xs
xsm
sm
md
lg

“ซิ่นเป็นของมีพลัง!” : ลอดลายคุณค่าแห่งผ้าถุง ในองศาหญิงสาว “นุ่งซิ่น อินเตอร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ผ้าซิ่น” เอกลักษณ์พื้นบ้านของประเทศไทยที่มีมาแต่ช้านาน ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่า “เชย” “ล้าสมัย” “ไม่อินเทรนด์” แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ตกหลุมรักผ้าซิ่นจนถึงขั้นหามาใส่ในชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับเธอคนนี้ ปอนด์-ภริษา ยาคอปเซ่นผู้หลงใหลในผ้าซิ่นและการนุ่งซิ่นเป็นชีวิตจิตใจ
เพราะคลุกคลีอยู่กับคุณแม่และคุณยายที่นุ่งซิ่นมาโดยตลอด ทำให้เธอได้สัมผัสและหลงใหลในเสน่ห์ของผ้าซิ่น จนกระทั่งปัจจุบัน เธอกลายเป็นคนที่ตกหลุมรักผ้าซิ่นไปโดยปริยาย

เพราะความชอบเลยอยากถ่ายทอดให้คนอื่นได้มองเห็นถึงคุณค่าผ้าซิ่น และเพจ “นุ่งซิ่นอินเตอร์” ก็คือสิ่งที่เธอสรรสร้างขึ้นมาเพราะต้องการปลุกกระแสให้คนไทยหันมานุ่งซิ่นให้มากขึ้น และด้วยลุคที่แหวกแนว จึงทำให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นว่าการนุ่งซิ่นไม่เชยอย่างที่คิด จนตอนนี้เธอกลายเป็นต้นแบบให้กับวัยรุ่นยุคใหม่ที่สนใจหันมานุ่งซิ่นได้ดีไม่น้อย

“ซิ่นจะไม่มีวันตาย ไม่มีวันสูญไปอย่างแน่นอนถ้าตราบใดที่คนยังใส่อยู่ ยังไงมันก็เป็นที่ต้องการอยู่ตลอด” และนี่ก็คือความเชื่อของสาวนุ่งซิ่นอินเตอร์คนนี้

• รู้มาว่าคุณปอนด์เป็นคนที่หลงรักซิ่นมาก

ใช่ค่ะ (ยิ้ม) เริ่มมาจากเห็นคุณแม่ใส่มาตลอด คุณแม่จะชอบนุ่งซิ่น มันมีอยู่หนึ่งรุ่นที่ทำให้ซิ่นหายไปเลย คือรุ่นที่เขาใส่กางเกงขาบานกัน ยุคนั้น ซิ่นดูจะหายไปเลยนะคะ แต่คุณแม่ของปอนด์ก็ยังใส่อยู่ ทุกวันนี้ก็ยังใส่อยู่ ปอนด์เลยได้เห็นมาตลอด เลยเกิดความเคยชิน (ยิ้ม)

ตอนแรก ปอนด์ก็ไม่ได้คิดเลยนะคะว่าตัวเองจะหันมาใส่ซิ่น แต่มีช่วงหนึ่ง ปอนด์ไปอยู่ที่ประเทศนอร์เวย์ประมาณ 3 ปี ที่นั่นเขาจะมีวันชาติ และในวันชาติของเขานั้น เขาก็จะนุ่งเป็นชุดประจำชาติของเขากัน เขานุ่งกันทุกคนเลยนะ นุ่งชุดประจำชาติออกมาเดินบนถนนแล้วก็โบกธง ทุกคนจะทำแบบนี้เหมือนกันหมดเลย ซึ่งพอเราเห็นเขาใส่ชุดประจำชาติ รู้สึกว่ามันสวยงามมากเลยนะคะ เราก็เลยมีความคิดว่า เราน่าจะเอาซิ่นมาเนอะ เราจะได้เอาออกมาใส่บ้าง นั่นคือความคิดแรกที่เกิดขึ้นมาเลยค่ะ

พอกลับมาเมืองไทย ปอนด์ก็เลยหาซิ่นมาใส่ เริ่มต้นจากซิ่นแม่ ก็ใส่สนุกๆ ก่อน แต่พอใส่แล้วเกิดความรู้สึกว่า เออ มันก็สวยดีนะ เริ่มมีคนชมว่าเราใส่ซิ่นแล้วสวยนะ แล้วมันจะเป็นจริงๆ นะ เวลาคนที่นุ่งซิ่นใหม่ๆ พอมีคนมาชมว่าสวย จะคิดเลยว่า ฉันจะนุ่งซิ่น อินเนอร์มันจะมาเอง (หัวเราะ)

