุณครูโรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดชลบุรี พร้อมคณะ ครู - นักเรียน จำนวน 26 คน กล่าวว่า เดินทางออกมาจาก จ.ชลบุรี แล้วมาถึงที่สนามหลวงก่อน 05.00 น. ด้วยความตั้งใจอยากมากราบพระองค์ท่านเป็นครั้งสุดท้าย ในฐานะของการเป็นประชาชนคนไทยและคุณครูในโรงเรียนโสตฯ ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงไม่เคยทอดทิ้งเด็กๆ ผู้พิการ ทรงให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา โดยทางโรงเรียนได้ให้นักเรียนเรียนผ่านการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (ไกลกังวล) โดยมีคู่มือของครูเพื่อให้สอนนักเรียนด้วย
นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้การดูแลพวกเราอย่างต่อเนื่อง เสด็จฯมาเยี่ยมและทรงคอยให้ติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการสปีช วีฟเวอร์ ให้เด็กผู้บกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งยังมีความเป็นไปได้ที่จะได้ยินฝึกหัดการพูด รวมถึงโครงการผ่าตัดประสาทหูเทียมให้แก่เด็กนักเรียนที่ขาดทุนทรัพย์ นอกจากนี้ ทางโรงเรียนได้ดำเนินตามหลักคำสอนของท่านเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงด้วย หลังจากนี้ไม่มีพระองค์ท่านแล้ว แต่อยากให้ทรงช่วยปกปักรักษาคุ้มครองชาวไทยให้มีความสุขเจริญรุ่งเรือง
ด้านนักเรียนโรงเรียนโสตศึกษา นายศุภเชษฐ พัดเกิด ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 กล่าวว่า ได้รับรู้เรื่องราวของในหลวง รัชกาลที่ ๙ ผ่านการอ่านหนังสือดูโทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต เห็นพระองค์ทรงงานหลายอย่างเพื่อคนไทยทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การปลูกข้าว เลี้ยงปลา และการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะที่บ้านก็ทำการเกษตร โดยเราได้นำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่องการใช้จ่าย ใช้น้ำ ไฟ น้ำมัน อย่างประหยัด รวมถึงได้ตั้งจิตจะเป็นเด็กดี ช่วยเหลือสังคม และตั้งใจเรียน แม้หลังจากจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 อาจไม่ได้เรียนต่อปริญญาตรีทันที เพราะอยากจะทำงานก่อนเพื่อหาเงินมาเป็นทุนและช่วยเหลือครอบครัว ไม่ให้เป็นภาระของพ่อแม่และสังคม