“
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “สมเด็จย่า” ของปวงชนชาวไทยนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า ท่านเสด็จพระราชสมภพในครอบครัวสามัญชน นิวาสสถานเมื่อทรงพระเยาว์เป็นเพียงห้องแถวชั้นเดียวและเป็นห้องเช่า อยู่ในชุมชนหลังวัดอนงคาราม ธนบุรี
แม้ห้องแถวนี้จะถูกรื้อไปแล้ว แต่บริเวณใกล้กันนั้นยังมีอาคารซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีลักษณะคล้ายกับที่สมเด็จย่าเคยประทับ และถูกทิ้งร้างอยู่ เมื่อเจ้าของที่ดินทราบเรื่องจึงทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พัฒนาเป็น “อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี”
สมเด็จย่าประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๔๓ ที่เมืองนนทบุรี เป็นบุตรคนที่ ๓ ของพระชนก “ชู” และพระชนนี “คำ” แต่พระภคินีและพระเชษฐาร่วมอุทร ๒ คนเสียชีวิตเมื่อยังเล็ก เหลือแต่ “คุณถมยา” พระอนุชาซึ่งอ่อนกว่า ๒ ปี
เมื่อสมเด็จย่าจำความได้ ครอบครัวของพระองค์ได้ย้ายมาอยู่ที่หลังวัดอนงคารามแล้ว ซึ่งก็คือซอยวัดอนงคาราม เขตคลองสานในปัจจุบัน ใกล้กับที่อยู่เดิมของพระชนกชู และเป็นย่านของช่างทำทอง ซึ่งพระชนกชูมีอาชีพทำทองก็เปิดทำทองขึ้นที่บ้านด้วย
พระชนกชูถึงแก่กรรมขณะสมเด็จย่ายังทรงพระเยาว์มาก พระชนนีคำต้องรับภาระเลี้ยงดูพระองค์และพระอนุชา ทั้งยังเป็นครูคนแรกที่สอนหนังสือให้ ต่อมาสมเด็จย่าเข้าเรียนที่โรงเรียนสำหรับเด็กหญิงที่วัดอนงคาราม จนโรงเรียนแห่งนี้เลิกกิจการจึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนศึกษานารี วงเวียนเล็ก
เมื่อทรงอ่านออกเขียนได้แล้วสมเด็จย่าทรงโปรดการอ่านหนังสือมาก ทรงหยิบยืมเสาะหาหนังสือวรรณคดีมาอ่านเป็นประจำ แม้พระชนนีจะสนับสนุนให้ธิดาได้รับการศึกษา แต่ด้วยฐานะทางครอบครัวที่ยากจน สมเด็จย่าจึงต้องออกจากโรงเรียนศึกษานารีหลังจากเข้าเรียนได้เพียงเดือนเศษเท่านั้น
เมื่อพระชนมายุได้ ๗-๘ พรรษา ญาติทางฝ่ายพระชนกได้นำสมเด็จย่าถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี หรือสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จย่าจึงต้องไปอยู่ที่พระตำหนักสี่ฤดูในพระราชวังดุสิตด้วย
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีฯ โปรดให้สมเด็จย่ากลับเข้าเรียนที่โรงเรียนสตรีวิทยาอีก จึงต้องมาประทับกับคุณหวน หงสกุล ข้าหลวงของกรมหลวงเพชรบุรีฯ ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้โรงเรียน
เมื่อสมเด็จย่ามีพระชนมายุ ๙ พรรษา พระชนนีคำก็ถึงแก่กรรม และพระองค์ทรงย้ายไปพำนักกับพระยาดำรงแพทยาคุณ (ฮวด วีระไวทยะ) แพทย์หลวงประจำพระองค์สมเด็จพระพันวสาฯ ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสตรีวิทยาจนถึง พ.ศ.๒๔๕๖ พระชนมายุ ๑๓ พรรษา พระยาดำรงแพทยาคุณชวนให้ไปเรียนวิชาพยาบาล พระองค์ก็ตกลงทันที
สมเด็จย่าทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช หลักสูตร ๓ ปี จบในพ.ศ.๒๔๕๙ ก็เข้าทำงานที่โรงพยาบาลศิริราช จนใน พ.ศ.๒๔๖๐ ก็ทรงได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ให้ไปเรียนต่อที่อเมริกาพร้อมกับนางสาวอุบล ปาลกะวงศ์ ในแขนงวิชาพยาบาลเพียง ๒ คน