• นอกจากความสวยงามแล้ว เราไปเห็นคุณค่าอะไรในผ้าซิ่นอีกบ้างคะ

ซิ่นมีคุณค่ามากมายเลยนะ หนึ่งคือความสวยงาม เพราะส่วนตัวคิดว่าถ้าเรามองไปที่ซิ่นแล้วรู้สึกว่าสวย มันก็คือจบแล้วนะคะ ถ้าเราเห็นความสวยงามของมันแล้ว การที่อยากจะอนุรักษ์มันตามมาเอง เพราะมันจะเริ่มอยากจะเก็บของที่เราชอบเอาไว้ เราเห็นคุณค่าของมัน

อย่างแบรนด์ทั่วไปที่เขาทำกัน ลายผ้าจะอยู่ที่เทคนิค แต่เขาทำด้วยการพรินต์ แต่ผ้าเราใช้ทอ และราคาก็เท่าๆ กันเลย อันนั้นคือคุณค่า เมื่อนำแบรนด์มาเทียบกัน มันก็คือแบรนด์พรินต์ แต่ของเราคือผ้าทอ ย้อมมือ ย้อมด้วยเปลือกไม้ ดอกไม้ นั่นคือคุณค่าที่ไม่เหมือนกัน มันก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาเองว่า ทำอย่างไรอยากให้เขาได้ทำต่อ คำว่าอนุรักษ์ในที่นี้คือคำว่าทำต่อ ดังนั้น ถ้าคนใช้มากๆ ก็จะต้องมีคนทำ ก็จะต้องมีคนขาย นั่นคือการอนุรักษ์รวมกัน เป็นเหมือนการอุดหนุนไปไหนตัว อุดหนุนชาวบ้าน ซิ่นคือเป็นเงินที่ถึงชาวบ้าน

ตอนแรก ซิ่นเป็นของที่ทุกคนไม่อยากใส่นะ แต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงลงไปหาชาวบ้าน และตรัสกับชาวบ้านว่าทำไมสวยจังเลย และก็เอาไปพัฒนา ซิ่นเลยกลายเป็นของแพงขึ้น มาทุกวันนี้ กลายเป็นของมีมูลค่า สมัยก่อนคือแบบห้าบาทสิบบาท คนก็ไม่เอา

สมัยก่อน ชาวบ้านจะทอผ้าใส่เอง หน้านาก็ทำนา พอเวลาไม่ได้ทำนา ทุกบ้านก็จะมีกี่ทอผ้า โดยเฉพาะผ้าไหมเก่าจะไม่เหมือนกันเลย แต่ก็จะมีลายมาตรฐานเขาก็จะมีผสมผสาน มันบอกถึงผู้หญิงคนนั้นที่นั่งทอผ้าว่าอารมณ์เขาเป็นยังไง ศิลปะในหัวเขาเป็นยังไง เขาถึงไปย้อมลายแบบนี้แล้วทอแบบนี้ เห็นแล้วมันมีมูลค่ามากกว่าโรงงานมากมาย

• ตั้งแต่ตอนนั้น ก็ใส่ซิ่นในชีวิตประจำวันมาตลอดเลยใช่ไหม

เราเริ่มมาใส่ซิ่นตอนอายุ 30 ปีแล้ว ตั้งแต่ตอนนั้นก็ใส่มาเรื่อยๆ ช่วงแรกๆ อาจจะใส่เยอะหน่อย เพราะว่าบ้าซิ่นอยู่ตอนนั้น (หัวเราะ)

เราจะไม่ค่อยซีเรียสกับการนุ่งซิ่นเท่าไหร่ค่ะ แต่เราอาจจะใส่มากกว่าคนทั่วไปหน่อย แต่ก็ไม่ถึงขั้นเหมือนกับคุณยาย ที่ต้องใส่ทุกวัน แต่เราจะใส่ไปงานแทบทุกงานค่ะ แต่ในชีวิตประจำวัน ก็บางอารมณ์ บางโอกาส

