ผู้จัดการออนไลน์ - อึ้ง! ร้อง จนท.รัฐ กล้า “ขายเข็มที่ระลึกเบื้องสูงปลอม” ในตลาดนัดคลองผดุงกรุงเกษม ของรัฐบาลบิ๊กตู่ โยงงาน “คลังพัฒนาชาติ ตลาดคลองผดุงสร้างชีวิต เสริมสร้างเศรษฐกิจมั่งคง” ที่กระทรวงการคลัง ให้ “กรมธนารักษ์”จัดจำหน่ายเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก พบขาย “นอกเหนือจากที่เปิดจอง” เผยจดหมายผู้นิยมเหรียญสะสม 2 ฉบับเขียนถึงอธิบดีฯ ใครจะรับผิดชอบ หลังพบขายเข็มที่ระลึกเลียนแบบของจริง
วันนี้ (21 ธ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนผู้นิยมสะสมเหรียญที่ระลึก เข้าร้องเรียนกับผู้สื่อข่าว “ผู้จัดการออนไลน์” ถึงความไม่โปร่งใสของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง กรณีนำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก มาให้ประชาชนทั่วไปจองและจำหน่าย ในงาน “คลังพัฒนาชาติ ตลาดคลองผดุงสร้างชีวิต เสริมสร้างเศรษฐกิจมั่งคง” ที่กระทรวงการคลัง และสำนักนายกรัฐมนตรี จัดขึ้นข้างๆ คลองผดุงกรุงเกษม ระหว่างวันที่ 1 - 23 ธันวาคม 2559 มีการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค อาทิ ข้าวสาร อาหารแห้ง สินค้าโอทอป สินค้ากลุ่มเอสเอ็มอี โดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เดินทางมาเปิดงาน
โดยงานดังกล่าว กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้เปิดจำหน่ายเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 10 ประเภท ประเภทละ 1,000 เหรียญ หรือวันละ 10,000 เหรียญ ตลอดช่วงระยะเวลาการจัดงาน รวมถึงเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ในหลวง ร.9 มีจำหน่ายจำนวนจำกัด วันละ 1,000 ชุด โดย กรมธนารักษ์ กำหนดให้นำบัตรประชาชนรับบัตรคิว 1 คน ได้รับ 1 สิทธิ์การแลกเหรียญ
ทั้งนี้ ผู้ร้องเรียนตั้งข้อสังเกตว่า “ผมมาติดใจ ในส่วนของเข็มที่ระลึกในหลวงทรงงานสะพายกล้อง ปี 2542 เลี่ยมทองไมครอน ซึ่งกรมธนารักษ์นำมาจำหน่ายในราคาเข็มละ 300 บาท ใส่ไว้ในตู้ขายโดยมีประชาชนผู้สนใจมารับบัตรคิว และทราบว่า มีผู้ได้รับบัตรคิวเฉพาะเข็มดังกล่าวนี้ถึง 6,000 ราย โดยตนได้รับบัตรคิวเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยได้ซื้อจำนวน 10 ชุด รวมเงิน 3,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ผมได้นำเหรียญดังกล่าวไปตรวจสอบจนทราบภายหลังว่า เป็นเข็มทำเลียนแบบ (เหรียญปลอม) ซึ่งเข็มนี้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้รับพระราชทานให้จัดสร้างตามโครงการจัดทำเข็มที่ระลึก งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.๙ เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 โดย สปน.เปิดในของและจำหน่ายในราคาเหรียญละ 300 บาท และทราบด้วยว่า เข็มดังกล่าวได้จำหน่ายหมดแล้ว"
“ก็ดีใจว่า หน่วยงานรัฐสามารถนำเข็มหายากมาจำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาด ที่เปิดในราคาเข็มละ 1,500 - 2,000 บาท แต่พอไปพบตัวอย่างเข็ม ที่ตลาดท่าพระจันทร์ กทม. เห็นว่า มีเข็มลักษณะเดียวกันจำหน่ายเพียง เข็มละ 150 บาท แถมมีกล่อง มีแหนบแบบเดิมๆ จึงตั้งข้อสังเกตว่า เข็มปลอมทำไมหน่วยงานราชการถึงนำมาจำหน่ายในงานที่รัฐบาลจัดขึ้นได้”
