ที่วัดแจ้งหรือวัดอรุณราชวราราม ตรงที่มีรูปยักษ์ ๒ ตนยืนตระหง่าน ซึ่งเป็นมุมที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศนิยมมาใช้เป็นฉากถ่ายรูปกันนั้น ด้านหลังของยักษ์ทั้ง ๒ นี้จะเห็นศาลาเล็กๆอยู่ข้างละศาลา ภายในศาลาด้านขวาจะมีรูปแกะสลักหินเป็นชายนั่งอยู่ในท่าพนมมือ แต่ชายที่อยู่ในศาลาด้านซ้าย หรือด้านใต้นั้นอยู่ในท่านั่งสมาธิ
ชายที่นั่งพนมมืออยู่ในศาลาด้านทิศเหนือนั้นก็คือ นายเรือง คนในยุคสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งได้เผาตัวตายต่อหน้าผู้คนเป็นจำนวนมากที่ลานวัดแจ้งนี้ เมื่อวันศุกร์ เดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำ พ.ศ.๒๓๓๓
ก่อนที่เผาตัวตายประมาณ ๙-๑๐ วัน นายเรืองกับเพื่อนอีก ๒ คนคือ ขุนศรีกัณฐัศว์ แห่งกรมม้า และนายทองรัก ได้พากันไปอธิษฐานที่พระอุโบสถวัดครุฑ โดยมีดอกบัวตูมไปคนละดอก ต่างอธิษฐานว่าถ้าใครจะสำเร็จพระโพธิญาณแล้ว ขอให้ดอกบัวของผู้นั้นจงเบ่งบาน
รุ่งขึ้นปรากฏว่าดอกบัวของนายเรืองบานเพียงดอกเดียว ของอีก ๒ คนไม่ยอมบาน ทำให้นายเรืองเชื่อมั่นว่าตนนั้นจะเป็นผู้ได้สำเร็จพระโพธิญาณแน่ จึงได้ไปที่ศาลาการเปรียญวัดอรุณฯ สมาทานอุโบสถศีล ฟังเทศนาและเอาสำลีชุบน้ำมันวางพาดไว้ที่แขน จุดไฟบูชาต่างประทีปทุกวัน แม้จะร้อนอย่างไร นายเรืองก็ทนได้ เพราะจิตใจคิดแต่เรื่องพระโพธิญาณเท่านั้น
ในวันเผาตัว เวลาทุ่มเศษ เมื่อนายเรืองได้ฟังเทศน์จบลงแล้ว ก็นุ่งผ้าชุบน้ำมันเดินออกมาที่หน้าศาลาการเปรียญ นั่งพนมมือในท่าที่ถูกสลักเป็นหินไว้ เมื่อรักษาอารมณ์สงบดีแล้วจึงจุดไฟเผาตัวเอง ขณะที่ไฟลุกขึ้นท่วมตัวนั้นนายเรืองก็ร้องขึ้นว่า “สำเร็จปรารถนาแล้ว...สำเร็จปรารถนาแล้ว...”
ขณะนั้นมีคนยืนดูการเผาตัวครั้งนี้ประมาณ ๕๐๐-๖๐๐ คน เพราะมีการประกาศให้รู้ล่วงหน้า คนที่ยืนดูต่างก็ร้องว่า “สาธุ!” ขึ้นพร้อมกัน แล้วต่างก็เปลื้องผ้าห่มโยนเข้ากองไฟ แม้แต่คนนับถือศาสนาอื่นยังถอดหมวกคำนับแล้วโยนหมวกเข้ากองไฟด้วย
พอไฟโทรมลง คนที่ศรัทธาได้ช่วยกันยกศพนายเรืองใส่โลงตั้งไว้บนศาลาการเปรียญ สวดอภิธรรม ๓ คืน แล้วจึงนำไปเผาที่ทุ่งนาวัดหงส์รัตนาราม ติดกับพระราชวังเดิม กล่าวกันว่าเมื่อตอนที่จุดไฟเผาศพนายเรือง ได้มีปลาในท้องนากระโดดเข้ามาในกองไฟด้วย ๑๑-๑๒ ตัว
อัฐินายเรืองนั้นปรากฏว่ามีสีต่างๆ ทั้งเขียว ขาว เหลือง ขาบ ดูประหลาด จึงช่วยกันเก็บใส่โกศดีบุกตั้งไว้บนศาลาการเปรียญ
ส่วนรูปแกะสลักหินที่นั่งสมาธิอยู่ในศาลาด้านซ้ายนั้นก็คือ นายนก ซึ่งได้เผาตัวตายที่วัดอรุณราชวรารามนี้อีกราย โดยรายของนายนกเกิดขึ้นในวันพุธ เดือน ๖ แรม ๗ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๖๐ ในรัชกาลที่ ๒ หลังจากนายเรืองเผาตัวไปแล้ว ๒๗ ปี
ก่อนหน้านั้นประมาณเดือนเศษ นายนกได้บอกญาติมิตรและคนสนิทที่มักคุ้นว่า จะประพฤติสุจริตธรรม ทำบุญรักษาศีล ตั้งจิตปรารถนาพระนิพพานธรรม จากนั้นก็ลาบ้านเรือนไปนั่งสมาทานศีลเจริญภาวนาสงบจิตอยู่ที่ศาลการเปรียญวัดอรุณราชวราราม ไม่ห่วงกังวลในสังขาร ใครศรัทธาให้อาหารก็บริโภคไม่มีใครให้ก็อด
ในวันเผาตัว นายนกไม่ได้บอกให้ใครรู้ล่วงหน้าเหมือนนายเรือง คงนั่งสมาธิอยู่บนศาลาการเปรียญตามปกติ คืนนั้นฝนตกตั้งแต่หัวค่ำจนห้าทุ่มจึงขาดเม็ด ครั้นรุ่งเข้าจึงมีคนเห็นนายนกนั่งสมาธิเผาตัวตายสมปรารถนาไปแล้ว ที่ใต้ต้นโพธิ์หน้าวิหารเก่า ไฟก็ดับมอดแล้ว
เมื่อผู้คนทราบข่าวการเผาตัวตายแบบเงียบๆของนายนก ต่างพากันศรัทธามาร่วมทำบุญบังสุกุลศพเป็นจำนวนมาก ต่อมาก็แกะสลักหินรูปนายเรือง นายนก ในท่าที่แต่ละคนนั่งขณะเผาตัวตายและสร้างศาลาตั้งไว้ แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าใครสร้างและสร้างไว้ตั้งแต่เมื่อใด
แม้ขณะนี้เหตุการณ์ที่นายเรืองเผาตัวตายจะล่วงเลยเวลามาแล้วถึง ๒๐๐ กว่าปี และนายนกก็เผาตัวมาจะครบ ๒๐๐ ปีแล้ว แต่ก็ยังมีผู้ศรัทธาเลื่อมใสไปกราบไหว้บูชากันเสมอ จะเห็นพวงมาลัย และหมากพลูสดๆ พร้อมทั้งขวดน้ำดื่มตั้งไว้ไม่ขาด สอบถามคนที่ดูแลอยู่ในย่านนั้นก็บอกว่า ไม่เคยได้ยินเรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์หรือมีอภินิหารของรูปแกะสลักนายเรือง-นายนก แต่อย่างใด แต่ก็เห็นมีคนมากราบไหว้บูชาอยู่เป็นประจำ