องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตัดสินใจยกเลิกสัญญาเดินรถของรถประจำทาง สาย 207 วิ่งระหว่าง ม.รามคำแหง 1 (หัวหมาก) ถึง ม.รามคำแหง 2 (บางนา)
โดยได้แจ้งความกับสถานีตำรวจที่เกี่ยวข้องว่าเป็น “รถเมล์เถื่อน” พร้อมกับยื่นหนังสือไปให้ทางกรมการขนส่งทางบกพิจารณาถอดถอนรถเมล์สาย 207 ออกจากบัญชีรายละเอียดของรถที่ใช้ในการขนส่ง (ขส.บ.11)
นายวีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. ยืนยันว่า หากรถเมล์สาย 207 ยังคงให้บริการและกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดอันตราย ทาง ขสมก. จะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น
เพราะถือเป็นรถให้บริการผิดกฎหมาย
ด้าน นายคมสัน โชติประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถเอกชนร่วมบริการ ขสมก. ระบุว่า ขสมก. จะนำรถเมล์เดิมในแต่ละเส้นทาง นำไปให้บริการทดแทนรถเมล์สาย 207 เพื่อลดผลกระทบในการเดินทางของประชาชน
หลังรถเมล์เอ็นจีวีใหม่ถูกจัดส่งมาถึงไทยแล้ว 99 คัน และจะนำไปให้บริการใน 21 เส้นทาง
สาเหตุที่ ขสมก. ตัดสินใจยกเลิกสัญญารถเมล์สาย 207 เป็นเพราะเมื่อเดือนกันยายน 2559 ที่ผ่านมา ศาลแพ่งพิพากษาให้ บริษัท 207 เดินรถ จำกัด ชดใช้ค่าสินไหมแก่ครอบครัว
หลัง น.ส.ปิยะธิดา โชติมนัส อายุ 21 ปี นักศึกษาปี 4 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ประสบอุบัติเหตุตกจากรถร่วม ขสมก. สาย 207 บริเวณแยกลำสาลี เมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 14 ก.ย. 2547
ก่อนพลเมืองดีนำตัวส่ง รพ.รามคำแหง ในสภาพศีรษะด้านซ้ายฟาดกับพื้นถนนอย่างแรง สมองด้านขวายุบลงไปกดก้านสมอง สมองขาดออกซิเจนขึ้นไปหล่อเลี้ยงนาน 20 นาที จนกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา
ก่อนเสียชีวิตเมื่อเวลา 01.30 น. วันที่ 24 ก.ย. 2547 หลังเข้ารับการรักษานาน 2 สัปดาห์
คดีนี้ นายนำ โชติมนัส และ นายจิระพงศ์ โชติมนัส บิดาและพี่ชายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เรียกค่าสินไหมทดแทน 12.08 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
กระทั่งวันที่ 22 มี.ค. 2549 ศาลแพ่งพิพากษาให้จ่ายค่าสินไหมทดแทน 10.74 ล้านบาท
ต่อมาวันที่ 8 มิ.ย. 2549 จำเลยยื่นอุทธรณ์ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากความประมาทของผู้ตาย “ไปเรียนโดยอาศัยรถเมล์ประจำทาง ที่เป็นการเสี่ยงภัยประจำวันเป็นกิจวัตร” และที่ศาลชั้นต้นให้ชดใช้เงินดังกล่าวนั้น สูงเกินไป
โจทก์ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2549 ที่ผ่านมา กระทั่งวันที่ 22 ม.ค. ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 10 ล้านบาทเท่าเดิม
ต่อมา ฝ่ายโจทก์ได้ยื่นฎีกา โดยคนขับรถและเจ้าของสัมปทานเดินรถขาดนัดพิจารณาและไม่ยื่นฎีกา กระทั่ง 8 มี.ค. 2555 ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลย 5 ฝ่าย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งสิ้น 9.85 ล้านบาท
โดยศาลฎีกาได้ปรับลดค่าขาดไร้อุปการะ 20 ปี กำหนดรายได้อนาคต จาก 46,000 บาทต่อเดือน เป็น 40,000 บาทต่อเดือนเพราะสูงเกินไป รวมเป็นเงิน 9.6 ล้านบาท
ส่วนคดีอาญา เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2549 ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุก นายทวิม แสงเดช พนักงานขับรถโดยสารร่วมบริการสาย 207 เป็นเวลา 3 ปี แต่ให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