ผู้ร้องเรียนท่านนี้ ยอมรับว่า จากนั้นได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ระดับสูง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกรมธนารักษ์ และสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กับการนำเข็มมาจำหน่ายในงานตลาดนัดคลองผดุงกรุงเกษม ของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง แต่กลับไม่ได้รับรายละเอียดว่า ทำไมถึงมีเข็มเลียนแบบมาจำหน่าย ทั้งที่เป็นเข็มที่ สปน. ได้รับพระราชทานให้จัดสร้างเมื่อปี 2541 จำหน่ายเมื่อปี 2542 อย่างไรก็ตามตนได้รับคำตอบว่า เข็มดังกล่าวมีหน่วยงานหนึ่งในกรมธนารักษ์ เป็นผู้นำมาจำหน่ายในบูธของกรมธนารักษ์ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีคำตอบเป็นเอกสาร มีเพียงอาจจะตั้งกรรมการสอบสวนภายในเท่านั้น
“ทราบว่า จนถึงวันที่ 21 ธ.ค. นี้ กรมธนารักษ์ ได้สั่งให้ยกเลิกจองและจำหน่ายเข็มที่ระลึกในหลวงทรงงานสะพายกล้อง ปี 2542 ที่ตนพบว่า เป็นเหรียญปลอม ออกจากบูธในงานตลาดคลองผดุงฯแล้ว” ผู้ร้องเรียนท่านนี้ ระบุและว่า จำนวนเงินแม้จะไม่มากนัก แต่ยังติดใจว่า ทำไมหน่วยงานรัฐถึงกล้านำของปลอมมาจำหน่ายในงานที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็อยู่แถวๆ นั้น และเชื่อว่าต้องมีผู้ใหญ่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ล่าสุด บูธของกรมธนารักษณ์ ภายในตลาดนัดผดุงกรุงเกษม ได้ยกเลิกนำเข็มดังกล่าวมาจำหน่ายแล้ว แต่ยังพบว่า มีพ่อค้าแม่ค้าผู้นิยมสะสมเหรียญ ที่ได้ซื้อเข็มจากบูธกรมธนารักษ์ล็อตเดียวกันกับผู้ร้องเรียน ได้นำเข็มเลียนแบบออกมาจำหน่ายในราคา 400 - 600 บาท
มีรายงานว่า เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี ระบุไว้ว่า เข็มที่ระลึกในหลวงทรงงานสะพายกล้อง ปี 2542 ผลิตขึ้นเมื่อ ปี 2541 ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตดำเนินการจัดทำเข็มที่ระลึกเพื่อนำรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล เป็นเข็มที่ระลึกงานงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 โดย 1 ชุด มี 3 เหรียญ เข็มที่ระลึกดังกล่าวจำหน่ายในราคาเหรียญละ 300 บาท
อีเมลถึง “จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล” อธิบดีกรมธนารักษ์ ถามข้อเท็จจริง
มีรายงานว่า หลังจากทราบว่า เข็มที่ตนซื้อไว้เป็นของปลอม ผู้นิยมเหรียญสะสมคนนี้ ได้ทำหนังสือร้องเรียน อิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล) ไปถึง นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ ถึงสองฉบับ