จริงๆ ปอนด์ไม่ได้นุ่งซิ่นจริงจังอะไรมากนะคะ พูดง่ายๆ ว่านุ่งซิ่นคืออดิเรกมากกว่า เพราะชุดทั่วไป อย่างกางเกงปอนด์ก็ใส่ ปอนด์จะคิดเสมอว่าซิ่นก็คือกระโปรงหนึ่งตัว วันไหนที่นึกอยากจะใส่ลายนี้ ก็เอาออกมาใส่ แต่ปอนด์ก็ยังนุ่งกางเกง นุ่งชุดธรรมดาปกติเหมือนเดิม คือบางคนอาจจะคิดไปว่าปอนด์ทำเพจ “นุ่งซิ่นอินเตอร์” เขาจะเห็นในรูปว่าเราใส่ตลอด ซึ่งถ้าวันไหนเจอเราแล้วเราไม่ได้นุ่งซิ่น เขาก็จะผิดหวัง

แต่ยังไง ความเป็นจริง เราก็ต้องเป็นเรา เราไม่ได้ว่าจะต้องนุ่งซิ่นตลอดเวลาเหมือนกับคนสมัยก่อน เพราะว่าเดี๋ยวนี้ชีวิตมันเปลี่ยนไปแล้ว เอาจริงๆ นะ ถ้าปอนด์เห็นคนที่นุ่งโจงกระเบนหรือใส่สไบ คือยังไงมันก็ไม่สบายเหมือนนุ่งกางเกง ยังไงต้องลำบากกว่าคนที่เขานุ่งกางเกงอยู่แล้ว คืออันนั้นมันก็เหมาะกับยุคนั้นจริงๆ นึกสภาพเข้าห้องน้ำห้างฯ ให้นุ่งโจงกระเบน คือมันไม่ใช่ เราต้องใส่ให้มันพอเหมาะ พอควร

• มีคนมองว่าการนุ่งซิ่น “เชย” “ล้าสมัย” ตรงนี้คิดเห็นอย่างไร

แทบทุกคนค่ะที่มองว่าการนุ่งซิ่น เชย มีแต่รุ่นแม่เท่านั้นแหละที่จะใส่ แต่ส่วนตัวปอนด์ยังไม่เคยโดนมองว่าเชยเลยนะคะ ก็เพราะหน้าเราไม่เชยอ่ะ (หัวเราะ) คือปอนด์เป็นคนหนึ่งที่เสพแฟชั่นฝรั่ง แล้วฝรั่งเขาจะนิยมใช้ลายผ้าแบบนี้ แต่เขาจะเอาผสมผสานให้มันดูเป็นอีกแบบ เราก็ดู

พูดจริงๆ เลยนะ ถ้าเราเสพสื่อนอกเยอะๆ เราจะรู้ว่าของเราดีแค่ไหน แต่ถ้าเราอยู่ในประเทศไทยและเราเสพแต่สื่อไทย เราก็จะไม่เห็นคุณค่า เพราะว่าสื่อไทยเองก็ไม่ค่อยจะพรีเซนต์ผลิตภัณฑ์ของตัวเองเท่าไหร่ จะไปเน้นแต่คนนี้ไฮโซเพราะใช้ของแบรนด์เนมต่างประเทศ

จะบอกว่าชาวต่างชาติเขารักผ้าไทย ก่อนที่คนไทยจะหันมารักผ้าไทยด้วยซ้ำ อย่างดีไซเนอร์คนอิตาลีก็ใช้ผ้าไหมไทยตัด คือแอบมาซื้อกัน ฝรั่งเศสมาซื้อผ้าซิ่นที่โคราชบ้านเรา เอาผ้าเราไปตั้งขายในงานผ้าของฝรั่งเศส โดยที่คนไทยเองก็ไม่รู้ อย่างคนไทยได้เห็นผ้าฝ้ายย้อมครามด้วยมือของคนญี่ปุ่นก็จะชอบเลย อารมณ์เหมือนเห็นทอง แต่หารู้ไม่ว่าเขาเอาผ้าย้อมครามของเราไปตัดที่ญี่ปุ่น พอเห็นเป็นของญี่ปุ่น คนไทยก็ว่าสวยแล้วก็ซื้อกลับมา แต่จริงๆ แล้วมันคือของไทยทั้งนั้น ผลิตภัณฑ์เยอะมากถ้าเป็นเรื่องของผ้าฝ้ายย้อมคราม ชาวบ้านเขาก็จะรู้กันดี เพราะว่าชาวบ้านเป็นคนทำให้เขา เขาก็จะมาสั่งชาวบ้านว่าเขาต้องการแบบนี้