ต่อมา นายถวิล คนขับรถ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอาญา อ้างว่า ตนมีความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพ ต้องหาเลี้ยงครอบครัวที่มีมีฐานะยากจน และมีภาระต้องรับผิดชอบ ขอให้ศาลรอการลงโทษ
กระทั่ง 7 ส.ค. 2550 ศาลอาญาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ระบุว่า พฤติการณ์ของคนขับรถเป็นเรื่องร้ายแรง กระทบความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แม้จะเป็นเรื่องน่าเห็นใจแต่คำพิพากษานั้นเหมาะสมแล้ว
แต่เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2558 ขสมก. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายทวิม, นายขจร อจลวิญ์ (หรือ ธนะสิทธิ์ วรโชติหิรัญศิริ) เจ้าของรถ, บริษัท 207 เดินรถ และนายเชาวน์ กระแสร์ชล โดยนายกัมปนาท กระแสชล ทายาท ในฐานะผู้รับสัมปทานต่อศาลแพ่ง
โดย ขสมก. วางเงินเพื่อชำระหนี้แทนไปก่อนต่อศาลแพ่ง ตามคำพิพากษาของศาล ที่ต้องชดใช้จำนวน 16.28 ล้านบาท จึงนำคดีมาฟ้องไล่เบี้ยให้ชำระค่าเสียหายแก่ ขสมก. จำนวน 17.02 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5
9 ก.ย. 2559 ศาลพิพากษาให้นายทวิม และนายกัมปนาท ร่วมกันชดใช้เงิน 16.28 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ส่วน นายขจร และบริษัท 207 เดินรถ ให้ชดใช้ 4.01 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5
เป็นมหากาพย์ที่เรียกได้ว่า ขสมก. กับรถร่วมสาย 207 ต้องงัดข้อกันไปอีกข้างหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การยกเลิกสัญญาเดินรถสาย 207 คราวนี้ มีกระแสข่าวว่า เขตการเดินรถที่ 3 (อู่เมกาบางนา) จะเป็นผู้รับผิดชอบการเดินรถทดแทนสาย 207 โดยคาดว่าจะให้บริการในช่วงปีใหม่นี้ หลังได้รับรถเมล์เอ็นจีวี
ปัจจุบันรถเมล์เอ็นจีวีรุ่นใหม่ 100 คัน ที่บริษัท เบสทริน กรุ๊ป จำกัด ผู้ชนะการประมูล ได้จัดซื้อ มาถึงท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี แล้ว แต่กระบวนการทางศุลกากรยังไม่เรียบร้อย และยังไม่ได้นำรถโดยสารออกจากพื้นที่ท่าเรือ
แต่ด้วยความถี่ที่ ขสมก. มักจะมีรูปแบบการเดินรถแตกต่างไปจากรถร่วมบริการที่มีรถให้บริการจำนวนมาก ความถี่ในการปล่อยรถช้ากว่า อีกทั้งปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ จึงเกรงว่านักศึกษาอาจเข้าห้องสอบไม่ทัน
ขณะที่รถประจำทางสาย 182 จากเดิมวิ่งแค่เซ็นทรัลลาดพร้าว ถึง ม.รามคำแหง 1 ก็เริ่มมีบางคันขยายเส้นทางถึง ม.รามคำแหง 2 ไปตามแยกรามคำแหง ถ.พระราม 9 ถ.ศรีนครินทร์ ถ.บางนา-ตราด และเข้าสู่ ม.รามคำแหง 2
โดยบริษัท กระแสร์เงินยานยนต์ จำกัด ได้นำรถประจำทางปรับอากาศ สีเหลือง มาวิ่งให้บริการ ในราคา 13 บาท ตลอดสาย คาดว่า จะพอทดแทนรถประจำทางสาย 207 ได้เปลาะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงการสอบทั้งภาคปกติและภาคซ่อม องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้จัดรถโดยสารของมหาวิทยาลัยฟรี วิ่งรับส่งจาก ม.รามคำแหง 1 ถึง ม.รามคำแหง 2 แต่มีเพียงแค่วันละไม่กี่เที่ยวเท่านั้น
จึงกังวลว่า ในวันที่ 12 ม.ค. 2560 ซึ่งเป็นวันสอบซ่อมภาค 1/2559 และวันที่ 19 มี.ค. 2560 วันสอบไล่ภาค 2/2559 นักศึกษานับหมื่นคน ที่ต้องเดินทางไปสอบทั้งสองวิทยาเขต จะได้รับความเดือดร้อนอย่างยิ่ง