โดยฉบับแรกส่งถึงเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. มีใจความว่า ตามที่กระทรวงการคลัง ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นมา ทางกรมธนารักษ์ ได้ออกบูธในงานและได้ให้โอกาสประชาชนทั่วไปได้เข้าไปแลกเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกจำนวนวันละ 1,000 คิว เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม กระผมได้ไปเข้าแถวต่อคิวเพื่อใช้สิทธิ์ในการแลกเหรียญและซื้อสินค้าซึ่งเป็นเหรียญที่ระลึกประเภทต่างๆที่ทางกรมฯได้นำมาจำหน่ายจ่ายแลก และภายในบูธแสดงสินค้าของทางกรมนั้นได้มีการจำหน่าย ล็อกเก็ตในหลวงทรงกล้องเลี่ยมทองไมครอน ในราคา 300 บาท ด้วยความเข้าว่าเป็นสินค้าของกรมจึงได้ซื้อมา แต่เมื่อนำมาตรวจสอบดูเพื่อที่ต้องการจะรู้ว่าเหรียญนี้กรมธนารักษ์ผลิตขึ้นเมื่อใด ปีที่ผลิตอะไร สร้างขึ้นจำนวนเท่าไหร่ และได้ขอพระบรมราชานุญาติในการจัดสร้างหรือไม่ เนื่องจากเป็นเหรียญในหลวง ร.9 ด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ และด้านหลังเป็นตราสัญลักษณ์ ภปร. โดยการโทรเข้ามาสอบถามกับทางกรมธนารักษ์
โดยครั้งแรกที่โทรมาได้เรียนสายกับ ผอ...... (ขอสงวนนาม) ได้ให้คำตอบว่า ไม่ใช่ของกรมฯจัดสร้างเป็นของ สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ จัดหามาจำหน่าย และจะขอตรวจสอบข้อมูลก่อน ครั้นกระผมได้โทรเข้าไปตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์ โดยได้มี ผู้เชี่ยวชาญ (ผชช.)(ขอสงวนนาม) ของ สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ ได้โทรมาให้คำตอบว่า เป็นสินค้าที่ทางเจ้าหน้าที่ของฝ่ายทรัพย์สินได้ไปหาเข้ามาจำหน่ายเองไม่ได้เป็นสินค้าที่ผลิตโดยกรมธนารักษ์ โดยกรมธนารักษ์ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ และได้รับอนุญาติจากผู้ใหญ่ให้นำมาจำน่ายในบูธของกรมฯได้ แต่พอกระผมพอถามว่าผู้ใหญ่ที่ว่านั้นเป็นใคร กลับไม่ยอมบอกชื่อ
ไว้ใจ สินค้าของหลวง ไม่มีการปลอมแปลงแน่
หนังสือฉบับแรก ระบุอีกว่า กระผมในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ได้แลกซื้อสินค้าของกรมธนารักษ์โดยการยืนเข้าคิวรอซื้อสินค้าเป็นเวลาหลายชั่งโมง เพื่อจะได้แลกซื้อสินค้าอันเป็นเหรียญที่ระลึกของในหลวงรัชกาลที่ ๙ และคิดว่าเหรียญที่จัดสร้างและจำหน่ายโดยหน่วยงานของรัฐบาลเป็นเหรียญที่น่าเชื่อถือ ไม่มีการปลอมแปลงหรือนำมาจากพ่อค้าแม่ค้าตามตลาดมาจัดจำหน่าย มีความประวัติความเป็นมาในการจัดสร้างชัดเจนน่าเชื่อถือ แต่พอมาทราบความจริงว่าเป็นเหรียญที่เจ้าหน้าที่ของกรมนำเข้ามาจำหน่ายเองภายในบูธของกรมธนารักษ์ โดยการอาศัยชื่อกรมธนารักษ์ในการจัดจำหน่ายเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของสินค้า ทำให้กระผมซึ่งไม่ทราบข้อเท็จจริงมาก่อนและยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าเหรียญนี้ไม่ใช่ของกรมธนารักษ์ผลิตเอง ก็ได้หลงซื้อไปเป็นจำนวนมาก
เสมือนโดนกรมธนารักษ์หลอกลวงในการจำหน่ายสินค้า ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกของในหลวงรัชการที่ ๙ เก็บไว้เป็นที่ระลึก และได้มีการระบาดของเหรียญปลอมอย่างแพร่หลาย ทำให้เหรียญที่จำหน่ายในท้องตลาดไม่น่าเชื่อถือว่าจะเป็นเหรียญปลอมหรือไม่ การได้ซื้อกับกรมธนารักษ์เป็นการการันตีได้ว่าเป็นเหรีัยญที่สร้างขึ้นจริงโดยกรมฯจริงๆ และรายได้จากการจำหน่ายเหรียญก็เป็นเงินของแผ่นดิน แต่วันนี้ความน่าเชื่อถือของกรมฯในสายตาของกระผมแล้วลดหายไป