เพียงแต่ว่าความต้องการของคนไทยกับชาวต่างชาติ มันแตกต่างกัน อย่างเรื่องสี คนไทยจะชอบสีจัด ต่างชาติชอบสีทึมๆ ชอบสีที่เข้ากัน คนไทยชอบสีตัดกัน เนื้อผ้าก็เหมือนกัน สมมติว่าเป็นผ้าฝ้าย คนไทยจะชอบเรียบๆ ฝรั่งชอบอะไรที่แบบใช้มาแล้วเยอะๆ แค่ชอบไม่เหมือนกันเฉยๆ แต่ว่าผ้าไทยนั้นดังมานานมากแล้ว ในระดับอินเตอร์เขาจะรู้จักกันมานานมากแล้ว

จริงๆ ถ้าเราสังเกตดีๆ ตอนนี้เทรนด์มันย้อนกลับด้วยซ้ำนะคะ ประมาณว่าจะเป็นการย้อนกลับไปโหยหาอะไรที่อยู่ในอดีต แต่อะไรที่มันอยู่ในอดีต คนจะเข้าไม่ถึง อย่างนาฏศิลป์หรืออะไรที่เขาทำแบบดั้งเดิม วัยรุ่นจะเข้าไม่ถึงเลย แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำให้มันเข้ากับปัจจุบันได้แค่นิดเดียว มันจะไม่มีคำว่าเก่า คำว่าล้าสมัยค่ะ (ยิ้ม)

• แบบนี้มีวิธีการประยุกต์เอาผ้าไทยมาผสมผสานกับแฟชั่นสมัยใหม่อย่างไรบ้าง ช่วยเล่าสไตล์การแต่งตัวให้ฟังหน่อยค่ะ

ปอนด์จะเลือกใส่กับเชิ้ตสีขาว สีพื้น เพราะมันเข้ากับทุกอย่าง เข้ากับยีนส์ รวมถึงเข้ากับซิ่นด้วย บางทีคนจะเข้าใจผิดว่ายิ่งเยอะ ยิ่งดี ประมาณว่าซิ่นเป็นลายแล้ว แต่ก็หยิบผ้าที่เป็นลายเป็นลูกไม้มาใส่ แบบนี้จะทำให้เราดูแก่ ดังนั้น ถ้าเสื้อลายข้างล่างก็ต้องเรียบ ถ้าข้างล่างเป็นลายข้างบนก็ต้องเรียบแทน

• เห็นว่าเปิดเพจ “นุ่งซิ่นอินเตอร์” ด้วย

เพราะเราคิดว่าผ้าไทยดูอินเตอร์ ปอนด์เลยตั้งชื่อเพจว่า นุ่งซิ่นอินเตอร์ อีกอย่างเราก็ได้ถ่ายทอดไปให้ต่างชาติได้รับรู้ในวัฒนธรรมของเราเหมือนกัน อย่างเวลาที่ปอนด์ไปนอร์เวย์ก็นุ่งซิ่นบ้าง อีกอย่าง เราอยากกระตุ้นให้คนได้รู้สึกว่าอยากนุ่งซิ่นเพิ่มขึ้น และการนุ่งซิ่นก็ไม่จำเป็นต้องแก่ เพราะมันคือทั้งเทรนด์พื้นบ้านและเทรนด์โลก

พอเราทำให้เขาเริ่มเห็น มันก็เป็นเหมือนแรงบันดาลใจค่ะ คนที่เขาชอบซิ่นด้วยกัน พอเขาเห็นเพจปุ๊บ เขาก็รีบไหลเข้ามากัน คนเข้ามากดติดตามก็เยอะเหมือนกัน ตอนนี้ก็ประมาณสามหมื่นได้ค่ะ ก็จะมีคนเข้ามาโพสต์ภาพกันเยอะมาก จะแลกเปลี่ยนกัน จนตอนนี้เป็นกระแสที่ดีมากๆ ไปแล้ว

ปอนด์เริ่มทำเพจตั้งแต่สองปีที่กลับมาอยู่ไทย เพจนี้ก็ได้สามปี เกือบสี่ปีแล้วค่ะ กระแสดีมาก ดีไปหมดตลอดไปจนถึงวงการผ้าไทยเลย ซึ่งตอนนี้ก็มีเพจเกี่ยวกับซิ่นขึ้นมาเยอะมากหลังจากที่ปอนด์เปิดแล้ว มันคือความสำเร็จค่ะ