ในการเสด็จไปอเมริกาครั้งนี้ สมเด็จย่าต้องระบุนามสกุลในหนังสือเดินทางด้วย แม้จะมีพระราชบัญญัตินามสกุลมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๖ ซึ่งพระชนกชูถึงแก่กรรมแล้ว จึงไม่มีผู้ใหญ่ฝ่ายชายไปจดทะเบียนนามสกุล สมเด็จย่าจึงต้องขอยืมนามสกุลของขุนสงขลานครินทร์ (หลี ตะละภัฏ) เจ้ากรมของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ระบุพระนามในหนังสือเดินทางว่า “สังวาลย์ ตะละภัฏ”
เรื่องนี้สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “แม่เล่าให้ฟัง” ว่า
“...ส่วนถมยาน้องชายของแม่ เมื่อเจริญวัยแล้วได้ไปขอจดทะเบียนที่อำเภอ ใช้นามสกุลว่า “ชูกระมล” ถึงแม้ว่าแม่ไม่เคยใช้นามสกุลชูกระมล ก็อยากจะถือว่าแม่เกิดมาในสกุลนี้”
สมเด็จย่าเสด็จทางเรือพร้อมกับนักเรียนไทยคนอื่นๆและผู้ดูแล ถึงอเมริกาในเดือนตุลาคม ๒๔๖๐ พักกับครอบครัวอดัมสันที่เมืองเบิร์คลี ใกล้ซานฟรานซิสโก เพื่อศึกษาภาษาและวัฒนธรรมอเมริกันเป็นเวลา ๑ ปี จึงเสด็จไปเมืองบอสตัน รัฐแมสซาซูเซตต์ และได้เข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชเป็นครั้งแรกที่สถานีรถไฟในคืนเสด็จไปถึง
ขณะนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงสำเร็จวิชาการทหารเรือจากเยอรมันแล้ว แต่ทรงสนพระทัยที่จะปรับปรุงการแพทย์และการสาธารณสุขของไทย จึงเสด็จไปทรงศึกษาวิชาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยบอสตันอีก พระองค์จึงมีพระชนมายุสูงกว่านักเรียนไทยอื่นๆหลายปี ทรงวางพระองค์เป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยด้วยพระเมตตา เสด็จไปรับนักเรียนใหม่และทรงช่วยเหลือนักเรียนไทยเสมอ
สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯโปรดให้นักเรียนพยาบาลทุนของพระองค์ทั้งสอง คือนางสาวสังวาลและนางสาวอุบลเดินทางต่อไปพักกับครอบครัวสตรอง ที่เมืองฮาร์ตฟอร์ด รัฐคอนเน็คติคัท เพื่อฝึกฝนภาษาและเรียนรู้วิถีชีวิตอเมริกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นก่อนจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
ในวันอาทิตย์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ มักเสด็จไปเยี่ยมนักเรียนหญิงทั้งสองบ่อยๆ ทรงพาไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ บางครั้งก็ให้ทั้งสองมาเที่ยวเมืองบอสตัน ทรงห่วงใยนักเรียนทั้งสองเป็นพิเศษจนเป็นที่รู้กันในหมู่นักเรียนไทยว่า ทูลกระหม่อมของพวกเขามีพระทัยปฏิพัทธ์นางสาวสังวาลย์ ผู้งามพร้อมด้วยรูปโฉมและอุปนิสัย
ในที่สุดเจ้าฟ้ามหิดลฯได้มีลายพระหัตถ์มากราบทูลพระราชมารดา ขอพระราชานุญาตหมั้นนางสาวสังวาลย์ และเมื่อทรงได้รับอนุญาตพระองค์ก็ทรงหมั้นอย่างเงียบๆใน พ.ศ.๒๔๖๒ ประทานธำมรงค์เพชรสลักรูปหัวใจเป็นเครื่องแสดงความเสน่หา ต่อมาอีก ๓๐ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชโอรสของทั้งสองพระองค์ ได้พระราชทานแหวนซึ่งแสดงความเสน่หาวงนี้แก่ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร พร้อมกับรับสั่งว่า