กล่าวว่าแม้แต่เจ้าหน้าของกรมฯเองได้สร้างรอยมัวหมองให้กับหน่วยงานของตัวเอง โดยนำเหรียญจากที่ไหนก็ไม่รู้มาจัดจำหน่าย ไม่มีมีที่มาที่ไปของเหรียญ และรายได้จากการจำหน่ายนี้ไม่แนใจว่าจะเป็นรายได้ของรัฐหรือของแผ่นดินหรือไม่ หรือจะไปอยู่ในกระเป๋าใคร (อันนี้ตั้งข้อสงสัย) และเหรียญในหลวงทรงกล้องทางกรมธนารักษ์ไม่เคยได้มีการขอพระบรมราชนุญาติในการจัดสร้าง เปรียบเสมือนการนำเหรียญปลอมที่วางขายทั่วไปในท้องตลาดมาจัดจำหน่าย กระผมไม่อาจบอกได้ว่าเป็นการเข้าข่ายหลอกลวงประชาชนหรือไม่ ขอให้พิจารณาเอาเอง
“อยากเรียนท่านว่าในฐานะที่ท่านเป็นอธิบดี สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นท่านคงไม่อาจจะปัดความรับผิดชอบได้ ท่านกำลังสร้างสิ่งที่มัวหมองให้เกิดขึ้นกับหน่วยงานของท่าน แม้ว่าท่านอาจจะไม่ได้เป็นคนก่อเอง แต่ความรับชอบทั้งหมดก็หนีไม่พ้นท่าน”
เผยเหมือนเหรียญ สปน.เดะ! แต่ที่ท่าพระจันทร์ขาย 150 บาท
มีรายงานว่า ผู้นิยมเหรียญที่ระลึก ยังทำหนังสือฉบับที่สอง เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ระบุว่า
“ตามที่ได้แจ้งให้ท่านได้ทราบว่า บูธของกรมธนารักษ์ ในงานตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ได้นำเหรียญในหลวงทรงกล้องปลอมมาจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป ที่มายืนเข้าคิวแลกเหรียญที่ระลึก ใคร่เรียนเพิ่มเติมว่า เหรียญนี้ทางบูธกรมธนารักษ์ได้นำมาวางขายให้กับประชาชนตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม เป็นเวลากว่า 5 วัน มีประชาชนจำนวนอย่างน้อย 5,000 คน ซึ่งรวมทั้งกระผมด้วย ที่ได้หลงเชื่อและได้ซื้อเหรียญนี้ไปด้วย แต่ทั้ง 5,000 คนอาจไม่ได้ซื้อทั้งหมด แต่อย่างน้อยต้องมีหลักพันชิ้นขึ้นไปที่ทางกรมธนารักษ์ได้จำหน่ายออกไป
วันนี้กระผมได้ไปเดินดูที่บริเวณท่าพระจันทร์และได้ไปเจอร้านขายเหรียญในหลวงปลอม ซึ่งทั้งรูปแบบ รูปทรง พิมพ์ทรงทั้งด้านหน้า - ด้านหลัง กรอบทองไมครอนเลี่ยมกันน้ำ ลายบนกรอบ แหนบติดเสื้อ และกล่องใส่เหรียญ ทุกชิ้นงานเหมือนกับที่บูธกรมธนารักษ์เอามาจำหน่ายให้กับประชาชนทุกประการ ตามรูปที่ผมได้แนบมาให้ท่านได้ดู และที่สำคัญ ราคาถูกกว่าที่กรมธนารักษ์นำมาจำหน่าย
ราคาที่วางขายที่ร้านดังกล่าว ที่ท่าพระจันทร์ ราคาขายปลีกอันละ 150 บาท ถ้าซื้อจำนวน 12 อันหรือ 1 โหลราคาอันละ 130 บาท แต่ถ้าซื้อเป็นจำนวนหลักพันชิ้นจะได้ในราคาโรงงานราคาเหรียญละ 80 บาท พร้อมกรอบทองไมครอนกันน้ำ ส่วนแหนบติดเสื้อขายปลีกชิ้นละ 15 บาท ถ้าซื้อทั้งแผงขายแผงละ 180 บาท 1 แผงมี 15 อัน ส่วนกล่องกำมะหยี่สีแดง ขายปลีกกล่องละ 25 บาท แต่ถ้าซื้อจำนวนมากจะเหลือกล่องละประมาณ 15 บาท รวมทั้งสิ้นแล้วต้นทุนต่อชิ้นถ้าได้ในราคาโรงงานก็จะตกชิ้นละ 107 บาท แต่ในบูธของกรมธนารักษ์นำมาจำหน่ายให้กับประชาชน 300 บาท กำไรจากการขายเหรียญนี้ไปตกอยู่ในกระเป๋ามือใคร และการที่จะเอาสินค้าเข้าไปขายในบูธได้เป็นเวลากว่า 5 วันติดกัน แน่นอนมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่าจะไม่มีผู้ใหญ่ที่มีอำนาจบอกไม่รู้เรื่องและไม่รับรู้ไม่ได้..????
