รองปลัด กทม. ยอมรับมีผู้ป่วยด้วยไวรัสซิกา 21 ราย ในเขตสาทร รวมถึงสาวท้องที่สามีติดเชื้อจากสิงคโปร์ แต่คลอดลูกแล้ว ปลอดภัยทั้งแม่ - ลูก พบรัศมี 100 เมตรรอบบ้าน มีแหล่งเพาะยุงจำนวนมาก ยืนยันยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ พร้อมจัดทีมเฝ้าระวังเข้ม 30 วัน จับตา 4 เขตติดกับสาทร
วันนี้ (10 ก.ย.) เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ รายงาน โดยอ้างการเปิดเผยของ พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ว่า มีผู้ป่วยและติดเชื้อไวรัสซิกาที่ไม่มีอาการในเขตสาทร กรุงเทพฯ รวมจำนวน 21 คน แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นหญิงตั้งครรภ์ที่สามีติดเชื้อมาจากประเทศสิงคโปร์ โดยก่อนหน้านั้น หญิงสาวดังกล่าวเป็นไข้ มีผื่น ปวดข้อ และ ตาแดง ไปรักษาโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีการสอบถามประวัติ นำไปสู่การตรวจจนได้ผลตรวจยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสซิกา แต่น่าดีใจได้คลอดลูกแล้ว ซึ่งปลอดภัยดีทั้งแม่และลูก
พญ.วันทนีย์ กล่าวอีกว่า ในละแวกบ้านหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อในรัศมี 100 เมตร มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงจำนวนมาก จึงเฝ้าระวังตรวจเจาะโรค และต้องเฝ้าดูว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีกหรือไม่ในพื้นที่ 4 เขตใกล้เคียงกับเขตสาทร เนื่องจากมีบางคนเดินทางไปต่างจังหวัด อาทิ นครราชสีมา และ ปทุมธานี เป็นต้น โดยประสานกระทรวงสาธารณสุขจัดทีมให้การแนะนำ
ส่วนสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสซิกาในเขตสาทรขณะนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโดยสำนักการอนามัย และสำนักงานเขต อย่างเคร่งครัด ประมาณ 30 วัน หรือ 2 เท่าของระยะฟักตัว โดยขอความร่วมมือผู้ติดเชื้อ งดเดินทางออกนอกบ้านในระยะนี้ ควรให้เชื้อไวรัสออกจากร่างกายประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้ติดคนอื่น ซึ่ง กทม. มั่นใจการจัดการแพร่ระบาดที่ทำอย่างเต็มที่มาตลอด และต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากใครมีอาการไข้สูง ผื่นขึ้น ปวดข้อ และ ตาแดง ให้ไปพบแพทย์ ควรเล่าอาการให้ฟัง หรือได้เดินทางไปยังแหล่งระบาดในต่างจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ บึงกาฬ เพชรบูรณ์ และ จันทบุรี
พญ.วันทนีย์ กล่าวอีกว่า เป็นห่วงการติดเชื้อในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งจะมีผลต่อเด็กทารกทำให้กะโหลกเด็กเล็กลง เพราะฉะนั้นต้องจัดการยุงลาย โดยที่ผ่านมา ทำมาอย่างเต็มที่มาตลอด แต่ก็มีหลุดบ้าง จึงขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันกำจัดทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อป้องกันทั้งโรคไข้เลือดออกและไวรัสซิกา ยุงลายมีวงจรชีวิตสั้นมาก จึงอยากให้ช่วยกัน แต่ไม่อยากให้ตื่นตระหนก