“สิ่งนี้เป็นของมีค่ายิ่งและเป็นของที่ระลึกด้วย”
ใน พ.ศ.๒๔๖๓ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ได้เสด็จกลับเมืองไทย กราบบังคมทูลพระราชมารดาถึงสาเหตุที่พระองค์ทรงเลือกนางสาวสังวาลย์เป็นคู่ร่วมพระชนมชีพว่า
“สังวาลย์เป็นกำพร้า...แต่งงานแล้วก็มาใช้นามสกุลหม่อมฉัน หม่อมฉันไม่ได้เลือกเมียด้วยสกุลรุนชาติ ต้องเกิดเป็นอย่างนั้น ต้องเกิดเป็นอย่างนี้ คนเราเลือกเกิดไม่ได้ หม่อมฉันเลือกคนดี ทุกข์สุขเป็นเรื่องของหม่อมฉันเอง”
จากนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอภิเษกสมรสกับนางสาวสังวาลย์ต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พิธีอภิเษกได้จัดขึ้นที่วังสระปทุมในวันศุกร์ที่ ๑๐ กันยายน ๒๔๖๓ โดยมีรัชกาลที่ ๖ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธี จากนั้นทั้งสองพระองค์ก็เสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ สหรัฐอเมริกาในเดือนตุลาคม ๒๔๖๓
เมื่อประทับในสหรัฐ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ใช้พระนามว่า Mr.Mahidol Songkla สมเด็จย่าก็ต้องทรงใช้ว่า Mrs. De Songkla ด้วย จนกระทั่งเดือนมิถุนายน ๒๔๗๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามสกุลของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ว่า “มหิดล” สมเด็จย่าจึงทรงเป็น หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา
ในการเสด็จกลับไปสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลาฯ ทรงเข้าศึกษาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและที่สถาบันเอ็มไอที ส่วนหม่อมสังวาลย์ได้ศึกษาหลักสูตรเตรียมพยาบาลที่วิทยาลัยซิมมอนส์และการสาธารณสุขเกี่ยวกับโรงเรียนที่สถาบันเอ็มไอทีด้วย
เมื่อจบการศึกษาแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปดูงานในยุโรป และที่นครลอนดอน พระธิดาองค์แรก คือ หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา ก็ประสูติในวันอาทิตย์ที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๖๖ ต่อจากนั้นในเดือนพฤศจิกายน ทั้งสามพระองค์ก็เสด็จกลับประเทศไทย
หลังจากกลับมาประทับในประเทศไทย ๒๐ เดือน ทรงเป็นอาจารย์ให้นักเรียนแพทย์แล้ว สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ทรงตัดสินพระทัยที่จะกลับไปศึกษาวิชาแพทย์ต่ออีก ขณะที่พาหม่อมสังวาลย์และพระธิดาเสด็จไปเยอรมัน พระโอรสพระองค์แรกก็ประสูติที่เมืองไฮเดลเบอร์กในวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๖๘ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามว่า “อานันทมหิดล”
ในปี ๒๔๖๙ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ เสด็จไปศึกษาวิชาแพทย์ต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทรงพาครอบครัวไปอยู่ที่เมืองบอสตัน ที่เมืองนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประสูติที่โรงพยาบาลเคมบริดจ์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ ทรงพระนามว่า “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช”