โบ้ย! จนท. ฝ่ายทรัพย์สิน หามาขายเอง แถมได้รับอนุญาติจากผู้ใหญ่
หนังสือดังกล่าว ระบุด้วยว่า ต่อมากระผมได้รับการชี้แจงจาก ผู้เชี่ยวชาญ (ผชช.) (ขอสงวนนาม) ของ สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ ได้โทรศัพท์เข้ามาชี้แจงว่า เหรียญนี้ไม่ใช่ของกรมธนารักษ์และไม่เกี่ยวกับส่วนทรัพย์สิน แต่เป็นความผิดพลาด เป็นสินค้าที่ทางเจ้าหน้าที่ของฝ่ายทรัพย์สิน ได้ไปหาเข้ามาจำหน่ายเอง ไม่ได้เป็นสินค้าที่ผลิตโดยกรมธนารักษ์ โดยกรมธนารักษ์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ และได้รับอนุญาตจากผู้ใหญ่ให้นำมาจำหน่ายในบูธของกรมฯได้
“แสดงถึงเจตนาอย่างชัดเจนที่ตั้งใจจะนำเหรียญมาขายให้กับประชาชนที่ไม่รู้เรื่องหรือข้อเท็จจริงและต่างหลงเชื่อว่านี่เป็นสินค้าของกรมฯผลิตและจัดจำหน่ายให้กับประชาชน” หนังสือระบุว่า และว่าหนังสือในตอนท้ายที่เขียนถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุอีกว่า ในขณะที่ท่านอธิบดีออกข่าวทุกวันว่าได้ออกปราบปรามเหรียญปลอมที่กับลังระบาดอย่างหนักในช่วงเวลานี้ ทำงี้ได้ไง..ไหนบอกว่ารักพ่อ!!! แต่คนของท่านกับทำซะเอง
เปิดคิวเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 10 ประเภท ไม่พบจำหน่ายเข็ม สปน. ปี 42
มีรายงานว่า เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 10 ประเภท ที่กรมธนารักษ์ นำมาจำหน่ายในวันนั้น ประกอบด้วย 1. เหรียญทองคำ 5 รอบ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมารฯ (เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกทองคำขัดเงา) ชนิดราคา 1.6 หมื่น จำหน่าย 3 หมื่นบาท 2. เหรียญเงิน 5 รอบ สมเด็จพระบมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมารฯ (เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเงินขัดเงา) ชนิดราคา 800 บาท จำหน่าย 1,600 บาทรวมไปถึง เหรียญที่ระลึกทองคำขัดเงา ราคาจำหน่าย 550,000 บาท เหรียญที่ระลึกทองคำ ราคาจำหน่าย 20,000 บาท เหรียญที่ระลึกเงินรมดำพ่นทรายพิเศษ ราคาจำหน่าย 1,500 บาท และ เหรียญที่ระลึกทองแดงรมดำพ่นทราย ราคาจำหน่าย 100 บาท
3. เหรียญเงิน 120 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 4. เหรียญชนิดราคา 50 บาท 7 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ชุด 2 เหรียญราคาชุดละ 100 บาท 5. เหรียญชนิดราคา 50 บาท 5 รอบ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมารฯ 6. เหรียญชนิดราคา 20 บาท 150 ปี กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 7. เหรียญชนิดราคา 20 บาท 120 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 8. เหรียญชนิดราคา 10 บาท 84 พรรษา เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ 9. เหรียญชนิดราคา 10 บาท 150 ปี พระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข และ มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหรียญ อาทิ เหรียญที่ระลึกสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ชนิดทองแดงขนาด 3 เซนติเมตร, สร้อยพร้อมเหรียญที่ระลึกพระคลัง, หนังสือวิวัฒนาการเงินตราไทย, ชุดเหรียญทองแดงที่ระลึกกาญจนาภิเษก เป็นต้น
อธิบดีธนารักษ์ เผยวันจองถึงขั้น ปชช.ต่อยกัน-แย่งคิว