มีคนเข้ามาปรึกษาปอนด์เยอะมากเหมือนกัน เพราะบางคนก็นุ่งไม่เป็น และบางคนก็ชอบคิดว่านุ่งซิ่นแล้วเหมือนจะหลุด เราเลยต้องทำขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้คนหันมานุ่งซิ่น ทำเพจเพื่อให้ความรู้ก็มีสอดแทรกวิธีการนุ่งไป อนาคต ปอนด์ก็อยากจะจัดกิจกรรมนะคะ เพราะเพจอื่นเกิดทีหลัง แต่กิจกรรมแน่นมาก และจะมีคนมาบอกว่า ทำไมเราไม่ทำบ้าง อะไรแบบนี้ เราก็เลยรู้สึกว่าอยากทำ แต่ว่าเราไม่อยากทำให้เหมือนกับของคนอื่นไง เราอยากทำให้มันพิเศษ ก็ต้องใช้เวลาคิดนิดนึงค่ะ (ยิ้ม)

• เท่าที่คลุกคลีกับผ้าซิ่นหลายปีมา ส่วนใหญ่คนที่นุ่งซิ่นจะเป็นวัยไหนคะ แล้วมีเด็กวัยรุ่นให้ความสนใจการนุ่งซิ่นบ้างหรือเปล่า

ตั้งแต่ปอนด์ทำเพจขึ้นมาเริ่มต้นเราจะเห็นคนที่สนใจจะเป็นวัยผู้ใหญ่หน่อย พอหลังๆ ก็จะมีวัยรุ่นมากขึ้น วัยรุ่นนักศึกษาจะทักเข้ามาในข้อความบ่อยมาก มาขอสัมภาษณ์ ทำวิทยานิพนธ์ จะเข้ามาเรื่อยๆ

• อาจจะมีคนในจำนวนมากที่ละเลยตรงนี้ไป รู้สึกอย่างไรบ้าง

จริงๆ ปอนด์ว่าก็ไม่แปลกนะคะ ถ้าวัยรุ่นบางส่วนไม่ใส่ เพราะรู้สึกว่าทุกอย่างมันจะมีจังหวะเวลาของมันอยู่ ถ้าเขาไม่สนใจ มันก็คือช่วงชีวิตเขาที่จะไม่สนใจ ปอนด์เองตอนอายุยี่สิบกว่า ก็ไม่ได้สนใจนะ และก็มีช่วงชีวิตที่ปอนด์ได้ไปเห็นอะไรต่างๆ และก็อยู่ๆ ก็มาสนใจ ซึ่งวันหนึ่งเขาอาจจะสนใจก็ได้ หรือวันหนึ่งคนที่สนใจอยู่ทุกวันนี้ เขาอาจจะไม่สนใจแล้วก็ได้ อะไรก็ไม่แน่นอน

ก็อย่างที่บอกว่าวัยรุ่นจะหันมาชอบซิ่น หนึ่งเลยแม่ต้องใส่ ถ้าแม่อยากให้ลูกใส่ แม่ต้องใส่ก่อน เพราะว่าแม่เป็นรุ่นที่ทำให้รุ่นเราหลุดมาจากรุ่นยาย เราจะเห็นบ่อยมากว่าพอแม่ใส่คู่กับลูก นั่นคือการเริ่มต้น ให้ความมั่นใจกับลูก แต่ถ้าคนที่แม่ไม่ใส่เลย ก็สามารถลุกขึ้นมาใส่เองได้ เพราะเรามีความเชื่อว่าถ้าได้เสพสื่อนอกมากๆ ได้เห็นก็จะเกิดการทำตามเอาง่ายๆ ถ้าวัยรุ่นจะใส่ก็ให้มองที่แม่กับยาย ถ้าไม่มองตรงนั้น ก็มามองที่เพจนุ่งซิ่นอินเตอร์ก็ได้ ก็มีตัวอย่างให้ได้ดูมากมาย อย่างอื่นต้องเห็นก่อนว่ามันเก๋ไก๋นะ ถ้ามองไม่เห็นถึงความเก๋ไก๋ เขาก็จะไม่อยากใส่มัน พอเขาไม่อยากใส่แล้วไปฝืนใส่ ก็จะเกิดความรู้สึกว่าไม่มั่นใจจนทำให้ไม่อยากใส่ไปอีก