เมื่อสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาและพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลประสูตินั้น ดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้า แต่ใน พ.ศ.๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า ต่อมาเมื่อพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชประสูติ จึงดำรงพระยศเป็นพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าตั้งแต่ประสูติ
สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ทรงสำเร็จปริญญาแพทย์ศาสตร์ เกียรตินิยมใน พ.ศ.๒๔๗๑ จึงทรงนำครอบครัวกลับประเทศไทยในเดือนธันวาคม และขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่แพทย์ของโรงพยาบาลแม็คคอร์มิกที่จังหวัดเชียงใหม่ในเดือนเมษายน ๒๔๗๒ ทรงตั้งพระทัยที่จะนำครอบครัวขึ้นไปอยู่ด้วย แต่ในเดือนพฤษภาคมเมื่อกลับมากรุงเทพฯ ก็ทรงประชวรอยู่ ๔ เดือน สิ้นพระชนม์ในวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๗๒ และในปลายปีเดียวกันนั้น คุณถมยา พระอนุชาของสมเด็จย่า ก็เสียชีวิตด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบขณะศึกษาอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์
เมื่อพระสวามีสิ้นพระชนม์ สมเด็จย่าทรงดูแลอภิบาลพระโอรสธิดาอยู่ที่วังสระปทุม ตามหลักวิชาที่พระองค์ทรงศึกษามา ทรงเน้นเรื่องอนามัย ระเบียบวินัย และจริยธรรม ซึ่งสมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้าทรงโปรดและเมตตาพระสุณิสาอย่างมาก สมเด็จย่าก็ทรงรักและเคารพในสมเด็จพระพันวสาฯ ที่พระองค์ทรงเป็นเจ้านายที่มีความยุติธรรม มิได้ทรงรังเกียจพระองค์ที่เป็นสตรีสามัญชนเลย
ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สถานการณ์บ้านเมืองไม่เป็นที่น่าไว้วางใจสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ สมเด็จพระพันวสาฯ ทรงปรึกษาพระประยูรญาติใกล้ชิดแล้วลงความเห็นว่า สมควรจะส่งพระราชนัดดาผู้ทรงพระเยาว์ทั้งสามไปศึกษาในต่างประเทศ และเลือกเมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์เป็นที่ประทับ สมเด็จย่าจึงทรงพาพระโอรสธิดาเสด็จจากเมืองไทยไปในเดือนเมษายน ๒๔๗๖
ในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติหลังจากมีความขัดแย้งกับรัฐบาลคณะราษฎร ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล อยู่ในอันดับที่ ๑ในการขึ้นครองราชย์ รัฐบาลจึงเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันวสาฯ ทูลอัญเชิญพระราชนัดดาขึ้นครองราชย์เนื่องจากเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ สมเด็จพระพันวสาฯ รับสั่งว่า “ถ้าหากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นดังนี้ก็ต้องทรงรับอยู่เอง”
ก่อนหน้านั้น ผู้แทนรัฐบาลได้เข้าเฝ้าสมเด็จย่าที่โลซานน์แล้ว แต่พระองค์ตอบว่าการจะรับหรือไม่ ต้องแล้วแต่สมเด็จพระพันวสาและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เมื่อสมเด็จพระพันวสาฯทรงแจ้งไปว่าให้รับได้ สมเด็จย่าก็ทรงมีพระราชหัตถเลขามาถวายสมเด็จพระพันวสาว่า