มีรายงานว่า ในงาน “คลังพัฒนาชาติ ตลาดคลองผดุงสร้างชีวิต เสริมสร้างเศรษฐกิจมั่งคง” ที่กระทรวงการคลังจัดขึ้นข้างๆคลองผดุงกรุงเกษมพบว่า มีประชาชนกว่า 2,000 คน มารอคิวหน้าบูธของกรมธนารักษ์ จำนวนมาก
โดยเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุวันนั้นว่า บูธของกรมธนารักษ์มีประชาชนให้ความสนใจมาก โดยกรมฯได้นำเหรียญที่ระลึกกว่า 10 ชนิด ชนิดละ 1,000 เหรียญ หรือวันละ 10,000 เหรียญเปิดให้ประชาชนจับจอง ปรากฏว่า ในวันแรกที่เปิดงานมีประชาชนให้ความสนใจแลกซื้อจำนวนมาก จนเกิดความชุลมุนแย่งกันจองซื้อจนเกิดการกระทบกระทั่งและถึงขั้นชกต่อยกัน ทำให้เจ้าหน้าที่กรมฯต้องจัดระเบียบใหม่ ด้วยการรับบัตรคิว และใช้บัตรประชาชนในการซื้อเพียง 1 สิทธิ์เฉพาะแค่ในงานเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับที่กรมฯเปิดจำหน่ายก่อนหน้านี้
ธนารักษ์ ออกหนังสือตามจับเหรียญกษาปณ์ปลอม
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2559 นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ ออกมาเปิดเผยว่า กรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับโรงงานผลิตเหรียญปลอม หรือมีผู้นำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญที่ระลึกที่มีพระรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติในโอกาสต่างๆ โดยปลอมแปลงผลิตขึ้นใหม่มาวางจำหน่ายทั่วไปในปัจจุบัน
กรมธนารักษ์แจ้งว่าไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าว โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และนำเหรียญมาตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบทางกายภาพและเคมีกับเหรียญที่กรมธนารักษ์ผลิต เพื่อรวบรวมข้อมูลส่งให้กองปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการตามกฎหมายต่อไปแล้ว
สำหรับกรณีที่ปรากฏภาพเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในโอกาสที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความเป็นเลิศ “ด้านการสร้างสรรค์” พร้อมทั้งมีการเชิญชวนสั่งจองเหรียญดังกล่าวทางสื่อออนไลน์ในราคาที่สูงกว่าหน้าเหรียญ โดยอ้างว่าจะได้รับเหรียญก่อนที่กรมธนารักษ์จะนำออกจ่ายแลกหรือในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้น
กรมธนารักษ์ขอแจ้งว่าเหรียญดังกล่าว ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการผลิตของโรงกษาปณ์และยังมิได้ออกกฎกระทรวงของเหรียญ กรมธนารักษ์ยังไม่ได้กำหนดวันจ่ายแลกเหรียญดังกล่าว ดังนั้น ผู้ที่นำภาพมาเผยแพร่จึงมีความผิดตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้กรมธนารักษ์ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อหาผู้กระทำผิดมาลงโทษแล้ว
ทั้งนี้ มีประชาชนได้ให้ความสนใจสอบถามข้อมูลการผลิตเหรียญมายังกรมธนารักษ์เป็นจำนวนมาก ขณะนี้กรมธนารักษ์ได้นำภาพและข้อมูลเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เหรียญที่ระลึกที่ผลิตขึ้นในโอกาสสำคัญต่างๆ มาเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกรมให้ผู้สนใจและนักสะสมเหรียญ ใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาตรวจสอบ ก่อนตัดสินใจซื้อเหรียญมาเก็บไว้เป็นที่ระลึกต่อไปด้วยแล้ว โดยในเบื้องต้นได้นำข้อมูลเฉพาะบางเหรียญที่มีผู้ปลอมแปลง และวางจำหน่ายในปัจจุบันมาเผยแพร่ก่อน และจะได้รีบเร่งนำภาพและข้อมูลเหรียญทั้งหมดที่กรมธนารักษ์ผลิตขึ้นเผยแพร่ให้ครบทุกเหรียญต่อไป