• การนุ่งซิ่น แน่นอนว่าต้องเริ่มจากที่ครอบครัวปลูกฝังมาก่อนใช่ไหมคะ

ใช่ค่ะ อย่างปอนด์ก็ได้เห็นแม่กับยายใส่มาตลอด คือปอนด์โดนปลูกฝังมาให้แต่งตัวเรียบร้อย การปลูกฝังก็คือแม่ชอบให้ลูกเรียบร้อย พอเรามาใส่ซิ่น แม่ ยาย พี่ ป้า น้า อา ปลื้มกันมาก ทุกคนเขาก็ต่างพากันปลื้มว่าหลานเรานุ่งซิ่น เราก็เลยอยากให้เขาปลื้มกันต่อไป (หัวเราะ) แต่เราก็ต้องชอบด้วยนะ เพราะเรารู้สึกว่าทุกครั้งที่เราได้ใส่ อย่างฝรั่งมานั่งในร้านอาหารไทย ก็จะมีนางรำ มีดนตรีไทย มาเล่นให้ฝรั่งได้ดู นั่นก็คือการแสดงความเป็นไทย แต่เราไม่ต้องไปรำ ไม่ต้องไปเล่นดนตรีไทย เราแค่เดินออกมาก็สามารถแสดงความเป็นไทยได้แล้ว ปอนด์มองว่าซิ่นก็คือกระโปรงหนึ่งตัวแต่มีพลัง มันจะไม่เหมือนกระโปรงทั่วไป ซิ่นเป็นของมีพลัง พอเราได้ใส่เราจะรู้สึกว่าเรามีพลัง

• อะไรที่สามารถทำให้เราเชื่อเหลือเกินว่า ผ้าไทย อย่างผ้าซิ่น จะไม่มีวันตายและหายไป

ซิ่นจะไม่มีวันตาย ไม่มีวันสูญไปอย่างแน่นอน ถ้าตราบใดที่คนยังใส่อยู่ ยังไงมันก็เป็นที่ต้องการอยู่ตลอด และปอนด์มองว่าคนนุ่งซิ่นด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ข้าราชการก็อาจจะใส่ด้วยหน้าที่ และก็แข่งกันว่าลายใครสวยกว่า ซิ่นใครแพงกว่า ส่วนวัยรุ่นก็แค่อาจจะอยากแตกต่าง เบื่อความเหมือน บางครั้งอาจจะรู้สึกว่ามันใช่ตัวเองจริงๆ ฉันเกิดมาเพื่อนุ่งซิ่นจริงๆ ก็ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป แต่ก็ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลไหนก็แล้วแต่ มันก็ดีหมด เพราะเงินจะได้เข้ากระเป๋าชาวบ้าน อันนั้นคือโอเค (ยิ้ม)

ส่วนตัวปอนด์เคยคิดเหมือนกันนะคะว่าจะไปเรียนทอผ้าเอง แต่แม่ห้ามไว้ (หัวเราะ) เพราะแม่บอกว่าให้ชาวบ้านได้ทำงานของเขาไป เราอย่าไปแย่งงานชาวบ้านเขาเลย ส่วนเราก็มีหน้าที่อุดหนุนชาวบ้านเขาไป (หัวเราะ)

• ดูเหมือนว่าเราจะเป็นต้นแบบนุ่งซิ่นให้กับคนยุคใหม่ด้วย

ตรงนี้รู้สึกดีค่ะ ดีมากๆ อย่างเวลาไปเดินงานโอทอปกับแม่ แล้วมีคนเยอะมากเลยมาขอเราถ่ายรูปด้วย บอกว่าเราเป็นไอดอลของเขา บางร้านมาหาเลย บอกกับเราว่ามาถ่ายหน้าร้านหน่อย เดี๋ยวลดราคาให้พิเศษ อย่างนี้ก็มี เราก็ดีใจที่เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ใช่แค่ให้คนใส่ซิ่น วงการทอผ้าของชาวบ้านมากกว่าที่ทำให้เราภูมิใจ เป็นการอุดหนุนชาวบ้าน ได้ช่วยเหลือคนไทย ได้ใช้ผ้าไทย บางทีพอเราพูดคำว่าอนุรักษ์อาจจะดูแบบว่า นุ่งซิ่นเพื่ออนุรักษ์เหรอ คือมันไม่ใช่อ่ะ มันดูไม่จริง เพราะเราเน้นนุ่งซิ่นเพราะเห็นว่ามันสวย คือเราชอบมากกว่า ซึ่งอาจจะได้อนุรักษ์ไปในตัว

ปอนด์คิดว่าปอนด์จะนุ่งซิ่นไปตลอด เพราะว่ามันเป็นเรา ปอนด์อาจจะไม่ได้นุ่งซิ่นทุกวัน แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เราเห็นก็คือเรื่องของวัฒนธรรม แค่เดินออกจากบ้าน ก็รู้เลยว่าเป็นคนไทย บางคนไปลาวก็นุ่งซิ่น คนลาวก็จะรู้เลยว่าเป็นคนไทยเพราะว่าเป็นลายผ้าไทยเพราะว่าซิ่นนั้นไม่เหมือนกันจากแหล่งที่มา เพราะว่าคนเรามาจากทั่วประเทศ และรู้หรือเปล่าว่ามีลายผ้าซิ่นของประเทศตัวเอง น้อยคนที่จะรู้ แต่วันหนึ่ง สมมตินะ ถ้าคุณไปหยิบซิ่นสกลนครใส่ แล้วคนอุดรฯเห็น เขาก็จะพูดว่า นี่เป็นซิ่นแบบของสกลนคร คุณจะรู้สึกเลยว่า ฉันคือคนสกลนคร รู้สึกภูมิใจมากๆ ค่ะ