“หม่อมฉันก็บอกให้เป็นที่เข้าใจอีกว่า ทั้งลูกและหม่อมฉันไม่มีความต้องการยศและลาภเลย แต่การที่นันทต้องรับเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็เพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ต่อบ้านเมือง ต้องรับเพราะเห็นแก่บ้านเมืองที่อาจไม่สงบได้”
ในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๗๗ สภาผู้แทนราษฎรจึงลงมติเห็นชอบให้สถาปนาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์ และรัฐบาลได้สถาปนาพระเชษฐภคนีและพระอนุชาขึ้นเป็นเจ้าฟ้า พร้อมกับสถาปนาหม่อมสังวาลย์ พระราชมารดา ขึ้นเป็น “พระราชชนนีศรีสังวาลย์”
หลังจากทรงขึ้นครองราชย์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลก็ยังประทับที่สวิตเซอร์แลนด์ต่อไปเพื่อทรงศึกษา พระองค์ได้เสด็จกลับมาเพื่อเยี่ยมเยียนพสกนิกรเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๑ ขณะมีพระชนม์มายุ ๑๓ พรรษา ประชาชนต่างประจักษ์ว่าพระองค์มีพระราชจริยาวัตรและพระกริยาอัธยาศัยที่งดงาม วางพระองค์เหมาะสมกับการเป็นยุวกษัตริย์ ทั้งยังเห็นพ้องต้องกันว่าพระองค์มีพระราชชนนีที่ประเสริฐยิ่ง อบรมอภิบาลพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ขึ้นครองราชย์ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างดียิ่ง และไม่แต่ประชาชนเท่านั้นที่ชื่นชม สมเด็จพระพันวสาฯ ก็รับสั่งว่า
“บุญของฉันมาได้ลูกสะใภ้เช่นนี้ บุญของหลานที่มีแม่ที่เลิศ...”
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีลายพระหัตถเลขาเกี่ยวกับ
สมเด็จย่าถึงพระธิดาว่า
“พ่อไม่เคยคิดเลยว่าจะเปนผู้หญิงที่มีสติปัญญาสามารถมาก เพิ่งมาสังเกตในคราวนี้ รู้จักวางพระองค์พอเหมาะดีทุกสถาน ใครคุ้นก็ต้องนับถือ และค่อยคลายห่วงสมเด็จพระอานันทมหิดลเพราะมีชนนีด้วย...”
ส่วน มร.พี้บส์ พระอาจารย์ชาวอังกฤษที่ตามเสด็จในครั้งนี้ กล่าวว่า
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพัฒนาพระอุปนิสัยให้มีความรับผิดชอบสูง
และทุกคนต่างยอมรับว่า พระองค์ทรงได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่ดีเยี่ยมจากพระราชชนนี”
ในการเสด็จนิวัตรพระนครครั้งนี้ พระราชชนนีศรีสังวาลย์ ได้รับการสถาปนาเป็น “สมเด็จพระราชชนนี”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนี พระพี่นางเธอฯ และพระอนุชา ได้เสด็จกลับไปสวิตเซอร์แลนด์ในเดือนมกราคมต่อมา และทรงศึกษาอยู่ที่สวิสตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เสด็จกลับประเทศไทยในเดือนธันวาคม ๒๔๘๘ หลังสงครามสงบและทรงบรรลุราชนิติภาวะแล้ว
พระราชภาระหนักของสมเด็จพระราชชนนีในการอภิบาลยุวกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยสิ้นสุดแล้ว ทรงว่าราชการด้วยพระองค์เอง และทรงเป็นมิ่งขวัญกำลังใจของประชาชนที่กำลังประสบภาวะยากแค้นหลังสงคราม ทรงเสด็จออกเยี่ยมเยียนและไต่ถามทุกข์สุขการทำมาหากินของพวกเขาด้วยพระราชอัธยาศัยอ่อนโยน ไม่ถือพระองค์ และไม่ว่าจะเสด็จไปในที่ใด สมเด็จพระอนุชาจะตามเสด็จไปด้วยเสมอ อันเป็นภาพที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจแก่พสกนิกรที่ได้เห็นทั้งสองพระองค์