• ชอบผ้าซิ่นขนาดนี้ ถ้ามีคนมาขอความรู้เรื่องซิ่นเราจะแนะนำเขาอย่างไรบ้างคะ เช่น วิธีการเลือกซื้อ, ราคา, การเก็บรักษาต่างๆ

เริ่มจากวิธีการเลือกซิ่นก่อนนะคะ คือต้องบอกก่อนว่า ซิ่นมีหลายเนื้อผ้า อย่างผ้าฝ้ายก็จะมีเป็นลักษณะของเขา ผ้าไหมจะออกลื่นๆ เวลาเราไปซื้อ คนขายคือครูที่ดีมาก เขาจะอธิบายให้เรา เราก็จะได้จากตรงนั้น ถามว่าปอนด์เคยไปศึกษาอย่างจริงจังไหม ปอนด์ไม่เคยศึกษาค่ะ จะเหมือนกับเราซื้อเสื้อผ้าทั่วไปเลย เห็นอันไหนที่ลายโดนและชอบก็ซื้อเลย จริงๆ แล้วการขายซิ่นจะเป็นเหมือนกับการขายเสื้อผ้าทั่วไปนั่นแหละ

ราคาซิ่นก็มีตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักหมื่น อย่างที่ปอนด์ใส่อยู่ ถูกสุดก็ 700 บาท เป็นซิ่นไหมเก่า ปอนด์จะชอบแบบนี้ คือไหมเก่าผ้าจะนิ่ม ไปจนถึงสองหมื่นขึ้นไปเลยก็มีค่ะ ส่วนใหญ่ราคาจะต่างกันที่ลาย อย่างการปักทั้งตัว มีความยากกว่า ช่วงเวลาในการทำ เขาอาจจะใช้ระยะเวลาที่นาน กว่าจะเสร็จ ทำทุกวัน ทั้งวันอะไรประมาณนี้ค่ะ

ส่วนแหล่งขายซิ่นที่ ปอนด์ไปชอปปิ้งบ่อยที่สุด ก็จะเป็นงานโอทอปค่ะ งานโอทอปนี่ห้ามพลาดเลยเด็ดขาด เพราะเป็นสวรรค์ของคนนุ่งซิ่นมาก และอีกอย่างในงานโอทอปคนเขาก็จะใส่ซิ่นไปโชว์กัน ปอนด์ชอบไปเดินดูค่ะ เพราะทุกคนจะจัดเต็มมาก แต่ว่าถ้าไม่มีงานโอทอป ก็จะไปที่เจเจมอลล์ชั้นใต้ดิน

อีกอย่างจะบอกว่า ซิ่นมีทุกภาคเลยนะคะ ภาคใต้ยังมีเลย ภาคใต้เขาก็จะนุ่งเป็นผ้าปาเต๊ะ เป็นผ้าพิมพ์ลายแต่ไม่ได้พิมพ์โรงงาน พิมพ์ด้วยบล็อกไม้ และก็ปั๊มลงไปบนผ้า จะเป็นแบบนี้ ซึ่งจะเป็นการทำในลักษณะของเอามาจากมาเลเซีย ทุกวันถูกลืมเยอะมาก คนมักจะไปสนใจในซิ่นของภาคอีสาน ภาคเหนือ แต่ผ้าภาคใต้ก็มีเสน่ห์ มีสีที่สดใสมาก เหมาะกับซัมเมอร์ เหมาะกับอากาศบ้านเรามาก แต่มันอาจจะดูว่าไม่ได้ใช้แรงงานมาก เลยไม่เป็นที่นิยม แต่ว่าก็เป็นที่นิยมของคนใต้ ขณะที่ผ้าของภาคอีสานก็มีบุคลิก ลักษณะที่ไม่เหมือนกัน ภาคกลางก็ไม่เหมือนกัน ส่วนภาคเหนือก็จะเหมือนกับเจ้านาง ผ้าในทุกภาคมีบุคลิก มีเสน่ห์เป็นของตัวเอง ผ้าซิ่นมีทุกภาค ทุกจังหวัด ไม่มีภาคไหนที่ไม่ทำซิ่น เพราะว่าคนสมัยก่อนทอผ้าใส่เอง