แต่แล้วในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลต้องพระแสงปืนปริศนาสวรรคต พระราชหฤทัยสมเด็จพระราชชนนีแทบแตกสลาย แต่ไม่ว่าจะทรงได้รับความทุกข์เทวษแสนสาหัสเพียงใด ก็ทรงตั้งพระสติปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยความกล้าหาญ เมื่อพระโอรสองค์ที่สองได้รับอัญเชิญขึ้นครองราชย์ในขณะพระชนมายุ ๑๘ พรรษา สมเด็จพระราชชนนีจึงจำต้องรับพระราชภาระถวายการอภิบาลพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่อีกระยะหนึ่ง
เมื่อพระโอรสทรงบรรลุนิติภาวะว่าราชการด้วยพระองค์เองแล้ว สมเด็จพระราชชนนีก็ยังทรงรับพระราชภาระปฏิบัติราชการแทนพระองค์หลายครั้ง นอกจากนี้ยังทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจหลายประการเพื่อความสุขของประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ทั้งทางด้านสาธารณสุข การศึกษา พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยต่างๆ เสด็จออกเยี่ยมเยียนตำรวจ ทหาร ที่ปฏิบัติราชการชายแดนโดยไม่หวั่นเกรงต่อความยากลำบากและภยันตรายใดๆ
ด้วยทรงระลึกถึงพระอุปการคุณอันยิ่งใหญ่ในส่วนพระองค์ และพระเมตตากรุณาธิคุณต่อราษฎรของพระราชชนนี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เป็น “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๑๓
แม้จะสิ้นสุดพระราชภาระที่อบรมอภิบาลพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรมมาถึง ๒ พระองค์แล้ว ประชาชนคนไทยก็ยังได้เห็นภาพข่าวสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ ที่พระชนมายุสูงมากแล้ว เสด็จไปเยี่ยมเยียนพสกนิกรผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดารอยู่เป็นประจำอย่างไม่ทรงเหน็ดเหนื่อย ต่างรู้สึกรัก เทิดทูน เป็นห่วงใย และด้วยความใกล้ชิดทางใจเช่นนี้ ประชาชนทั้งในเมืองและชนบทต่างพร้อมใจขนานพระนามพระองค์ว่า “สมเด็จย่า” แม้จะเป็นการอาจเอื้อม แต่ก็ทรงรับพระนามนี้ด้วยความยินดี รับสั่งว่า
“เออ ฉันเป็นย่าเขาก็แล้วกัน”
ขณะเดียวกัน ชาวไทยภูเขาก็ถวายพระนามด้วยความรักและเคารพว่า “แม่ฟ้าหลวง”
แม้พระนามทั้งสองนี้จะไม่เป็นทางการ แต่ก็เป็นที่เรียกขานกันทั่วไป แสดงถึงความรัก ความภักดี และความผูกพันใกล้ชิดของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกับประชาชนของพระองค์
แต่แล้วประชาชนคนไทยก็ต้องโศกเศร้าอาดูรกันทั้งประเทศ เมื่อสมเด็จย่าแม่ฟ้าหลวง ได้เสด็จสู่สวรรคาลัยด้วยโรคพระหทัยที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๘ หลังจากเข้ารับถวายการรักษาได้ ๔๗ วัน