เวลาปอนด์เลือกซื้อ ปอนด์จะดูว่าอันไหนสวย ถูกใจ พอเราเห็นว่าสวยแล้ว เราก็จะถามเขาว่า เป็นผ้าที่ไหนคะ อะไรอย่างนี้ เขาก็จะอธิบายให้เราฟัง แต่ท้ายที่สุดคือแปลกมาก ยังไงก็ไม่รู้งานโอทอปทุกงาน ปอนด์ต้องไปอยู่ในร้านของโคราช ซึ่งเป็นบ้านเกิดของปอนด์เอง มันเป็นความเชื่อมต่อกับชุมชนที่เราก็ไม่สามารถรู้ได้เหมือนกัน ว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้นไปได้ ปอนด์ชอบผ้าไหมโคราช เพราะว่าสีมันถูกกับเรา เป็นสีที่คลาสสิก และอินเตอร์มาก ผ้าโคราชถูกขายให้กับฝรั่งเศสเยอะมากๆ

ส่วนตัวปอนด์ตอนนี้มันอยู่ในจุดที่ว่าซิ่นถมห้องแล้ว (หัวเราะ) เราก็จะค่อยๆ ทยอยขายออกไปบ้าง แจกให้คนนู้นคนนี้ไปบ้าง เพราะเรารู้สึกว่าเราควรใส่ คือถ้ามีซิ่นต้องใส่ ไม่ใช่เก็บอย่างเดียว ดังนั้นปอนด์เลยจะเอาไปให้กับคนที่ไม่เคยมีเลย ให้เขาได้ใส่ มันยังรู้สึกมีคุณค่า บางคนมีซิ่นเป็นหีบเลยแต่ไม่เคยเอาออกมาใส่ บางคนยายทิ้งไว้ให้เป็นมรดก เก็บไว้ไม่เคยได้เห็นอากาศเลย ซึ่งจริงๆ แล้วซิ่นต้องเปิดให้โดนอากาศ ให้ผ้าได้หายใจ ไม่งั้นจะผุ เราก็เลยแจกเลยค่ะ ทุกวันนี้ก็เลยมีซิ่นไม่มาก (ยิ้ม)

5 วิธีนุ่งซิ่นแบบฉบับนุ่งซิ่นอินเตอร์ นุ่งอย่างไรไม่ให้ซิ่นหลุด

“จริงๆ มีเป็นร้อยวิธีนะแต่ปอนด์เอา 5 วิธีแบบง่ายๆ ดังนี้ (รายละเอียดดูได้จากคลิป)

1.นุ่งแบบบ้านๆ ป้ายซ้ายธรรมดาเลย
2.ทำซิ่นเป็นสองข้างทบกันแล้วผูก
3.นุ่งซิ่นแบบมีอุปกรณ์ จะใช้กะลาหรือโลหะก็ได้
4.จีบหน้านาง
5.นุ่งแบบ 3 ทบ

ส่วนใหญ่ปอนด์จะนุ่งแบบป้ายธรรมดาแบบคุณยาย ถ้าสังเกตเวลาอย่างยายไปเที่ยวตามงานวัดแล้วลงจากรถ เขาก็จะป้ายสะบัดจัดระเบียบกัน เหมือนประมาณว่า ถึงแล้วนะ จัดระเบียบกันสักหน่อย คือเอามือจับเอาไว้แล้วก็ดึงและก็ป้ายไปข้างหน้า ยายบางคนแค่ทบก็อยู่แล้ว ต้องเป็นผ้าฝ้ายนะคะถึงจะอยู่ ส่วนผ้าไหมจะเลื่อน วิธีการก็อยู่ที่ผ้าด้วยค่ะ อย่างผ้าฝ้ายจะทำยังไงก็ได้เพราะว่ามันฝืด จะแค่ทบก็อยู่ทั้งวัน ความรู้สึกที่ว่าเหมือนจะหลุดตลอดเวลา มันคือความรู้สึกที่ไม่ชิน เราจะชินกับยางยืด เราจะรู้สึกว่ามันแน่น แต่พอมันเป็นผ้าที่เราต้องผูกเองเราจะรู้สึกไม่ชิน แรกๆ จะเป็นค่ะ” (ยิ้ม)

เรื่อง : วรัญญา งามขำ , สุนิสา ศรีสุข
ภาพ : พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร 

กำลังโหลดความคิดเห็น