นายนนท์ บูรณสมภพ สถาปนิกผู้ออกแบบและบริหารโครงการจัดสร้าง “อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ได้เขียนไว้ในหนังสือที่จัดพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายสนองพระมหากรุณาธิคุณ ในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีเปิดอุทยานฯว่า หลายครั้งระหว่างที่เสวยพระกระยาหารหลังจากการทรงดนตรี ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณทรงเล่าพระราชประวัติของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีให้เหล่านักดนตรีวง อ.ส. นอกเหนือจากที่เคยอ่านกันในหนังสือ “แม่เล่าให้ฟัง” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา โดยเฉพาะเรื่องของนิวาสสถานบริเวณชุมชนหลังวัดอนงคารามนั้นทรงเล่าโดยละเอียด จนในกลางปี ๒๕๓๖ ทรงพระราชทานกระดาษแผ่นหนึ่งให้กับนักดนตรีวง อ.ส.ผู้หนึ่ง มีพระราชกระแสให้ไปสำรวจถึงสภาพพื้นที่ที่ทรงทำเครื่องหมายไว้ในกระดาษแผ่นนั้น
ในวันรุ่งขึ้น นักสำรวจ ๓ คนจึงไปที่ซอยช่างนาคหลังวัดอนงคาราม ตระเวนเคาะประตูสอบถามถึงความทรงจำในอดีตกับคนที่อยู่มานาน และเมื่อประมวลข้อเท็จจริงแล้วก็สรุปได้ว่า บริเวณที่ทรงทำเครื่องหมายไว้นั้น ปัจจุบันได้กลายเป็นห้องแถว ๒ ชั้นที่เพิ่งสร้างเมื่อ ๓๐ กว่าปีมานี่เอง จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปสำรวจเพิ่มเติมบริเวณโดยรอบจุดนั้น โดยทรงเล่าถึงบรรยากาศและเหตุการณ์ที่สมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ ทรงเล่าไว้เกี่ยวกับเรื่องราวเมื่อครั้งประทับอยู่ ครั้งนี้คณะสำรวจได้บันทึกภาพกลุ่มอาคารเก่าแก่ซึ่งเป็นตึกแถวชั้นเดียว ยาวติดกัน ๑๒ คูหา มีสภาพทรุดโทรม มีลักษณะที่นิยมสร้างกันในสมัยรัชกาลที่ ๓ เดิมเป็นบ้านของเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) อธิบดีกรมพระคลังสินค้าในรัชกาลที่ ๕ มีลักษณะคล้ายคลึงกับอาคารที่สมเด็จศรีนครินทร์ฯ เคยประทับ
เมื่อนายแดง นานากับนายเล็ก นานา สองพี่น้องผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทราบถึงพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงพร้อมใจกันแสดงความจำนงที่จะทูลเกล้าฯ ถวายที่ดิน ๔ ไร่นี้ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนารับเป็นเจ้าของที่ดิน พัฒนาเป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดสร้างอุทยานเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ อีกทั้งเป็นการถวายความจงรักภักดีและสักการะเทิดทูนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ คณะกรรมการจัดสร้างได้จัดทำเหรียญที่ระลึกขึ้นเพื่อเป็นเครื่องตอบแทนผู้บริจาคสมทบทุนในการสร้าง
การจัดสร้างอุทยานได้เริ่มในเดือนมิถุนายน ๒๕๓๗ โดยมีแนวคิดในการออกแบบ คือ
๑. จัดให้เป็นสวนสาธารณะระดับชุมชน สำหรับประชาชนในละแวกใกล้เคียง เป็นสถานที่ชุมนุมประกอบพิธีและการรื่นเริงต่างๆ ตามเทศกาล
๒. อนุรักษ์ซากโบราณสถานที่เหลืออยู่ เสริมให้มีความคงทน และอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิม อันเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์
๓. บูรณะอาคารโบราณปรับใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ กับอีกส่วนจะแสดงภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนชาวบ้านช่างทองซึ่งเคยอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาความเป็นอยู่ของสังคมชาวไทย จีน ลาว แขก พุทธ มุสลิม ที่มีชีวิตร่วมกันอย่างสงบสุขในชุมชนนี้
๔. จัดภาพสลักหินนูนต่ำขนาดใหญ่ กว้าง ๑.๖๐ เมตร ยาว ๘ เมตร หนา ๙๐ เซนติเมตร ตั้งอยู่บนฐานสูง ๘๐ เมตร แสดงพระราชกรณียกิจสะท้อนให้เห็นถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่และกว้างไกลของสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ อันได้แก่การทำงานของแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ลูกเสือชาวบ้าน พิธีไหว้สาแม่ฟ้าหลวงที่หน้าพระตำหนักดอยตุง โดยสลักบนหินทรายสีเขียวทั้งสองด้าน
๕. จำลองอาคาร “บ้านเดิม” ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเคยประทับครั้งทรงพระเยาว์ ในครั้งแรก สมเด็จย่ามีรับสั่งว่า “บ้าน” ที่เคยประทับนั้นไม่ได้ใหญ่โตเหมือนแบบที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อกรมศิลปากรแก้ไขตามพระราชประสงค์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้สร้างอาคารจำลองที่ประทับหลังนี้แยกออกต่างหากอีกหลังหนึ่ง จากแนวคิดเดิมที่กำหนดจะจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์
“บ้าน” ในหนังสือ “แม่เล่าให้ฟัง” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวไว้ว่า
“...เมื่อจำความได้แม่ก็อยู่ที่ธนบุรีแล้ว ที่ซอยซึ่งปัจจุบันเป็นซอยวัดอนงค์ “บ้าน” จะเป็นส่วนหนึ่งของอาคารซึ่งก่อด้วยอิฐ หลังคาเป็นกระเบื้องและประกอบด้วยหลายชุด (Unit) ด้านหนึ่งของ “บ้าน” มี ๔-๕ ชุดซึ่งมีคนอยู่ อีกด้านหนึ่งพังไปแล้วและร้าง “บ้าน” ที่อยู่นั้นเก่าพอใช้และอยู่ในสถานที่ไม่ดี เพราะไม่มีการซ่อมแซมเลย บ้านนั้นเป็นบ้านเช่า แต่เช่าเพียงกำแพง ผนังและหลังคา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไม้เช่นพื้นนั้นผู้เช่านำมาเอง...และข้างหน้าบ้านมีระเบียง พื้นเป็นไม้ปิดข้างๆ และหลังคามุงจาก ส่วนนอกก่อนจะถึงถนนเป็นอิฐแล้วจึงเป็นถนน เมื่อเข้าไปในบ้านแล้วจะมีห้องโล่งๆ ด้านขวามือมียกพื้นเป็นไม้ทั้งสองห้อง ห้องพระและห้องประกอบอาชีพของพ่อแม่ ทุกเช้าผู้ใหญ่จะถวายข้าวพระพุทธ และหลังเที่ยงแม่จะเป็นผู้สวด “เสสังมังคะลังยาจามิ” เพื่อลาของถวาย และนำอาหารที่บรรจุอยู่ในถ้วยเล็กๆมากิน ถัดไปมีห้องซึ่งเป็นห้องนอน และข้างหลังจะมีห้องครัวยาวตลอดซึ่งกั้นด้วยกำแพง หลังกำแพงนี้มีที่โล่งๆ ซึ่งจะไปถึงได้ถ้าอ้อมไป เพราะทางครัวไม่มีประตูออก ในบ้านไม่มีห้องน้ำ การอาบน้ำนั้นอาบกันที่หน้าบ้าน ตุ่มน้ำจะตั้งอยู่ที่ระเบียง หรือไปอาบกันที่คลองสมเด็จเจ้าพระยา...”
การก่อสร้างอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แล้วเสร็จในปลายเดือนกรกฎาคม ๒๔๓๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอุทยานฯ ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๐
อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้ เปรียบประดุจพระราชอนุสรณ์สถานที่ระลึกถึงความรัก ความผูกพัน กอปรด้วยพระราชหฤทัยอันเปี่ยมไปด้วยกตัญญุตาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงถวายแด่สมเด็จพระราชมารดาของพระองค์ ซึ่งผู้ได้รับประโยชน์จากสวนสาธารณะแห่งนี้ ก็คือเหล่าผู้อยู่ใต้เบื้องพระยุคลบาททั้งหลายนั่นเอง